แนวโน้มจาก ‘3 ป.’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

แนวโน้มจาก ‘3 ป.’

 

แม้การเลือกตั้งครั้งใหม่จะยังไม่เกิดในเร็ววันนี้ แต่ดูเหมือนหัวจิตหัวใจของผู้คนไปจดจ่ออยู่กับการเมืองว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไรหลังจากนั้นกันแล้ว

เพราะชัดเจนมาตลอดว่า ไม่ว่าจะเบื่อหน่ายและสิ้นหวังกับการบริหารจัดการประเทศภายใต้การควบคุมของคณะสืบทอดอำนาจสักเพียงใดก็ตาม ประชาชนไม่มีทางที่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากอำนาจที่ถูกบัญชาการอย่างเด็ดขาดนี้ได้

ไม่ว่าจะมีอุปสรรคหนักหนา ท่วมท้นด้วยท่าทีหมิ่นแคลนในความรู้ความสามารถ และชี้ให้เห็นความย่ำแย่ยับเยินจากการทำงานไม่เป็นแค่ไหน แต่ “ระบอบ 3 ป.” ที่นำแสดงโดย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็ยัง “มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน” ในอำนาจไม่เสื่อมคลาย เหมือนไม่มีอะไรที่จะทำให้กระทบกระเทือนได้

ด้วยเหตุนี้เองการเมืองหลังการเลือกตั้งจึงยังโฟกัสที่ 3 ป. ว่าควรจะมีจะมีอิทธิพลอย่างไรต่อการเลือกตั้ง โดยมีการแยกแยะแลกเปลี่ยนกันทำนองจะเป็น “ตัวส่งเสริม” หรือ “ตัวถ่วงรั้ง” ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายมีทั้งมุมมองใน “ผลดี” และ “ผลเสีย”

 

“ฝ่ายสนับสนุน” เห็นว่าในส่วนที่มองว่า “3 ป.” ยังเป็น “ตัวส่งเสริม” มุ่งไปที่ยังเป็นศูนย์กลางของทุนที่จะสนับสนุน เป็นผู้ควบคุมกลไกอำนาจรัฐที่จะเอื้อให้ได้เปรียบในการควบคุมผลการเลือกตั้ง

ส่วนที่เห็นว่าน่าจะเป็น “ตัวถ่วง” มองไปที่การเป็นจุดอ่อนให้ฝ่ายตรงกันข้ามโจมตีด้วยข้อมูลที่แทบจะไม่มีช่องทางปฏิเสธทั้งเรื่องราวของผลงาน และพฤติกรรมอันชวนหัวเราะที่เกิดขึ้นตลอดในบทบาทของผู้มีโอกาสบริหารประเทศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกว่า “ตัวเองปัญญาอ่อน” หากเลือกให้ “3 ป.” กลับมายึดครองอำนาจต่อไป

สำหรับ “ฝ่ายต่อต้าน” ที่มองว่าเป็น “ผลดี” หาก “3 ป.” ยังถูกนำเสนอให้เป็น “ขบวนนำ” ของพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม ด้วยเชื่อว่าจะไม่เหนื่อยแรงในการชี้ชวนให้ประชาชนเห็นความเหลวแหลกของการพัฒนาประเทศ และการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะจิ้มไปตรงไหนล้วนเป็นภาพชัดในทางเดียวกัน

ขณะที่กลุ่มที่มองว่าเป็น “ผลเสีย” หรือทำให้ต่อต้านยากคือ “ปัจจัยในการควบคุมกำหนดผลเลือกตั้ง” ที่ “3 ป.” ยังครอบครองและควบคุมโครงข่ายไว้อย่างเข้มแข็ง

นั่นเป็นมุมมองของแต่ละฝ่าย แต่ละกลุ่มที่เห็นต่างกัน

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นมอง “ผลดี” หรือ “ผลเสีย” ในมุมมอง “ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับฝ่ายตัวเอง” หาใช่การเอาผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นตัวตัดสิน ใช้โอกาสในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นเป็นเป้าหมาย

การเมืองหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร สำหรับความคิดของประชาชนทั่วไป

 

เมื่อเร็วๆ นี้ “นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “แนวโน้มพฤติกรรมการเลือกตั้งครั้งหน้า”

ในคำถามเรื่อง “แนวโน้มการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า” อันหมายถึง “การเลือกพรรค” คำตอบร้อยละ 34.99 ยังไม่แน่ใจ, ร้อยละ 32.39 เลือกพรรคฝ่ายค้าน, ร้อยละ 21.34 เลือกพรรคใหม่ที่ยังไม่มี ส.ส.ในสภา, ร้อยละ 10.82 เลือกพรรคฝ่ายรัฐบาล, ร้อยละ 0.46 ไม่ตอบ

ทัศนะของประชาชนจาก “นิด้าโพล” ดังกล่าว ชี้ให้เห็นความไม่ชัดเจนของแนวโน้มการเมืองหลังเลือกตั้ง ว่าฝ่ายไหนจะชนะ แต่ที่แน่ๆ “พรรคการเมืองเก่า” ในนามของ “ผู้สนับสนุนระบอบ 3 ป.” ดูจะต้องทำงานหนักหากหวังกระแสจะช่วย เพราะดูน้ำหนักจะเทไปในทาง “ตัวถ่วง” มากกว่า

แต่อย่างว่า นักการเมืองทุกคนคงต้องประเมินให้ชัดว่า ในพื้นที่ของตัวเอง “ปัจจัยอะไรที่เอื้อต่อชัยชนะมากกว่า”

ระหว่าง “ความพร้อมของเงินทุนและอำนาจ” กับการหนุนส่งของกระแสอันเกิดจาก “3 ป.”