ข้าวขาหมูตรอกซุง | ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

เรารู้จักและคุ้นเคย ข้าวขาหมูตรอกซุง อาหารไทยไอจี มีกิจการร้านสาขามากมายที่ศูนย์อาหารในกรุงเทพฯ และมีร้านอ้างชื่อหลายแห่งในต่างจังหวัด

พอถามอาจารย์กูเกิลว่า ข้าวขาหมูตรอกซุงร้านดั้งเดิมอยู่ไหน? ได้คำตอบว่า อยู่ที่ถนนศรีเวียงบ้าง อยู่ที่ถนนจรัสเวียงบ้าง หรืออยู่ที่บางรัก

ส่วนข้อมูลจากเจ้าของร้านขาหมูตรอกซุงร้านหนึ่งบอกว่า เดิมขายอาหารที่ตรอกไก่ มาเปลี่ยนขายข้าวขาหมูที่ตรอกซุงเมื่อปี พ.ศ.2498

ครั้นเปิดดูแผนที่ปัจจุบันและแผนที่ประวัติศาสตร์ ตรงย่านบางรักก็ไม่พบตรอกซุง พบแต่ตรอกไก่ ถนนศรีเวียง เจริญเวียง จรัสเวียง และจรูญเวียง เท่านั้น

มีเพียงในแผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2450 แสดงตรอกเล็กๆ ที่แยกจากถนนเจริญกรุง ใกล้ๆ กับคลองสาทร แต่นามที่ระบุไม่ชัดเจน

ส่วนในแผนที่กรุงเทพฯ 2475 กลับระบุ ตรอกไก่ ที่เชื่อมระหว่างถนนเจริญกรุง กับถนนสุรศักดิ์ ซึ่งเป็นแนวเดียวกับถนนศรีเวียง

จนต้องอาศัยเอกสารประวัติศาสตร์ เป็นตัวช่วย

 

พบรายงานเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในย่านตรอกซุง บางรัก เมื่อปี พ.ศ.2467 พระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมนคราทร กระทรวงมหาดไทย วางผังปรับปรุงพื้นที่ โดยการตัดถนนใหม่สามสาย เพื่อให้การสัญจรสะดวก โดยเฉพาะเวลาเกิดเหตุเพลิงไหม้

ถนนสายที่ 1 เริ่มจากถนนสาทรเหนือ ไปออกตรอกไก่ (ถนนศรีเวียง) พระราชทานชื่อว่า ถนนจรัสเวียง อันหมายถึง ถนนที่ทำความรุ่งเรืองให้แก่เมือง

ถนนสายที่ 2 เริ่มจากถนนเจริญกรุง จดถนนสายที่ 1 พระราชทานชื่อว่า ถนนเจริญเวียง อันหมายถึง ถนนที่ทำความเจริญให้แก่เมือง

ถนนสายที่ 3 ทางจากถนนเส้นที่ 1 ไปจดถนนสุรศักดิ์ พระราชทานชื่อว่า ถนนจรูญเวียง อันหมายถึง ถนนที่ทำความงามให้แก่เมือง

ด้วยชุดข้อมูลดังกล่าว จึงสันนิษฐานว่า ตรงย่านบางรัก ระหว่างถนนสีลมกับถนนสาทร เคยมีตรอกเล็กๆ ชื่อตรอกซุง ที่ไปเชื่อมต่อกับตรอกไก่ ที่อยู่ด้านใน

ซึ่งตรงกับคำบอกเล่าที่ว่า เดิมที ตรงริมถนนสาทรเหนือ ก่อนถึงถนนเจริญกรุง มีโรงเลื่อยใหญ่ตั้งอยู่ และในแผนที่ แสดงบริเวณหนึ่งที่มีโรงเรือนขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้าติดถนน ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นโรงเลื่อย

ส่วนด้านหลังโรงเลื่อย เป็นพื้นที่ว่าง ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นพื้นที่กองไม้ซุง รอเข้าโรงเลื่อย ที่อยู่ติดกับซอยเล็กๆ ที่แยกมาถนนเจริญกรุง ที่น่าจะเป็น ตรอกซุง

 

ตรอกซุงในอดีตนั้น คงเป็นย่านที่มีผู้คนอยู่อาศัยหนาแน่น อาคารบ้านเรือนคงเป็นไม้ จึงเป็นเหตุให้เกิดอัคคีภัย และเป็นที่มาของการสร้างถนนสายต่างๆ โดยเฉพาะถนนเจริญเวียง จะอยู่ตรงกับแนวตรอกซุงเดิม แต่คงเป็นเพราะความคุ้นเคย จึงยังคงเรียกขานว่า ตรอกซุง เรื่อยมา จนเป็นที่มาของร้านขาหมูตรอกซุง

ใครคิดจะดั้นด้นไปหา ร้านขาหมูตรอกซุง ดั้งเดิม คงไม่มีทางเจอ ทั้งร้าน ทั้งซอย ส่วนข้าวขาหมูตรอกซุงนั้น กินที่ไหนก็ได้ เพราะรสชาติเหมือนกัน

คงจะเหมือนกับไก่ทอดเคนทักกี ที่กินที่ไหนก็ได้ในโลก เพราะรสชาติเดียวกัน และร้านดั้งเดิมในรัฐเคนทักกี สหรัฐอเมริกา ก็ไม่มีแล้ว •