คำบอกเล่าเริ่มแรก ในดินแดนไทย / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

คำบอกเล่าเริ่มแรก

ในดินแดนไทย

 

ภาษาและวรรณกรรมเริ่มแรกในดินแดนไทยราว 2,500 ปีมาแล้ว หรือราว พ.ศ.1 คือคําบอกเล่าหรือเรื่องเล่าด้วยภาษาพูดของชาติพันธุ์นั้นๆ ขณะนั้นยังไม่พบหลักฐานว่ามีกลุ่มที่พูดภาษาไท-ไต และไม่พบหลักฐานว่าคนเรียกตนเองว่าไทย

หลังจากนั้นอีกนานนับพันปีจึงพบภาษาไท-ไต ในดินแดนประเทศไทย ทําให้กลุ่มที่พูดภาษาไท-ไต แลกเปลี่ยนการรับรู้คําบอกเล่าหรือเรื่องเล่าจากกลุ่มที่พูดภาษาดั้งเดิม ซึ่งมีหลักแหล่งอยู่บริเวณนี้มาก่อน นานเข้าก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องเล่าของตน

คําบอกเล่าหรือเรื่องเล่าสมัยเริ่มแรก เป็นของคนในวิถีกสิกรรมทํานาทําไร่แบบพึ่งพาธรรมชาติซึ่งล้าหลังทางเทคโนโลยี ต้องมีพิธีกรรมเป็นคําบอกเล่าหรือเรื่องบอกเล่า

เพื่อวิงวอนร้องขอต่อผีฟ้า (คือ อํานาจเหนือธรรมชาติ) เพื่อความอยู่รอดสําคัญอย่างยิ่ง 2 เรื่อง ได้แก่ (1.) ขอความคุ้มครองป้องกันจากผีร้ายในชีวิตประจําวัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคภัยไข้เจ็บและตาย กับ (2.) ขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องการทํามาหากินทํานาทําไร่

เนื้อหาคําบอกเล่าสมัยเริ่มแรกไม่ยาว และถูกทําให้ได้รับความเชื่อถือร่วมกันอย่างแข็งแรงทั้งชุมชนเริ่มแรกว่าเฮี้ยนขลังและเป็นจริงทั้งหมดซึ่งใครจะละเมิดมิได้ (แต่ปัจจุบันจะเชื่อถือมิได้ว่าคําบอกเล่าทั้งหมดเป็นเรื่องจริง ดังนั้น จึงจําเป็นต้องศึกษาทําความเข้าใจอีกมาก เพื่อถอดรหัสที่แฝงอยู่ในคําบอกเล่าเหล่านั้นว่าแท้จริงต้องการจะบอกอะไร?)

 

ความเชื่อกระตุ้นภาษาและวรรณกรรม

ภาษาและวรรณกรรมไทยถูกกระตุ้นการเติบโตด้วยพลังอํานาจของระบบความเชื่อเรื่องขวัญทางศาสนาผีหลายพันปีมาแล้ว

ศาสนาผี หมายถึงศาสนาที่นับถือผีว่ามีอํานาจเหนือธรรมชาติ ดังนั้น ปรากฏการณ์ทั้งหลายไม่ว่าดีหรือร้ายเกิดจากการกระทําของผี โดยคนกับผีติดต่อสื่อสารกันได้ด้วยการเข้าทรงผ่านร่างทรงซึ่งเป็นหญิง (ไม่มีร่างทรงเป็นชาย) ทําให้ผู้หญิงเป็นใหญ่ในพิธีกรรมทางศาสนาผี นับเป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลกเพราะมีก่อนศาสนาอื่นๆ และมีคนนับถือมากที่สุดในโลก (แม้คนทั่วไปไม่ยอมรับเป็นศาสนา แต่ทางวิชาการสากลนับเป็นศาสนา)

[ศาสนาผีที่กล่าวถึงนี้ไม่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธ เพราะสมัยนั้นคนในโซเมียยังไม่รู้จักและไม่ติดต่อรับวัฒนธรรมอินเดีย ดังนั้น ศาสนาผีไม่มีเวียนว่ายตายเกิด, ไม่มีโลกหน้า, ไม่มีเทวดานางฟ้า, ไม่มีสวรรค์นรก, ไม่มีวิญญาณ, ไม่มีเผาศพ ฯลฯ]

ผีฟ้า มีอํานาจเหนือธรรมชาติสูงสุดอยู่บนฟ้า หมายถึง ผู้เป็นใหญ่บนฟ้า บางทีเรียกเจ้าแห่งฟ้า หรือเจ้าฟ้า เป็นแหล่งรวมพลังขวัญของคนชั้นนําที่ตายแล้วของเผ่าพันธุ์ ถูกส่งขึ้นฟ้ารวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับผีฟ้าเพื่อปกป้องคุ้มครองคนที่ยังไม่ตายอยู่ในชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์

“ผีกับคนไปมาหากันบ่ขาด” มีการติดต่อสื่อสารกันโดยผ่านร่างทรงหรือคนทรง ดังนั้น คนในชุมชนถูกควบคุมอย่างใกล้ชิดจากผี (ผีบรรพชน, ผีฟ้า) ผ่านจารีตประเพณีพิธีกรรม และหมอมด, หมอขวัญ ฯลฯ รวมทั้ง “ตัวกลาง” คือ ร่างทรง หรือคนทรง

ต่อมาผีฟ้าถูกเรียกอีกชื่อว่าแถน ซึ่งได้จากภาษาฮั่นว่าเทียน แปลว่าฟ้า หมายถึง ผู้เป็นใหญ่บนฟ้า [บอกไว้ในหนังสือ พงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) เรียบเรียงเมื่อปลายแผ่นดิน ร.5 พ.ศ.2451]

ขวัญ หมายถึงพลังของชีวิตซึ่งเป็นระบบความเชื่อทางศาสนาผีที่มีอิทธิพลกว้างขวาง และเกี่ยวข้องความคิดสร้างสรรค์ภาษาและวรรณกรรมรวมถึงสิ่งอื่นๆ

ขวัญเป็นคําออกเสียงตามรับรู้ในภาษาไทยปัจจุบัน ซึ่งใกล้ชิดเป็นคําเดียวและความหมายเดียวกับภาษาฮั่นว่า หวั๋น (กวางตุ้ง) ฮุ้น (แต้จิ๋ว) น่าเชื่อว่าเป็นระบบความเชื่อร่วมกันมาแต่เดิม [มีคําอธิบายอยู่ในหนังสือหลายเล่ม ได้แก่ (1.) ไทย-จีน ของพระยาอนุมานราชธน (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2479) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2505 หน้า 93, (2.) บทความเรื่อง “พิธีกรรมหลังความตาย มีส่งขวัญคล้ายกันทั้งไทยและจีน” ในหนังสือ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา โดย เจีย แยนจอง สํานักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 86]

ขวัญคือส่วนที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ ลักษณะเป็นหน่วย มีหลายหน่วย แต่ละหน่วยสิงสู่อยู่กระจายตามส่วนต่างๆ ของคน, สัตว์, พืช, สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ เป็นต้น ต่อมาคนตาย เพราะขวัญหายไม่อยู่กับเนื้อกับตัว หรือไม่อยู่กับมิ่งคือร่างกายอวัยวะของคน หรือกล่าวอีกอย่างว่าคนตาย ส่วนขวัญไม่ตาย แต่หายไปไหนไม่รู้? ถ้าเรียกขวัญคืนร่างได้คนก็ฟื้นคืนปกติ

[มีรายละเอียดอีกมากในหนังสือ ขวัญเอ๋ย ขวัญมาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สํานักพิมพ์นาตาแฮก (พิมพ์ครั้งแรก 2560) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2562]

ขวัญเคลื่อนไหวทั่วไปในทุกมิติ และเข้าสิงได้ในทุกสิ่ง เช่น หิน, ไม้ ฯลฯ วัตถุเหล่านั้นเป็น “ร่างเสมือน” ที่คนมีชีวิตต้องการให้เป็น เช่น ขวัญฆ้องสิงในหินเป็นแผ่นหรือเป็นก้อน ทําให้แผ่นหินหรือก้อนหินนั้นคือ “ร่างเสมือน” ของฆ้อง เป็นต้น

คำบอกเล่าหรือเรื่องเล่า รวมทั้งคําทําขวัญที่เป็นคําคล้องจองมีคําสั่งเสียสั่งลาเมื่อหลายพันปีมาแล้วในพิธีเซ่นผีฟ้า และในพิธีกรรมหลังความตาย ในภาพที่ยกมาเป็นงานศพราว 2,500 ปีมาแล้ว [คัดลอกจากภาพเขียนถ้ำลายแทง บ้านผาสามยอด ต.ผานกเค้า อ.ภูกระดึง จ.เลย จากหนังสือ ศิลปะถ้ำ จังหวัดเลย กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2534]

ผู้หญิงมีสถานะสูงกว่าผู้ชาย

ในศาสนาผีผู้หญิงมีสถานะสูงกว่าผู้ชาย เพราะ (1.) ผู้หญิงเป็นหัวหน้าพิธีกรรมทางศาสนาผี ส่วนผู้ชายอยู่นอกพิธีกรรม (2.) ผู้หญิงเป็นเจ้าของบ้านและที่ดิน ส่วนผู้ชายเป็นผู้อาศัย (3.) พิธีแต่งงาน ผู้หญิงเป็นเจ้าสาว แปลว่า ผู้เป็นนาย ส่วนผู้ชายเป็นเจ้าบ่าว แปลว่า ผู้รับใช้ (4.) สายโคตรตระกูลสืบทางฝ่ายผู้หญิง (ดังนั้น สมัยโบราณการสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปตามสายแม่ จึงมีระบบวังหลวงกับวังหน้ามักเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน)

หญิงผู้บอกเล่า คําบอกเล่าสมัยเริ่มแรกถูกบอกเล่าโดยผู้หญิง ซึ่งมีสถานะทางสังคมสูงกว่าผู้ชาย และโดยทั่วไปผู้หญิงที่บอกเล่าได้รับยกย่องเป็นร่างทรงเมื่อผีฟ้าลงทรงแล้วเล่าเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับเผ่าพันธุ์ ขณะเดียวกันได้รับยกย่องเป็นมด หรือหมอมด

คําว่า “มด” หมายถึงผู้มีพลังอํานาจสูงส่ง (เหนือผู้ชาย) เหตุที่ผู้หญิงได้รับยกย่องเป็นมด เพราะผู้หญิงมีมดลูกที่บันดาลความมีชีวิตของมนุษย์ออกจากมดลูกได้ (ซึ่งผู้ชายทําไม่ได้) ส่วนหมอ หมายถึง ผู้ชํานาญในการใดการหนึ่ง เช่น ชํานาญการรักษาความเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยพิธีกรรมทางศาสนาผี บางทีถูกเรียกว่าหมอผี เป็นต้น ดังนั้น หญิงผู้บอกเล่า บางทีถูกเรียกควบรวมว่ามดหมอ หรือหมอมด ซึ่งยังไม่พบนิยามหรือคําอธิบายตรงไปตรงมามากกว่านี้

หมอมดซึ่งเป็นหญิงผู้มีพลังอํานาจทางศาสนาผี บางสถานการณ์ต้องทําหน้าที่หมอขวัญ เพื่อทําขวัญ (หมายถึง สู่ขวัญ, เรียกขวัญ, ส่งขวัญ) เพื่อสื่อสารกับผีฟ้าช่วยบันดาลสิ่งที่ต้องการให้ผู้รับทําขวัญ หรือให้เป็นที่รับรู้ทั่วกันของคนทั้งชุมชนที่ร่วมพิธีกรรมนั้น

คําทําขวัญเป็นภาษาพูดในชีวิตประจําวันที่เรียบเรียงเนื้อความเน้นเรียกขวัญที่หายไปให้คืนร่างตามเดิม ครั้นนานไปได้สร้างสรรค์สอดแทรกคําคล้องจองตรงที่ต้องการเน้นเป็นพิเศษ จนถึงที่สุดแต่งเป็นคําคล้องจองหมดแล้วสร้างทํานองขับลํากํากับไว้ด้วยให้เฮี้ยนขลัง (ส่วนคําคล้องจองจะเป็นต้นทางโคลงกลอนหรือร้อยกรองต่อไปข้างหน้า)

 

คําบอกเล่าเริ่มแรก

คําบอกเล่ามีพลังผนึกความเป็นปึกแผ่นของเผ่าพันธุ์ (หรือชาติพันธุ์) ดังนั้น ชุมชนสมัยเริ่มแรกมีพิธีกรรมตามคําบอกเล่าเหล่านั้น พบหลักฐานหลากหลายเหลือเป็นซากสิ่งต่างๆ ได้แก่ ไม้, โลหะ, หิน เป็นต้น แต่ที่สําคัญและพบกว้างขวาง คือ หินรูปร่างหลากหลายลักษณะและขนาดต่างๆ เช่น แผ่นผา, แท่ง, ก้อน, สะเก็ด ฯลฯ ทางวิชาการสากลเรียกวัฒนธรรมหิน (Megalith culture) เรียกง่ายๆ เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่า “หินตั้ง” หินจึงมีคําบอกเล่าสมัยเริ่มแรกเป็นเรื่องราวมหัศจรรย์พันลึก แต่อาจถอดรหัสคลาดเคลื่อนหรือแตกต่างกันได้จึงไม่ถือเป็นยุติ

ในหินมีคําบอกเล่าเป็นพิธีกรรมสืบเนื่องจากความเชื่อเรื่องขวัญว่า ขวัญเคลื่อนไหวออกจากร่างจริงแล้วไปสิงสู่อาศัยในวัสดุต่างๆ ก็ได้ ไม่ว่าท่อนไม้, กองดิน, ก้อนหิน ฯลฯ โดยสมมุติเรียกสิ่งนั้นว่าร่างเสมือน ดังนั้น บรรดาขวัญของคน, สัตว์, พืช, สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่ ไปสิงสู่อาศัยร่างเสมือนได้ทั้งนั้น และร่างเสมือนที่สําคัญอย่างยิ่งคือหิน •