กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (4)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (4)

 

วรรณกรรมเพื่อนบ้าน

หญิงสองสะดือ

กิติมา อมรทัต แปลจาก The Woman who had two Navels ของ Nic Joa quin

เป็นผลงานแปลชุดวรรณกรรมเพื่อนบ้านของมูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป

ตีพิมพ์ในปี 2535 ราคา 70 บาท ความยาว 275 หน้า

หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงความสลับซับซ้อนและความไม่ลงตัวในสังคมของชนชั้นกลางและชนชั้นสูงของฟิลิปปินส์เอาไว้อย่างเห็นภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาจากสงครามโลกครั้งที่ 2

 

 

กิติมา อมรทัต

กับงานแปลนวนิยายตะวันตก

ที่กลายมาเป็นภาพยนตร์

The Piano ดนตรีแห่งชีวิต

กิติมา อมรทัต แปลจากนวนิยายที่ต่อมาได้กลายเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยม 3 รางวัลออสการ์ โดยเมื่อเป็นภาพยนตร์ได้รับการกำกับฯ โดยเจน แคมเบียน

กาญจนา แก้วเทพ กล่าวถึงเนื้อหาของ The Piano เอาไว้ว่าผู้หญิงในภาพยนตร์มีโอกาสน้อยมากที่จะได้พูดแทนใจตัวเองว่าผู้หญิงต้องการอะไร แต่ใน The Piano นี้ ผู้สร้างตั้งใจอย่างมากที่จะให้เอด้าเป็นใบ้ เพื่อแสดงให้เห็นจะจะแก่ตาว่า เธอเป็นผู้ไม่มีปากเสียงอย่างแท้จริง

แต่ลึกเข้าไปในหลืบชั้นใน เอด้าไม่เคยปิดปากแสดงความต้องการของเธอเลย เธอพูดอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ทั้งๆ ที่ไม่มีเสียง

กองบรรณาธิการ FILMVIEW กล่าวถึง The Pinao ว่าน้ำหนักที่เด่นที่สุดใน The Piano คือการสะท้อนภาพของการกดขี่ทางเพศที่ผู้ชายกระทำต่อผู้หญิงมาเนิ่นนาน การเป็นใบ้ของเอด้าและเสียงเปียโนของเธอถูกใช้ในลักษณะสัญลักษณ์ เปรียบเปรยถึงการไม่มีปากเสียงและไม่สามารถแสดงอารมณ์ของตัวเองมาได้ตรงๆ

ในขณะที่ชาลี บราวด์ จาก FILMVIEW เช่นกันกล่าวว่า The Piano ได้สื่อให้เห็นว่าเซ็กซ์เป็นภาษาสากลที่ไม่จำเป็นต้องสื่อด้วยการพูดหรือภาษาเขียน เอด้าพูดไม่ได้ในขณะที่เบนส์ก็อ่านหนังสือไม่ออก แต่ทั้งสองก็สามารถเข้าใจและตอบสนองให้กันและกัน…

เอด้าได้ค้นพบอารมณ์ปรารถนาของตนเองที่ซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งเป็นยิ่งกว่าการปลดปล่อยอารมณ์เบื้องลึกของตนเอง เสมือนเป็นการค้นพบดินแดนของอารมณ์แห่งใหม่ที่เอด้าอาจจะไม่เคยรับรู้ว่ามีอยู่ เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับผู้หญิงที่ได้รับการสั่งสอนมาให้กดเก็บอารมณ์ต่างๆ เอาไว้

The Piano ดนตรีแห่งชีวิต ผู้เขียนคือเจน แคมเปียน และเคท พูลลิงเกอร์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์คุณพ่อในปี 2537 ราคา 140 บาท ความยาว 199 หน้า

The Gangs of New York หรือตำนานนักเลงนิวยอร์ก เป็นเรื่องราวจริงที่เข้มข้นในโลกใต้ดินของนิวยอร์กที่ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อันยิ่งใหญ่ของมาร์ติน สกอร์เซซี ได้รับการยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในเมืองใหม่ของโลก

สำนักพิมพ์แสงดาว-สร้อยทอง จัดพิมพ์ในปี 2532 ราคา 150 บาท ความยาว 200 หน้า อาจจะเป็นงานแปลที่ดูเหมือนจะไม่ใช่แนวทางที่ผู้แปลจะเลือกแปลนัก แต่กิติมา อมรทัต ก็แปลได้อย่างเข้าถึง

 

กิติมา อมรทัต

กับงานแปลชุดวรรณกรรมเยาวชน

ความทรงจำมหัศจรรย์

กิติมา อมรทัต แปลจากงานเขียนของหลุยส์ ลอรี่ The Giver โดยมอบหนังสือนี้ให้ผมด้วยการเขียนสั้นๆ ว่า ให้มะห์ นิง ไว้อ่านโดยลงท้ายว่า อ.กาติมิ (คำผวนของกิติมา) เป็นอารมณ์ขันของกิติมา อมรทัต ซึ่งนานๆ จะนำมาใช้สักที ลงวันที่ 15 กันยายน 2540

จัดพิมพ์โดยบริษัท โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิชย์ จำกัด ปี 2540 ตีพิมพ์ 5,000 เล่ม ความยาว 200 หน้า ราคา 90 บาท

เป็นหนังสือวรรณกรรมแปลชุดสร้างสรรค์เยาวชนของสำนักพิมพ์

แผนกหนังสือเยาวชนของสำนักพิมพ์ได้กล่าวถึงเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่า โลกของโจนาสเป็นโลกที่มีความสมบูรณ์เพียบพร้อม ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุม ไม่มีสงคราม หรือความรุนแรงหรือบาดแผล ไม่มีทางเลือก ทุกคนได้รับมอบหมายหน้าที่ตามกฎของชุมชน

เมื่อโจนาสมีอายุ 12 ปี เขาได้รับมอบหมายเพียงผู้เดียว ให้ได้รับการฝึกฝนจากผู้สืบทอดความทรงจำ บันทึกเกี่ยวกับความเจ็บปวด และความน่ายินดีของชีวิตไว้แต่เพียงผู้เดียว และเวลานี้เวลาของโจนาสที่จะได้รับรู้ความจริง เขาจะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนี้ได้หรือไม่ แล้วชีวิตของเขาจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าค้นหายิ่งนัก

 

พลัดบ้าน

กิติมา อมรทัต แปลจาก A Long Way from Home ของ Maureen Crane Wartshi เป็นหนังสือแปลสาขาวัฒนธรรมอันดับที่ 78 ของกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ ที่จัดพิมพ์ 11,500 เล่ม ในปี 2534 ความยาว 207 หน้า เป็นหนังสือส่งเสริมการอ่านระดับมัธยมศึกษา

จำเริญ เสกธีระ อธิบดีกรมวิชาการในเวลานั้นกล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่า ทุกคนย่อมต้องการเลือกวิถีชีวิตที่ดีที่สุด แต่เมื่อเป็นไปไม่ได้ และยังโชคร้ายเมื่อต้องตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด จึงยากที่จะเลือกวิถีชีวิตที่ปรารถนา

เด็กหนุ่มชาวเวียดนามผู้หนึ่งพร้อมด้วยครอบครัวจึงต้องแสวงหาชีวิตใหม่ในต่างแดน เขารอนแรมอยู่กลางทะเลวันแล้ววันเล่า โดยไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีชีวิตรอดต่อไปหรือไม่ ในที่สุดมนุษยธรรมในอีกซีกโลกหนึ่งได้ยื่นความเมตตาให้แก่เขา ให้ไปพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา

แต่ความเป็นคนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษาและวัฒนธรรม เขาจึงถูกรังเกียจเดียดฉันท์ จนต้องต่อสู้กับอุปสรรคเหล่านี้

เด็กหนุ่มผู้นี้ยึดถือคำสั่งสอนของผู้ใหญ่เป็นเครื่องเตือนใจและเป็นเสมือนเกราะกำบังเอาชนะอุปสรรคนานาชนิดได้ จนทำให้เขาและเพื่อนพ้องประสบสันติสุขในชีวิต ณ ต่างแดน

กรมวิชาการเห็นว่าหนังสือเรื่องพลัดบ้าน เป็นนวนิยายชีวิตที่ให้แง่คิดที่ดีเชิงมนุษยธรรม และอิงประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้านจึงเหมาะที่จะใช้เป็นหนังสือส่งเสริมการอ่านสำหรับระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป จึงแต่งตั้งให้กิติมา อมรทัต เป็นผู้แปลจากฉบับภาษาอังกฤษชื่อ A Long Way from Home และนายประพัฒน์ แสงวณิช เป็นผู้ตรวจ

 

แบมบีผจญโลก

วรรณกรรมชิ้นเอกแห่งศตวรรษเล่มนี้ กิติมา อมรทัต แปลจาก Bambi ของฟิสิก ซัลเทน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ธรรมชาติ ในปี 2539 ราคา 110 บาท ความยาว 191 หน้า จอห์น กัลเวอร์ธี นักคิดนักเขียนคนสำคัญของโลกให้คำยกย่องหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่า แบมบีเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาจับใจอย่างยิ่ง

นี่พูดกันถึงความประณีตในการรับรู้อย่างเข้าอกเข้าใจและแก่นสารอันแท้จริง ซึ่งข้าพเจ้าไม่ค่อยจะได้พบเจอในเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ในหนังสือเรื่องอื่นใดที่จะสามารถยืนเทียบเคียงกับชีวิตกวางป่าในหนังสือเล่มนี้ได้

ฟิลิกซ์ ซันเทน เป็นกวี เขาสัมผัสกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งและเขารักสัตว์ ตามปกติข้าพเจ้าไม่ค่อยชอบวิธีเอาคำพูดมนุษย์ไปใส่ปากสัตว์ที่พูดไม่ได้ แต่จุดนี้เปรียบเสมือนชัยชนะของหนังสือเล่มนี้ เพราะท่านจะรู้สึกได้ถึงอารมณ์ที่แท้จริงของสัตว์ที่พูดออกมา มันชัดเจนและมองเห็นภาพได้กระจ่าง นับได้ว่าเป็นงานชิ้นเอกเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง

ข้าพเจ้าได้อ่านเรื่องนี้ตอนที่ยังเป็นใบแก้ตัวผิดครั้งแรกก่อนทำการเข้าหน้า (galley proof) ก่อนเดินทางข้ามช่องแคบจาก Paris ไป Calais เมื่ออ่านจบแผ่นหนึ่ง ข้าพเจ้าก็ส่งต่อให้ภรรยา ซึ่งอ่านแล้วส่งต่อให้หลานสะใภ้ ซึ่งอ่านต่อแล้วส่งให้หลานชาย

เราทั้งสี่อ่านกันอย่างหมกมุ่นไม่พูดไม่จากันถึงสามชั่วโมง ใครก็ตามที่เคยอ่านบทประพันธ์จากใบปรู๊ฟและมีประสบการณ์กับการข้ามช่องแคบ ย่อมตระหนักดีว่ามีหนังสือไม่กี่เล่มที่สามารถผ่านการทดสอบนี้ แบมบีเป็นหนึ่งในหนังสือเหล่านั้น และข้าพเจ้าขอแนะนำเป็นกรณีพิเศษแก่นักเลงหนังสือ

 

ชาร์ลีหนีบ้าน

เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่กิติมา อมรทัต แปลจากปลายปากกาของ Joan G.Robenson ในเรื่อง Charley มีการนำเสนอว่าเพราะผู้ใหญ่ชอบทำความเข้าใจตกหล่นเด็กๆ จึงขอประท้วง เมื่อความไร้เดียงสาออกเดินทาง ความบริสุทธิ์จึงต้องออกมาผจญภัย เป็นหนังสือเล่มเดียวที่กิติมา อมรทัต มอบให้ภรรยาของผมพร้อมกับถ้อยคำที่ว่าให้นิงและหลานๆ พร้อมชื่อและลายเซ็น

สำนักพิมพ์เจนเดอร์เพรสตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2538 ครั้งที่สองในปี 2537 ต่อมาสำนักพิมพ์มติชนตีพิมพ์อีกครั้งในปี 2545 ราคา 140 บาท ความยาว 237 หน้า กิติมา อมรทัต ได้กล่าวถึงโลกของเด็กในหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่า “หนีบ้าน” เป็นการประท้วงขั้นเด็ดขาด และเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่หัวใจดวงน้อยๆ ของเด็กๆ จะคิดทำ

เพราะการที่เด็กจะตัดสินใจหนีจากบ้านที่แสนจะสะดวกสบาย ละทิ้งที่นอนอุ่นๆ อาหารอร่อยๆ เสื้อผ้าสะอาดสวยงาม ยินยอมออกไปเผชิญกับความยากลำบากภายนอก ทั้งความหิวโหย เหน็บหนาว ตรากตรำ ขัดสนสารพัด ย่อมต้องมีเหตุที่มา

และเป็นสาเหตุที่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อย่างแน่นอน แม้ว่าบางครั้งผู้ใหญ่จะมองเห็นเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยกระจิริด แต่ทำไมมันช่างใหญ่โตและคับแค้นสำหรับหัวใจดวงน้อยๆ นั้นยิ่ง

ทำไมเรื่องบางเรื่องที่ดูเป็นเหตุเป็นผลและดีเลิศที่สุดสำหรับผู้ใหญ่ แต่กลับเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลสิ้นดีสำหรับเด็ก

ก็เพราะบางทีผู้ใหญ่ชอบลืมไปว่าครั้งหนึ่งตัวเองก็เคยเป็นเด็กมาก่อน จำไม่ได้ว่าเด็กๆ นั้นช่างเต็มไปด้วยจินตนาการกว้างไกลเพียงใด จึงลืมตัวมาบีบบังคับให้เด็กต้องเดินไปตามกรอบที่ตัวเองวางไว้อย่างไร้เหตุผล

“หนีบ้าน” จึงเป็นคำตอบสุดท้าย

ลองหวนนึกถึงเมื่อครั้งเราเป็นเด็กอีกครั้ง เราต่างก็เคยคิดจะหนีออกจากบ้านเหมือนกัน เมื่อรู้สึกว่าใครๆ ก็ไม่รัก โกรธจนน้ำตาคลอ ไม่เห็นมีใครเข้าใจเลย ต้องทำแบบนี้แหละทุกคนจึงจะได้เข้าใจ ถึงจะรู้สึก เคยคิดเป็น “ชาร์ลีหนีบ้าน” กันทั้งนั้น

ขณะที่เราได้อ่านเรื่องราวการผจญภัยนอกบ้านที่สนุกสนานของชาร์ลี อาจจะมีเด็กเล็กๆ อีกมากมายกำลังคิดจะ “หนีบ้าน” หนึ่งในนั้นอาจเป็นเด็กในบ้านของเราก็ได้ และอาจจะไม่โชคดีได้กลับบ้านอย่างปลอดภัยเช่นเดียวกับชาร์ลี

ชาร์ลีหนีบ้าน อาจจะทำให้ผู้ใหญ่จำได้ว่าครั้งหนึ่งก็เคยเป็นเด็ก และเข้าใจว่าเด็กต้องการอะไรบ้าง

ในที่สุดก็จะไม่มีเด็กคนไหนหนีบ้านอีกต่อไป