มิคาอิล กอร์บาชอฟ วีรบุรุษผู้ถูกลืม/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

มิคาอิล กอร์บาชอฟ

วีรบุรุษผู้ถูกลืม

 

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ตอนที่สำนักข่าวหลายสำนักในรัสเซียประกาศอสัญกรรมของมิคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตในกรุงมอสโก ขณะอายุ 91 ปีจากอาการป่วยเรื้อรัง ซึ่งรวมทั้งโรคไต

รัสเซียนจำนวนไม่น้อยดูเหมือนจะลืมเลือนไปแล้วด้วยซ้ำไปว่า ใครคือกอร์บาชอฟ?

ตรงกันข้าม มิคาอิล กอร์บาชอฟ กลับได้รับเสียงชื่นชม ยกย่องมากมายในต่างแดน หลายคนยกย่องว่า นี่คือนักปฏิรูปที่หายากอย่างยิ่งในบริบทเผด็จการคอมมิวนิสต์ คือคนที่มอบสิทธิและเสรีภาพให้กับพลเมืองโซเวียตหลายล้านคน

เขาทำความตกลงร่วมกับเรแกน เพื่อลดกำลังอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางในยุโรปลงในปี 1986 ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในปี 1988

และประกาศเมื่อปี 1989 ว่า บรรดาประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหลายที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลของโซเวียต สามารถมีสิทธิเสรีในการชี้ขาดอนาคตของตนเอง การเมืองภายในของตนเองได้ ไม่ต้องรอคำสั่งใดๆ จากโซเวียตอีกต่อไป

การปฏิวัติโดยสันติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นและลุกลามไปทั่วยุโรป เริ่มที่โปแลนด์ ต่อด้วยฮังการี, เยอรมนีตะวันออก, เชโกสโลวะเกีย และที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าใครคือที่โรมาเนีย

กอร์บาชอฟร่วมกับโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีอเมริกัน ยุติสงครามเย็นลงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในปี 1990 เมื่อกอร์บาชอฟตัดสินใจที่จะไม่ใช้กำลังทหารเข้าป้องกันการทุบทำลายกำแพงเบอร์ลิน ซึ่งเจ้าตัวอ้างในเวลาต่อมาว่า เป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่ “อาจป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นตามมา”

เหล่านั้นคือที่มาที่ทำให้กอร์บาชอฟได้รับการเชิดชูเกียรติด้วยรางวัลยิ่งใหญ่ของโลกตะวันตก คือรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับประธานาธิบดีเรแกน ในปี 1990

 

กอร์บาชอฟได้ชื่อว่าเป็น “ประธานาธิบดี” คนแรกและคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต เขาก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตในปี 1985 ขณะอายุเพียง 53 ปี ซึ่งถือว่าหนุ่มแน่นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเรแกน หรือแม้กระทั่งมาการ์เร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรี “หญิงเหล็ก” แห่งอังกฤษ

กอร์บาชอฟเริ่มต้นจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีตามแนวทางปฏิรูปโครงสร้างประเทศของตนเอง เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของพรรคอยู่จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตประกาศยุบและสลายพรรคไปเมื่อปี 1991 ก่อนที่ตัวสหภาพโซเวียตเองจะล่มสลายตามมาในเวลาไม่ช้าไม่นานหลังจากนั้น

สิ่งที่หลอมรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชื่อกอร์บาชอฟในรัสเซียก็คือความพยายามปรับปรุง เปลี่ยนแปลงสหภาพโซเวียตให้ “ทันสมัย” หลุดจากกรอบคิดคร่ำคร่าก่อนหน้า

แต่ในที่สุดกระบวนการปฏิรูปให้โซเวียตก้าวทันยุคทันสมัยดังกล่าวกลับไหลหลุดออกพ้นการควบคุม เกิดความปั่นป่วน ผันผวนอุตลุดซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตกลายเป็นอดีตไปในที่สุด

 

กอร์บาชอฟให้สัมภาษณ์เอาไว้ในปี 2011 ว่า “ความสำเร็จ” ที่เขาภาคภูมิใจมากที่สุดก็คือการกำหนดนโยบาย “เปเรสทรอยก้า” ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐ อันเป็นแนวนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อ “พลิกฟื้น” เศรษฐกิจที่กำลังทุพพลภาพใกล้ล่มสลาย เปลี่ยนโครงสร้างเสียใหม่ นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงของ “เปเรสทรอยก้า” คือ “กลาสนอสต์” หรือการเปิดกว้าง อันเป็นแนวคิดทางการเมืองที่พยายามหลอมรวมเอาลัทธิเสรีนิยมและพหุนิยมคลุกเคล้าเข้าด้วยกันกับบริบทแวดล้อมของโซเวียตในเวลานั้น เพื่อดิ้นให้หลุดพ้นจากการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดจากศูนย์กลาง การเซ็นเซอร์ปิดกั้นและการ “โกหกพกลม” ที่ถูกนำมาใช้อย่างดกดื่น ถี่ยิบในหลายทศวรรษก่อนหน้านั้น

ที่โดดเด่นในด้านการต่างประเทศของกอร์บาชอฟ ก็คือการเร่งรัดผลักดันให้เกิดยุคใหม่ขึ้นในเวทีการเมืองโลก ด้วยการ “ผ่อนคลายความตึงเครียด” ระหว่างโซเวียตและตะวันตก อันเป็นแนวทางที่สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการด้วยฝีมือของวลาดิมีร์ ปูติน โดยการส่งกำลังบุกเข้ายึดครองยูเครน

 

อเล็กซี เวเนดิคอฟ อดีตหัวหน้าสถานีวิทยุ เอโค่ มอสควี ที่เป็นเพื่อนสนิทของกอร์บาชอฟ เปิดเผยว่า กอร์บาร์ชอฟกล่าวแสดงความผิดหวังเป็นการส่วนตัวเกี่ยวกับสงครามยูเครนครั้งนี้

และระบุชัดเจนว่า ปูติน คือ “ผู้ที่ทุบทำลายผลงานชั่วชีวิต” ของตน

ในช่วงระหว่างปี 1990-1991 ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงผันแปรอย่างเร่าร้อนรุนแรงในอดีตชาติคอมมิวนิสต์ที่เคยอยู่ใต้อาณัติของโซเวียต สภาพการกุมอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ในโซเวียตเองก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ แม้แต่ตำแหน่งและอำนาจของกอร์บาชอฟเองก็ยังสั่นคลอน การปฏิรูปถูกต่อต้านอย่างแรงกล้าจากบรรดา “อัลตร้าคอนเซอร์เวทีฟ” ถึงขนาดลงมือยึดอำนาจรัฐเมื่อเดือนสิงหาคม 1991 ขณะที่กอร์บาชอฟอยู่ระหว่างพักผ่อนวันหยุดในไครเมีย

กลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่งอยู่ในอำนาจได้เพียง 3 วัน ผู้ที่กำราบทุกอย่างลงคือ นักการเมืองคู่แข่งคนสำคัญของกอร์บาชอฟ ที่ชื่อ บอริส เยลต์ซิน ซึ่งได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของ “สหพันธรัฐรัสเซีย” ในเวลาต่อมา

กอร์บาชอฟอยู่ในตำแหน่งต่อมาจนกระทั่งถึงปลายปี 1991 ขณะที่บรรดาอดีตรัฐของสหภาพโซเวียตทยอยประกาศอิสรภาพกันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยูเครน จนสหภาพโซเวียตล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว เขาถอยห่างจากแวดวงการเมืองไปอย่างสงบและโดยสมัครใจในวันที่ 27 ธันวาคมปีนั้น

และยังคงเป็นผู้นำทางการเมืองรายเดียวจากเครมลินที่ก้าวลงจากตำแหน่งโดยสันติและสง่างาม ซึ่งยังเป็นที่ชื่นชมและเชิดชูจากบรรดานักการเมืองเสรีนิยมในรัสเซียมาจนถึงทุกวันนี้

รุสลัน กรินเบิร์ก นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมชาวรัสเซีย บอกกับหนังสือพิมพ์ซเวซดา ของกองทัพบกรัสเซียเมื่อ 30 มิถุนายนหลังจากเสร็จสิ้นการเยี่ยมไข้กอร์บาชอฟที่โรงพยาบาลว่า

“กอร์บาชอฟ คือผู้ที่ปลดปล่อยรัสเซียทั้งมวลให้เป็นเสรี แต่เราไม่รู้ว่า จักควรทำอย่างไรกับเสรีที่เขามอบให้มา”