เหรียญทองมหาโภคทรัพย์ หลวงพ่อฮวด ปัญญาวุฑโฒ วัดดอนโพธิ์ทอง สุพรรณบุรี / โฟกัสพระเครื่อง : โคมคำ

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

 

เหรียญทองมหาโภคทรัพย์

หลวงพ่อฮวด ปัญญาวุฑโฒ

วัดดอนโพธิ์ทอง สุพรรณบุรี

 

“พระครูปรีชาวุฒิคุณ” หรือ “หลวงพ่อฮวด ปัญญาวุฑโฒ” อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนโพธิ์ทอง ต.ดอนโพธิ์ทอง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี พระเกจิชื่อดังสุพรรณบุรี เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา วิทยาคม และวิปัสสนากัมมัฏฐาน

วัตถุมงคลทุกรุ่น ได้รับความนิยมจากประชาชน รวมถึงบรรดาเซียนหรือนักสะสมพระเครื่อง

ชาวบ้านในพื้นที่กล่าวขานกันว่า “ใครก็อยากมีวัตถุมงคลของหลวงพ่อฮวดไว้ในครอบครอง”

เหรียญทองมหาโภคทรัพย์ เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่ได้รับความนิยม

สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2536 เนื่องในงานวันครบรอบอายุ 83 ปี มีพระเกจิชื่อดังหลายท่านเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก

ลักษณะกลมคล้ายเหรียญ 5 บาทโบราณ ด้านข้างเป็นรูปฟันเลื่อยรอบเหรียญ ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนเต็มองค์นั่งขัดสมาธิมือวางซ้อนกัน

เหรียญหลวงพ่อฮวด (หน้า)

ด้านหน้า เป็นรูปใบโพธิ์ลึกลงไป รอบเหรียญเขียนว่า “พระครูปรีชาวุฒิคุณ (หลวงพ่อฮวด) อายุ ๘๓ ปี วัดดอนโพธิ์ทอง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ๒๕๓๖” ด้านซ้าย ด้านขวาข้างใบโพธิ์ และด้านล่างเป็นภาษาขอมกำกับไว้

ด้านหลัง มีรูปเหมือนแม่ธรณีบีบมวยผม ด้านซ้ายมีรูปถุงเงิน ถุงทอง โดยเขียนกำกับไว้ด้านล่างว่า “เงิน ทอง” ส่วนรอบเหรียญจะเขียนเป็นภาษาขอมกำกับ ใต้ฐานของแม่ธรณีบีบมวยผม เขียนว่า “๑๐๐ ล้าน ๑๐๐๐ ล้าน ๑๐๐๐๐ ล้าน” ด้านล่างสุดเขียนว่า “เหรียญมหาโภคทรัพย์” พร้อมมีการตอกโค้ดทุกเหรียญ ว่า “ปช.” อยู่ที่ด้านล่างเหรียญ และ “ฮ” อยู่ที่ด้านขวา

สำหรับ ปช. หมายถึง ปรีชาวุฒิคุณ เป็นชื่อสมณศักดิ์ของหลวงพ่อฮวด หรือพระครูปรีชาวุฒิคุณ ส่วน ฮ. หมายถึงหลวงพ่อฮวด

จัดเป็นเหรียญวัตถุมงคลที่บรรดาเซียนพระเสาะแสวงหา

เหรียญหลวงพ่อฮวด (หลัง)

อัตโนประวัติ เกิดที่บ้านดอนโพธิ์ทอง หมู่ที่ 1 ต.ดอนโพธิ์ทอง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ตรงกับวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2454 บิดา-มารดาชื่อ นายเกลี้ยงและนางพุก ปุริสพันธุ์ มีพี่น้องรวม 7 คน

อายุเพียง 3 ขวบ ต้องกำพร้าทั้งบิดามารดา และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของพี่สาวและพี่เขย

อายุ 12 ปี พี่ชายพาไปฝากเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์หริ่ม กัลยาโณ วัดวังยายหุ่น ต.ดอนกำยาน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

เริ่มเรียนหนังสือมูลบทบรรพกิจ และเรียนอักษรขอม กับพระอาจารย์ชม พันธุ์เถื่อน ญาติข้างพ่อ จนสามารถอ่านหนังสือขอมเรื่องพระมาลัยได้ภายในเวลา 5 เดือน

อายุ 15 ปี เป็นศิษย์เจ้าอาวาสวัดโคกโคเฒ่า อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เรียนมูลกัจจายน์ ก่อนกลับมาวัดกุฎีทอง สมัครเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเจิม เรียนมูลกัจจายน์ โดยไปเรียนกับกำนันหยด อินทรมุข (บิดาขุนธานินทร์ สรรพสามิต จ.สุพรรณบุรีในสมัยนั้น)

จากนั้นกลับมาบ้านดอนโพธิ์ทอง ช่วยพี่สาวพี่เขยทำไร่ไถนาและประกอบอาชีพ

อายุ 19 ปี บรรพชาที่วัดวังยายหุ่น เพียง 8 เดือนก็ท่องบ่นสวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ภาณต้น ภาณยักษ์ นวโกวาท สูตรนักธรรมตรี ได้อย่างเชี่ยวชาญ

อายุ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดวังพระนอน มีหลวงพ่อสอน เจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระใบฎีกาลี วัดป่าเลไลยก์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระทองอยู่ วัดแก้ว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา ปัญญาวุฑโฒ

จากนั้นย้ายไปอยู่จำพรรษากับพระมหาต่วน วัดมเหยงคณ์ ต.ท่าระหัด อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี

ช่วงนั้นวัดมเหยงคณ์มีสภาพใกล้จะเป็นวัดร้าง ท่านช่วยพัฒนาวัด รวมทั้งศึกษาพระธรรมวินัยจากพระมหาต่วน และเข้าสอบนักธรรมสนามหลวงได้นักธรรมตรี-โท-เอก ตามลำดับ

จากนั้นไปเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณกับพระอาจารย์มั่น แพงพันธุ์ วัดใหม่รัตนเจดีย์ (วัดหัวไม้ซุง) อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี และเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระอาจารย์โอ-พระอาจารย์ขวด วัดเขาดีสลัก อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

ราวปี พ.ศ.2480 ชาวบ้านดอนโพธิ์ทองดำริสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมใจและประกอบพิธีทางศาสนา เล็งเห็นความสามารถของหลวงพ่อฮวด จึงอาราธนาท่านมาเป็นผู้สร้าง

ช่วงที่ไปสร้างวัดดอนโพธิ์ทองนั้น หลวงพ่อฮวดมีอายุเพียง 20 เศษ แต่ได้ใช้ความสามารถช่วยชาวบ้านด้วยความแข็งขัน จนสำเร็จลุล่วงด้วยดี

ชาวบ้านจึงให้ความเคารพนับถือ เช่นเดียวกับที่ได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์

พ.ศ.2484 เป็นเจ้าคณะตำบลสวนแตง

พ.ศ.2494 เป็นพระอุปัชฌาย์

หลวงพ่อฮวด ปัญญาวุฑโฒ

ลําดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2500 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ “พระครูปรีชาวุฒิคุณ”

พ.ศ.2510 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท

และ พ.ศ.2523 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกในราชทินนามเดิม

ปฏิปทาดำเนินชีวิตด้วยความเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตอง แต่เป็นคนมีระเบียบ มีสัมมาวาจา พูดช้าชัดถ้อยชัดคำ

ถือเคร่งในวัตรปฏิบัติมาก ตื่นจำวัดเวลาตี 4 ทุกวัน หลังออกบิณฑบาตและเสร็จจากฉันเช้า จะกวาดลานวัดจนสะอาด จากนั้นจะคอยต้อนรับชาวบ้านที่มาพบและให้รักษาไข้

หลังทำวัตรเย็นเสร็จ จะปฏิบัติและเป็นผู้สอนวิปัสสนากัมมัฏฐานให้กับพระภิกษุ-สามเณร

เน้นย้ำอบรมบ่มนิสัยชาวบ้านให้เป็นคนดีมีศีลธรรม ซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม สิ่งที่ท่านไม่ชอบ คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และคนดื่มสุรา

สิ่งหนึ่งที่ให้การสนับสนุนและเป็นห่วงมาก คือการศึกษา มักจะให้คำตักเตือนแก่ครูอาจารย์เสมอๆ ว่า “ครูเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ขอให้ทำตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก หากแม่พิมพ์บูดๆ เบี้ยวๆ อีกร้อยปีประเทศชาติก็ไม่เจริญ”

เอาใจใส่อย่างมากกับโรงเรียนประชาบาล ด้วยเห็นว่า นี่คือจุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาบุคคล

อีกทั้งยังตั้งมูลนิธิ นำดอกผลมาช่วยการศึกษาของนักเรียนที่ยากจน

มรณภาพเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2539 สิริอายุ 86 ปี •