เสถียร โพธินันทะ : ชู “พุทธ” สูงเด่น [ดังได้สดับมา]

 

ความโน้มเอียงตั้งแต่เมื่ออายุ 17 ปีกระทั่งเมื่ออายุ 36 ปี ของ เสถียร กมลมาลย์ และ เสถียร โพธินันทะ คือความโน้มเอียงในเชิง “ศาสนาเปรียบเทียบ”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่าง “พุทธ” กับ “ศาสนาอื่น”

“พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีตัวตนเรียกว่า “อนัตตา” ไม่ทรงสอนเรื่องพระเจ้าผู้สร้างโลก”

สิ่งทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นตามปัจจัยและตามธรรมชาติ และสิ่งใดมีเหตุมีปัจจัย สิ่งนั้นย่อมไม่เที่ยง และเมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เป็น “ทุกข์” ความเวียนว่ายตายเกิดในโลกนั้นเรียกว่า “วัฏฏสงสาร” เป็นทุกข์

การที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่มองดูโลกในแง่ร้าย

มีใครบ้างที่เกิดมาแล้วสามารถประกาศว่าฉันไม่เคยมีทุกข์เลยจนกระทั่งวันตาย ท่านไม่ทุกข์มากก็ทุกข์น้อย แม้พระพุทธเจ้าเมื่อสมัยพระองค์ยังไม่ได้ตรัสรู้ พระองค์ก็เคยพบกับความทุกข์มาแล้ว หากพระองค์มีพระปรีชา

ไม่ใช่รู้ว่าทุกข์แล้วก็หยุดไว้แค่นั้น พระองค์ทรงพยายามค้นคว้าสาวหาต้นเหตุของมันว่ามาจากไหนและทรงรีบดับลงเสียได้

จนพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าและทรงสอนผู้อื่นให้รู้ด้วย

ความทุกข์ยากต่างๆ ที่เราได้รับนี้ ต้นเหตุที่มาก็คือตัณหาความอยากนั่นเอง และความอยากอันนี้เป็นเหตุให้เกิดอุปาทานความยึดมั่นในตัวตนว่าของเรา เป็นเรา เมื่อเกิดความยึดถือในตัวตนแล้วสิ่งภายนอกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวก็พลอยยึดไว้ด้วย

ทีนี้ถ้าตัวมีความอยากในสิ่งใดแต่ไม่สมอยากก็เกิดความทุกข์ ตลอดจนสิ่งภายนอกของตัวเองด้วย

ความจริงรูปร่างของเรานี้ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ และขันธ์ อายตนะ ไม่มีสิ่งใดที่จะเรียกได้ว่าเป็นตัวตน ถ้าเราแยกมันออกมาทีละชิ้นเหมือนกับการแยกส่วนต่างๆ ของรถ เช่น ดินส่วนดิน น้ำส่วนน้ำ ฯลฯ แล้วก็มีผลว่ามันว่างเปล่า

แต่ที่เห็นเป็นรูปเป็นร่างก็เพราะส่วนต่างๆ เหล่านี้มาคุมกันเข้าถูกส่วนและมีจิตบงการให้รู้สึกนึกคิดเท่านั้น ความจริงแยกออกแล้วก็ไม่มีอะไร

นอกจากสูญ ว่างเปล่า ไม่มีตัวตน

ฉะนั้น การที่เราหลงยึดเอาความว่างเปล่านี้มาเป็นตัวตนเข้าก็เท่ากับว่าเราไปหาทุกข์มาใส่ตัวของเราเอง ใครสามารถละความยึดมั่นได้เท่าไรก็มีทุกข์น้อยลงตามลำดับ จนที่สุดถ้าไม่ยึดมั่นอะไรไว้เลย ผลก็คือความเป็นผู้ไม่มีทุกข์อะไรเลย

ดังเช่นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย

แล้ว เสถียร กมลมาลย์ ก็เสนอประเด็นเอาไว้ในท่องสุดท้ายของบทความ ขอให้พวกเราหนุ่มๆ พิจารณาดูว่าพระพุทธศาสนานั้นสมควรจะเป็นศาสนาสากลหรือไม่

และสมควรที่จะรับปฏิบัติได้แล้วหรือยัง

เราจะหาศาสนาไหนอีกเล่าที่เหมาะสมกับชีวิตจิตใจตลอดจนความเป็นอยู่ของเราเช่นพระพุทธศาสนา เราจะเห็นว่าพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่เป็นศาสนาสากล และพระพุทธศาสนาเท่านั้นที่ไม่ขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ พระพุทธศาสนาเท่านั้นที่ควรได้รับความยกย่อง

ทีนี้ข้าพเจ้าขอพูดถึงมติส่วนตัวของข้าพเจ้าบ้างเล็กน้อยว่า ธรรมะในพระพุทธศาสนานั้นควรจะได้รับบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนตามโรงเรียน เมื่อสมัยก่อนเคยมีอยู่พักหนึ่ง แต่ทำไมกลับเลิกไป

หลักสูตรศีลธรรมชั้นมัธยมก็มีเค้าจากธรรมะในพระพุทธศาสนา เช่น ในสิงคาโลวาทสูตร เป็นต้น เราควรจัดให้มีการเรียนธรรมะโดยตรง เช่น พุทธประวัติ-คิหิปฏิบัติไว้ในชั่วโมงเรียนศีลธรรม

ปัจจุบัน เด็กหนุ่มของเราโดยมากไม่รู้จักแม้เพียงประวัติของพระพุทธเจ้า

ข้าพเจ้าเคยได้ยินเขาเล่ามาเรื่องหนึ่งว่า มีเด็กไทยที่ไปเรียนต่างประเทศถูกนักบวชต่างศาสนาถามว่า “พระพุทธเจ้าคือใคร”

เขาตอบไม่ได้ทั้งๆ ที่เขาบอกว่าเขาเป็นพุทธศาสนิกชน

นี่เป็นข้อน่าอับอายเหลือประมาณในการที่เขาเป็นคนไทยซึ่งบูชาพระพุทธศาสนาประจำชาติ เราจงดูตัวอย่างของโรงเรียนในยุโรปหรือโรงเรียนของพวกมิชชันนารีในประเทศเรา การเรียนคัมภีร์ใบเบิลเป็นหลักสูตรสำคัญของโรงเรียนอย่างยิ่ง

ข้อเสนอของ เสถียร กมลมาลย์ เมื่ออายุ 17 ปี เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่กระทั่งเขาอายุ 39 ปี