ผังเมืองยุค ‘ดิจิทัล’ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

ผังเมืองยุค ‘ดิจิทัล’

 

บทความของ ดร.วินนี่ ถัง อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง ในเว็บไซต์ไชน่า เดลลี่ โกลบัล เขียนถึงผู้บริหารเกาะฮ่องกงดึงเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยวางแผนปรับผังเมืองให้สอดกับวิถีชีวิตของผู้คนในยุคดิจิทัลได้อย่างน่าสนใจ

“ถัง” บอกว่าในช่วงระหว่าง 25 ปีที่ผ่านมานี้ เกาะฮ่องกงปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเมืองอย่างรวดเร็วมาก ครัวเรือนมีอัตราการเข้าถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตกว่า 94 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปี 2540 ตอนนั้นชาวฮ่องกงใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตแค่ 30% เท่านั้น

ชาวฮ่องกงจึงคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี 5 G เป็นอย่างดีเพราะใช้ตลอดเวลา เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปแล้ว

เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องไม่ยากเลยที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาสอดประสานเพื่อให้ชาวฮ่องกงได้ใช้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น

ผู้บริหารเกาะฮ่องกง ปรับเปลี่ยนระบบแผนที่จากเดิมที่เคยใช้กระดาษ มาเป็นแผนที่ดิจิทัล เอาข้อมูลทั้งหมดใส่ในคอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผลและสามารถนำผลมาตัดสินใจในการวางแผนเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของชาวฮ่องกงในระดับเรียลไทม์

ข้อมูลเครือข่ายถนนอัจฉริยะ โครงข่ายทางรถไฟฟ้า ผังเมือง ถูกดึงมาใช้ในแพลตฟอร์มดิจิทัลสามารถประมวลผลว่า ชาวฮ่องกงเดินทางในเส้นทางใดได้สะดวกรวดเร็วที่สุด หรือนำไปใช้ประมวลผลว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุ ไฟไหม้ เส้นทางไหน รถพยาบาล รถดับเพลิงสามารถเดินทางไปถึงที่หมายได้ในเวลาอันสั้นที่สุดปลอดภัยที่สุด

เช่นเดียวกันข้อมูลการประมวลผลระดับน้ำในอุโมงค์ระบายน้ำทั่วเกาะฮ่องกง จะส่งไปยังศูนย์จัดการน้ำท่วมในทันทีที่เกิดพายุพัดกระหน่ำฝนตกหนักมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นสูง ข้อมูลเหล่านี้ ผู้บริหารเกาะฮ่องกงนำไปใช้ในการวางแผนตัดสินใจแก้ปัญหาได้ทันท่วงที

ช่วงเกิดโรคโควิด-19ระบาด ผู้บริหารเกาะฮ่องกงนำระบบดิจิทัลมาประมวลผลจำนวนผู้ป่วย แผนผังจุดที่มีการแพร่ระบาด และยังนำมาใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการขยะติดเชื้อ และออกกฎระเบียบเพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ระบาด

ในปี 2558 ผู้บริหารเกาะฮ่องกงยังนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในด้านการศึกษาในโครงการที่เรียกว่า “การเรียนรู้แผนที่” (Map in Learning) เป็นซอฟต์แวร์ที่นักเรียนนักศึกษาในทุกชั้นเรียนตั้งแต่ระดับประถมไปถึงมัธยมนำไปใช้ได้ฟรีๆ

โครงการดังกล่าว ได้รับความนิยมอย่างมาก โรงเรียนกว่า 220 แห่งทั่วเกาะฮ่องกง นำไปเผยแพร่ให้กับเด็กๆ เฉพาะปีนี้มีเด็กและครูเข้าร่วมฝึกการใช้ซอฟต์แวร์นี้ไปแล้ว 1,700 คน

 

“ถัง” ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังของฮ่องกงส่งเสริมให้เด็กนักเรียน นักศึกษานำความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาแข่งขันประกวดการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้ชาวฮ่องกงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยกระดับการแข่งขันทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงโครงการบรรเทาจราจรติดขัด

ปรากฏว่า ผู้เข้าร่วมประกวดนำเสนอแพลตฟอร์มที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนชาวฮ่องกง เช่น การสร้างแพลตฟอร์มช่วยเหลือผู้สูงอายุ แสดงจุดที่มีผู้สูงอายุพักอาศัยอยู่ ถ้ามีเหตุเจ็บป่วยจะเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้อย่างไร เอารถเข็นคนพิการเข้าไปรับได้หรือไม่ ใช้เวลาการเคลื่อนย้ายมากน้อยในกี่นาที

หรือแพลตฟอร์มแก้ปัญหาจราจรและมลพิษทางเสียงในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น หรือเป็นจุดขนส่งขนาดใหญ่ อย่างเช่น ฝั่งเกาลูนตะวันออก รถวิ่งอยู่ตลอดเวลามีเสียงดังอึกทึก

การสร้างแพลตฟอร์มเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงวิสัยอันกว้างไกลของผู้บริหารเกาะฮ่องกงที่จะนำสู่เป้าหมายการยกระดับการเป็นผู้นำ “สมาร์ตซิตี้” ของเอเซีย แข่งกับสิงคโปร์ เกาหลีใต้

 

กลับมาที่บ้านเรา มีข่าวว่า กรุงเทพมหานครในยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะปรับปรุงผังเมืองฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

ในปัจจุบัน กทม.ใช้ผังเมืองรวม ปี 2556 แต่ขณะนี้โครงสร้างเมืองของ กทม.เปลี่ยนไป ประชากรขยายตัวหลายพื้นที่เกินมาตรฐานที่ผังเมืองรวมกำหนด มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนใหม่ๆ หลายสาย และภาคเอกชนลงทุนใครงการศูนย์ธุรกิจ คอนโดมิเนียมขนาดใหญ่หลายพื้นที่

สำนักการผังเมือง กทม.จึงปรับปรุงกฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ซึ่งทำเสร็จไปเมื่อปี 2563 กำลังอยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ หลังคุณชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ กทม.ได้เข้าไปติดตามดูพบว่ายังมีประเด็นที่จะต้องปรับปรุงใหม่ให้รอบคอบมากขึ้น ทั้งในเรื่องลักษณะการใช้ที่ดิน และสอดคล้องกับกฎหมายภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง

แต่การปรับผังเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย คุณชัชชาติบอกว่ามีความซับซ้อนในหลายด้าน

ผังเมืองใน กทม.แบ่งพื้นที่ตามการใช้งานเป็นสีๆ สีแดง สีส้ม สีน้ำตาล เหลือง ถ้าสีแดงเป็นพื้นที่พาณิชย์ สีม่วงเป็นเขตอุตสาหกรรม สีส้มเป็นที่อยู่อาศัยที่มีคนอยู่หนาแน่น

“หากดูผังสีเหมือนเป็นผังที่กำหนดราคาที่ดิน ในแต่ละพื้นที่สร้างสูงสุดได้มากเท่าไหร่ แต่ไม่ได้บอกว่าควรจะสร้างอะไร กลายเป็นว่าคนที่อยู่ในผังสีนี้ต้องการจะสร้างในสิ่งที่ได้ค่าตอบแทนสูงสุด ทำให้รูปแบบของเมืองพัฒนาในรูปแบบความต้องการราคาและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด” ผู้ว่าฯ กทม.บอกกับสื่อ

คุณชัชชาติบอกว่า คงจะต้องค้นหากันต่อไปในอนาคตว่า ผังเมืองควรจะกำหนดโจทย์ทิศทางของเมืองมากกว่าจะกำหนดสร้างอะไรได้มากที่สุดในพื้นที่ ดังนั้น จึงต้องคิดมีแนวคิดใหม่เพื่อให้เกิดการพัฒนาเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

 

ผมเห็นด้วยกับแนวคิดของคุณชัชชาติในการปรับปรุงปฏิรูปผังเมือง กทม.ใหม่ เพราะผังเมืองใช้กันอยู่ทุกวันนี้เละตุ้มเป๊ะ พื้นที่ที่ควรเป็นที่พักอาศัย กลับกลายเป็นเขตธุรกิจมีศูนย์การค้ากระจุก โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กใหญ่ซุกอยู่ด้วย สร้างปัญหาสารพัดทั้งฝุ่นพิษ จราจรติดขัด

อยากเห็นคุณชัชชาติโชว์วิชั่นปรับผังเมืองเข้ากับยุคดิจิทัล

ดูฮ่องกงเป็นตัวอย่างการปรับรื้อจากระบบอะนาล็อกมาเป็นดิจิทัล จนวันนี้ผู้บริหารเกาะฮ่องกงสามารถบริหารจัดการป้องกัน แก้ไขเมืองได้รวดเร็ว และประชาชนสามารถนำข้อมูลมาใช้กับชีวิตประจำวันเพิ่มความสะดวกสบายยิ่งขึ้น

ผังเมืองฉบับใหม่ กทม.ควรต้องมีรูปแบบการสร้างเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่มากที่สุด ต้องแบ่งพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับคนส่วนใหญ่ เข้าไปใช้บริการได้ฟรี เช่น มีพื้นที่ออกกำลังกาย สวนสาธารณะมากขึ้น กว้างขึ้นกว่าเดิม

ผังเมืองใหม่ต้องแยกให้ชัดเจน เขตไหนเป็นเขตเศรษฐกิจ เป็นเขตการค้า พื้นที่ไหนที่กันไว้เฉพาะพักอาศัยและพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ไหนเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างแต่ละเขตต้องเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว

ที่สำคัญการร่างผังเมืองใหม่ยังต้องคิดถึงชาว กทม.ที่มีรายได้น้อย คนที่ยังใช้รถเมล์ รถประจำทาง รถไฟฟ้าใต้ดิน บนดิน จักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ เพราะคนเหล่านี้ต้องเดินข้ามถนน ข้ามสะพานลอย ทำอย่างไรจึงจัดแบ่งพื้นที่ให้เหมาะสม

เช่น เพิ่มพื้นที่มาสร้างทางเท้าให้กว้างขึ้น ผู้คนเดินสวนกันได้หรือเป็นทางร่วมกับจักรยาน มีทางเชื่อมต่อหรืออุโมงค์ใต้ดินให้คนอีกฝั่งของถนนเดินข้ามโดยไม่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกับรถที่ซิ่งมา มีที่กลับรถสำหรับรถจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ที่อยู่ใกล้ชุมชน ลดความเสี่ยงอุบัติเหตุที่มีสาเหตุมาจากการขี่รถสวนทาง

ผมหวังว่า คุณชัชชาติจะปรับผังเมืองใหม่ของ กทม.ที่เป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แค่กลุ่มทุนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ •