ลัลลา : มารดาที่รักของชาวกัศมีรี / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

ลัลลา

: มารดาที่รักของชาวกัศมีรี

 

“ฉันร้องไห้คร่ำครวญซ้ำๆ แก่เธอนะ โอ้ดวงใจ, โลกจับเธอขังไว้ในมนต์สะกดของมัน, กระนั้นเธอก็ยังยึดมั่นสิ่งในโลกราวกับทอดสมอเหล็กไว้, แต่เมื่อความตายมาถึง แม้เงาของสิ่งที่รักก็มิอาจตามไป, ไฉนจึงหลงลืมตัวตนแท้ของเธอเล่า”

 

นักบุญลัลลา (Lalla) หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ลัลทยัท (Lal ded) แปลว่า คุณแม่ลัลลาหรือคุณยายลัลลาในภาษากัศมีรี ว่ากันว่าเธอคือนักบุญและนักรหัสยะ (mystic) หรือผู้เข้าถึงความลึกลับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดท่านหนึ่งของอินเดีย

ลัลลาเกิดที่เมืองปัณฑเรฐนะ (Pandrethan) แคว้นกัศมีระ (Kashmir) (ซึ่งมักนิยมเขียนตามเสียงว่า แคชเมียร์) ทางตอนเหนือของอินเดีย เธอมีชีวิตในต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบสี่ บางตำราว่าเธอเกิดในปี 1320 บ้างก็ว่าปี 1355 เป็นบุตรีในตระกูลพราหมณ์

ช่วงเวลานั้นแคว้นกัศมีระเพิ่งถูกปกครองโดยผู้นำชาวมุสลิม จึงมีชาวมุสลิมเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้แม้ตัวลัลลาเองจะเป็นนักบุญในนิกาย “กัศมีรีไศวะ” แต่ก็ได้รับอิทธิพลจากทั้งศาสนาอิสลามสายซูฟีและศาสนาอื่นๆ ซึ่งมีอยู่ในดินแดนนั้น และนั่นก็ทำให้ลัลลาได้รับความเคารพนับถือทั้งจากชาวมุสลิมและฮินดู

คนกัศมีรีนอกจากจะเรียกท่านว่าลัลทยัทแล้ว ชาวฮินดูมักเรียกท่านด้วยนามสันสกฤตว่าว่าลัลเลศวรี (Lalleshvari) ส่วนบรรดามุสลิมมักเรียกว่าลัลลารีฟะ (Lalla Arifa) หรือปราชญ์ลัลลา

 

รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของลัลลามีอยู่น้อยมาก เราทราบเพียงแค่ว่าท่านอาจได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากครอบครัว และแต่งงานเมื่ออายุได้สิบสองปีตามประเพณีท้องถิ่นในสมัยนั้น

ชีวิตแต่งงานของลัลลาเต็มไปด้วยความทุกข์ยาก สามีเป็นคนเย็นชาขี้อิจฉา ส่วนแม่ผัวนั้นก็ปฏิบัติต่อลัลลาอย่างเลวร้าย ให้เธอทำงานสารพัด ทั้งด่าทอและทุบตี

มีตำนานและกวีนิพนธ์บางบทที่สะท้อนถึงสิ่งที่ลัลลาประสบ เธอมีเพียงอาหารเล็กน้อยที่จะได้กินในแต่ละวัน “พวกเขามีเนื้อแพะ ทว่า ลัลลามีเพียงก้อนกรวดเป็นกับข้าว” เธอต้องใช้ก้อนกรวดดูดซับน้ำแกงเพื่อให้ข้าวมีรส แล้วล้างเก็บไว้ใช้ต่อ

ลัลลาต้องออกไปตักน้ำมาใส่ตุ่มที่บ้านทุกเช้า เธอเดินทางออกไปไกลและทูนหม้อน้ำแสนหนักกลับมาบ้านท่ามกลางอากาศหนาวเย็น วันหนึ่งลัลลาโดนสามีกลั่นแกล้ง เขาใช้ท่อนไม้ตีหม้อที่เธอทูนไว้แตก ทว่า น้ำในหม้อนั้นมิได้รั่วไหลออกมา ลัลลาขว้างเศษหม้อที่แตกออกไปนอกบ้าน ณ จุดนั้นเองได้เกิดสระน้ำขึ้นอย่างปาฏิหาริย์

ว่ากันว่าสระน้ำของลัลลายังคงมีอยู่ตราบจนปัจจุบัน แต่ได้แห้งเหือดไปในปี 1925

 

ลัลลาได้รับคำสอนจากสิทธาศรีกัณฐะ ผู้เป็นคุรุในนิกายกัศมีรีไศวะ นิกายนี้นับถือพระศิวะเป็นพระเจ้าสูงสุด มีคำสอนพื้นฐานใกล้เคียงกับไศวะสิทธานตะดังที่ผมเคยเล่าไว้แล้ว แต่จุดเน้นที่สำคัญคือกัศมีรีไศวะเชื่อว่า บรรดาเนื้อแท้แห่งสรรพชีพที่เรียกว่าชีวาตมัน (ชีวะ+อาตมัน) ที่จริงแล้วคือพระศิวะ เพราะเมื่อพระองค์ทรงสรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ด้วยพลัง (ศักติ) ของพระองค์แล้ว พระองค์ก็มิได้แยกออกจากสิ่งนั้น พระองค์ทรงแผ่ซ่านไปในทุกสิ่ง

ดังนั้น ตัวตนแท้ของเราคือพระเจ้านั่นเอง เพราะไม่มีสิ่งใดเลยที่ปราศจากพระองค์ ทว่า เมื่อความรู้สึกนึกคิดปรากฏขึ้นด้วยความหลงผิด เราจึงเข้าใจว่าเราต่างกับพระองค์ สรรพชีพจึงถูกเรียกว่า “ปศุ” คือสัตว์ที่โดนล่ามเอาไว้ด้วยอวิชชา แต่เมื่อเราทำให้แจ้งซึ่ง “ปรัตยภิชญา” หรือการตระหนักรู้ว่าธรรมชาติแท้ของเราคือพระศิวะแล้ว เราก็เข้าถึงความหลุดพ้น

ทว่า การจะหลุดพ้นได้ จำจะต้องได้รับคำสอนจากคุรุ ฝึกฝนโยคะสมาธิและศึกษาเล่าเรียน แต่ท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับพระกรุณาของพระศิวะ ซึ่งเรียกว่า “ศิวานุเคราะห์” (ศิวานุครหะ) ดังนั้น การกระทำภักดีต่อพระเจ้าจึงเป็นอีกหนทางที่สำคัญในนิกายนี้

กัศมีรีไศวะเสนอว่า ที่จริงพระศิวะทรงปกปิดพระองค์แล้วเราคิดไปว่าเราเป็นเพียงชีวิตหนึ่ง (ชีวะ) ที่แยกจากพระองค์ แต่ก็โดยพระกรุณาของพระศิวะเองนั่นแหละที่จะเปิดเผยธรรมชาติเดิมแท้ว่าเราคือพระองค์เช่นกัน

ทั้งหมดนี้เป็นความเพลิดเพลิน เป็นเพียงนาฏการหรือลีลาของพระเจ้า

ดังนั้น ความแตกต่างทั้งหลายจึงเป็นเพียงเปลือกนอกเท่านั้น แต่โดยเนื้อแท้ไม่ต่าง ลัลลาจึงกล่าวว่า “พระศิวะทรงแผ่ซ่านไปและแทรกอยู่ในอนุภาคทั้งปวง จึงไม่มีความแตกต่างระหว่างฮินดูและมุสลิม หากเธอเฉลียวฉลาดจงรู้เถิดว่า ตัวตนแท้ของเธอนอนเนื่องแนบสนิทกับพระเจ้า”

 

เช่นเดียวกับนักบุญมีราพาอี การอยู่ในบ้านหรือครอบครัวไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการทางจิตวิญญาณได้ ทั้งยังถูกกดโดยสภาพชายเป็นใหญ่ ด้วยเหตุนี้ การออกจากบ้านหรือเวียงวัง แม้จะปราศจากการปกป้องและคุณค่าใดในทางโลก แต่ก็มีอิสรภาพและความสุขแห่งพระผู้เป็นเจ้ารออยู่

เมื่ออายุได้ยี่สิบปีต้นๆ ลัลลาจึงตัดสินใจออกจากบ้าน แต่เธอออกไปราวกับหญิงบ้า เธอเปลือยกาย ร้องเพลงและเต้นรำ เธออาจแกล้งบ้าหรือเธอเข้าสู่สภาวะที่ไม่คำนึงถึงร่างกายอีกต่อไปก็มิทราบได้

“เต้นรำเถิดลัลลา โดยไร้สิ่งใดเว้นแต่นภากาศ ร้องเพลงเถิดลัลลา โดยนุ่งลมห่มฟ้า มองไปยังวันอันเรืองรุ่ง เสื้อผ้าใดกันจะสวยงามหรือศักดิ์สิทธิ์ไปกว่านี้”

ในวัฒนธรรมอินเดีย การเปลือยกายในที่สาธารณะเป็นเรื่องน่าอับอายเช่นเดียวกับที่อื่นๆ แต่ในทางกลับกัน การเปลือยกายก็เป็นขนบปฏิบัติของนักบวชสละโลก เป็นสัญลักษณ์ของการไม่ครอบครองและอิสรภาพ กระนั้นนักบวชเปลือยกายส่วนมากคือบุรุษ การที่ลัลลาลุกขึ้นมาเปลือยกายจึงเป็นความท้าทายต่อสังคมในสมัยนั้นอย่างยิ่ง

ลัลลาเร่ร่อนไปตามป่าเขา ร้องเพลงสรรเสริญและเต้นรำ ผู้คนมากมายมาหาเธอเพราะปัญญาญาณอันลึกซึ้ง เธอสอนให้ผู้คนเข้าถึงความจริงแห่งตน บทกวีของลัลลามีรูปแบบเรียกว่า “วาข” (vakh) ซึ่งมาจากคำสันสกฤตว่า “วากย์” อันหมายถึงคำพูด

วาขของลัลลามีถึงสองร้อยกว่าบทที่ยังตกทอดมาถึงปัจจุบัน ล้วนใช้ภาษากัศมีรีซึ่งเป็นภาษาถิ่น ทั้งนี้ คำสอนของกัศมีรีไศวะแต่เดิมประพันธ์ด้วยสันสกฤตจึงยากที่คนทั่วไปจะได้เรียนรู้ศึกษา แต่วาขทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงคำสอนอันลึกซึ้งนี้ได้

เนื้อหาในบทกวีของลัลลานอกจากจะพูดถึงหลักปรัชญาและความรักที่มีต่อพระเจ้าแล้ว ยังมีหลายส่วนทิ่วิพากษ์การยึดมั่นในพิธีกรรม “เจ้าพวกบัณฑิตโง่ เจ้าถวายชีวิตแกะแด่รูปเคารพหินไร้ชีวิต นั่นก็เพราะหนังแกะจะได้ห่มคลุมตัวเจ้าแก้หนาว แล้วมันจะถูกกินกับน้ำ สมุนไพรและเศษขนมปัง ใครกันเล่าแนะนำเจ้าให้บูชายัญแกะมีชีวิตแก่หินไร้ชีวิต”

ในทัศนะของลัลลา ท่านปฏิเสธการกราบไหว้รูปเคารพ เพราะในเมื่อพระเจ้าทรงอยู่ในดวงใจของสรรพชีพอยู่แล้วจะกราบไหว้รูปเคารพไปทำไม “เทวรูปก็หิน วิหารก็หิน จะบนวิหารหรือจะใต้วิหารก็หินเหมือนกัน หินพวกนี้ต้องการให้เจ้าบูชาหรือ เจ้าบัณฑิตโง่”

การเข้าถึงพระเจ้าจึงไม่จำเป็นต้องใช้พิธีกรรมซับซ้อนหรือการกราบไหว้บูชาสิ่งภายนอก เพราะพระเจ้าสถิตอยู่แล้วในหัวใจ แม้นี่อาจต่างกับนักบุญภักติในที่อื่นที่เห็นว่า การบูชารูปเคารพก็เป็นส่วนหนึ่งของวิถีทางภักติได้ คงเพราะลัลลาได้รับอิทธิพลของศาสนาอิสลามที่ปรับเข้ากับคำสอนไศวะในแบบตัวท่านเอง

 

ลัลลาสิ้นชีวิตเมื่ออายุได้เจ็ดสิบสองปี บางตำนานกล่าวว่าท่านสลายหายไปกับแสง บางตำนานเล่าว่า ท่านกระโจนเข้าไปในเตาเพลิงและมีดอกไม้งอกเงยออกมาจากขี้เถ้า บรรดาศิษย์ทั้งมุสลิมและฮินดู ต่างแบ่งดอกไม้ไปทำพิธีกรรมตามความเชื่อตน

แม้ในปัจจุบัน ดินแดนแคชเมียร์จะเป็นดินแดนแห่งความขัดแย้งอย่างยาวนาน ทั้งในด้านศาสนา ชาติพันธุ์และการปกครอง กระนั้นสิ่งหนึ่งคนถิ่นนั้นรักและภูมิใจก็คือลัลลา เห็นเป็นส่วนสำคัญในชีวิต ถึงกับมีคำกล่าวว่า “คำสำคัญของคนกัศมีรี คือคำว่า อัลลาห์ (พระเจ้า) และลัลลา”

ผมขอจบบทความด้วยกวีสั้นๆ ของลัลลาว่า

“พระเจ้าไม่ได้ต้องการสมาธิหรือบำเพ็ญตบะ

แต่ด้วยความรักเท่านั้นที่นำไปสู่อาณาจักรมหาสุขะ

ทว่า เจ้าอาจต้องหลงลืมตนดุจเกลือละลายน้ำ

นั่นย่อมยากแก่เจ้าที่จะรู้จักพระองค์” •