เช็กบิล 4 คดีแช่แข็ง “ทักษิณ” “เข็มชัย” อสส. สั่งตั้งแท่น เงื้อ “พ.ร.ป.อาญานักการเมือง” : โลเงิน

เปิดประเด็นใหม่ เมื่อ นายเข็มชัย ชุติวงษ์ อัยการสูงสุดคนใหม่ เปิดตัวครั้งแรกต่อสื่อมวลชน ในประเด็น พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ ที่เพิ่งออกมาบังคับใช้

โดยใน พ.ร.ป. ดังกล่าวมีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย

อาทิ ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลและผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาล อัยการสูงสุด หรือ ป.ป.ช. เคยมีการขอออกหมายจับแล้ว ให้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาได้

นายเข็มชัย ชุติวงษ์ อัยการสูงสุด

และในกรณีที่ได้ออกหมายจับจำเลย แต่ไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย

เรื่องนี้ ชัยเกษม นิติสิริ แกนนำเพื่อไทย และอดีตอัยการสูงสุด ให้ความเห็นไว้ว่า การออกกฎหมายนั้น จะมีผลย้อนหลังโดยเป็นโทษต่อจำเลยไม่ได้ เพราะเริ่มแรกที่มีการพิจารณาคดี จำเลยรู้ว่าวิธีการพิจารณาคดีอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่า ไม่เป็นธรรมกับ นายทักษิณ ชินวัตร มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งที่สุดแล้วก็อยู่ที่การตีความของศาลยุติธรรมว่าสามารถทำได้หรือไม่

“ตอนทำผิด ศาลบอกว่าไม่สามารถพิจารณาคดีได้เนื่องจากจำเลยไม่อยู่ แต่พอวันหนึ่งมีการแก้ไข กลับบอกว่าทำได้ แล้วความเป็นธรรมอยู่ที่ไหน” นายชัยเกษม ให้ข้อสังเกต

ชัยเกษม นิติสิริ

อย่างไรก็ตาม นายเข็มชัย อัยการสูงสุดคนปัจจุบัน ในฐานะผู้นำหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายด่านแรกก่อนที่ศาลซึ่งเป็นด่านที่สองพิจารณาว่ารับคดีหรือไม่ มีความเห็นไว้ว่า พ.ร.ป. ใหม่ ให้ศาลสามารถดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลย หรือพิจารณาคดีลับหลังได้ จึงมีความเห็นว่าคดีของนายทักษิณที่พนักงานอัยการเคยฟ้องต่อศาลไปมีลักษณะเป็นวิธีพิจารณาที่จะไม่เรียกว่าการดำเนินคดีที่เป็นโทษย้อนหลัง และจะสามารถรื้อฟื้นนำคดีกลับมาพิจารณาฟ้องต่อศาลได้

โดยจะให้สำนักงานคดีพิเศษที่เคยรับผิดชอบคดีเป็นผู้เสนอรายชื่อคณะทำงาน ก่อนยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

หากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเห็นตรงกันในการบังคับใช้กฎหมายส่วนนี้ก็สามารถดำเนินการต่อได้

เรียกว่าการรื้อฟื้นคดีที่ค้างในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของนายทักษิณนั้น อัยการสูงสุดคนใหม่ที่มีอำนาจฟ้องคดีใหม่ตามกฎหมายเปิดทางชัดเจน แต่สุดท้ายก็อยู่ที่ศาล!!

สําหรับคดีของนายทักษิณที่ค้างอยู่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และน่าจะเข้าข่ายการรื้อคดี จากการตรวจสอบพบว่ามีด้วยกัน 4 คดี โดย 2 คดีแรกเป็นคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้อง

คดีแรกคือ คดีหมายเลขดำที่ อม.3/2551 ที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ฟ้อง นายทักษิณเป็นจำเลยฐานใช้อำนาจหน้าที่กระทำผิด เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเอง หรือผู้อื่นด้วยกิจการนั้น และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

กรณีที่จำเลยอนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ให้แก่รัฐบาลพม่า วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการปรับปรุงระบบโทรคมนาคมของประเทศพม่า เพื่อเอื้อประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียมที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จากบริษัทชิน แซทเทลไลท์ และบริษัทในเครือตระกูลชินวัตร

คดีนี้ศาลมีคำสั่งวันที่ 16 กันยายน 2551 เห็นว่าจำเลยได้รับหมายเรียก ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุ เชื่อว่ามีเจตนาจะหลบหนี ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว และให้ออกหมายจับจำเลยมาเพื่อพิจารณาคดีต่อไป

คดีที่ 2 คดีหมายเลขดำที่ 1/2551 ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. ต่อมาเป็น ป.ป.ช. ฟ้องเนื่องจาก คตส. หมดหน้าที่ ได้ยื่นฟ้องนายทักษิณ กับพวก รวม 47 คน เป็นจำเลย ฐานผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ หรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต (ยักยอกทรัพย์) ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการดูแลกิจการ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน หน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร โดยทุจริต เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ ฯลฯ ซึ่งศาลมีคำสั่งรับฟ้อง

ศาลสั่งจำหน่ายคดีในส่วนของนายทักษิณออก และออกหมายจับ ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2552 ศาลมีคำพิพากษาจำคุกคนละ 2 ปี นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลังและประธานบอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นายชัยวัฒน์ พสกภักดี อดีต ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ให้รอลงอาญาจำเลยทั้งสามไว้

ส่วน คดีที่ 3 เป็นคดีหมายเลขดำ อม.3/2555 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ร.ท.สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทในเครือกฤษดามหานคร และบริษัทในเครือกฤษดามหานคร กับพวก เป็นจำเลยที่ 1-27 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ ความผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ

จากกรณีที่ผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้สินเชื่อกลุ่ม บมจ.กฤษดามหานคร ที่มีสถานะอยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร แต่ได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้บริษัทในกลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งมีพฤติการณ์ร่วมกันหรือสนับสนุนการกระทำความผิดกรณีธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ โดยทุจริต เพื่อฟื้นฟูกิจการของ บมจ.กฤษดามหานคร โดยศาลฎีกา มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 จำคุกนายวิโรจน์ กับพวก บางส่วนมีอัตราโทษตั้งแต่ 12-18 ปี และร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตั้งแต่ 450 ล้าน ถึง 9,000 ล้านบาทเศษ

และ คดีที่ 4 เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม.9/2551 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายทักษิณเป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

กรณีทุจริตออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ-ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท โดยศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2551 เห็นว่า จำเลยทราบหมายโดยชอบแล้วไม่มา เชื่อว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ให้ออกหมายจับจำหน่ายคดีไว้เป็นการชั่วคราว

เป็นออเดิร์ฟ 4 คดีของนายทักษิณ ที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ กำลังไล่เช็กบิล!!