‘หมูเถื่อน’ ทะลัก 5 พันล้าน ผู้เลี้ยงจี้รัฐจัดการหวั่นพังทั้งระบบ/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

‘หมูเถื่อน’ ทะลัก 5 พันล้าน

ผู้เลี้ยงจี้รัฐจัดการหวั่นพังทั้งระบบ

 

การออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ให้ “รัฐบาลต้องจริงจัง แก้ไขหมูเถื่อนลักลอบนำเข้า”

ภายหลังจากที่มี “ขบวนการใหญ่ลักลอบ” นำเข้าหมูชำแหละและเครื่องในเถื่อนจากต่างประเทศ ในลักษณะ “หมูกล่อง” ทะลัก! เข้ามาในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 1,000 ตู้ต่อเดือน

โดยนำไปวางขายกันเกลื่อนตลาด ทั้งในร้านขายหมูหรือช็อปหมูที่เปิดขายกันทั่วประเทศ รวมถึงเขียงหมูในตลาดสด

ยิ่งหนักข้อขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2565 พบว่าในโลกโซเชียลทั้งเพจเฟซบุ๊ก และไลน์มีการลงประกาศขายหมูเนื้อแดง หมูสามชั้น และชิ้นส่วนเครื่องในหมูทุกประเภทกันอย่างเอิกเกริก

ที่สำคัญบางเพจตั้งชื่อว่า เพจหมูเถื่อน! มีทั้งขายเป็นชิ้น หั่นสไลด์ให้พร้อมสำหรับร้านหมูกระทะ

จนส่งผลกระทบทำให้หมูมีชีวิตที่ฟาร์มของเกษตรกรขายไม่ออก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคเหนือยอดขายลดลงกว่า 30% ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกระทบอย่างหนัก!

ก่อนหน้านี้ในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทย และธุรกิจเกี่ยวเนื่องทั้งห่วงโซ่ เจอมรสุมกันมาแล้วรอบหนึ่ง หลังจากเผชิญกับการระบาดของ “โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร” (African Swine Fever) หรือ ASF มีผลทำให้ “แม่พันธุ์หมู” จากทั่วประเทศ 1.1 ล้านตัว (ผลิตลูกหมูหรือ “หมูขุน” ได้ 21-22 ล้านตัว/ปี) เสียหายไปกว่า 50%

ทำให้เหลือแม่หมูอยู่ประมาณ 550,000 ตัว และผลิตเป็นหมูขุนได้เพียง 12-13 ล้านตัว/ปี หรือเท่ากับ “ซัพพลาย” หมูหายไปจากระบบกว่า 10 ล้านตัว จนทำให้ช่วงต้นปี 2565 ราคาหมูเนื้อแดงในประเทศพุ่งทะยานขึ้นไปใกล้แตะเพดาน 300 บาท/ก.ก.

ผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายเล็กยังไม่กล้าเสี่ยงที่จะกลับมาเลี้ยงหมูใหม่ เพราะต้องลงทุนยกระดับมาตรฐานฟาร์ม ทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในการป้องกันโรค ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ ยา เวชภัณฑ์

ขณะเดียวกันราคาอาหารสัตว์ ซึ่งถือเป็นต้นทุนการเลี้ยงหลักปรับตัวสูงขึ้นมากจากผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน อีกทั้งต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ค่าแรงงานสูงขึ้นจากคนงานที่หายาก ฯลฯ

แต่ล่าสุดต้องมาเผชิญกับปัญหาการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมาขาย ทำให้หมูที่เลี้ยงรอดไม่สามารถสู้กับต้นทุนหมูเถื่อนที่นำเข้ามาขายถูกๆ ได้

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า สมาคมเฝ้าสังเกตการลักลอบนำเข้าเนื้อและชิ้นส่วนหมูอย่างผิดกฎหมายเข้ามาจำหน่ายในประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกรพยายามหาเบาะแสมาตลอด แต่ช่วงแรกมีจำนวนไม่มากเท่าทุกวันนี้ มีการทำตลาดกันอย่างเปิดเผย โดยกรมปศุสัตว์จับได้เพียงส่วนน้อย จึงต้องการให้กรมปศุสัตว์ออกมากวาดล้างอย่างจริงจัง เพิ่มความเข้มงวดในการกำจัดขบวนการดังกล่าว

เพราะปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงที่เสียหายจากปัญหาโรคระบาดโดยเฉพาะโรค ASF เริ่มกลับมาเลี้ยงหมูขุนใหม่แล้วกว่า 1 ล้านตัว ซึ่งก่อนผลผลิตจะออกสู่ตลาดในไตรมาสที่ 4 ในปีนี้ ดังนั้น จะปล่อยให้ฟาร์มที่กลับมาเลี้ยงใหม่ ต้องมาแข่งกับการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูแบบนี้ต่อไปไม่ได้

ขณะที่นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมากันเป็น 1,000 ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต บรรจุหมูได้ประมาณ 27 ตัน/ตู้ ซึ่งเชื่อกันว่า จะมีเงินผลประโยชน์สะพัดไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท

และถ้ายังปล่อยให้มีการลักลอบนำหมูเถื่อนราคาถูกเข้ามาขายต่อไป นอกจากจะทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยแล้ว ยังเป็นการนำโรคระบาดร้ายแรง ASF กลับเข้ามาในระบบการเลี้ยงหมูไทยอีกด้วย

นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้าในช่วงนี้มีราคาต่ำกว่าราคาหมูในประเทศไทยมาก แต่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งโลกแพงพอๆ กัน ดังนั้น เนื้อหมูที่ลักลอบหรือที่ตลาดเรียก “หมูกล่อง” มีราคาเสนอขายต่ำมากนั้น มั่นใจว่าเป็นหมูติดเชื้อ ASF ทั้งหมด

ก่อนหน้านี้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2565 โดย ส.ส.ภาคเหนือคนหนึ่ง ได้นำหลักฐานผลการตรวจพบเชื้อ ASF ในเนื้อหมูจากที่ขายลดราคาในตลาดกรุงเทพฯ และตรวจซ้ำถึง 2 ครั้ง มายืนยันในสภา จึงเป็นหลักฐานที่ค่อนข้างเชื่อได้ว่า เนื้อหมูลักลอบนำเข้ามาจำหน่าย เป็นเนื้อหมูที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ASF เกือบทั้งหมด

 

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ภาคอีสานเป็นตลาดที่มีหมูลักลอบสูงเช่นกัน เนื่องจากมีตลาดการแปรรูปถนอมอาหารที่ใหญ่มาก ถ้าเนื้อหมูดังกล่าวปนเปื้อนไวรัส ASF ภาคอีสานก็จะมีการกระจายเชื้อ ASF จำนวนมากในพื้นที่อีกระลอก สุดท้ายแล้วจะกลับมาทำร้ายเกษตรกรผู้เลี้ยง

ซึ่งตอนนี้ประเมินว่ามีเกษตรกรในภาคอีสานเริ่มกลับมาลงเลี้ยงหมูใหม่ประมาณ 10% ถึงแม้ภาระต้นทุนการเลี้ยงต่างๆ ยังหนักหนามาก เช่น ค่าลูกสุกรพันธุ์ที่สูง ค่าอาหารสัตว์ ค่าพลังงาน ฯลฯ

ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาต้องการให้ 3 หน่วยงานที่รับผิดชอบประสานงานร่วมกัน ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน ดำเนินการตรวจจับผู้ที่จำหน่ายเนื้อหมูราคาถูกเกินจริง ซึ่งถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เพราะเป็นการกระทำความผิดต่อผู้เลี้ยงและผู้ค้า เพื่อไม่ให้ประเทศเสียหาย เพราะการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูที่อาจปนเปื้อนเชื้อไวรัส ASF หรือแม้แต่สารเร่งเนื้อแดงก็ตาม ถือว่าผิดกฎหมายทั้งนั้น

นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวว่า สำหรับภาคใต้ยังมีจำนวนสุกรเพียงพอสำหรับการบริโภคในพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาน่าสงสัยว่าจะมี “หมูกล่อง” มาแทรกผ่านช่องทางห้างค้าส่ง-ค้าปลีก ที่ตั้งราคาจำหน่ายปลีกต่ำมาก โดยยอดจำหน่ายฟาร์มขนาดใหญ่ครบวงจรช่วงที่ผ่านมาลดลงไปประมาณ 30% แหล่งต้นตอของหมูกล่องที่มาจำหน่ายในพื้นที่ภาคใต้น่าจะมาจากภาคกลาง โดยพื้นที่ที่มีการเข้ามาทำตลาดมากที่สุดจะเป็นจังหวัดนครศรีธรรมราช ภูเก็ต และสงขลา

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ปริมาณเนื้อหมูไม่เพียงพออยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่แรกที่เสียหายจากการระบาดของโรค ASF ในสุกร จากปกติปริมาณสุกรเข้าโรงฆ่าในพื้นที่อยู่ที่ 2,000-3,000 ตัว/วัน และมีการนำเข้าซากสุกรที่เชือดแล้วประมาณ 70-100 ตัน/วัน ตั้งแต่กรกฎาคม 2565 มีการนำเข้า “ซากสุกร” ขึ้นมาทางภาคเหนือเพิ่มขึ้นเป็น 160-170 ตัน/วัน ส่งผลกระทบต่อยอดขายสุกรมีชีวิตในฟาร์มเริ่มออกช้าลง 30% ทำให้ต้องเลี้ยงต่อไปจนมีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ราคาหน้าฟาร์มมีทิศทางที่จะอ่อนตัว

 

อย่างไรก็ตาม งานนี้คงต้องรอวัดใจจากหน่วยงานภาครัฐ 3 หน่วยงานว่าจะจัดการปัญหาทั้งหมดอย่างไร…

หรือจะยังปล่อยให้สถานการณ์คลุมเครือต่อไป

จนทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่เคยล่มสลายจากโรคระบาด ASF มาแล้วรอบ อาจจะกลายเป็นล่มสลายตายสนิทไม่มีโอกาสฟื้นคืนชีพกลับมาอีกเลยหรือไม่ในคราวนี้