นราทัศน์ภิวัตน์ประชา / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ทะเลหมอกสองแผ่นดินในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดนราธิวาส

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

นราทัศน์ภิวัตน์ประชา

 

นราทัศน์ ฉัตรประชานราธิวาส

ที่ฟ้าหยาด น้ำหยาด สะอาดใส

พรแผ่นดินบันดล มงคลชัย

ภูมิไผทมณฑล เมืองคนดี

 

ไปนราธิวาสระหว่างวันพุธ-ศุกร์ 17-19 สิงหาคมนี้ เป็นช่วงระเบิดสนั่นเมืองในวันที่ 17 พอดี ซึ่งมีหลายที่หลายจังหวัดไม่จำเพาะนราธิวาสเท่านั้น

โดยทั่วไปนราธิวาสยังเป็นเมืองสงบงาม ชาวบ้านชาวเมืองใช้วิถีชีวิตเป็นปกติ

คณะเราคือ สว.พบประชาชนภาคใต้ ซึ่งไปทุกจังหวัดเพื่อรับฟังเสียงประชาชน นำมากลั่นกรองข้อมูลเสนอแนะและติดตามการแก้ปัญหาต่อไป

เที่ยวนี้มีพิเศษคือ คณะอนุฯ ศิลปะและวัฒนธรรมได้ติดตามลงพื้นที่ อ.ตากใบ โดยเฉพาะชุมชนย่านวัดชลธาราสิงเห เพื่อเยี่ยมชมวัฒนธรรมภาษาและวิถีชีวิตของทั้งคนพื้นถิ่นและคนไทยในมาเลย์เพื่อนบ้าน ซึ่งข้ามชายแดนด่านสุไหงโก-ลกมาร่วมงานด้วย

ลบเส้นพรมแดนประเทศออกไป ผู้คนแถบนี้คือเผ่าเดียวกัน ทั้งภาษาสื่อความหลากหลาย อาหารการกิน และวิถีชีวิตความเป็นอยู่

แม้หลักคิดคือ “หลักธรรม” ศาสนาก็เถิดล้วนมีหลักเดียวกัน ต่างเพียงระบบความเชื่อที่แตกต่างไปตามครรลองของวัฒนธรรมเท่านั้น

 

ตรงนี้ต้องขยายความด้วยเป็นประเด็นสำคัญระหว่างศาสนาพุทธกับอิสลาม ซึ่งมักขาดการอธิบายขยายความใน “หลักคิด” คือหลักสัจจะ หรือความจริงสูงสุด

ท่านฮัจญีประยูร วทานยกุล ปราชญ์มุสลิมผู้เป็นสหายธรรมกับท่านพุทธทาสให้ความเห็นว่าคำภาวนาประจำของมุสลิมศาสนาอิสลามว่า

ลา อิลลา อิลลอลเลาะห์ (สำเนียง)

แปลโดยคำคือ ไม่มีรูปเคารพใด คือหัวใจขององค์อัลเลาะห์

ท่านฮัจญีประยูรท่านแปลโดยความก็คือ ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นนั่นแหละคือหัวใจแห่งองค์ผู้ประเสริฐ

องค์ผู้ประเสริฐก็คือ องค์อัลเลาะห์

น่าสนใจยิ่งคือ คำอัลเลาะห์นั้นมาจากคำ อะละหะ ซึ่งในภาษาบาลีสันสกฤตเป็นคำเดียวกับอะระหะ คำนี้ก็คือ อะระหัง ในบทสวดมนต์ชาวพุทธหรือพระอรหันต์นั่นเอง

อัลเลาะห์ คืออะระหะ คืออะระหัง คืออรหันต์

ประเด็นนี้ขอฝากไว้กับนักคิด นักศึกษา และนักภาษาศาสตร์ด้วย

 

ความแตกต่างระหว่างศาสนานั้นล้วนเป็นเรื่องระบบความเชื่อ ซึ่งมักขึ้นอยู่กับพิธีกรรม องค์กร ค่านิยม และวัฒนธรรม คือรูปแบบของวิถีชีวิตทั้งสิ้น

มีแต่ “หลักคิด” คือ “หลักธรรม” นี้เท่านั้น มักตรงกันในแทบทุกศาสนา

ไม่เว้นพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู

จำเพาะแผ่นดินถิ่นใต้ของไทยเรานั้นยิ่งสำคัญสุด ด้วยเป็นแหล่งอารยธรรมหลากหลายมาแต่โบราณเพราะเป็นเส้นทางเดินเรือระหว่างสองคาบสมุทรตะวันตก ตะวันออก มีทั้งเปอร์เซีย โปรตุเกส จีน กับหลากเผ่าชนในพื้นที่เดิม

เหมือนสวนดอกไม้หลากสีสันสะพรั่งสดงดงาม

โดยเฉพาะ “ภูมิภาษา” ที่เจ๊ะเหอันคละเคล้าด้วยภาษาถิ่นพื้นเมืองคือภาษาใต้ ภาษามลายู ภาษาไทยเหนือ ภาษามอญ เขมร พิเศษคือ สำเนียงฟังเหมือนเมืองจันทบุรี และเมืองเพชรนั่นเลย

ตัวอย่างคำเก่าที่ยังใช้กันอยู่เป็นปกติ เช่น เลิก หมายถึงยกขึ้น หนับเพลา (สนับเพลา) คือกางเกง เป็นต้น

ภาษาเป็นทั้งสามฐานสำคัญของอารยธรรมคือ รากฐาน พื้นฐาน ภูมิฐาน ชาวไทยทั้งพื้นถิ่นไทยและมาเลย์ล้วนใช้ภาษาเดียวกัน ซึ่งมีทั้งสื่อความเข้าใจ ใช้สร้างสรรค์อาชีพการงาน

และสืบสานอารยวิถีของชุมชน

 

เพื่อนชาวไทยที่มาจากมาเลย์กลุ่มนี้เล่าให้ฟังว่ายังมีสอนภาษาไทยในโรงเรียนอยู่ เคยไปเยี่ยมเยือนบางแห่งแถบชายแดนก็ยังมีงานบุญสงกรานต์ ก่อกองทรายในลานวัด

คนหนึ่งกล่าวเชิงน้อยใจว่า เขาเหมือนอยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง มาเลย์ก็ไม่ใช่ ไทยก็ไม่สนใจเขาเลย ทั้งที่สำนึกเป็นคนไทยตลอดเวลา อยู่ๆ อังกฤษก็มาตีเส้นแบ่งพวกเขาไม่ให้เป็นคนไทยเสียอย่างนั้น

เป็นได้ไงนี่

เอาเถิดวันดีคืนดี พวกเราจะไปเยี่ยมพี่น้องเรากันให้ได้

…รอหน่อยนะพี่น้อง

 

หนึ่งในภาระปฏิรูปด้านศิลปะและวัฒนธรรมเราก็คือสถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน ซึ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว หลังจากตระเวนรับฟังข้อมูลในรูปประชุมสัมมนาจากทุกภาคทั่วประเทศ

การได้มาเยี่ยมเยียนพี่น้องชุมชนเจ๊ะเห ตากใบ นราธิวาส และชาวสยามชายแดนมาเลเซียครั้งนี้จึงมีข้อมูลประกอบให้ได้เห็นความสำคัญของสามฐานวัฒนธรรมดังกล่าวยิ่งขึ้น

ชลธาราสิงเห เสน่ห์สนอง

ร่วมครรลองปณิธาน สมานสมัย

ถวายมิ่งมาลา มาเลย์มาลัย

ร่วมผสานธารใส ไผทพิทักษ์

 

ค้างใจภูมิปัญญาอาหารตำรับพิเศษของพี่น้องแถบนี้คือ บูดู กับทุเรียน ด้วยเคยกินที่ยะลาหนหนึ่ง แปลกและอร่อยดี มาได้รับความรู้จากที่นี่เอง

เขาเรียก “ปอเยาะ” คือทุเรียนสุกจนเละหมักเกลือไว้แรมปี ได้ที่แล้วจึงนำมาปรุงผสมกับน้ำบูดูและพริกได้รสเปรี้ยวหวานมันเค็มเผ็ดกำลังดี แถมหอมพิเศษจากบูดูและทุเรียน ซึ่งต่างดับกลิ่นซึ่งกันและกันได้รส “แปลกดี” ไปอีกแบบ

ตามแบบไทยนั่นแหละ คือต้อง “แปลก” ถึงจะ “ดี”

วัฒนธรรมคือ “วิถีชีวิต” ที่กำหนดโดยผู้คนพลเมืองหรือประชาชนด้วยโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

วิถีหลากหลายของแผ่นดินถิ่นใต้นี้เป็นเสมือน “อู่อารยธรรม” อันแปรเป็นพลังสร้างสรรค์ได้ ประเด็นปัญหาทุกวันนี้ที่ยังขาดอยู่คือ

เอกภาพของพลังสร้างสรรค์ •