คณะทหารหนุ่ม (3) | การรวมตัวของ “ฝ่ายขวา” จุดเริ่มของ “ขวาพิฆาตซ้าย”

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

ข่าวข้ามรั้ว

เสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้างมากขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มิได้เกิดขึ้นเฉพาะสังคมภายนอกกองทัพเท่านั้น แต่ยังแผ่อิทธิพลข้ามรั้วเข้ามาในเขตทหารอีกด้วย

นายทหารระดับกลางและระดับล่างซึ่งไม่เคยมีส่วนร่วมในเกมแห่งอำนาจของนายทหารชั้นผู้ใหญ่สามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกและเสียงวิพากษ์วิจารณ์กองทัพของฝ่ายก้าวหน้าผ่านสื่อมวลชนที่ใครก็ไม่อาจปิดกั้นได้

อุดมการณ์บริสุทธิ์ “เพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” เมื่อครั้งตัดสินใจเลือกเส้นทางเดินบนอาชีพทหารเริ่มถูกท้าทายกระทั่งสั่นคลอนหวั่นไหวด้วยความไม่มั่นใจจากพฤติกรรมของ “นายทหารชั้นผู้ใหญ่” ที่สะท้อนผ่านข้ามเขตรั้วทหารเข้ามาสู่การรับรู้

คำขวัญเช่น “คำสั่งของผู้บังคับบัญชาคือพรจากสวรรค์” “ปากอย่าพร่ำ ทำตามคำสั่ง” ถูกท้าทายด้วยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่ได้รับปลูกฝังมาโดยตลอดในโรงเรียนทหาร…

นายทหารเหล่านี้โดยเฉพาะที่จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย จปร. เกือบทุกคนได้เสี่ยงชีวิตเข้าร่วมรบในสงครามเวียดนาม และอีกไม่น้อยผ่านสงครามลับอันโหดเหี้ยมในสมรภูมิลับลาว และเกือบทั้งหมดกำลังต่อสู้ในสงครามกลางเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย-วางชีวิตเป็นเดิมพัน

ไม่เพียงแต่สงครามระหว่างคนไทยกันเอง ข่าวคราวความสำเร็จของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนในช่วงปี พ.ศ.2516 ก็มีให้เห็นถี่ขึ้น มากขึ้น อินโดจีนคงไม่พ้นล่มสลาย ขณะที่กระแสขับไล่อเมริกันในไทย-มหามิตรทางการทหาร ก็รุนแรงขึ้นตามลำดับ

นายทหารเหล่านี้เริ่มตั้งคำถามในใจว่า… “ผู้ใหญ่” ของเรากำลังทำอะไรกันอยู่ นายทหารระดับล่างอย่างพวกเขาเสี่ยงชีวิตเพื่อผลประโยชน์ของใครกันแน่

เริ่มจาก “กลุ่มนินทานาย” เมื่อปลายปี พ.ศ.2516 ปีถัดมา พ.ศ.2517 จปร.7 ที่ส่วนใหญ่ในหน่วยกำลังรบเป็นรองผู้บังคับกองพันยศเพียงพันตรียังคงปกปิดตัวเองโดยเคร่งครัดต่อไป แต่เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไปมาหาสู่กันบ่อยครั้งยิ่งขึ้น ถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากยิ่งขึ้น และเหนียวแน่นระหว่างกันมากยิ่งขึ้น และยิ่งขึ้น!

พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา

 

วงจรอุบาทว์
“การเมือง-การทหาร”

30 กันยายน พ.ศ.2517 พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เกษียณอายุราชการระหว่างรัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ และได้รับการคาดหมายว่าจะเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง แต่ก็ไม่เป็นไปเช่นนั้น มีกระแสข่าวว่าเป็นความต้องการของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เอง

จนกระทั่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 และมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 26 มกราคม พ.ศ.2518 ปรากฏว่า ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่มีจำนวน ส.ส.ในสภามากที่สุดได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งก็ยังไม่ปรากฏนาม พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เป็นรัฐมนตรีแต่อย่างใด

ขณะที่กระทรวงกลาโหมมี พล.อ.ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา เป็นรัฐมนตรีว่าการ แต่รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ไม่ได้รับความไว้วางใจในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม 18 เสียง จึงเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาลผสมและเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

พ.ศ.2518
: ปีแห่งความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์

14 มีนาคม พ.ศ.2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร จากพรรคชาติไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

17 เมษายน พ.ศ.2518 : กัมพูชาพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสังคมนิยม ตามด้วยเวียดนาม และลาว ตามลำดับ เวียดนามแสดงท่าทีคุกคามไทยอย่างเปิดเผย นำไปสู่ความหวาดกลัวอย่างยิ่งในสังคมไทยว่าไทยจะเป็น “โดมิโนตัวที่ 4”

พฤษภาคม พ.ศ.2518 : ท่ามกลางความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางซึ่งมีลักษณะสังคมนิยมของฝ่ายก้าวหน้าในประเทศไทย ได้เกิดกระแสขับไล่ฐานทัพสหรัฐในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประท้วงของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยกรณี “เรือมายาเกซ” ที่สหรัฐใช้ฐานทัพอู่ตะเภาเป็นฐานปฏิบัติการโดยมิได้ขออนุมัติจากรัฐบาลไทย อันเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทยอย่างชัดแจ้ง

30 มิถุนายน พ.ศ.2518 : ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เดินทางไปจีนและร่วมลงนามเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน

สถานการณ์เหล่านี้ผลักดันให้เกิดกลุ่มที่มีความคิดต่อต้านแนวทางสังคมนิยมของฝ่ายก้าวหน้า จนนำไปสู่การรวมตัวของ “ฝ่ายขวา” อันเป็นจุดเริ่มของ “ขวาพิฆาตซ้าย” ในอีกไม่นานต่อมา

 

กรณีความสัมพันธ์ไทย-จีน

การเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้านหนึ่งคือการลดความสำคัญของความสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐ ซึ่งมีมาเกือบ 2 ทศวรรษตั้งแต่เริ่มยุคสงครามเย็น ฝ่ายทหารและฝ่ายความมั่นคงจึงมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งและไม่เห็นด้วย

แต่ความตกต่ำของกองทัพในขณะนั้นทำให้ปราศจากพลังที่จะคัดค้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

งานศึกษาของนฤมิตร สอดศุข เรื่อง “ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน” ชี้ชัดว่า การเปิดความสัมพันธ์ทางการเมืองกับสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น เป็นกระแสที่เห็นร่วมกันในทุกๆ ฝ่าย เว้นแต่ฝ่ายกองทัพและความมั่นคง

แม้การเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเป็นผลดีต่อการถ่วงดุลกับเวียดนาม-โซเวียต ซึ่งมีท่าทีคุกคามไทย

แต่ฝ่ายกองทัพและฝ่ายความมั่นคงยังคงยึดติดอยู่กับความคุ้นเคยเดิมๆ ในการหวังพึ่งมหาอำนาจผู้นำฝ่ายโลกเสรี-สหรัฐอเมริกา

 

กองทัพกับการเมืองแยกกันไม่ออก

หลัง 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เกิดความเชื่อว่ากองทัพจะหมดบทบาททางการเมือง แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น อำนาจที่เคยเป็นของระบอบ “ถนอม-ประภาส” ในกองทัพบกกลับกลายเป็นของ “กลุ่มอำนาจใหม่” ที่นำโดย พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา

ขณะที่พรรคการเมืองก็ยังคงพยายามสร้างความสัมพันธ์เพื่อหวังพึ่งพลังอำนาจของกองทัพ เช่นเดียวกับกองทัพก็หวังพึ่งอำนาจทางการเมือง จึงนำไปสู่การ “จับขั้ว” ทหาร-พรรคการเมือง ดังนี้

พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา กับพรรคประชาธิปัตย์

พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา และ พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ กับพรรคธรรมสังคม

พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ กับพรรคสันติชน

น่าสนใจว่า พรรคการเมืองเหล่านี้ล้วนเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งได้รับสมญาว่า “รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่” ในขณะนั้นทั้งสิ้น

ขณะที่พรรคชาติไทยของ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร ซึ่งร่วมรัฐบาลอยู่ด้วยไม่แสดงท่าทีสนใจเข้าร่วมกลุ่มอำนาจใหม่ของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา แต่อย่างใด

ยุบสภา…

ชั่วระยะเวลาเพียงไม่ถึงปี รัฐบาลผสมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องเผชิญกับปัญหาที่รุมล้อมในทุกๆ ด้านทั้งในและนอกสภา ในที่สุด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ตัดสินใจยุบสภา

11 มกราคม พ.ศ.2519 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้เชิญผู้บัญชาการสามเหล่าทัพร่วมรับประทานอาหารค่ำ “อย่างไม่เป็นทางการ” ที่บ้านซอยสวนพลู

จากนั้นต่อมาในเช้าวันรุ่งขึ้น 12 มกราคม พ.ศ.2519 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงหารือพรรคร่วมรัฐบาล

ครั้นพอถึงตอนค่ำก็มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร แต่รัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะทำหน้าที่เป็นรัฐบาลรักษาการซึ่งยังคงมีอำนาจบริหารเต็มตามรัฐธรรมนูญไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

อาหารค่ำมื้อนั้นเป็น “สัญญาณทางการเมือง” ที่น่าสนใจเพราะเป็นการให้ความสำคัญอย่างยิ่งแก่ผู้นำสามเหล่าทัพก่อนการตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญซี่งไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดเลยกับกองทัพทั้งสามที่เป็นเสมอเพียง “กลไกรัฐ” เหมือนข้าราชการประจำกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ

อาหารค่ำมื้อนี้ นอกจาก “น่าสนใจ” แล้วยังแฝงความ “ลึกลับ” บางประการไว้อีกด้วย…

พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา อดีตผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำ “กลุ่มอำนาจใหม่” ขณะนั้น ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับประทานอาหารครั้งนี้ด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการแยกสถานภาพของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ออกจากผู้นำสามเหล่าทัพอย่างชัดเจนและเด็ดขาด

หากไม่มีเจตนาลึกลับใดๆ ถ้าเจ้าภาพจะเชิญ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เข้าร่วมมื้ออาหารด้วยก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับงานเลี้ยงที่มีลักษณะส่วนตัว ไม่ใช่งานรัฐพิธีที่จัดโดยทำเนียบรัฐบาล และยิ่งจะเป็นการแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างรัฐบาลกับกองทัพซึ่งยังไม่แยกจากการเมืองอย่างชัดเจน

การไม่เชิญ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เข้าร่วมอาหารมื้อนี้คงต้องผ่านกระบวนการขบคิดคำนวณแล้วอย่างรอบคอบและมีเจตนาที่แน่นอนจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในฐานะเจ้าภาพ

คำตอบต่อความลับนี้ไม่ต้องรอนานนัก เพราะนอกจากการยุบสภาแล้ว ระหว่างเป็นรัฐบาลรักษาการ ยังจะมีการโยกย้ายตำแหน่งสำคัญเพื่อวางตัวผู้บัญชาการทหารบกคนต่อไป ซึ่งย่อมหมายถึงฐานกำลังของพรรคกิจสังคมและพรรคชาติไทย

อันจะส่งผลต่อกลุ่มอำนาจใหม่ของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา โดยตรง

 

“เฒ่าสารพัดพิษ”

ระหว่างที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และพรรคร่วมรัฐบาลทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการหลังยุบสภาก็ใช้อำนาจซึ่งยังคงมีอยู่เต็มที่ตามรัฐธรรมนูญปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่

ปลดนายทวิช กลิ่นประทุม จากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ปลดนายบุญส่ง สมใจ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ปลดนายอนันต์ ฉายแสง จากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ปฏิบัติการปลดฟ้าฝ่าครั้งนี้เป็นเจตนาส่งแรงกดดันโดยตรงไปยังกลุ่มอำนาจใหม่ของ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา อย่างชัดเจน