ข่ามุ / ล้านนาคำเมือง

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ข่ามุ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า ข่ามุ

ข่า เป็นชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขาที่มิใช่ได้รับอิทธิพลจากจีน แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 3 กลุ่ม คือ ข่ามุ ข่าเมต และข่าฮอก หากเป็นกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากจีนแล้วเรียกว่า แข่

ข่ามุ เป็นชาวเขาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในลาวตอนเหนือ เช่น เมืองไทร น้ำเกิด น้ำแบง น้ำทา น้ำลา น้ำกวาง น้ำยาว ฯลฯ

ส่วนที่เข้ามาประเทศไทย เพราะมารับจ้างทำงานตามโรงบ่มใบยาสูบ โรงสี หรือแรงงานในการทำป่าไม้ โดยไม่ได้มีค่าจ้างเป็นเงิน เพียงแต่ให้อาหารรับประทานเท่านั้น

มักตั้งบ้านเรือนอยู่บนเนินสูงและอยู่ริมน้ำเพื่อใช้สำหรับอาบ

 

ข่ามุมีอุปนิสัยรักสงบ อดทนต่องานหนัก กินอยู่ง่าย อาหารการกินเป็นเนื้อสัตว์และผัก โดยสัตว์ที่เป็นอาหารมีทั้งหมู และไก่ นอกจากนี้ มีสัตว์อื่นๆ เช่น เขียด งู หนู ตุ๊กแก กิ้งก่า ผักชนิดใดที่หมูกินได้ ข่ามุก็กินได้เหมือนกัน

ข่ามุชอบเคี้ยวหมาก คนไหนมีฟันสีดำคนนั้นสวยงาม อมเมี่ยงสูบบุหรี่ทุกคนทั้งลูกเล็กเด็กแดง สุราต้มกินกันทุกบ้าน

นิสัยตามธรรมชาติคือชอบล่าสัตว์หาอาหารตามป่าตามไร่สวน ไม่ทำนา ปลูกข้าวไร่ หลังจากเก็บเกี่ยวก็ปลูกพริก ฝ้าย บางแห่งปลูกข้าวโพด ยาสูบ เลี้ยงสัตว์

ถ้าว่างก็ทำการจักสาน เช่น กล่องข้าว กล่องบุหรี่ หรือเสื่อปูนอน

ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่ทำอาหาร ตั้งแต่ตำข้าว เกี่ยวหญ้าคา เลี้ยงลูก ปั่นฝ้ายทำเครื่องนุ่งห่มและตักน้ำ ทั้งตัดฟืน ทำสวนครัว เลี้ยงไก่ ให้อาหารสัตว์

ประเพณีของข่ามุ ผัวถือว่าเมียเหมือนคนใช้ ไม่มีการปรานีหรือหยอกล้อกันเล่น หน้าที่ของเมียไม่มีการทำแทนหรือช่วยเหลือ ถึงแม้เจ็บป่วยก็ต้องทำ

บางครอบครัวเมียรับประทานอาหารทีหลัง ผู้ชายไม่เลี้ยงลูก ผู้หญิงต้องเอาลูกผูกติดหลังขณะทำงาน

การนุ่งห่ม ผู้ชายสวมเสื้อผ้าสีน้ำห้อมหรือสีคราม แขนสั้นแค่บ่า ตัวยาวปิดก้น ผ่าปลายเสื้อเท่ามือ มีกระเป๋าที่อกสองข้าง นุ่งกางเกงคล้ายจีน แต่เย็บที่ก้นหย่อนยานคล้ายถุง เกล้าผมไว้กลางศีรษะคล้ายแขกซิกข์ มีกำไลเงินที่แขนทั้งสองข้างและคอ สักตามตัว ทั้งแขนและขาใช้ผ้าแดงหรือผ้าขาวพันรอบศีรษะคล้ายชาวลื้อหรือไต เจาะหูสองข้างเสียบดอกไม้แดงที่เจาะนั้น

ผู้หญิงสวมเสื้อแขนยาวรัดข้อมือ ปล่อยชายแค่บั้นเอว ผ่ากลางอกมีกระดุม สีน้ำห้อมหรือน้ำเงิน ไม่มีลวดลาย นุ่งซิ่นแบบชาวหลวงพระบาง มีขีดแดงและขีดเขียว หรือน้ำห้อม สวมกำไลข้อมือและข้อเท้า ใส่ห่วงคอ เจาะหู ใช้ดอกไม้หรือใบลานม้วนกลมๆ สอด

ชาวข่ามุไม่ชอบค้าขาย ชอบทำไร่หรือเป็นลูกจ้างเท่านั้น

 

ข่ามุทีเขั้ามารับฯฯจ้างฯในชยฯงใหมฯ่ ข่ามุที่เข้ามารับจ้างในเชียงใหม่

ข่ามุมีความคิดว่า ข่าเมตและข่าฮอกเป็นพวกชั้นต่ำ ข่ามุนับถือผี เจ็บป่วยก็บนบาน มีความเชื่อว่า เมื่อคนเราตายไปแล้ว ขวัญจะออกจากร่างไปเกิดใหม่อยู่กับญาติพี่น้องในเมืองแถน ซึ่งอยู่บนฟ้า

ภายหลังสิ้นใจญาติพี่น้องจะอาบน้ำศพ แต่งตัวให้ใหม่ แล้วนำไปนอนวางขวางไว้ที่ตรงขื่อกลางเรือน เอาผ้าขาวมาคลุมศพตั้งแต่หัวจรดเท้า นำเสื้อผ้าสิ่งของเครื่องใช้ เงิน เครื่องประดับ เหล้า น้ำและอาหาร มาวางไว้ข้างศพให้ครบ เพื่อให้ผู้ตายเลือกนำติดตัวไปใช้ในเมืองแถน ถ้าวางไม่ครบเชื่อว่าจะทำให้คนในบ้านเจ็บป่วย นำมีดมาเสียบทะลุฟากลงด้านล่างที่ด้านหัวและเท้าของศพ ข้างละ 1 เล่ม แล้วจุดเทียนไว้ที่ปลายมีดเพื่อส่องทางให้ผู้ตายไปเกิดยังเมืองแถน นำน้ำเต้ามาเขียนเป็นรูปหน้าคนแขวนไว้ใต้ถุนเรือนเพื่อไม่ให้ผีอื่นมารบกวน

ชาวข่ามุมีคติสอนใจว่า “มีข้าวแล้วจะมีทุกอย่าง ถ้าอดข้าวจะอดทุกอย่าง” จึงนิยมสร้างยุ้งข้าวแยกจากตัวเรือน อาชีพหลักคือทำไร่ ก่อนลงมือถางป่าทำไร่ต้องบอกกล่าวผีเรือน ผีอารักษ์ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตมีการเลี้ยงผีไร่ และผีบ้านโดยมีผู้ประกอบพิธีกรรม เรียกว่าหมอจ้ำผี หรือหมอกวานผี

 

ข่ามุในประเทศลาว แบ่งเป็น 2 สาขา คือ ขมุเจือง และขมุร็อก ซึ่งแตกต่างทางด้านภาษาพูดและการประกอบพิธีกรรมตามจารีตประเพณี ขมุเจือง อาศัยอยู่ซีกตะวันออกทางภาคเหนือของลาว เช่น แขวงพงสาลี หัวพัน เชียงขวาง หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และบอลิคำไซ ส่วนขมุร็อก อยู่ทางซีกตะวันตกของภาคเหนือ เช่น แขวงอุดมไซ หลวงน้ำทา บ่อแก้ว ไชยะบุรี บางส่วนของแขวงพงสาลี และหลวงพระบาง

ส่วนในประเทศไทยจะพบได้ตามโรงงานบ่มใบยาสูบเวอร์จิเนีย โรงสีไฟ โรงเลื่อย บ้านชาวสวน ร้านขายอาหาร ฯลฯ แทบทุกแห่งในจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะที่อำเภอเชียงแสนและอำเภอเชียงของ มีขมุทำงานมากที่สุด โดยมากมาตั้งแต่อายุ 10 กว่าปี บางคนมีครอบครัวอยู่ในจังหวัดเชียงราย ลำปาง มีลูกมีหลานกลายเป็นคนเมืองล้านนาทั่วไป

วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชาวข่ามุ จึงผสมกลมกลืนกลายเป็นวัฒนธรรมประเพณีชาวล้านนาไปในที่สุด •