ถึงเวลาแก้ ม.272/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ถึงเวลาแก้ ม.272

 

ข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการเข้าชื่อประชาชนไม่น้อยกว่า 50,000 คน ที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขมาตรา 256(1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในช่วงต้นเดือนกันยายน พ.ศ.2565 นี้ นับเป็นการพยายามครั้งที่ 3 ของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ครั้งที่ 1 เป็นการดำเนินการโดยกลุ่ม iLaw ที่รวบรวมชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 100,732 ชื่อ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2563 โดยใช้หัวข้อการรณรงค์คือ “5 ยกเลิก 5 แก้ไข” โดยเนื้อหาหลักเป็นการยกเลิกทุกประเด็นที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ครั้งที่ 2 เป็นการดำเนินการโดยกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า ซึ่งรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 135,247 ชื่อ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 โดยเนื้อประเด็นที่เสนอประกอบด้วยหลายประเด็นที่คล้ายคลึงกับข้อเสนอของ iLaw แต่มีบางข้อเสนอที่ดูรุนแรงขึ้น เช่น การยกเลิกวุฒิสภาให้กลายเป็นสภาเดี่ยว การให้มีกลไกตรวจสอบของสภาที่เข้าไปตรวจสอบกองทัพ ศาล และองค์กรอิสระ เป็นต้น

การแก้ไขทั้งสองครั้งไม่ประสบความสำเร็จ โดยไม่สามารถผ่านการพิจารณารับหลักการในวาระที่หนึ่ง โดยข้อเสนอของ iLaw มีผู้เห็นชอบ 212 เสียง ไม่เห็นชอบ 139 เสียง และงดออกเสียง 369 เสียง และข้อเสนอของกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า มีผู้เห็นชอบ 206 เสียง ไม่เห็นชอบ 473 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง

ความพยายามแก้ไขครั้งที่ 3 เป็นการเสนอขอแก้ไขเพียงประเด็นเดียว คือการตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว คงเป็นเรื่องที่จับตามองอย่างใกล้ชิด

 

กระบวนการที่ต้องใช้ความพยายาม

และการรอคอย

ข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนครั้งที่ 3 ภายใต้ชื่อกลุ่มรณรงค์แก้ไขมาตรา 272 เริ่มต้นจากการขอเข้าพบประธานรัฐสภาเพื่อยื่นเรื่องการขอริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2564 จากนั้นจึงไปทำการรณรงค์ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันลงชื่อ และสามารถนำส่งรายชื่อ 70,500 ชื่อต่อประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ในการตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายชื่อ เช่น ความถูกต้องของชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน การมีสิทธิในการเลือกตั้ง ได้รายชื่อที่สมบูรณ์ จำนวน 64,151 รายชื่อ มากกว่าจำนวนที่กำหนดในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ

จากนั้นจึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงบรรจุเป็นวาระการประชุมของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นเรื่องด่วน ตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 3 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2565

แต่ด้วยความล่าช้าในการพิจารณาวาระอื่นๆ ที่อยู่ก่อนหน้า วาระดังกล่าวจึงเพิ่งเลื่อนมาอยู่ในอันดับต้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.2565 หลังจากกรณีการพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จในกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด

โดยคาดว่าน่าจะมีการพิจารณาวาระดังกล่าวในช่วงต้นเดือนกันยายน พ.ศ.2565 นี้

 

แก้รัฐธรรมนูญ มาตราเดียว ประเด็นเดียว

ข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากการเข้าชื่อของประชาชนครั้งที่ 3 นี้ เป็นการขอแก้ไขเพียงมาตราเดียว คือ มาตรา 272 และเพียงประเด็นเดียว คือ การตัดอำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็นไปตามบทเฉพาะกาล โดยเนื้อหาที่เสนอแก้ไขมีดังนี้

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และให้ใช้ข้อความดังต่อไปนี้แทน

“มาตรา 272 ในระหว่างเวลาห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลันและในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้ และให้ดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 ต่อไป”

จากเนื้อหาที่แก้ไขจึงประกอบด้วยเนื้อหาที่สำคัญ 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 เป็นการยกเลิกมาตรา 272 ที่มีอยู่เดิมทั้งมาตรา ซึ่งมีข้อความที่เป็นสาระสำคัญในวรรคแรก ที่เกี่ยวกับการให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภามีอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีใน 5 ปีแรกของการมีรัฐสภาชุดปัจจุบัน โดยข้อความในวรรคแรกของมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่จะยกเลิกไป มีดังนี้

“ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดําเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทําในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา”

ส่วนที่ 2 เป็นการเขียนข้อความในวรรคสองของมาตรา 272 ใหม่ โดยมีสาระสำคัญคือยังคงทางออกให้มีนายกรัฐมนตรี “คนนอก” บัญชีของพรรคการเมืองตามมาตรา 88 ได้ ในกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอในการเลือกตั้งทั่วไป ว่ายังคงขั้นตอนทุกอย่างเหมือนที่เขียนไว้เดิม

เพียงแต่ในขั้นสุดท้ายการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จะกลับมากระทำในที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 159 ในบทหลักของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเช่นที่ระบุในบทเฉพาะกาล

 

วัดใจที่ 1 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภา

การผ่านการรับหลักการในวาระที่หนึ่ง นอกจากต้องได้รับเสียงข้างมากของที่ประชุมร่วมของรัฐสภา โดยในจำนวนดังกล่าวต้องมีสมาชิกวุฒิสภาร่วมเห็นชอบด้วยจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 84 คน

สำหรับในส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคาดว่าไม่น่ามีปัญหาในการได้รับการสนับสนุนในการลงมติ เหลือแต่ในส่วนสมาชิกวุฒิสภาว่าจะใช้วิธีลงมติ เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ หรือใช้วิธีการงดออกเสียงโดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตน เลยถือโอกาสไม่ออกเสียงและเป็นเขตปลอดภัยหรือ Safe Zone ของตน

การงดออกเสียง ไม่ใช่ความสง่างาม หรือเป็นการวางตัวเป็นกลาง เพราะท่านย่อมรู้ว่า จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุน 1 ใน 3 ญัตติการแก้ไขมาตราดังกล่าวจึงผ่านวาระหนึ่งได้

ความสง่างามของสมาชิกวุฒิสภา คือความกล้าในการตัดสินใจ “รับ” หรือ “ไม่รับ” และพร้อมชี้แจงเหตุผลให้ประชาชนได้รับทราบ

การ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ย่อมเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของท่าน แต่หากหลบลี้ไปอยู่ในโซน “งดออกเสียง” ในประเด็นที่สังคมต้องการคำตอบที่เด็ดขาด

สังคมอาจรู้สึกเสียดายเงินภาษีที่ต้องจ่ายเป็นเงินเดือนของเหล่าผู้มีคุณวุฒิของบ้านเมือง