ยุบสภา ไม่ช้าก็เร็ว/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ยุบสภา ไม่ช้าก็เร็ว

 

การยุบสภา (Dissolution of Parliament) เป็นกลไกที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้แก้ไขปัญหาทางการเมืองในกรณีที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเกิดความขัดแย้งจนทำให้การบริหารราชการแผ่นดินไม่สามารถเป็นไปโดยราบรื่น นายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจยุบสภาอยู่ในมือ อาจเลือกใช้วิธีการยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชน ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่ประชาชนเห็นสมควรสนับสนุนโดยใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนเลือกกลับมาเป็นผู้บริหารประเทศ

หากแต่การยุบสภาที่ย้อนหลังไปในอดีต 13 ครั้งของประเทศไทย หลายครั้งกลับเป็นการใช้เป็นเทคนิคทางการเมืองเพื่อจัดการกับวิกฤติทางการเมืองภายนอกสภา อาทิ การยุบสภาทั้งในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สมัยรัฐบาลเมื่อปี พ.ศ.2549 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี พ.ศ.2554 หรือแม้ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในปลายปี พ.ศ.2556 การยุบสภาล้วนมีเหตุผลเพื่อลดกระแสกดดันทางการเมืองจากการชุมนุมของประชาชนภายนอกสภาทั้งสิ้น

ยิ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดเงื่อนไขระยะเวลาการที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองในกรณีการยุบสภาที่แตกต่างไปจากกรณีที่สภาอยู่ครบวาระ รวมถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินในการหาเสียงที่เป็นเงื่อนไขที่แตกต่างกันระหว่างการยุบสภากับการที่สภาอยู่ครบวาระ การยุบสภายิ่งกลายเป็นเทคนิคทางการเมืองเพื่อสร้างความได้เปรียบต่อพรรคการเมืองฝ่ายตน

 

ความแตกต่างของระยะเวลาการเป็นสมาชิกพรรค

มาตรา 97(3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรว่า ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียวต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง แต่หากเป็นกรณียุบสภา ให้ลดระยะเวลาเหลือเพียง 30 วัน

มาตรา 102 ระบุว่า หากสภาอยู่ครบวาระ การเลือกตั้งทั่วไปให้กระทำภายใน 45 วัน นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรครบวาระ ต่อด้วยมาตรา 103 ที่กำหนดว่า หากเป็นกรณียุบสภา ให้เลือกตั้งในเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันนับตั้งแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภา

เงื่อนไขที่ผูกกันดังกล่าว จึงเป็นเรื่องความได้เปรียบและความคล่องตัวของฝ่ายการเมืองว่า หากเป็นกรณียุบสภา เวลาหาเสียงมีมากขึ้น คือขยายไปได้ถึง 60 วัน เนื่องจากวันเลือกตั้งจะขยับออกเป็นไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน และเงื่อนไขการเป็นสมาชิกพรรคกำหนดเพียง 30 วันก่อนวันเลือกตั้ง ทำให้นักการเมืองสามารถหาพรรคใหม่อยู่ได้ทันแม้จะมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้วก็ตาม

ในขณะที่หากสภาผู้แทนราษฎรอยู่จนครบวาระในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2566 ต้องเลือกตั้งภายในเวลา 45 วัน คือภายในวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2566 โดยวันเลือกตั้งอาจเป็นวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2566 เวลาในการหาเสียงก็จะมีจำกัดเพียงแค่ 43 วัน (ไม่สามารถหาเสียงในวันเลือกตั้ง) อีกทั้งการตรวจสอบการเป็นสมาชิกพรรคจะย้อนหลัง 90 วัน ก่อนวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ซึ่งตรงกับราววันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566

ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้ง จึงต้องมีสถานภาพเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคเดียว ภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 หลังจากนั้นไม่สามารถย้ายไปอยู่พรรคการเมืองอื่นได้อีก เพราะจะขาดคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ดังนั้น หากถึงปลายเดือนมกราคม พ.ศ.2566 แล้วยังไม่มีการยุบสภา ปรากฏการณ์ของบรรดา ส.ส.ฝากเลี้ยง และบรรดา ส.ส.งูเห่า ซึ่งตัวอยู่พรรคหนึ่ง ใจอยู่อีกพรรคหนึ่ง ที่จะทยอยลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อสมัครเข้าพรรคการเมืองใหม่ที่ตนเองประสงค์จะสังกัดจะเกิดขึ้น โดยคาดว่าน่าจะมีจำนวนถึง 40-50 คน หรือประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด

 

การคิดค่าใช้จ่ายในการหาเสียง

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง สิ่งที่กำหนดไว้ในมาตรา 64 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ระบุไว้เป็นสองกรณี คือ

กรณีแรก ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ให้คํานวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่ 180 วันก่อนวันที่คณะกรรมการประกาศให้มีการเลือกตั้ง จนถึงวันเลือกตั้ง

กรณีที่สอง ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการยุบสภา หรือการเลือกตั้งแทนตําแหน่งที่ว่าง ให้คํานวณค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ยุบสภาหรือวันที่ตําแหน่งว่างลง แล้วแต่กรณี จนถึงวันเลือกตั้ง

แปลความหมายง่ายๆ คือ หากยุบสภา การคิดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ให้เริ่มคิดนับแต่วันที่มีประกาศกฤษฎีกายุบสภา จนถึงวันเลือกตั้งว่าท่านใช้ไปเท่าไร โดยต้องไม่เกินกรอบค่าใช้จ่ายที่ กกต.กำหนด เช่น หาก กกต.กำหนดไว้ 1.5 ล้านบาทต่อผู้สมัคร 1 เขต ก็ใช้เกินกว่ากรอบดังกล่าวไม่ได้

ส่วนหากเป็นกรณีครบวาระ จะคิดคำนวณย้อนหลังมาถึง 180 วัน นับจากวันเลือกตั้ง ยกตัวอย่างเช่น หากอยู่ครบวาระแล้วมีการเลือกตั้งวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ค่าใช้จ่ายก็จะคิดย้อนหลังไปจนถึงราววันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2565

ใครจัดงานเลี้ยงปีใหม่เอิกเกริก แจกของขวัญชาวบ้าน หัวคะแนนกันยิ่งใหญ่ แจกข้าวสารอาหารแห้งทำบุญวันเกิดกันเป็นงานใหญ่ระดับจังหวัด หากอยู่ในช่วงตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 เป็นต้นไปแล้วบังเอิญท่านนายกรัฐมนตรีอยากอยู่จนครบวาระเพื่อเป็นเกียรติประวัติส่วนตัว คงเดือดร้อนต้องนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปแจ้งเป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงด้วย

การร้องประเด็นใช้จ่ายเงินเกินกว่ากำหนด หรือการแจ้งค่าใช้จ่ายเป็นเท็จคงมีขึ้นมากมายในประเทศ เป็นที่ปวดหัวของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

การยุบเพื่อหลีกหนีสถานการณ์ทางการเมือง

วิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายนอกสภาอาจเป็นประเด็นมูลเหตุของการยุบสภาเพื่อให้สังคมกลับไปจดจ่อกับการเลือกตั้งทั่วไป โดยหวังว่าผลจากการเลือกตั้งจะเป็นการแก้วิกฤตความขัดแย้งในบ้านเมืองได้

เช่นเดียวกับบรรดานักการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้ง คงเลิกทะเลาะเบาะแว้ง แต่มุ่งหน้ากลับไปหาเสียงยังเขตเลือกตั้งของตนเพื่อมุ่งหวังกลับมาอยู่ในสภาอีกรอบ

หลายครั้งของการชุมนุมทางการเมืองของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลในอดีตที่เมื่อไม่สามารถหาทางออกอื่นได้ ก็จบลงด้วยการการประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรีเพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจให้ประชาชน

วันนี้ ปัญหาการตีความการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าครบ 8 ปีตามมาตรา 158 วรรคสี่ เมื่อใด แม้เรื่องราวดังกล่าวจะอยู่ในขั้นกระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่กว่าจะศาลจะมีคำวินิจฉัย สถานการณ์ต่างๆ อาจถึงขั้นลุกเป็นไฟแล้ว

หรืออาจมาจากการประเมินว่า หากรอให้ศาลมีคำวินิจฉัย หากออกมาเป็นลบ ซึ่งต้องพ้นตำแหน่งทันที แต่หากใช้วิธีการยุบสภา ยังสามารถรักษาการได้อีกระยะหนึ่ง อย่างน้อย 4-5 เดือน ในช่วงเวลาดังกล่าวอาจเตรียมการในเรื่องราวต่างๆ ที่ตั้งใจไว้ได้ทัน

การยุบสภาจึงอาจถูกเลือกเป็นวิธีการสุดท้าย ภายใต้รอยยิ้มที่ผู้สื่อข่าวเคยสังเกตเห็น

ยังเหลืออีก 7 เดือนก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้จะครบวาระ แต่หากคิดบวกลบผลได้ผลเสียจากการอยู่จนครบวาระ กับการยุบสภาแล้วไปต่อแบบติดขัดน้อยกว่า

การยุบสภา ไม่ช้าก็เร็ว ย่อมเกิดขึ้น