วิรัตน์ แสงทองคำ : “ตุลาคม”กับสังคมธุรกิจไทย (1)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ความเป็นไปของสังคมธุรกิจไทยช่วงสำคัญ เมื่อกว่า 4 ทศวรรษที่แล้ว เป็นภาพ “ชิ้นส่วน” หลากหลาย ถึงเวลานำมา “ปะติดปะต่อ” ให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เพื่อเป็นภาพเชื่อมโยง เป็นบริบทอีกมิติหนึ่ง

ทั้งนี้ มาจากข้อเขียนหลายชิ้น ต่างกรรม ต่างวาระ ซึ่งพยายามอรรถาธิบาย และนำเสนออย่างกระจัดกระจาย ตลอดในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

 

ผลพวงสงครามเวียดนาม

“เหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญในประเทศไทย เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เป็นแรงปะทะสำคัญ สังคมไทยกับ Globalization ครั้งแรก ท่ามกลางพื้นฐานทางเศรษฐกิจและธุรกิจไทยพลิกโฉมหน้าไป เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ กระจายวงออกไปเป็นระลอกคลื่น” บทสรุปสำคัญตอนหนึ่ง (จากข้อเขียนชื้นหนึ่ง ปี 2544) เชื่อว่ายังคงมีเหตุมีผลควรรับฟัง ว่าด้วยปรากฏการณ์เกิดขึ้นอย่างเป็นกระบวน ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกราก อันเนื่องมาจากผลพวงสงครามเวียดนาม

“สงครามเวียดนาม (2507-2518) สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมด้วยการส่งกองทหารหลายหมื่นคนเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ในขณะเดียวกัน ได้ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างจริงจังเข้ามาในภูมิภาค กระตุ้นให้กลุ่มธุรกิจใหญ่ระดับโลก เคลื่อนออกจากฐานเดิม แสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในขอบเขตที่กว้างขึ้นด้วย”

โลกเทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ตั้งแต่การเดินทางด้วยยานอวกาศอพอลโล 11 ไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์ (2512) ซึ่งมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์มาถึงครัวเรือนในสังคมไทยอย่างกว้างขวางด้วย

ในเวลานั้นการค้นคว้า ประดิษฐกรรม งานสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์สัมพันธ์กับวิถีชีวิตปัจเจก (Individual) ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ อาทิ เทปวิดีโอ (2512) Floppy Disc (2513) Microprocessor (2513) เครื่องคิดเลขขนาดเล็ก (2515) Compact Disc (2515) Microcomputer (2515) เทป VHS (2518)

สร้างแรงบันดาลใจ แรงผลักดันในเชิงธุรกิจ ให้แสวงหาตลาดที่กว้างขวางขึ้น

 

โอกาสทางธุรกิจ

ประเทศไทยได้รับอิทธิพลสหรัฐโดยตรง มิได้มีความหมายเฉพาะในเรื่องการเมืองและการทหาร

ในทางเศรษฐกิจได้แรงกระตุ้นครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ เริ่มจากการพัฒนาด้านสาธารณูปโภค เชื่อมระหว่างเมืองกับหัวเมืองและชนบทบางพื้นที่ สร้างโอกาสทางธุรกิจให้เปิดกว้างอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

กระแสการลงทุนโดยเฉพาะธุรกิจอเมริกัน เข้ามาเป็นขบวน ตามมาด้วยญี่ปุ่น ซึ่งในเวลานั้นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นมาก อันเป็นผลพวงเชื่อมโยงกับสหรัฐโดยตรง โดยเฉพาะบทบาทและโอกาสธุรกิจญี่ปุ่นในช่วงต่อเนื่องจากสงครามเกาหลี มาถึงสงครามเวียดนาม

ทั้งนี้ ย่านแปซิฟิก ถูกมองว่าเป็นย่านความเจริญเติบโตใหม่ทางเศรษฐกิจ กระแสดังกล่าวสร้างแรงกระตุ้นและสนับสนุน ส่งผลให้ธุรกิจไทยก่อเกิดและเติบโตอย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มการก่อกำเนิดธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสนองผู้บริโภคไทยกำลังขยายตัววงกว้างมากขึ้น มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

ตามกระแสวิถีชีวิตทันสมัย ใช้สินค้าสมัยใหม่

 

พลังการเงิน

ในทางเศรษฐกิจ อิทธิพลสหรัฐ นอกจากความช่วยเหลือทางการเงิน ให้คำปรึกษา การปรับโครงสร้างและนโยบายเศรษฐกิจ หากค้นลงลึกจะพบบทบาทธนาคารหรือสถาบันการเงินของสหรัฐหรือสถาบันที่สหรัฐมีอิทธิพลเข้ามามีบทบาททั้งเปิดเผย และเข้ามาอย่างเงียบๆ เป็นพลังทะลวง ก่อให้เกิดกระแสอันทรงพลัง

EXIM Bank แห่งสหรัฐตั้งขึ้นมาในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เพื่อให้สินเชื่อสำหรับผู้ซื้อสินค้าของสหรัฐ เป็นกุศโลบายสำคัญ เป็นโมเดลที่ทำกันต่อๆ มา โครงการสำคัญในประเทศไทย คือโครงการก่อตั้งอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในประเทศโดยใช้เทคโนโลยีสหรัฐ

เช่นกรณี โครงการผลิตกระดาษคราฟต์ ซึ่งทั้งกระทรวงการคลังและสภาพัฒน์สนับสนุน ทว่า โครงการมีปัญหามากมาย ในที่สุด เครือซิเมนต์ไทย หรือ เอสซีจี ต้องเข้าไปบริหาร เข้าไปแก้ปัญหากิจการ

IFC หน่วยงานหนึ่งของธนาคารโลก ซึ่งสหรัฐมีอิทธิพลไม่น้อย มีภารกิจสนับสนุนการเงินสำหรับเอกชนทั่วโลก กรณีประเทศไทย ให้เงินกู้และเข้าถือหุ้น ถือเป็นการพลิกโฉมหน้า เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) ให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น

ส่วนสถาบันการเงินสหรัฐที่เข้าลงทุนในไทยโดยตรงที่น่าสนใจ คือ Banker Trust (ต่อมาปี 2541 Deutsche Bank เข้ามาซื้อกิจการ Bankers Trust) และ Chase Manhattan (ต่อมาได้ควบรวมกิจการกับ JPMorgan ในปี 2543 เปลี่ยนชื่อเป็น JPMorgan Chase)

สถาบันการเงินญี่ปุ่นตามเข้ามาอย่างเงียบๆ ด้วยเช่นกัน กรณีปี 2515 Dai-ichi Kangyo Bank (ขณะนั้นเป็นธนาคารญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุด ปัจจุบันได้หลอมรวมอยู่ใน Mizuho Financial Group) เข้ามาร่วมทุนกับ Bankers Trust เป็นช่วงเวลาเดียวกับ Nomura Securities เข้ามาร่วมทุนกับธนาคารกรุงเทพในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์

 

อุตสาหกรรมใหม่

ปี2516 มีเหตุการณ์สำคัญหนึ่งเกิดขึ้น การค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยนี้มาจากบทบาทธุรกิจอเมริกัน ดำเนินมาอย่างเงียบๆ ก่อนหน้านั้น

Union Oil Company of California หรือ UNOCAL (ปัจจุบันคือ Chevron ชื้อและควบรวมกิจการปี 2548) เข้ามาเมืองไทย (2505) ยุคต้นสงครามเวียดนาม ถือเป็นบริษัทแรกที่ได้รับสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมจากรัฐบาลไทย

เริ่มต้นบนบกก่อนบริเวณที่ราบสูงโคราช แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ต่อมาในปี 2511 ได้รับสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ใช้เวลา 5 ปี (2516) จึงประสบความสำเร็จ ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณเชิงพาณิชย์แหล่งแรกของประเทศ

จนกล่าวขานเป็นโมเดลเศรษฐกิจใหม่ “โชติช่วงชัชวาล”

ในช่วงเดียวกัน Dow Chemical ธุรกิจอเมริกันอีกราย เข้ามาเมืองไทย (2510) เป็นชิ้นส่วนหนึ่งในการก้าวสู่ยุคใหม่–ยุคพลาสติก ถือเป็นความทันสมัยในมิติหนึ่งของสังคมไทย เป็นเวลาใกล้เคียงกับการมาถึงธุรกิจญี่ปุ่น–บริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ หรือทีพีซี (ปัจจุบันอยู่ในเครือข่ายธุรกิจเคมีภัณฑ์เอสซีจี) ก่อตั้งในปี 2509 จัดตั้งโรงงานผลิตพีวีซีแห่งแรกในประเทศไทย (2514) ด้วยอาศัยเทคโนโลยีและความร่วมมือกับ Mitsui & Co ธุรกิจเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่น

การลงทุนตั้งโรงงานครั้งแรกๆ ในเมืองไทย เป็นจุดตั้งต้นอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะรถยนต์ หลังจากเปิดตลาดในไทยมาพักหนึ่ง ทั้ง Toyota (2505) Nisan (2505) และ Honda (2507) ในที่สุดสยามกลการ ได้ลงทุนร่วมกับ Nissan (2515) ถือเป็นจุดเริ่มต้นอุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นในประเทศไทย ธุรกิจอเมริกันเข้ามามีบทบาทบ้าง ก่อตั้งโรงงานยางรถยนต์ Good year (2511) ด้วยร่วมทุนกับนักลงทุนไทย

เกษตรกรรมพึ่งพิง

ปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ เริ่มต้นจากนโยบายเศรษฐกิจส่งเสริมบทบาทภาคเอกชน เป็นจุดตั้งต้นสังคมธุรกิจไทยก้าวพ้นยุคผูกขาดโดยรัฐ พร้อมๆ กับการกระตุ้นภาคการผลิตพื้นฐาน การพัฒนาที่ราบลุ่มภาคกลางให้มีระบบชลประทาน (The Greater Chaophraya Project) ผลักดันให้เพิ่มผลผลิตข้าวครั้งใหญ่ เพื่อการส่งออก สินค้าเศรษฐกิจอันดับหนึ่งพัฒนาสู่ขั้นใหม่ สร้างวงจรใหญ่เกษตรกรรม–การทำนา ปลูกข้าว ระบบโรงสี คลังสินค้า ไปจนถึงบริการธนาคารเพื่อการส่งออก

และแล้วเกษตรกรรมไทย ได้เข้าสู่ช่วงใหม่ เข้าสู่วงจรพึ่งพิงเครือข่ายธุรกิจระดับโลกมากขึ้น

เริ่มต้นด้วยการใช้สารเคมี–ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ฯลฯ อย่างจริงจัง และขยายตัวอย่างรวดเร็ว ถือเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับนักธุรกิจไทย ผู้สามารถสร้างสายสัมพันธ์กับเครือข่ายธุรกิจระดับโลก รวมทั้งการเข้ามาของธุรกิจระดับโลกเอง ในกรณีธุรกิจอเมริกันซึ่งมีบทบาทพอสมควร

กรณี Monsanto เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ เครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่สหรัฐเปิดสำนักงานในประเทศไทยเมื่อปี 2511 พร้อมกับเรื่องราวอื้อฉาวซึ่งหลายคนไม่รู้ ในฐานะผู้ผลิตสารเคมีที่เรียกว่า Agent Orange ให้กองทัพสหรัฐใช้ในสงครามเวียดนาม เพื่อทำลายพุ่มไม้ ต้นไม้ (ที่หลบซ่อนของทหารเวียดกง) ในช่วงนั้น เป็นผู้จำหน่ายสารกำจัดวัชพืช มีบทบาทสำคัญสร้างแรงกระตุ้นเปลี่ยนแปลงแบบแผนเกษตรกรรมไทย

เกษตรกรรมรูปแบบใหม่ๆ เกี่ยวข้องกับการบริหารพื้นที่เกษตรกรรมแปลงใหญ่ ถือเป็นระบบพื้นฐานเรียกว่า Plantation กรณี Dole แห่งสหรัฐ เข้ามาเมืองไทย (2509) ถือเป็นต้นแบบก็ว่าได้

โดลฟู้ด (Dole Food Company) สำนักงานใหญ่ที่ Westlake Village, California ก่อตั้งมากว่า 160 ปี ปัจจุบันเป็นธุรกิจอาหารรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ครอบคลุมทั้งด้านการจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การจัดจำหน่าย และการตลาดของสินค้าประเภทอาหาร โดยเฉพาะ ผลไม้สด ผักสด น้ำผลไม้ รวมไปถึงผลไม้และผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ ที่มีเครือข่ายครอบคลุมกว่า 90 ประเทศทั่วโลก โดยจัดการที่ดินเพาะปลูกจำนวนมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาใต้ ในฮอนดูรัส เอกวาดอร์ คอสตาริกา และในเอเชีย ในฟิลิปินส์และไทย

Dole ในไทยตั้งโรงงาน (2515) เพื่อผลิตสับปะรดกระป๋องส่งออก บนพื้นที่ 300 ไร่ในราชบุรี และขยายพื้นที่ในการเพาะปลูกอีก 8,000 ไร่ ในเขตตำบลหนองพลับ ประจวบคีรีขันธ์ แล้วต่อมา (2517) ได้ย้ายโรงงานจากราชบุรีมาประจวบคีรีขันธ์ด้วย

กรณีที่น่าสนใจอีกกรณีหนึ่ง เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เริ่มต้นยุคใหม่ ในฐานะกำลังจะก้าวเป็นผู้นำธุรกิจไทย ด้วยเริ่มต้นในฐานะผู้บุกเบิกธุรกิจฟาร์มสมัยใหม่ (2514) ด้วยการเรียนรู้โนว์ฮาวจากสหรัฐ–Arber Acer เจ้าของเทคโนโลยีพันธุ์ไก่ และการจัดการการเลี้ยงไก่สมัยใหม่

จากนั้นก็เปิดโครงการ Contract Farming (2517) เพื่อการผลิตอาหาร ตอบสนองวิถีชีวิตใหม่ในการบริโภค ขยายจากตัวเมืองสู่หัวเมือง ในช่วงนั้น ไม่เพียงซีพีเท่านั้น ยังมีกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ตามมา เช่น เบทาโกร แหลมทองสหการ