ปิดฉาก ‘เจ้าหญิงพิกุลทอง’ อวสาน ‘ความหลากหลาย’ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

ปิดฉาก ‘เจ้าหญิงพิกุลทอง’

อวสาน ‘ความหลากหลาย’

 

จุดเด่นในช่วงครึ่งเรื่องแรกของละครจักรๆ วงศ์ๆ “เจ้าหญิงพิกุลทอง” คือการกล่าวถึงปฏิสัมพันธ์สลับซับซ้อนระหว่างสิ่งมีชีวิตอันหลากหลาย ทั้งที่เป็นมนุษย์ ไม่เป็นมนุษย์ อยู่ในธรรมชาติ และอยู่เหนือธรรมชาติ หรือการฉายภาพของ “โลกจักรๆ วงศ์ๆ พ้นมนุษย์” อย่างพิสดารพันลึก

เมื่อก้าวเข้าสู่ครึ่งเรื่องหลัง โครงสร้างเรื่องราวของ “เจ้าหญิงพิกุลทอง” ก็หักเหไปในอีกทิศทางหนึ่ง

แม้แฟนละครส่วนใหญ่จะมองว่า โครงสร้างเรื่องราวในช่วงครึ่งหลังนั้นมีประเด็นหลักว่าด้วย “การปลอมแปลงเป็นมนุษย์ของนางยักษ์”

ทว่า จากมุมมอง-การตีความส่วนตัว ผมอยากเสนอว่าประเด็นใหญ่ไม่แพ้กัน (ซึ่งคนดูจำนวนไม่น้อยก็พอจะมองเห็นอยู่บ้าง และพูด/พิมพ์ออกมาผ่านการคอมเมนต์ในยูทูบ) ที่ปรากฏในครึ่งหลังของ “เจ้าหญิงพิกุลทอง” ก็คือ การพยายามค้นหาคำตอบว่า “ผู้นำ/ผู้ปกครอง/ผู้ครองนครที่ดี” ในจักรวาลจักรๆ วงศ์ๆ นั้นควรเป็นเช่นไร?

 

ครึ่งหลังของ “เจ้าหญิงพิกุลทอง” เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “นางยักษ์กาขาว” สาปให้ “พิกุลทอง” กลายร่างเป็นชะนี ก่อนที่ตนเองจะแปลงกายเป็น “พิกุลทอง” เสียเอง แล้วใช้เวทมนตร์ครอบงำ-สะกด “พิชัยมงกุฎ” เสียอยู่หมัด

ไม่มีใครปฏิเสธว่าประเด็น “นางยักษ์แปลงกายเป็นพิกุลทอง” เป็นเนื้อหาใจกลางหลักของละครครึ่งเรื่องหลัง

แต่สิ่งที่น่าพินิจพิเคราะห์ไม่แพ้กัน ก็คือ เส้นเรื่องว่าด้วยการเดินทางไปสู่การเป็น “ผู้นำ/ผู้ปกครอง/ผู้ครองนครที่ดี” ของ “พิชัยมงกุฎ” โดยมีคู่เทียบเคียงเป็นพระบิดาอย่าง “สังข์ศิลป์ชัย”

ในครึ่งเรื่องแรกของละคร “พิชัยมงกุฎ” ได้ออกผจญภัยท่องโลกและพิสูจน์ตัวเองระดับหนึ่ง ด้วยการสังหารพญาแร้ง สั่งสอนขับไล่นางยักษ์ และได้อภิเษกสมรสกับ “พิกุลทอง”

หลายปีผ่านไป “พิชัยมงกุฎ” และ “พิกุลทอง” ครองรักกันจนมีพระโอรสสององค์ แถมเจ้าชายรัชทายาทยังได้รับสืบทอดอาวุธวิเศษ (พระขรรค์ ศร และสังข์) จากพระบิดา

อย่างเดียวที่ “พิชัยมงกุฎ” ยังไม่ได้รับ คือ การสืบราชสมบัติ

ตรงกันข้าม ละครกลับฉายภาพให้ผู้ชมตระหนักว่า หากเปรียบกับ “สังข์ศิลป์ชัย” ราชาผู้อาวุโสแล้ว “พิชัยมงกุฎ” ยังอ่อนด้อยประสบการณ์และวุฒิภาวะอย่างไรบ้าง

ผ่านเหตุการณ์ที่ “พิชัยมงกุฎ” มีสภาพจิตใจอ่อนแอ จนถูก “นางยักษ์/พิกุลทองตัวปลอม” ควบคุมสั่งการอยู่นาน มิหนำซ้ำ ศาสตราวุธ/เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่พระบิดามอบให้ ก็ถูก “นางยักษ์กาขาว” แย่งชิงไปอย่างง่ายดาย กระทั่งกษัตริย์เช่น “สังข์ศิลป์ชัย” ต้องไปชิงของวิเศษคืน แล้วนำมาเก็บรักษาเองอีกครั้ง

“สังข์ศิลป์ชัย” ยังล่วงรู้เรื่อง “นางยักษ์ปลอมตัวเป็นพิกุลทอง” โดยรวดเร็ว และพยายามหาทางแก้ไขปัญหา-ช่วยเหลือลูกชายอยู่ตลอดเวลา

แม้พละกำลังวังชาของพระองค์จะอ่อนล้าลงด้วยอายุที่มากขึ้น แต่การตัดสินใจ (ทางการเมือง) ของราชาองค์นี้กลับถูกต้องแม่นยำเป็นส่วนใหญ่ (ทำให้แฟนละครพากันคอมเมนต์ว่าพระเอกตัวจริงของ “เจ้าหญิงพิกุลทอง” คือ “สังข์ศิลป์ชัย” ที่รับบทโดย “ไพโรจน์ สังวริบุตร”)

 

การหาหนทางที่จะพัฒนาตนเองไปสู่การเป็น “ผู้ปกครองที่ดี” ของ “พิชัยมงกุฎ” และการสาธิตว่า “ผู้ปกครองที่ดี” ควรใช้อำนาจอย่างไรของ “สังข์ศิลป์ชัย” ส่งผลโดยตรงต่อแนวทางการขับเคลื่อนเรื่องราวครึ่งหลังของ “เจ้าหญิงพิกุลทอง”

เป้าหมายหลักของทั้งสองกระบวนการข้างต้น ก็คือ การสร้างสภาวะความเป็น “เอกราช” (ที่ไม่ได้หมายถึง “อิสรภาพ”) และการลดทอนความหลากหลาย ซับซ้อน วุ่นวายของสรรพชีวิตอื่นๆ (ที่มักนำไปสู่การชิงไหวชิงพริบและการปรับประสานต่อรองต่างๆ นานา)

ก่อนจะกร่อนสลายทำลาย “ความเป็นอื่น” เหล่านั้น ให้มลายหายไปในท้ายที่สุด

โดยกระทำผ่านภารกิจสำคัญอย่าง “การฆ่ายักษ์” รวมถึง “การย้ำแค้นพญาแร้ง”

ประเด็นที่แปลกดีใน “เจ้าหญิงพิกุลทอง” มีอยู่ว่า “นางยักษ์กาขาว” นั้นตัดสินใจแปลงร่างให้เหมือน “พิกุลทอง” แค่เพียงหน้าตา แต่ ณ ช่วงแรกๆ นางยังพยายามสงวนรักษาคำพูด-กิริยาแบบ “ยักษ์” (ที่แล/ฟังดูผิดฝาผิดตัวจากพวกมนุษย์) เอาไว้

“นางยักษ์กาขาว” ถึงกับเคยอธิบายในทำนองว่า นางอยากเป็นตัวของตัวเอง และต้องการให้มนุษย์รู้ชัดว่ายักษ์ได้แทรกซึมเข้ามาในพระนครเรียบร้อยแล้ว

นี่คือการประกาศ “อัตลักษณ์ความเป็นยักษ์” และยืนกรานว่า “โลกนี้มีความหลากหลาย” อย่างเด็ดเดี่ยวหนักแน่น

แม้ต่อมา จะเกิดเหตุพลิกผัน กระทั่ง “นางยักษ์กาขาว” ต้องพยายามปฏิบัติตัวเป็นมนุษย์ให้เนียนขึ้น ทว่า “พิกุลทองตัวปลอม” ก็ยังคงมีลักษณะพิรุธอันผิดแผกจากคนทั่วไปอยู่ดี

แล้วสุดท้าย “ความหลากหลาย-ความเป็นอื่น” ที่สำแดงผ่านตัวละคร “นางยักษ์” ก็ต้องถูกทำลายลงให้สิ้นซาก

ดังที่ “นางยักษ์กานิล” ต้องแขนขาดเพราะ “สังข์ศิลป์ชัย” แล้วถูกตัดศีรษะโดย “พิชัยมงกุฎ” ส่วน “นางยักษ์กาขาว” แม้เดิมทีจะฆ่าไม่ตายเพราะเก็บหัวใจไว้ที่อื่น แต่ “พิชัยมงกุฎ” ก็ดั้นด้นไปค้นหาหัวใจของนางจนพบ แล้วบีบทำลายลงเสีย

นอกจากนั้น นางกำนัลยักษ์สองตนก็ต้องตายตามเจ้านาย เหลือรอดเพียง “สุรกาย” พี่ชายที่แสนดีของ “นางยักษ์สองกา” ซึ่งถูกกันตัวเอาไว้โดย “พญานาคราช”

คล้ายคลึงกับกรณีของ “พญาแร้งสุบรรณ” ที่ถูก “พิชัยมงกุฎ” สังหารตอนท้ายครึ่งเรื่องแรก และขอขมาลาโทษกันไปเสร็จสรรพ แต่ไปๆ มาๆ พญาแร้งกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาล้างแค้นอีกรอบ เพราะยังขุ่นเคืองใจไม่หายที่เคยได้ยินนางกำนัลของ “พิกุลทอง” กล่าวโทษว่าพวกนกแร้งมีกลิ่นเหม็น

เหมือนละครกำลังบ่งชี้ว่า การรักศักดิ์ศรีของเผ่าพันธุ์และการธำรงรักษา-หวงแหนอัตลักษณ์อย่างสุดโต่งแบบ “พญาแร้งสุบรรณ” จะนำพาตัวเองไปสู่ความขัดแย้งและการทำลายล้างกันไม่มีจุดสิ้นสุด

ด้วยเหตุนี้ “ความหลากหลายที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านลบ” จึงต้องถูกขจัดออกไป

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนบทมิได้กำหนดให้พญาแร้งถูกสังหารซ้ำสองโดย “พิชัยมงกุฎ” แต่กลับโยนบาปไปให้นางยักษ์ ด้วยการสร้างสถานการณ์ที่ “ยักษ์” กับ “แร้ง” (ในนาม “ความเป็นอื่นสองแบบ”) มารบราประจันหน้ากัน

ศึกครั้งนั้นลงเอยด้วยการที่ “นางยักษ์กาขาว” เป็นฝ่ายฉีกแขน ฉีกขา และเด็ดหัว “พญาแร้งสุบรรณ” (นับว่า “เจ้าหญิงพิกุลทอง” ฉบับล่าสุด มี “ความโหด” เหนือกว่ามาตรฐานของละครจักรๆ วงศ์ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พิจารณาจากการมีฉากฆ่าตัดหัวตัวละครถึงสองราย)

 

แม้ว่า “ภาวะพ้นมนุษย์” ประเภทอื่นๆ ที่เคยแสดงบทบาทโดดเด่นในครึ่งแรกของ “เจ้าหญิงพิกุลทอง” จะมิได้ถูกกำจัดทำลายทิ้ง บนเส้นทางการพิสูจน์ตนเองของ “พิชัยมงกุฎ”

แต่ฤทธิ์เดชของ “อำนาจเหนือธรรมชาติ” ทั้งหลาย กลับมีลักษณะเจือจางเบาบางลงอย่างชัดเจน

เช่น ถึงตัวละคร “พระภูมิเจ้าที่” และบรรดาผีตีนโรงตีนศาลลูกสมุน จะยังมีบทบาทคอยช่วยเหลือสนับสนุนพระเอก-นางเอกอยู่เป็นระยะ แต่หน้าที่พลิกผันสถานการณ์ในระดับ “ชี้เป็นชี้ตาย” และ “น่าอัศจรรย์ใจ” ของพวกเขาก็มีน้อยลง

ราวกับว่าอำนาจความศักดิ์สิทธิ์แบบบ้านๆ อันเป็นที่พึ่งของคนตัวเล็กตัวน้อย จำเป็นต้องหลีกทางให้แก่ “เอกราช” อันเรืองรอง ที่ค่อยๆ ฉายแสงปรากฏขึ้น

ไม่ต่างอะไรกับบทบาทในครึ่งเรื่องหลังของ “มัจจุราช-ยมทูต” ที่นานๆ จะออกจอมาสักครั้ง

แถมการปรากฏตัวปิดท้ายพร้อมคติสอนใจว่า การเป็นแบบอย่างในการ “ทำความดี” ของ “พิกุลทอง” ได้ส่งผลให้สมุดจดบันทึกรายชื่อ “คนทำดี” มีขนาดใหญ่โตมหึมา ผิดกับสมุดจดบันทึกรายชื่อ “คนทำชั่ว” ที่ลดย่อลงจนเหลือเป็นเล่มเล็กจิ๋ว ก็ดูจะเป็น “นิทานหลอกเด็ก” ซึ่งไม่มีพลังในการอธิบายเรื่องราวสักเท่าไหร่

เพราะตลอดครึ่งเรื่องหลังของละคร “พิกุลทองตัวจริง” ในร่าง “ชะนี” นั้นแทบไม่ได้ “ทำความดี” อะไรเลย

ด้านหนึ่ง อาจหมายความว่าละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้ ล้มเหลวในการยืนยันถึงหลักการเรื่องความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต หรือล้มเหลวในการอธิบายโลกผ่านมุมมองที่ไม่ได้มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง

จนบอกเล่าและสร้างภาพไม่ได้ว่า เวลา “ชะนี” หรือ “สัตว์อื่นๆ” มีพฤติกรรม “ทำความดี” สิ่งมีชีวิตเหล่านั้น “ทำความดี” กันอย่างไร

อีกด้านหนึ่ง นี่อาจเป็นการยอมรับกลายๆ ว่า “ความดี” มิใช่ “คุณค่าสากล” เพราะเมื่อทดลองมองจากโลกทัศน์ของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ เรากลับไม่สามารถทำความเข้าใจได้ว่า “ความดี” และ “การทำความดี” คืออะไร

น่าตั้งคำถามเพิ่มอีกนิดหน่อยว่า การเข่นฆ่า “ยักษ์” ไปหลายชีวิตของ “พิชัยมงกุฎ” ควรถูกจดบันทึกไว้ในสมุดเล่มไหนของยมทูต?

หรือว่าสถานภาพ “ผู้นำ/ผู้ปกครอง/ผู้ครองนครที่ดี” ในจักรวาลจักรๆ วงศ์ๆ จะอยู่พ้นเหนือไปจากการจัดจำแนก “ความดี-ความชั่ว” ดังกล่าว? •