‘หลงยุค’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘หลงยุค’

 

กว่าสิบปีก่อน ผมเขียนงานชิ้นหนึ่ง ใช้ชื่อว่า “หลงยุค”

เริ่มต้นด้วยคำพูดแบบขำๆ ของเดฟ สมิธ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสือโคร่ง และทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง ที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำทำอยู่

เราใช้เวลาร่วมกันนานนับปี ยิ่งหากย้อนกลับไปตั้งแต่พบกันครั้งแรกในป่าทางตอนใต้ของลำน้ำขาแข้ง นั่นเราก็คุ้นเคยกันมาร่วมยี่สิบปีแล้ว ผมเรียกเขาว่า เดฟ แม้ว่าเขาจะอยู่ในวัยอาวุโสกว่ามาก ความคุ้นเคยของเราทำให้คุยกันได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องใต้ทะเลลึกกระทั่งถึงจักรวาลไกลโพ้น

“นายเหมือนคนอยู่ในศตวรรษที่แล้วเลยครับ” เขาพูดพลางหัวเราะดัง ขณะเดินตามผมขึ้นไปบนที่ทำการไปรษณีย์อำเภอลานสัก

ผมส่งซองต้นฉบับให้เจ้าหน้าที่ชั่งน้ำหนัก งานเขียนในซองนี้จะถึงกองบรรณาธิการในกรุงเทพฯ วันรุ่งขึ้น ผมส่งงานด้วยวิธีนี้มาเนิ่นนาน บริการรวดเร็ว ไม่เชื่องช้า แต่แน่นอนว่า นี่เป็นยุคซึ่งมีวิธีการส่งงานซึ่งรวดเร็วและเป็นไปตามยุคสมัยมากกว่า วิธีการที่ผมใช้จึงคล้ายจะ “ตกยุค” โดยสิ้นเชิง

“รู้ไหม นี่เป็นวิธีการที่เขาใช้กันเมื่อศตวรรษที่แล้ว” เดฟยังสนุก

ผมมองหน้าสหายอาวุโส ซึ่งมีสีหน้าขำๆ

“ขอบคุณที่ชมครับ” ความหมายคือ ไม่ใช่เรื่องง่ายนักหรอกที่จะเลือกหนทางที่ตัวเองอยากทำ เลือกเดินช้าๆ ไปกับโลกที่หมุนเร็ว

 

ในป่าด้านตะวันตกหลายครั้งที่ต้องพบกับสภาพอากาศอันเปลี่ยนแปลง เช่น ร้อนอบอ้าวทั้งที่ควรจะหนาวเย็น ฝนกระหน่ำในเวลาที่ควรจะแล้ง ภายหลังที่ฝนตกหนักๆ และปรอยๆ อีกสามวันนั่นแหละ อุณหภูมิจะลดต่ำต่อเนื่อง เหลือไม่ถึงสิบองศาเซลเซียส และเราพบว่าต่ำกว่านี้ เมื่อมีภารกิจขึ้นไปบนสันเขาสูง

บางครั้ง เดฟจะตามเราไปอยู่ในแคมป์

“จะไปกับเราจริงๆ เหรอครับ”

“ไปสิ ทำไมล่ะ” เดฟมีสีหน้าแปลกใจที่ผมถาม

“ผมกลัวว่าคุณจะอยู่ได้ไม่เกินหนึ่งวันน่ะสิ เพราะที่แคมป์ไม่มีอินเตอร์เน็ตนะ”

เดฟหัวเราะอย่างยอมรับ งานของเขาเกือบทั้งหมดต้องอาศัยอินเตอร์เน็ต รับ-ส่งจดหมายติดต่อผู้คนหลายแห่งในโลก

“ผมเป็นคนของศตวรรษนี้ครับ” เดฟพูด

เสือดาว – เสือไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลก นอกจากได้รับการออกแบบร่างกายมาเหมือนๆ กัน วิถีการดำเนินชีวิตก็เป็นเช่นเดียวกัน

คราวนั้นทีมมีภารกิจติดตามเสือโคร่งตัวเมียที่มีอายุราวสามปี และยังหาอาณาเขตแน่นอนของตัวเองไม่ได้ เธอยังไม่แกร่งพอ นักวิจัยมีข้อมูลว่าปกติเสืออายุ 4 ปี จึงจะสะสมความแกร่งพอที่จะเบียดเจ้าถิ่นเดิมออกไปเพื่อเข้าครอบครองแทนได้

เมื่อยังไม่มีอาณาเขต เสือตัวนี้จึงเป็นคล้ายเสือพเนจร เดินไปเรื่อยๆ เลือกเดินไปตามด่านบนสันเขาสูง หลีกเลี่ยงการลงสู่พื้นราบ เพราะเป็นบริเวณที่มีเสือเจ้าถิ่นอยู่ นักวิจัยมีข้อมูลการเดินทางของมันชัดเจน

เมื่อมันหยุดอยู่ที่เดิมมากกว่าสามวัน ส่วนใหญ่เพราะล่าเหยื่อได้ ผู้ช่วยนักวิจัยจะเข้าไปตรวจสอบตามพิกัดที่ได้มา

ทุกตำแหน่งจะอยู่บนสันเขาสูง ซากเหยื่อเป็นกวาง, หมูป่า มันใช้เพิงหินเป็นที่หลบนอน

ทุกตำแหน่งเราเดินไปตามที่เครื่องมือบอก

พิกัดชัดเจน แต่จะไปถึงต้องเดินด้วยเท้าของเราเอง

เมื่ออยู่ในช่วงเวลาใด ต้องปรับตัวเพื่ออยู่ในช่วงนั้นๆ สำหรับเสือ นี่คือเรื่องสำคัญ ที่พวกมันเรียนรู้และส่งทอดต่อๆ กันมา

 

ถึงวันนี้ จากวันที่เดฟถามแบบขำๆ

“ม้านายอยู่ไหนล่ะ”

วันนั้นผ่านมานาน ช่วงเวลานั้นผ่านไปแล้ว วันนี้ผมทำงานโดยพึ่งพา “เครื่องมือ” ของยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ หรือการส่งงาน ผมยังทำงานเช่นเดิม เล่าเรื่องราวที่ได้เรียนรู้จากสัตว์ป่า แต่ในป่าเกือบทุกแห่งมีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งสามารถใช้ได้บนสันเขาสูง ในพื้นที่กันดารผมพบร่องรอยเสือที่อยู่ในช่วงสะสมความแกร่ง

เสือสอนบทเรียนสำคัญชัดเจน อยู่ในช่วงเวลา อยู่ในยุคของตัวเองให้ดี ไม่ใช่การหยุดอยู่กับที่ แต่เพื่อการก้าวต่อไปอีกยุคหนึ่ง

ผมเคยปฏิเสธ “ยุค” เลือกที่จะเดินช้าๆ ไปพร้อมกับโลกที่หมุนเร็ว

คล้ายจะไม่ผิดอะไร

แต่นั่นดูเหมือนว่า จะ “หลงยุค” อีกทั้งบทเรียนที่เสือสอน จะผ่านไปโดยไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด… •