คำ ผกา | คนจนคอปกขาว เงินเดือนแสนก็ยังจน

คำ ผกา

เรื่องหนึ่งที่เราไม่ค่อยได้พูดถึงกันมากนักในบทสนทนาทั่วไปที่ไม่ใช่แวดวงวิชาการคือสำนักคิดทางเศรษฐกิจการเมือง เช่น สำนักคิดเสรีนิยมจะอธิบายปรากฏการณ์สังคมผ่านการกระทำของปัจเจกบุคคล

เช่น หากใครสักคนไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินใช้ยามแก่เฒ่า ก็จะอธิบายว่าเป็นเพราะบริหารเงินไม่เป็น ไม่วางแผนออมเงินอย่างถูกต้อง ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

ทำให้เกิด “เรื่องเล่า” หรือ narrative แบบฮาวทูที่เราได้อ่านกันอยู่เสมอ เช่น ถ้าเรางดกินสตาร์บัคส์วันละ 1 แก้ว 1 ปี เราจะมีเงินเก็บเท่าไหร่ 10 ปีเราจะมีเงินเก็บเท่าไหร่ เป็นต้น

ส่วนสำนักคิดแบบสังคมนิยมจะอธิบายปรากฏการณ์สังคมผ่าน “โครงสร้าง” คือโรงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง ว่าเป็นธรรม หรือไม่เป็นธรรม เหตุที่คนไม่มีเงินใช้หลังเกษียณว่า เป็นเพราะรัฐไม่จัดสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุอย่างรัดกุมพอหรือไม่? ค่าแรงเป็นธรรมหรือไม่ โครงสร้างการจัดเก็บภาษีเป็นธรรมหรือไม่

รัฐมีบริการพื้นฐานให้ประชาชนอย่างเพียงพอแล้วหรือยัง?

นั่นเป็นเรื่องของสำนักคิด ทฤษฎี

แต่ในโลกของความเป็นจริงไม่มีประเทศไหนสมาทานสองสำนักคิดนี้อย่างบริสุทธิ์

โดยมากจะสมาทานเป็นไฮบริดหรือลูกผสม เช่น ประเทศในแถบแสกนดิเนเวียที่คนไทยมองว่าเป็นรัฐสวัสดิการเข้มข้น ก็คือการเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยคือให้น้ำหนักของสังคมนิยมมากกว่าเสรีนิยมในแง่ของรัฐสวัสดิการ แต่เป็นเสรีนิยมในแง่ของเศรษฐกิจ การค้า

ประเทศญี่ปุ่นเทน้ำหนักไปที่เสรีนิยมมากกว่า แต่เติมความสังคมนิยมในบางมาตรการ เช่น หลักประกันสุขภาพ ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก

ที่เหลือเป็นพวกทุนนิยม เสรีนิยม มีนโยบายเอื้อทุนยักษ์ใหญ่อะไรก็ว่าไป อเมริกาน่าจะเป็นประเทศที่มีสัดส่วนของความเป็น “เสรีนิยม” สูงสุด

การอธิบายความสำเร็จและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคลถูกอธิบายผ่านความมุ่งมั่น การทำงานหนักของ “ปัจเจกบุคคล” ล้วนๆ เช่น เรื่องราวของผู้คนในรายการของโอปราห์ วินฟรีย์ เป็น narrative แห่งอเมริกันดรีมจริงๆ เพราะฉันมุ่งมั่น เพราะฉันฝ่าฟัน เพราะฉันอดทน เพราะฉันไม่ยอมพ่ายแพ้แก่อุปสรรคใดๆ เพราะฉันอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เพราะฉันทำงานหนักจึงมีฉันที่สวยงามในวันนี้

ซึ่งคล้ายคลึงกับประเทศไทย เว้นแต่ว่าอเมริกาเป็นเสรีนิยม อเมริกันดรีม ปัจเจกบุคคลนิยม ที่มีประชาธิปไตยอยู่จริง ไม่ใช่ประชาธิปไตย 5 ปี สลับกับรัฐประหาร 10 ปี แบบไทย

แล้วประเทศไทยสมาทานสำนักคิดอะไร?

นี่เป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวมาก เพราะของไทย ของไฮบริดเหมือนกัน แต่เป็นไฮบริดระหว่างแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขายพ่วงมากับอุดมการณ์ของสังคมก่อนสมัยใหม่ที่เชื่อเรื่องบุญทำกรรมแต่ง โชคชะตาฟ้าลิขิต แต้มบุญต่างๆ

ในสังคมมีรายการโทรทัศน์ที่คล้ายโอปราห์ วินฟรีย์ เช่น ฝันที่เป็นจริง เพราะคุณเป็นคนดี คนเก่ง คนขยัน คุณควรได้รางวัล หรือรายการเจาะใจ รายการคนค้นฅน ที่อธิบายทุกความสำเร็จ ทุกความล้มเหลวของมนุษย์จากปัจจัยของปัจเจกบุคคลและไม่ให้ความสนใจกับประเด็นโครงสร้างทางสังคมโดยสิ้นเชิง สอดรับกับตำนานชีวิตเจ้าสัว เสื่อผืนหมอนใบ ขยัน ประหยัด อดออม จนกลายเป็นเจ้าสัวแสนล้าน

แต่ละเว้นไม่พูดเรื่องการสร้างเครือข่ายกับชนชั้นนำ ระบบผูกขาดสัมปทาน สังคมมูลนาย ไพร่ทาส ทำให้คนพื้นเมืองไม่มีโอกาสเข้าถึงเศรษฐกิจเงินตราและการสะสมทุนอย่างไรบ้าง เป็นต้น

เน้นแนวคิดปัจเจกบุคคลนิยมไม่พอ เรายังซ้ำเติมตัวเองด้วยแนวคิด “ทานบารมี” ที่เขามั่งคั่งร่ำรวยเพราะทำบุญมามากตั้งแต่ชาติที่แล้ว เกิดมาในชาติตระกูลบุญหนักศักดิ์ใหญ่ แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้ อยากมีชีวิตดี สบาย ต้องกตัญญูรู้คุณต่อพ่อแม่ หาเงินได้หมื่นควรให้พ่อแม่เจ็ดพัน กุศลบารมีตรงนี้จะส่งให้เราได้ดิบได้ดีต่อไป

แน่นอนว่าภายใต้สำนักคิดนี้ เราย่อมไม่อาจจินตนาการว่าทุกปัญหาและทุกความเส็งเคร็งในชีวิตเรามันอาจเป็นปัญหาว่าด้วยนิสัย สันดานของเราส่วนหนึ่ง แต่ส่วนมากมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ด้วยการเมือง!

เกริ่นมายืดยาวก็เพราะเห็นคำร้องทุกข์ของมนุษย์ชนชั้นกลางที่เงินเดือนหนึ่งแสนบาท-สองแสนบาท ซึ่งฟังดูเหมือนจะเยอะแต่มันไม่ได้มีเงินให้ใช้เยอะอย่างที่เห็นตามตัวเลข

ถอดรายละเอียดมาคือ ถ้าเงินเดือน 100,000 บาท นั่นแปลว่าต้องเสียภาษี 25,000 บาทต่อเดือน ถ้าไม่เสียภาษีก็ต้องเอาไปซื้อกองทุนฯ เพื่อลดหย่อนภาษี (แบกรับความเสี่ยงในการลงทุน) ในจำนวนที่เท่ากัน แปลว่าเราจะมีเงินเหลือใช้เดือนละ 75,000 บาท

ถ้าคุณใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หากซื้อบ้านชานเมืองอยู่ อาจต้องผ่อนเดือนละ 15,000 บาท ผ่อนรถอีก 10,000 บาท มีค่าน้ำมันรถ ค่าทางด่วน ค่าประกันรถ หากมีภาระเลี้ยงดูพ่อแม่ ก็บวกไปอีก

พูดถึงการมีบ้าน ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาบ้าน ซ่อมแซม เจอหนูกัดสายไฟขาดครั้งหนึ่ง ก็ร้องจ๊ากแล้ว ถ้าไม่ซื้อบ้าน เช่าคอนโดฯ อยู่ในเมือง ค่าใช้จ่ายก็ใกล้เคียงกัน ค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ไม่ซื้อรถก็ต้องจ่ายค่ารถไฟฟ้า ค่าวิน ยิ่งอยู่ในเมือง ค่าครองชีพก็สูงเป็นเงาตามตัว

สรุปคนเงินเดือนแสนถ้าไม่มี “ทุน” พ่อแม่รองรังไว้ให้คิดสะระตะออกมาก็จะเห็นว่าไม่ได้มีเงินเหลือให้ใช้หรือเก็บมากขนาดนั้น

และต้องคิดต่อไปอีกว่า การจะได้รับเงินเดือนหนึ่งแสนบาทขึ้นไปในประเทศไทย (ถ้าไม่ใช่อาชีพรับเบี้ยประชุม) นั้นต้องทำงานหนักและอยู่ภายใต้ภาวะความกดดันใช่น้อยด้วยเหมือนกัน

และนี่ยังพูดถึงแค่ค่าใช้จ่ายคนโสด ยังไม่พูดถึงคนที่มีภาระเลี้ยงดูบุตร สามี ภรรยา ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่า ฉันมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับคนเงินเดือนเป็นแสนทั้งๆ ที่คนเหล่านี้ถือเป็นคนชนชั้น “บน” เมื่อเทียบกับประชากรอีกร้อยละแปดสิบในประเทศนี้ที่มีชีวิตบนค่าแรง 300-500 บาทต่อวัน

แต่ฉันกำลังจะบอกว่า วิกฤตของสังคมไทยตอนนี้คือเรามีคนจนสองประเภทคือ คนจนที่จนจริงๆ จนแบบไม่พอกิน ไม่มีคุณภาพชีวิต ไม่อาจเข้าถึงโอกาสการเลื่อนชั้นทางสังคม เศรษฐกิจอะไรทั้งสิ้น เป็นความจนดักดานที่มีแต่จะจนลงและแย่ลง

แค่นั้นไม่พอ เรายังมี “คนจนคอปกขาว” คือคนเงินเดือนหลักแสน แต่หาคุณภาพชีวิต หาอนาคต หาเงินออมไม่เจอ

และมีแนวโน้มจะไม่มีเงินเก็บพอที่จะเลี้ยงดูตัวเองได้เลยหลังเกษียณ ไม่นับว่าเงินเดือนหลักแสนนี้ งานมีความมั่นคงหรือไม่?

เป็นงานที่อาจถูกเลย์ออฟได้ทุกเมื่อ หรือถูกแทนที่ด้วยพนักงานใหม่ทันทีเมื่อเงินเดือนสูงชนเพดาน

อะไรที่ทำให้เกิดปัญหานี้ในสังคมไทย?

คนเงินเดือนหนึ่งแสนบาท หากเขาต้องเสียภาษีเดือนละ 25,000 บาท สิ่งที่เขาและเราควรได้รับคือ

หนึ่ง ขนส่งมวลชนสาธารณะที่ดี มีคุณภาพ ถ้าเราเสียภาษีเท่านี้เราไม่ควรต้องเอาเงินอีกสองหมื่นไปผ่อนรถ จ่ายค่าซ่อมรถ จ่ายค่าน้ำมันรถ จ่ายค่าประกันรถ

สอง หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คนเงินเดือนหนึ่งแสนบาท ทุกคนจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพคนละไม่ต่ำหว่าห้าพันบาทต่อเดือน เมื่อเราเสียภาษีแล้ว เราไม่ควรต้องมาจ่ายค่าประกันสุขภาพกับบริษัทประกันเอกชนอีก

สาม Public housing ถ้าเราจ่ายภาษีเดือนละสองหมื่นห้าพันบาท เราคาดหวังให้รัฐมีโครงการการเคหะให้เช่าซื้อหรือเช่าอยู่ระยะยาวในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป

และคำว่า public housing ไม่จำเป็นต้องเป็นบ้านเอื้ออาทร มันสามารถเป็นคอนโดฯ อพาร์ตเมนต์คุณภาพดี สัมพันธ์กับการวางผังเมือง การสร้างสวนสาธารณะ สนามกีฬา ห้องสมุด ฯลฯ เนื่องจากไม่ใช่โครงการอสังหาริมทรัพย์ของเอกชนที่เน้นการแสวงหากำไร

สี่ การศึกษาที่ดี มีคุณภาพจริงๆ จากโรงเรียนรัฐบาลที่เรียนฟรี ป.1-ม.6

เพื่อเราไม่ต้องหาเงินไปจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะ ค่าเทอมโรงเรียนเอกชน โรงเรียนอินเตอร์ อีกปีละเป็นล้านบาท หรือกว่านั้น

 

ถ้ารัฐบริหารเงินภาษีได้แบบนี้ ฉันคิดว่า คนยอมจ่ายภาษีร้อยละ 35 ของรายได้ด้วยซ้ำ อย่าว่าแต่ร้อยละ 25 ไม่เพียงแต่สี่ข้อนี้ที่รัฐบาลไทยทำไม่ได้ เอาแค่ถนนปลอดภัย ไม่มีคานหนักสิบตันมาหล่นใส่รถที่วิ่งบนถนน ไฟฟ้าสว่างไสวบนถนนยามกลางคืน ทางข้าม ทางม้าลายที่ปลอดภัย ทางเดินที่สะอาด ร่มรื่น สวนสาธารณะที่มากพอจะรองรับความต้องการของประชาชน

แค่นี้ก็ยังทำไม่ได้ดี สิ่งที่ตามมาก็คือ คนที่เสียภาษีมากอยู่แล้วก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสารพัดเพื่ออุดรูรั่วจาก “บริการ” ที่เราพึงได้รับจากรัฐ ทั้งการศึกษา สาธารณสุข บริการทางสุขภาพ สันทนาการ การเดินทาง สัญจร ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ฉันไม่เคยเห็นประเทศที่พัฒนาแล้วต้องมีป้อมยามตามหมู่บ้านจัดสรรมากเท่าที่เมืองไทยเลยเอาจริงๆ

ภาวะขาดแคลนบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจากรัฐนี้แหละที่ทำให้เราเกิด “คนจนคอปกขาว” ที่อนาคตของพวกเขาคือผู้สูงวัยที่จะไม่เหลืออะไรเลยในชีวิตหลังเกษียณ นอกจากภาวะโรคซึมเศร้า

ส่วนคนยากจนที่ยากจนตามความหมายเดิมแม้พวกเขาไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ แต่พวกเขาเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เสียภาษีสรรพสามิต แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับคือการเป็นพลเมืองชั้นสองหรือชั้นสามของประเทศ

ท่ามกลางความขาดแคลนบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน พวกคนจนคอปกขาวใช้เงินทั้งหมดที่เหลือ “ซื้อ” สิ่งที่ขาดหายไป แต่คนจนเหล่านี้จำต้องยอมรับสภาพและสิ่งที่อยู่ ตั้งแต่บริการทางสุขภาพในแบบที่เลือกไม่ได้

ไปรอคิวโรงพยาบาลกี่ชั่วโมงก็ต้องรอ ต้องผ่าตัดเตียงไม่ว่างก็ต้องรอ

การศึกษาลูกหลานก็มีได้เท่าที่รัฐจะโยนอะไรมาให้

และอย่างที่ฉันได้เขียนไว้หลายครั้งว่าเรามีการออกแบบระบบการศึกษาแบบอาณานิคมภายใน นั่นคือการศึกษาสำหรับคนพื้นเมืองยากจนก็เป็นคุณภาพการศึกษาใน Tier ที่ต่ำสุด เพื่อสืบสานความจนและความอ่อนแอ คงสภาพจัณฑาล ผู้ไม่มีสิทธิ์แห่งความเป็นคนเท่าคนอื่นตลอดไปชั่วกาลนาน

ส่วนภาษีที่เก็บไปมากมายนั้นก็ชัดเจนว่า หมดไปกับจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการข้าราชการ อันเนื่องมาจากระบบราชการที่เทอะทะ ไร้ประสิทธิภาพ หมดไปกับค่างานธุรการ เอกสารอันไม่เป็น เพราะต้องการคงไว้ซึ่งรัฐอาณานิคมโดยมีระบบราชการเจ้าขุนมูลนายขับเคลื่อนเอาไว้

ตามข้อมูล ข้าราชการและครอบครัว มีจำนวน 5.2 ล้านคน ใช้งบฯ เกือบห้าแสนล้านเพื่อสวัสดิการของพวกเขา

แต่ประชาชน 62 ล้านคน กลับใช้งบฯ สวัสดิการประมาณห้าแสนล้านเหมือนกัน

สัดส่วนอันวิปริตนี้ คือคำตอบว่าการบริหารงบประมาณบนภาษีประชาชน ไม่ได้มีไว้เพื่อประชาชนจริงๆ ไม่ได้นำไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน หรือลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพการแข่งขันสร้างเศรษฐกิจ

วิปริตถึงขั้นทำให้เกิดคนจนคอปกขาวขึ้นมาได้

สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องปัญวินัยทางการเงินของปัจเจกบุคคล

สิ่งนี้เรียกว่าโครงสร้างรัฐอาณานิคมภายในที่ธำรงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำและความเป็นคนที่ไม่เท่ากัน