ภูมิอากาศสุดโต่ง กำลังซ้ำเติมภูมิภาคเอเชีย/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

ภูมิอากาศสุดโต่ง

กำลังซ้ำเติมภูมิภาคเอเชีย

 

เมื่อ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา พายุโซนร้อนรุนแรงถล่มฟิลิปปินส์ ส่งผลให้การเปิดการเรียนการสอนปกติครั้งแรกหลังจากที่ปิดไปทั่วประเทศเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องชะงักอีกครั้ง

โรงเรียน, ที่ทำการของรัฐ และห้างร้าน รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากในเขตมหานครมะนิลา ต้องปิดทำการต่อเนื่อง 2-3 วัน

ย้อนหลังไปก่อนหน้านั้นเมื่อต้นเดือนเดียวกันนี้ ฝนกระหน่ำหนักทั่วกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ น้ำบ่าท่วมถนนหนทาง เกิดแผ่นดินถล่ม และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 คน

และในขณะที่ปากีสถานกำลังเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ มีผู้เสียชีวิตไปร่วม 1,000 ราย บ้านเรือนอย่างน้อย 95,350 หลังคาเรือนถูกทำลายเสียหายทั้งหมดมาตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน

พื้นที่ทางตอนใต้ของจีนกำลังเผชิญกับภาวะแล้งจัด พืชผลเกษตรกรรมเสียหาย และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจสำคัญ ชนิดต้องปิดโรงงานเนื่องจากไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าป้อนให้ใช้

เกิดอะไรขึ้นกันแน่กับภูมิภาคเอเชียในหน้าร้อนนี้?

 

คําตอบก็คือ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของโลก กำลังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบออกมามากขึ้นเรื่อยๆ รุนแรงขึ้นตามลำดับ เมื่อรูปแบบภูมิอากาศปกติธรรมดาถูก “ดิสรัปต์” สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความแปรปรวน รุนแรงผิดปกติของปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ

อย่างที่นักวิชาการเรียกว่า ภาวะภูมิอากาศสุดโต่ง อาละวาดถี่ขึ้นและร้ายแรงขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป

ฝนที่เคยตกลงมาสร้างความชุ่มชื้น กระจายน้ำให้กับผืนดิน กลายเป็นพายุฝนหนักหนาสาหัสและต่อเนื่องยาวนาน เพียงพอต่อการก่อให้เกิดน้ำท่วมเฉียบพลันและน้ำป่าไหลหลากและแผ่นดินถล่มที่คร่าชีวิตได้ในชั่วพริบตา ส่วนพื้นที่ที่ฝนฟ้าไม่ตกก็เผชิญกับความร้อนจัด แห้งแล้ง ชนิดทำลายล้างเช่นเดียวกัน

หลายเมืองใหญ่ทางตอนใต้ของจีน โดยเฉพาะในมณฑลเสฉวน ซึ่งต้องพึ่งพาไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ กำลังเผชิญกับแล้งเข็ญครั้งใหญ่ ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างภาวะอากาศร้อนจัด อุณหภูมิพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แบบที่สามารถทำให้ผู้คนปกติเกิดภาวะฮีตสโตรกได้ กับภาวะฝนทิ้งช่วง ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้น้ำหลงเหลือไม่เพียงพอต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า เจ้าหน้าที่ต้องระงับการส่งไฟฟ้าให้กับบริษัทและโรงงานผลิตจำนวนหนึ่ง ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญก็ออกมาเตือนแล้วเช่นกันว่า ภาวะขาดแคลนกระแสไฟฟ้าอาจคงอยู่ในช่วงหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง

ปัญหาที่เสฉวนส่งผลกระทบไปถึงเขตอุตสาหกรรมบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของจีน ซึ่งนำเข้าไฟฟ้าจากเสฉวนเป็นหลัก การผลิตในโรงงานผลิตหลายประเภทได้รับผลกระทบ ตั้งแต่รถยนต์, ปุ๋ยเคมี และเหล็ก เป็นต้น

ที่สำคัญก็คือ จะยังคงไม่มีน้ำมาเติมให้กับแหล่งน้ำเพื่อขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีกแล้วตลอดหน้าหนาวที่จะมาถึง

ซึ่งส่งผลให้ความต้องการถ่านหินถีบตัวขึ้นสูงอีกครั้งในจีน แล้วก็จะวนกลับเป็นวัฏจักรอันชั่วร้ายให้เกิดภาวะโลกร้อนเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง

 

ที่ปากีสถาน ฝนในหน้ามรสุมปีนี้ผิดกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา เชอร์รี เรห์มาน รัฐมนตรีกิจการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของปากีสถานระบุว่า ฝนปีนี้กลายเป็นหายนะร้ายแรงทางมนุษยธรรม หลังจากตกกระหน่ำไม่ลืมหูลืมตา ชนิดที่สามารถวัดได้ถึง 16 นิ้วภายในเวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่แค่วัดได้ 1 ใน 3 ของนิ้วภายใน 1 ชั่วโมงก็ถือเป็น “ภาวะฝนตกหนักมาก” แล้ว

ปัญหาที่สาหัสในทัศนะของเรห์มานก็คือ ไม่มีเมืองไหน ไม่ว่าจะในประเทศใด สามารถรับมือกับน้ำจากฟ้าปริมาณมหาศาลในระยะเวลาสั้นๆ เช่นนี้ได้

ในส่วนของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความปรวนแปรของภูมิอากาศก็ปรากฏให้เห็นชัดมากขึ้นเช่นเดียวกัน ขณะที่พายุถล่มฟิลิปปินส์ ฝนหนักผิดปกติก็เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย

อาเด โซคาดิส ผู้อำนวยการบริหารของเมอร์ซี คอร์ป. อินโดนีเซีย ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือภาวะลำน้ำท้นฝั่ง กลายเป็นน้ำหลากเฉียบพลันทำลายไร่ข้าวโพด นาข้าว แปลงผัก ซึ่งมักใช้พื้นที่ริมน้ำเป็นแหล่งเพาะปลูก เสียหายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ความถี่ของน้ำหลากท้นฝั่งกลายเป็นภาวะน้ำท่วมเฉียบพลันเช่นนี้เกิดถี่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในหน้าร้อนนี้ ส่งผลกระทบต่อแผนการเพาะปลูกและการคาดการณ์ผลผลิตที่ทำได้ยากขึ้นทุกที

 

ปีเตอร์ กลิค นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศและน้ำ ผู้ร่วมก่อตั้งสถาบันแปซิฟิกขึ้น ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลกก็จริง แต่ส่งผลกระทบแตกต่างกันออกไป ภูมิภาคอย่างเอเชียได้รับผลกระทบมากกว่า ร้ายแรงกว่า ไม่เพียงเพราะมีผู้คนอยู่อาศัยอยู่มหาศาลเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะแต่ละประเทศมีความหลากหลาย มีขีดความสามารถในการรับมือกับวิบัติภัยจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไม่เท่ากัน ผู้คนจึงได้รับผลกระทบมากกว่าและรุนแรงกว่า โดยเฉพาะผู้ที่เดือดร้อนที่สุด คือบรรดาคนยากจนที่ไม่มีศักยภาพใดๆ ไปต่อสู้กับวิบัติภัยเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม กลิคเตือนว่า หน้าร้อนในเอเชียปีนี้ บ่งชี้ให้เห็นว่า ภาวะอากาศสุดโต่ง กำลังเกิดถี่ขึ้น บ่อยครั้งขึ้น พร้อมกันนั้นก็ไม่อาจคาดเดาทำนายล่วงหน้าได้อีกด้วย และเมื่อเวลาที่ภาวะอากาศสุดโต่งมาถึง ไม่มีใครรอดพ้นได้ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองใหญ่หรือในชนบทก็ตามที

สิ่งที่พอจะบรรเทาเบาบางได้ คือหน่วยงานของรัฐ แต่ก็ดูเหมือนว่า ไม่มีรัฐบาลของประเทศไหนๆ ในเอเชีย เตรียมพร้อมสำหรับการเผชิญหน้ากับสิ่งที่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนำมาให้อีกต่างหาก