คำ ผกา | อย่าได้วนกลับ ไปเป็นสลิ่มกันอีกเลย

คำ ผกา

วันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีแล้วแน่นอนอย่างที่ไม่มีใครเถียงได้ว่าไม่จริง

ความรู้สึกของสังคมตอนนี้ สำหรับกลุ่มคนที่เห็นตามหลักสากลว่าการรัฐประหารคืออาชญากรรม มองว่าประยุทธ์เป็นนายกฯ เถื่อนตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่ง เพราะเข้ามาเป็นนายกฯ จากการปล้นอำนาจประชาชน ที่อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะออกกฎหมายนิรโทษกรรมตนเอง

กลุ่มชนชั้นนำ ปัญญาชนที่เคยสนับสนุนประยุทธ์และเห็นการรัฐประหารคือทางออกของการเมืองไทยก็มองว่า เพื่อรักษาความชอบธรรมของการ “รัฐประหาร” เอาไว้เมื่อประยุทธ์อยู่ในตำแหน่งนี้มา 8 ปีแล้ว และเมื่อรัฐธรรมนูญภายใต้ระบอบ คสช.เองนั่นแหละที่เขียนเรื่องสาระไม่เกิน 8 ปีของตำแหน่งนายกฯ เอาไว้ ประยุทธ์ก็ควรแสดงสปิริตลาออก เพื่อความสง่างาม คนที่จะทำการรัฐประหารครั้งต่อไปจะได้เอามาอ้างได้ว่า เผด็จการทหารไทย เป็นเผด็จการที่มีมารยาท

ประชาชนไทยที่อาจจะไม่ได้ซีเรียสอะไรกับการรัฐประหารแต่ได้รับผลกระทบจากการบริหารประเทศของประยุทธ์ที่พูดได้ว่าล้มเหลวในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จะอ้างโควิด อ้างปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน พลังงาน อะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่กระทบต่อชีวิตของประชาชนคือภาวะข้าวยากหมากแพง รายได้ต่ำ รายจ่ายสูง ปัญหาหนี้สิน คนเหล่านี้มองง่ายๆ ว่า ประยุทธ์ไม่เก่ง ควรออกไปได้แล้ว เปิดโอกาสให้คนเก่ง คนที่ทำงานเป็นได้เข้ามาเป็นนายกฯ แทน

รวมๆ กันจึงออกมาเป็นผลโพลว่าร้อยละ 94 เห็นว่า ประยุทธ์ควรยุติบทบาทการเป็นนายกฯ ของตนเองหลังวันที่ 24 สิงหาคม ไม่ว่าการตีความทางกฎหมายจะนับหนึ่งของการรับตำแหน่งนายกฯ ของประยุทธ์ตั้งแต่วันไหนก็ตาม

ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ มาแล้วกี่ปีในสายตาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ความจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้คือ ประยุทธ์เป็นผู้ก่อการรัฐประหารปี 2557 และวันนี้เราคนไทยอยู่ในระบอบ คสช.มาแล้ว 8 ปี

หนังสือ “อุปถัมภ์ค้ำใคร” ของเวียงรัฐ เนติโพธิ์ ได้สรุปมรดกของระบอบ คสช. ไว้ให้เข้าใจได้ง่ายมากว่า เป้าหมายของการรัฐประหารปี 2557 ไม่เพียงแต่ต้องการเอานายกฯ ชื่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งเท่านั้น แต่ต้องการออกแบบการเมืองไทยใหม่ให้ไม่สามารถกลับไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงได้อีกเลย

สิ่งที่เขาออกแบบมาคือ ออกแบบ “ระบอบรวบอำนาจ” เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงการใช้โครงสร้างอำนาจรัฐซึ่งเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แตกต่างจากการใช้อำนาจ กำลัง แก๊สน้ำตา ใช้กฎหมายจับกุมผู้ประท้วงเข้าคุก ที่มองเห็นและเข้าใจง่าย

กระบวนการรวบอำนาจนี้มีอะไรบ้าง

หนึ่ง การขัดขวางประชาธิปไตยท้องถิ่น เริ่มตั้งแต่ปลดผู้ว่าฯ 14 คนที่มีความเชื่อมโยงกับยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และจังหวัดที่มีการรวมตัวกันของคนเสื้อแดงที่เข้มแข็งหลังการรัฐประหารไม่นาน ถัดมาคือคำสั่ง ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 เรื่องไม่ให้มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งหมด ต่อมาในปี 2561 มีคำสั่งจากหัวหน้า คสช. ปลดข้าราชการท้องถิ่น และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใน อปท.เกือบ 300 คนโดยอ้างเรื่องทุจริต

สอง โดยอำนาจของมาตรา 44 คสช. ช่วงปี 2557-2560 มีการโยกย้ายข้าราชประจำอย่างต่อเนื่องและแทนที่ด้วยคนหรือข้าราชการในเครือข่ายของตัวเอง การโยกย้ายข้าราชการจึงเป็นเครื่องมืองในสองลักษณะคือ สร้างระบบอุปถัมภ์แบบพวกพ้องแลกผลประโยชน์ และเป็นเครื่องปิดปากข้าราชการไม่ให้ต่อต้านอำนาจของระบอบ คสช. เพราะกลัวการถูกโยกย้าย ภายใต้กระบวนการนี้ “ประชาชน” จึงถูกถอดออกจากสมการทางอำนาจโดยปริยาย เพราะต่อไปนี้ข้าราชการไม่ได้ทำงานตอบสนองฝ่ายบริหารที่มาจากประชาชน แต่ข้าราชการต้องทำงานตอบสนองเผด็จการเพื่อรักษาและสืบทอดอำนาจ

สาม การเปิดศูนย์ดำรงธรรม ที่ส่งผลสองประการคือ เป็นการเพิ่มอำนาจให้ข้าราชการส่วนกลางมีอำนาจควบคุมภูมิภาคภายใต้การกำกับของมหาดไทย และเป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ใหม่ให้ทหารและมหาดไทยเข้าไปแทรกแซงกรณีขัดแย้งในท้องถิ่น เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง ทำลายเครือข่ายการเมืองเดิม ผ่านข้อร้องเรียนตั้งแต่การเปิดบาร์เกินกำหนดเวลา อาวุธสงคราม การปล่อยเงินกู้นอกระบบ ฯลฯ จากนั้นสร้างภาพว่า ภายใต้ระบอบ คสช. ทหารจะเป็นผู้มาปราบหนี้นอกระบบ จัดงานคืนโฉนดที่ดินที่ถูกนายทุนยึดมาคืนให้ชาวบ้าน เพื่อที่ไม่นานต่อมา เราจะพบว่า เครือข่ายธุรกิจสีเทา ผับบาร์ ยาเสพติด แรงงานเถื่อน รวมไปธุรกิจหนี้นอกระบบ ที่เคยมีถูกแทนที่ด้วยกลุ่มคนมีสีเครือข่ายเมืองในระบอบ คสช. เข้ามาทำแทนเท่านั้น

สี่ ใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือรวบอำนาจ เช่น ในปี 2559 โยกอำนาจการจัดสรรงบประมาณมาที่ผู้ว่าฯ งบฯ อุดหนุนส่วนกลางที่เคยเป็นอำนาจของ อปท. ถูกโยกมาที่ผู้ว่าฯ และยังถูกนำไปรวมกับกับงบฯ ไทยแลนด์ 4.0 ทำให้ผู้ว่าฯ ที่เป็นข้าราชการส่วนกลางเข้ามามีอำนาจเหนือ อปท.ที่เป็นอำนาจท้องถิ่น ผลก็คือ ประชาชนจะรู้สึกว่า นายกฯ ท้องถิ่นไม่มีผลงาน ไม่ทำงาน

ผลในระยะยาวคือความเบื่อหน่ายหรือการเห็นกว่าการเมืองท้องถิ่นไม่มีความหมาย ไม่มีประโยชน์ ตามเป้าหมายที่ระบอบ คสช.วางเอาไว้คือ ทำลายความเข้มแข็งของการเมืองท้องถิ่นที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างประชาธิปไตย

นอกจากนี้ สตง.กลายเป็นเครื่องมือที่ คสช.ใช้ในฐานะที่เป็นองค์กรตรวจสอบและชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการเงินเพื่อรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง เช่น สตง. เข้าไปตรวจสอบการติดตั้งเครื่องเตือนภัยน้ำท่วม เพื่อเฝ้าระวังน้ำภัยก่อนน้ำจะทะลักเข้ามาในเขตเทศบาลของเทศบาลนครแห่งหนึ่งแล้วเห็นว่าเข้าข่ายใช้งบประมาณผิดเพราะไปติดตั้งอุปกรณ์นี้นอกเขตเทศบาล หรือ มีสองเทศบาลร่วมมือกันน้ำประปาชุมชน แต่ สตง.เห็นว่าโรงกรองน้ำกับเขตเทศบาลที่ใช้น้ำเป็นคนละเทศบาลกัน เข้าข่ายมีความผิด

การทำงานของ สตง.แบบนี้ทำให้เทศบาลและการปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่สามารถใช้งบฯ เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นภายใต้การดูแลของตัวเองได้ ผลในระยะยาวก็จะทำให้นักการเมืองท้องถิ่นไม่สามารถทำงานเชิงนโยบายเพื่อให้ตนเองได้รับการเลือกตั้ง ต้องหันกลับไปใช้แนวทางการอุปภัมภ์ สงเคราะห์ ช่วยเหลือรายบุคคล ระบบพวกพ้อง เส้นสาย เจ้าพ่อ ก็จะกลับมา หรือนักการเมืองท้องถิ่นต้องไปแสวงหาอิทธิพลจากนักการเมืองในเครือข่ายอุปถัมภ์ของ คสช.ที่กุมอำนาจรัฐอยู่

ทั้งหมดนี้ถูกออกแบบมาเพื่อสกัดกั้นทำลายไม่ให้ประชาธิปไตยได้ถือกำเนิดขึ้นมาได้อีกในประเทศไทยตามเจตนารมณ์ของการรัฐประหารนั่นเอง

ห้า โครงการประชารัฐ ในขณะที่โครงการประชานิยมของทักษิณ ชินวัตร เป็นการออกแบบนโยบายบนฐานคิดเรื่อง “สิทธิการเมืองขั้นพื้นฐาน” โดยอ้างอิงแนวคิดการจัดการทรัพยากรสาธารณะที่มีเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกชนชั้น แต่นโยบายประชารัฐของ คสช. เป็นความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่สงเคราะห์ไปยังประชาชนที่อยู่เบื้องล่าง ไม่เพียงเท่านั้น ยังใช้นโยบายนี้ในฐานะที่เป็นเครื่องมือเพิ่มทรัพยากรทางอำนาจตอบแทนข้าราชการในเครือข่าย คสช. เปิดโอกาสให้กลุ่มทุนระดับชาติไปสร้างเครือข่ายกับข้าราชการท้องถิ่น เพิ่มระดับความสัมพันธ์แนวดิ่งแบบรวมศูนย์ทั้งทางด้านทุน อำนาจ ในภาษาของฉัน ฉันเรียกระบบนี้ว่าเป็นระบบ “กินเมือง” ที่สร้างขึ้นมาโดย คสช.

หก การประสานงบฯ หรือการวิ่งงบฯ เป็นการสร้างความสมดุลของความสัมพันธ์ในเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการด้วยการเชื่อมประชาชน ผู้นำชุมชน นัการเมือง ระบบราชการ และนักธุรกิจก่อสร้างเข้าด้วยกัน หากมีการเลือกตั้งต่อเนื่อง เครือข่ายนี้จะแน่นแฟ้น สมดุล

แต่การรัฐประหารได้เข้ามาทำลายความสมดุลนี้เพราะประชาชนถูกตัดออกไปจากสมการ เหลือแค่ระบบราชการ กับนักธุรกิจก่อสร้างเท่านั้น

ทั้งหมดนี้เป็นมรกดของ คสช. ออกแบบมาเพื่อทำลายมรดกโครงสร้างการเมืองที่ออกแบบมาผ่านรัฐธรรมนูญปี 2540 และปรับใช้บางมรดกของรัฐธรรมนูญ 2540 ในส่วนขององค์กรอิสระ และอุดมการณ์เรื่องหลักธรรมาภิบาลมาเป็นเครื่องมือรวบอำนาจเข้าสู่ระบบราชการที่ควบคุมโดยรัฐบาลทหารที่ขึ้นสู่อำนาจผ่านการรัฐประหาร

ไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อหมดวาระของรัฐบาล คสช. พวกเขายังออกแบบการเมืองไทยใหม่ผ่านรัฐธรรมนูญ 2562 โดยใช้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม เพื่อทำลายความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเมืองให้ย้อนไปสู่ยุคก่อนปี 2540 นั่นคือการสร้างระบบนิเวศน์งูเห่า และสร้างนักการเมืองพันธุ์กินกล้วย

อันทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายการเมือง เบื่อหน่ายนักการเมือง และเขาทำสำเร็จอย่างยิ่งยวดในการทำให้วาทกรรม “นักการเมืองเลว” กลับมาโลดแล่นในสนามวาทกรรมของคนไทย โดยเฉพาะชนชั้นกลางไทยที่มีการศึกษาอีกครั้ง ไม่เว้นแม้แต่ในหมู่นักกิจกรรมผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ก็กระโจนเข้าสู่วาทกรรม นักการเมืองเลว เห็นแก่ตัว คอร์รัปชั่น การเมืองบ้านใหญ่ ส.ส. คือสมบัติประจำตระกูล

สมเจตนารมณ์ของการวางมรดก คสช.ไว้ทุกประการคือ วางหมากมาเพื่อทำลายพรรคการเมือง นักการเมือง และระบบการเลือกตั้งอันเป็นพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย

การไม่ต่อเนื่องของการเลือกตั้ง และการรวบอำนาจอย่างเป็นระบบผ่านระบอบ คสช. เพราะการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ทำให้อำนาจทางการเมืองของนักการเมืองแทบไม่หลงเหลืออีกต่อไปหากไม่สยบยอมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอำนาจ คสช.เก่า (สาม ป.) นักการเมืองจะค่อยๆ แปรบทบาทความสัมพันธ์ของตัวเองกับ voters จากความสัมพันธ์แบบนโยบายนำ (programmatic linkage) ไปสู่ความสัมพันธ์ขึ้นอยู่กับบารมีส่วนบุคคล (charismatic linkage)

ซึ่งก็เข้าทางที่ระบอบ คสช.ต้องการคือ กวาดเอานักการเมืองมาอยู่ใต้ร่มบารมีของตนไปพร้อมๆ กับทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาของชนชั้นกลางที่เกลียดการเมืองระบบอุปถัมภ์

และใช้ชนชั้นกลางเหล่านั้นแหละเป็นเครื่องมือทำลายประชาธิปไตยโดยเข้าใจว่าตัวเองกำลัง “ขจัดนักการเมืองเลวๆ” และสร้างประชาธิปไตยที่จริงกว่า สะอาดกว่า

โดยหารู้ไม่ว่ากำลังปฏิเสธพลวัตของการเมืองผ่านระบบเลือกตั้ง วาทกรรม “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ก็วนกลับมา พร้อมกับนิทานเรื่อง ชนะเลือกตั้งเขาก็รัฐประหารอยู่ดี

แล้วการเมืองไทยก็วนลูปกลับไปสู่วงจรก่อนปี 2549 อีกครั้ง และเพื่อไม่ให้เราวนลูปไปอยู่ตรงนั้น ฉันก็หวังว่าเราจะรู้เท่าทันเกมของระบอบ คสช. ดังที่สาธยายไปข้างต้นผ่านงานของเวียงรัฐ เนติโพธิ์

อย่าได้กลัวนักการเมืองได้อำนาจคืนจนกลับไปเป็นสลิ่มกันอีกเลย