ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 สิงหาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
พรหมจรรย์, พรหมจารี เป็นคำทางศาสนาในอินเดียหลายพันปีมาแล้ว แต่หลังจากนั้นนำไปใช้ควบคุมความเป็นหญิง
ในไทยเมื่อไม่นานมานี้ ถูกสถาปนาให้เป็นคำสำคัญเกี่ยวกับเยื่อภายในอวัยวะเพศหญิง และการร่วมประเวณีของหญิง
ในคำว่าพรหมจรรย์ พรหม คือ พระพรหมในศาสนาพราหมณ์ จรรย์ แปลว่า ความประพฤติ หรือการกระทำ มีอธิบายโดยพิสดารในหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พิมพ์ครั้งที่ 11 พ.ศ.2551 จะคัดมาไว้ดังต่อไปนี้
พรหมจรรย์
พรหม ผู้ประเสริฐ, เทพในพรหมโลก เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม มี 2 พวก คือ รูปพรหมมี 16 ชั้น อรูปพรหมมี 4 ชั้น; เทพสูงสุดหรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์
พรหมจรรย์ “จริยะอันประเสริฐ”, “การครองชีวิตประเสริฐ”, ตามที่เข้าใจกันทั่วไป หมายถึงความประพฤติเว้นเมถุน หรือการครองชีวิตดังเช่นการบวชที่ละเว้นเมถุน
แต่แท้จริงนั้น พรหมจรรย์ คือพรหมจริยะ เป็นหลักการใหญ่ที่ใช้ในแง่ความหมายมากหลาย ดังที่อรรถกถาแห่งหนึ่งประมวลไว้ 10 นัย คือหมายถึง ทาน ไวยาวัจจ์ (คือการขวนขวายช่วยเหลือรับใช้ทำประโยชน์) เบญจศีล อัปปมัญญาสี่ (คือพรหมวิหารสี่) เมถุนวิรัติ (คือการเว้นเมถุน) สทารสันโดษ (คือความพอใจเฉพาะภรรยาหรือคู่ครองของตน) ความเพียร การรักษาอุโบสถ อริยมรรค พระศาสนา (อันรวมไตรสิกขาทั้งหมด) เฉพาะอย่างยิ่ง ความหมายสำคัญที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นหลัก คือ 2 นัยสุดท้าย (อริยมรรค และพระศาสนา);
ในศาสนาพราหมณ์ พรหมจรรย์ หมายถึงการครองชีวิตเว้นเมถุนและประพฤติปฏิบัติตนเคร่งครัดต่างๆ ที่จะควบคุมตนให้มุ่งมั่นในการศึกษาได้เต็มที่ โดยเฉพาะในการเรียนพระเวท โดยนัยหมายถึงการศึกษาพระเวท และหมายถึงช่วงเวลาหรือขั้นตอนของชีวิตที่พึงอุทิศเพื่อการศึกษาอย่างนั้น
(บาลี : พฺรหฺมจริย)
พรหมจารี
พรหมจารี ผู้ประพฤติพรหมจรรย์, นักเรียนพระเวท, ผู้ประพฤติธรรมมีเว้นจากเมถุน เป็นต้น; ดู อาศรม
อาศรม ที่อยู่ของนักพรต; ตามลัทธิของพราหมณ์ ในยุคที่กลายเป็นฮินดูแล้วได้วางระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของชาวฮินดูวรรณะสูง โดยเฉพาะวรรณะพราหมณ์ โดยแบ่งเป็นขั้นหรือช่วงระยะ 4 ขั้น หรือ 4 ช่วง เรียกว่า อาศรม 4 กำหนดว่าชาวฮินดูวรรณะพราหมณ์ทุกคนจะต้องครองชีวิตให้ครบทั้ง 4 อาศรม ตามลำดับ (แต่ในทางปฏิบัติ น้อยคนนักได้ปฏิบัติเช่นนั้น โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้ถือกันแล้ว) คือ
1. พรหมจารี เป็นนักเรียนศึกษาพระเวท ถือพรหมจรรย์
2. คฤหัสถ์ เป็นผู้ครองเรือน มีภรรยาและมีบุตร
3. วานปรัสถ์ ออกอยู่ป่าเมื่อเห็นบุตรของบุตร
4. สันยาสี (เขียนเต็มเป็น สันนยาสี) เป็นผู้สละโลก มีผ้านุ่งผืนเดียว ถือภาชนะขออาหารและหม้อน้ำเป็นสมบัติ จาริกภิกขาจารเรื่อยไปไม่ยุ่งเกี่ยวกับชาวโลก (ปราชญ์บางท่านว่าพราหมณ์ได้ความคิดจากพระพุทธศาสนาไปปรับปรุงจัดวางระบบของตนขึ้น เช่น สันยาสี ตรงกับภิกษุ แต่หาเหมือนกันจริงไม่)