8ปี…พอเถอะ ประชาชนตัดสินแล้ว อย่าให้ประเทศเสียหายมากกว่านี้/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

8ปี…พอเถอะ

ประชาชนตัดสินแล้ว

อย่าให้ประเทศเสียหายมากกว่านี้

 

ตําแหน่งนายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตย ต้องมีมาตรฐานในคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้ เพราะเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารประเทศ

จะต้องเป็นบุคคลที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกเข้ามา

ต้องทำงานเพื่อประชาชน

เคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้เป็นกติการ่วมกันในสังคม

ปกครองด้วยความยุติธรรม ไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือของตนเองและทำลายคู่แข่งทางการเมือง

สามารถพัฒนาบ้านเมืองให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสุข

ไม่คดโกงเอารัดเอาเปรียบ เพื่อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องบริวาร จนทำให้เกิดระบบคอร์รัปชั่น

เคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่ปราบปรามทำร้ายประชาชน

ถ้านำคุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวตั้ง และย้อนทบทวนไปถึงบทบาทการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ไม่นำมาตรา 158 ที่กำหนดให้เป็นนายกฯ ได้ไม่เกิน 8 ปีมาบังคับใช้ คนทั่วไปก็พอจะสรุปได้ว่ามีคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ต้น

อาจมีคนจำนวนหนึ่งที่เชียร์ในตอนแรก แต่สุดท้ายก็ผิดหวัง และหันมาต่อต้าน เพราะเห็นว่าประเทศเสียหายมากพอแล้ว

 

ความเสียหายต่อระบอบประชาธิปไตย

1. พล.อ.ประยุทธ์เริ่มเข้ามาเป็นนายกฯ ครั้งแรกด้วยการทำรัฐประหารในปี 2557 (และก่อนหน้านั้นก็ได้เคยร่วมทำการรัฐประหารในปี 2549 ) จากนั้นใช้อำนาจคณะรัฐประหาร คสช. ตั้งรัฐบาล ตั้งสภา ปกครองประเทศมาเกือบ 5 ปี จึงเป็นผู้ที่มีส่วนในการฉีกรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับ 2540 และ 2550 แม้เมื่อร่างฉบับ 2560 ที่ผลักดันให้ประชาชนลงประชามติยอมรับ ใครคัดค้านก็ถูกจับกุมเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญตามที่ต้องการ

แต่ตนเองกลับไม่ได้ยอมรับและเคารพปฏิบัติตาม เริ่มตั้งแต่วันถวายสัตย์ปฏิญาณที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปี 2562 โดยมีเจตนาไม่เอ่ยคำสาบาน ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 161 คือ

“ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้กล่าวถ้อยคำที่ว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

แต่ตลอดเวลาที่ปกครองประเทศ นายกฯ คนนี้จะเรียกร้องให้ประชาชนเคารพรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่พวกเขาสร้างขึ้น ในทางตรงกันข้ามพวกเขาจะเลือกเคารพและปฏิบัติตามในเรื่องที่พวกเขาได้เปรียบ แต่ถ้าเรื่องไหนเสียเปรียบก็จะไม่ยอมทำ

การไม่ยอมรับมาตรา 158 ที่กำหนดให้เป็นนายกฯ ได้ไม่เกิน 8 ปี จึงเป็นเรื่องปกติของคนที่เคยฉีกรัฐธรรมนูญ

2. ผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบในกติกาต่างๆ เช่น กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมืองที่สำคัญ มีการตั้ง ส.ว. 250 คนขึ้นมาเพื่อเลือกตนเองเป็นนายกฯ

3. บ่อนทำลายระบบนิติบัญญัติ โดยเปิดช่องให้มีการย้ายพรรค มีการยุบพรรคฝ่ายตรงข้ามและการซื้อ ส.ส. ตำนานเรื่องลิงกินกล้วย และงูเห่า จึงสร้างความเสื่อมเสียให้สภา

4. ใช้อำนาจ คสช. และมาตรา 44 แทรกแซงการปกครองท้องถิ่น ปลดผู้บริหาร พักงาน และทำให้ไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นนานถึง 6-8 ปี

 

ความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม

ใช้อำนาจของคณะ คสช. และมาตรา 44 ที่ตัวเองแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรใดถ้าเห็นว่าตัวเองจะได้ประโยชน์ก็ต่ออายุให้กรรมการชุดนั้น ถ้าเห็นว่าองค์กรใดอาจไม่อำนวยประโยชน์ให้ตนเองก็ยกเลิกและให้แต่งตั้งกรรมการใหม่

ส่วนเรื่องการตัดสินถูก-ผิด ฟ้องหรือไม่ฟ้อง หรือบางคนฟ้องไม่ทัน เป็นสิ่งที่ประชาชนเดาได้ล่วงหน้ามาหลายกรณี

การตัดสินเรื่องครบ 8 ปี ถ้าตัดสินไปคนละทาง 3 ทาง จะวุ่นวายแน่

 

เศรษฐกิจของประเทศ 8 ปี ลงไปอยู่ก้นเหว

นายกฯ ตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ทั้งที่ไม่มีความรู้ความสามารถในด้านนี้ ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดและสงคราม ความสามารถของคนที่ไม่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจย่อมไม่อาจแก้ปัญหาให้กับประเทศและประชาชนได้ สิ่งที่ทำไปจึงไม่ใช่การกู้ชาติ แต่เป็นการกู้เงิน

ผลที่เกิดขึ้นก็คือเป็นรัฐบาลกู้เงินจนทำให้เกิดหนี้สินสูงสุดเป็นประวัติการณ์

บริษัทขนาดใหญ่ได้ย้ายฐานการลงทุนออกไปต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้อุตสาหกรรมและการผลิตที่เป็นห่วงโซ่ต่อเนื่องซึ่งเป็นบริษัท SME ก็ได้ล้มลงเป็นลูกโซ่ตามกัน เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดก็ใช้วิธีแจกเงินเล็กน้อย แต่ไม่ใช่ช่วยประคองธุรกิจ ดังนั้น ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวจึงต้องล้มหายตายจากไป

นโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และสวัสดิการที่ประกาศไว้ตอนหาเสียงรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ทำเลย เช่น

มารดาประชารัฐ ท้องรับเงินเดือนละ 3,000 บาท 9 เดือน 27,000 บาท ค่าคลอดบุตร 10,000 บาท ค่าเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 2,000 บาทจนถึงอายุ 6 ปี

เพิ่มค่าแรง ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท/วัน อาชีวะ เงินเดือน 18,000 บาท

ปริญญาตรี เงินเดือน 20,000 บาท

1 กุมภาพันธ์ 2565 ก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครน ครม.รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า จะมีคนไทยเป็นคนจน 20 ล้านคน มาถือ “บัตรคนจน” หรือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” จากเดิมที่มี 13.45 ล้านคนตอนสิ้นปี 2564

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพียังคงขยับสูงขึ้นมาที่ระดับ 90.1% ในปี 2564 จากระดับ 89.7% ในปี 2563 และสำหรับในปี 2565 นั้น หลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน คาดว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยจะยังคงขยับขึ้นต่อเนื่อง ที่น่าห่วงคือกลุ่มผู้ใช้แรงงานปัจจุบันมีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 99%

 

วิธีการใช้งบประมาณ 8 ปี

24.5 ล้านล้าน ไม่เหมาะสม

นับจากปี 2558 จนถึงปี 2565 นายกฯ ประยุทธ์ได้ใช้งบประมาณไปรวมทั้งสิ้น 24.5 ล้านล้าน

แม้ในขณะที่ประเทศเกิดปัญหายังมีความพยายามที่จะซื้ออาวุธซึ่งมีราคาสูงมาก เช่น เรือดำน้ำ เครื่องบินรบ มีการใช้จ่ายงบฯ ในลักษณะฟุ่มเฟือย ซึ่งแม้แต่ประเทศที่ร่ำรวยก็ยังไม่ทำกัน เช่น ซื้อรถ Benz 500 มาเป็นรถประจำตำแหน่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แล้วอ้างว่าเป็นรถบัญชาการ สร้างความขบขันให้คนทั้งโลก แต่สร้างความอับอายให้คนไทยทั้งประเทศ

มันยิ่งไปตอกย้ำให้คนทั้งโลกมองเราว่าเป็นประเทศที่ไม่มีคนฉลาด แต่มีคนโกง จึงยอมถูกหลอกเรื่องกระบอกติ้ว GT200 ซึ่งราคาไม่ถึง 300 บาท แต่ประเทศไทยซื้อมาใช้อันละเกือบล้าน

การพิทักษ์ปกป้องทรัพยากรของชาติ ก็ล้มเหลว เพราะมีคนอยากได้เหมืองทองอัคราและไปยึดของเขามาด้วยมาตรา 44 พอต่างชาติฟ้องทำท่าจะแพ้ ซึ่งจะต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนมาก จึงต้องรีบขายสิทธิเหนือแผ่นดิน โดยการให้เขามาสำรวจสัมปทานเหมืองทองคำ อีกเกือบ 400,000 ไร่

จนป่านนี้ก็ยังไม่เข้าใจอีกว่า การทำเหมืองได้ทำลายธรรมชาติ ทำลายหน้าดินไปมากขนาดไหน กว่าจะได้ทองหนัก 1 บาท

หลังจากทำเหมืองไปแล้วก็จะทิ้งความพินาศเสียหายไว้บนแผ่นดินไทย ต่างชาติก็จะได้ทองคำไป ไทยจะได้ค่าธรรมเนียมภาคหลวงไม่กี่บาท

การคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้น ดัชนีชี้วัดคะแนนปลอดคอร์รัปชั่นในประเทศไทยประจำปี พ.ศ.2564 ที่วัดโดยองค์กร Transparency International ซึ่งจัดการประเมินผลทุกๆ ปี โดยอาศัยฐานข้อมูลด้านความโปร่งใสและคอร์รัปชั่นกว่า 10 ฐานข้อมูลทั่วโลกมาประมวลเป็นตัวเลขและจัดอันดับ โดยปีนี้ประเทศไทยได้คะแนนไป 35 คะแนน เมื่อนำมาจัดอันดับ (Ranking) ก็พบว่าอันดับของประเทศไทยในปีนี้ (อันดับที่ 110 จาก 180 ประเทศ) นับว่าเป็นอันดับต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี นี่เป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดเข้าไปทุกวงการ ไม่เพียงธุรกิจหรือการเมือง แต่มีอยู่แม้ในวงการศาสนา ศาล การศึกษา

Time To Say Goodbye การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากสื่อ 8 สถาบัน มีผู้ร่วมโหวต 374,063 โหวต พบว่าผู้ที่โหวตว่า บิ๊กตู่ไม่ควรเป็นนายกฯ เกิน 8 ปี มีจำนวน 348,511 โหวต คิดเป็น 93.17% และตอบว่า “ควร” ดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปี มี 25,552 โหวต คิดเป็น 6.83%

ประชาชนได้ตัดสินใจก่อนศาลรัฐธรรมนูญ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตีความกฎหมายมาตรา 158 แต่เขาได้ดูจากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตลอด 8 ปีที่ผ่านมา คนชั้นกลางกำลังกลายเป็นคนจน คนที่ทนไหวก็สู้ต่อ ทนไม่ไหวก็ฆ่าตัวตาย พวกเขามีความเห็นว่า 8 ปีสร้างความเสียหายมากเกินทนแล้ว