สำรวจความสำเร็จทางการเมือง : ตระกูลการเมือง/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

สำรวจความสำเร็จทางการเมือง

: ตระกูลการเมือง

 

ระยะนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าสนใจหลายเรื่อง พลันที่โรคระบาดโควิด-19 ยังไม่หายไป สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดต้นปี 2565 ซัพพลายช็อก ราคาพลังงานเพิ่มสูงและบางครั้งขาดแคลน ต้นเดือนสิงหาคม 2565 เมื่อนางสิงห์แห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ โลกก็ลุกเป็นไฟ

แล้วภูมิภาคเราที่อยู่ใกล้นิดเดียว อีกทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีปฏิสัมพันธ์ซับซ้อนร่วมกันทั้งจีนและไต้หวัน จะไม่ยุ่งยากได้อย่างไร

แถมยังมีความไม่แน่นอนหลายอย่างอีกด้วย ความไม่แน่นอนอันหนึ่งคือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง (political uncertainties) อันเนื่องมาจากการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นและอาจเกิดขึ้นอีกในหลายประเทศ

เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

 

ตระกูลการเมือง (Political Dynasty)

ยังเข้มแข็ง

ในทางวิชาการ มุมมองจากตะวันตกมักมองเสมอว่า ระบบการเมืองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่พัฒนา ขาดเสถียรภาพ เพราะสถาบันการเมืองต่างๆ ยังอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง ไม่ต่อเนื่อง

แนวคิดนี้ถูกบางส่วน แล้วเขายังเตือนให้เห็นว่า อุปสรรคทางการเมืองหนึ่งมาจากตระกูลการเมือง อันเป็นพลังเงียบ ยังมีความเข้มแข็งและทรงพลังอยู่ ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง

บทความของ Julia Lau1 ชี้เรื่องตระกูลการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังทะยานขึ้นพร้อมการเลือกตั้งในอดีตและในอนาคตอันใกล้

แต่สังเกตได้ว่า ไม่ทั้งหมดของคนในตระกูลการเมืองจะโลดแล่นได้ราบรื่น

 

ฟิลิปปินส์ การกลับมาของตระกูลมาร์กอส

การเลือกตั้งประธานาธิบดี Ferdinand ‘Bong bong’ Marcos Jr. มิถุนายน 2022 ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความสำเร็จมาจากมรดกที่พ่อของเขาทิ้งเอาไว้

แม้ว่าก่อนการเลือกตั้ง มีการโจมตี บอง บอง เรื่องไม่จ่ายภาษีเงินได้และอสังหาริมทรัพย์ และกล่าวหาว่าเขาคอร์รัปชั่น

แต่บอง บอง มีจุดเริ่มต้นทางการเมืองเข้มแข็งทีเดียว

กว่า 2 ทศวรรษ เขาดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากมาย เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนราษฎร วุฒิสมาชิก และรัฐมนตรีเกษตร

เขายังมีพี่สาวชื่อ Imee ที่เคยเป็น ส.ส. แล้วมาเป็นผู้ว่าฯ เมือง Ilocos เมืองอันเป็นฐานการเมืองของตระกูลมาร์กอส

 

ใช่ว่าอินโดนีเซียจะไม่มีตระกูลการเมือง

หลายฝ่ายต่างชื่นชมพัฒนาการเมืองก้าวสู่ระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียได้ทิ้งการเมืองรวมศูนย์ภายใต้ ผู้นำคนเดียวของซูการ์โน และแบบคณาธิปไตยของผู้นำ ทหารและกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ไปสู่ผู้นำประชานิยมที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของประธานาธิบดีอดีตนายพลและประธานาธิบดีพลเรือนนับตั้งแต่การล่มสลายของระบอบซูฮาร์โต หลังปี ค.ศ.1977 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย

ที่สำคัญ กองทัพอินโดนีเซียก้าวสู่การปฏิรูปกองทัพ แยก Dawifunsi หรือทวิหน้าที่ มีหน้าที่ทางการเมืองและหน้าที่ป้องกันประเทศด้วย เหลือหน้าที่ป้องกันประเทศอย่างเดียว มีรัฐมนตรีกลาโหมเป็นอดีตนายพล

แต่มีรายงานการศึกษาว่า นับจากการเลือกตั้งปี 2015-2018 ตระกูลการเมือง 202 ตระกูลที่แข่งขันลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งในระดับภูมิภาคและตำแหน่งอื่นๆ ปรากฏว่ามี 117 ตระกูลชนะการเลือกตั้ง2

ที่น่าสนใจมาก ในงานศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้งในปี 2020 มีคนในครอบครัวประธานาธิบดี Joko Widodo ชนะการเลือกตั้งถึง 2 ที่

ที่แรก การเลือกตั้งผู้ว่าฯ Solo เมืองใหญ่ขนาดกลางของชวากลาง ลูกชายคนโตประธานาธิบดีวิโดโดคือ Gibran Rakabuming อายุ 35 ปี ชนะการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งแห่งที่ 2 คือที่จังหวัดเมดาน (Medan) ในสุมาตราเหนือ ลูกเขยของประธานาธิบดีโจโค วิโดโด Bobby Nasuton อายุ 31 ปี ก็ชนะการเลือกตั้ง

เราไม่ควรหลงลืมตระกูล ซูการ์โน (Sukarno) ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย มีคนในตระกูลนี้วางแผนชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2024 นั่นคือ Puan Maharani ลูกสาวคนเล็กของอดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนที่ 5 Megawati Sukanoputi และเป็นหลานสาวของอดีตประธานาธิบดีซูการ์โน ลงชิงชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วย

แม้ว่าเธอมีวงศ์ตระกูล แต่ความนิยมในตัวเธอจากการสำรวจไม่สู้ดีนัก เนื่องจากผลงานในฐานะประธานรัฐสภาไม่ดี ดังนั้น การเสนอชื่อของเธอเพื่งลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดียังไม่เข้มแข็งพอ3

 

ชนชั้นนำในการเมืองมาเลเซีย

แม้ว่าพัฒนาการเมืองของมาเลเซียจะน่าตื่นเต้นด้วยแรงผลักดันอันเข้มข้นของภาคประชาสังคม สื่อมวลชน คนหนุ่มสาวและพลังของสื่อสังคมออนไลน์ ที่ก่อการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในทางการเมือง ความตื่นตัวของสาธารณะในวงกว้างเรื่อง การตรวจสอบและการผลักดันต่อต้านการคอร์รั่ปชั่นของนักการเมือง

แต่การเมืองมาเลเซียยังคงเผชิญหน้าอย่างมาจาก ตระกูลการเมือง ที่ยังคงกุมชะตากรรมการเมืองของประเทศอยู่

เมื่อความยุ่งยากทางกฎหมายกดดันและเอาผิดอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก (Najib Razak) อายุ 69 ปีในคดีทุจริตระดับโลก ภาพการเมืองได้ฉายไปที่ลูกชายคนโตจากการแต่งงานครั้งแรกของนาจิบ ราซัก คือ Mohd Nizar Najib ที่อายุ 44 ปี ผู้ซึ่งคาดหวังจากมรดกทางการเมืองของปู่และพ่อของเขาที่ตกทอดมา มรดกทางการเมืองที่เขตเลือกตั้ง Pekan ที่ครอบครัวของเขาได้ก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 1959

อย่างไรก็ตาม การเมืองมาเลเซียยังฝังแน่นด้วยครอบครัวการเมืองที่แข็งกันกันอย่างดุเดือดในพรรค UMNO มายาวนานจนถึงปัจจุบัน

เราจะเห็นได้ว่า บทบาทของอันวาร์ อิบรอฮิม (Anwar Ibrahim) ปัจจุบันอายุ 75 ปี อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดาวรุ่งที่กลายเป็นดาวร่วงเมื่อขัดแย้งกันเองจากกลุ่มที่เคยอุปถัมภ์และผลักดันเขาในพรรคอัมโน จนกระทั่งต้องติดคุก

เวลานี้ ทายาททางการเมืองของเขาก็เริ่มเคลื่อนไหวและฉายแววทางการเมือง ลูกสาวชื่อ Nurul Izzah Anwar อายุ 41 ปี ซึ่งเธอลงเล่นการเมืองเมื่อตอนอายุ 20 กว่าๆ ตอนนี้ได้ออกมาลั่นกลองประกาศว่าเป็น เจ้าหญิงแห่งการปฏิรูป (Princess of Reformasi) เหมือนช่วงตอนที่แม่และครอบครัวของเธอประกาศเรื่องการปฏิรูป เพื่อรณรงค์การเมืองและเปลี่ยนประเทศมาเลเซียช่วงที่พ่อของเธอติดคุกมาแล้ว

เธอยังเป็นพลังเงียบ แต่ตอนนี้เธอกลับสู่สนามการเมืองโดย เป็นรองประธานพรรค People Justice Party (PKR) แล้วแสดงบทบาทผู้นำของพรรคฝ่ายค้านเหมือนที่พ่อของเธอเคยเป็น

 

อนาคตการเมืองไทย

เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ตระกูลการเมือง แตกกิ่งก้านสาขาไปมากในการเมืองไทยร่วมสมัยโดยเฉพาะนับตั้งแต่ยุครุ่งโรจน์ของการเมืองในระบบรัฐสภาและพรรคการเมืองตั้งแต่ทศวรรษ พ.ศ.2530 เป็นต้นมา แม้มีการยุบพรรคการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 มีรัฐประหารอีก 2 ครั้งในปี พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2557 โดยตัวเล่นหลักกลุ่มเดียวกัน ตระกูลการเมือง ก็ไม่ได้ล้มหายตายจาก เพียงแต่แปลงร่างและเป็นพลังเงียบของการเมืองไทย

ที่แน่ๆ 3 ป. ไม่ใช่ตระกูลการเมือง แน่นอน แต่เป็น ส่วนหัว ของพลังอำมาตยาธิปไตย ฝักใฝ่ของกองทัพ และสถาบันการเมืองบางสถาบัน ด้วยความที่เป็นเพียง ส่วนหัว เมื่อซีกหนึ่งของหัวคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ติดกับดักการเมือง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องวาระ 8 ปีนายกรัฐมนตรีแล้ว แม้ศาลตีความเป็นประโยชน์ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ที่ไม่แน่นอนทางการเมืองจะเกิดกับนักการเมืองและผู้ลงคะแนนเสียง

แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่มากกว่าจะมีต่อ พล.อ.ประยุทธ์เอง เขาจะได้รับความยินยอมทางการเมืองมากแค่ไหนให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

ที่สำคัญกว่านั้น เขามีผลผลิตทางการเมืองอะไรบ้างที่สร้างขึ้นมาเพื่อรักษาอำนาจได้ต่อไป

1“Political Succession in Southeast Asia : When Dynasty Might Mean Destiny” The Diplomat 24 August 2022.

2Noory Okthariza “Jokowi join Indonesia’s dynastic trend” East Asia Forum, 13 October 2020.

3Ibid.,