‘ธรรม-นครา’ จากความ ‘เป็นอื่น’ ถึง ‘พระตะบอง’/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

‘ธรรม-นครา’

จากความ ‘เป็นอื่น’ ถึง ‘พระตะบอง’

 

รู้สึกเช่นนั้น พระตะบองเมืองเขมรที่เติบโตมาในจินตนาการของการรับรู้เชิงประวัติศาสตร์ ทว่า เมื่อได้พบสัมผัสและผ่านไปในกาลเวลานั้น พระตะบองปัจจุบัน…ที่เห็นและเป็นอยู่…

ตอนนี้ ฉันเริ่มเข้าใจความรู้สึกที่อยู่ในความหมายของพระตะบอง-คันฉ่องส่องสัจธรรมกัมพูชาบนความเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมา สำหรับเมืองที่มีต้นแบบแห่งความเป็น “ธรรม-นครา”

และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ฉันตระหนักว่า ทำไมพระตะบองเมืองเก่า จึงไม่หวนกลับมา

ต่อความรู้สึกต่อทิศทางของพระตะบองทั้งในยุคประวัติศาสตร์และปัจจุบันที่ฉันเฝ้าแต่ภาวนา ในความรุ่งเรืองของอาณาจักรเล็กแห่งภาคตะวันตกกัมพูชา พระตะบอง/บัตตัมบอง ยังคงธำรงตัวเองไว้ภายใต้กฎการเปลี่ยนแปลงทำลายมากมายที่ผ่านมา

บางทีเราหรือใคร ที่มีส่วนทำลายต่อเมืองนี้? พระตะบองที่ได้ชื่อว่าผลิตข้าวเลี้ยงพลเมืองค่อนโลกเมื่อครึ่งศตวรรษที่เพิ่งผ่านไปไม่นานนี้ เช่นเดียวกันเป็น “สุสาน” แห่งความตายนับล้านศพในสมัยเขมรแดงและเป็นเหมือน “คุกไร้กำแพง” แห่งเมืองนี้

ทว่า หลังจากนั้นมา พระตะบองแทบจะไม่ฟื้นคืนความเป็นเมืองที่เคยยิ่งใหญ่แห่งกัมพูชาอีกเลย แม้แต่ขนาดของเมืองและพื้นที่ที่ลดลงรวมทั้งจำนวนพลเมือง

พระตะบองปัจจุบันที่เต็มไปด้วยอดีตประวัติศาสตร์และวิบากกรรมในแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่การถูกตีตราคณะสงฆ์สยาม รวมทั้งการดึงพุทธมหายานฝ่ายอันนัมมาตั้งสำนักอาราม ศักยภาพของพระตะบองได้ถูกตีตรวนการปกครองที่ขึ้นอยู่กับรัฐอำนาจของฝ่ายใด

หลายทศวรรษผ่านไป โดยไม่ทันตั้งข้อสังเกตนี้ ฉันกลับพบว่าพระตะบองกลายเป็นเมืองแห่งศาสนาของกัมพูชาไป โดยแม้แต่ฝรั่งเศสเองก็ยังบรรจงสร้างพระวิหารคาทอลิกแบบโกธิกยุคกลางที่งดงามจับใจ

แต่หลังจากอินโดจีนสิ้นไป พระตะบองในระบอบสีหนุราช ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองเอกรองจากพนมเปญด้วยขนาดของพื้นที่ ประชากร และเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลต่อกัมพูชา พระตะบองขณะนั้นถูกด้อยค่าจากการรีดเร้นภาษีเพื่อไปสร้างเมืองใหม่ตากอากาศ สีหนุวิลล์ เรียม โบกอร์ กำโปด

ยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบนี้ ทำให้พระตะบองเหมือนถูกสะกดไว้มิให้เติบโตเช่นอดีตกาลที่ปกครองยากและเต็มไปด้วยอิสรชนจอมกบฏต่อระบอบปกครองส่วนกลาง

น่าเสียดายที่มันถูกทำลายในปีแห่งคอมมิวนิสต์เขมรแดง จุดเริ่มแรกของการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างแห่งเมืองพระตะบอง

ความเป็นพระตะบองที่ครั้งหนึ่งเคยเต็มไปด้วยวิทูแขนงต่างๆ ที่เกิด ตั้งรกรากและพำนักในเมืองนี้ ตั้งแต่ผู้นำศาสนา อิสรชน นักการเมือง นักประพันธ์ ศิลปินนักดนตรีแถวหน้าของยุคสร้างอิสรภาพและประเทศกัมพูชาและนั่นหรือไม่ที่ทำให้ผู้นำเขมรบางฝ่ายหวาดระแวงเมืองนี้

ความเป็นอาณาจักรน้อยที่มีลักษณะประวัติศาสตร์เฉพาะตนนั่นเองที่ทำให้พระตะบองถูกมองข้ามมาจนบัดนี้ แต่แม้จะถูกทำให้เป็นอื่นเสมอมาตั้งแต่สีหนุราชจนถึงสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่อาจสลักหลุดพระตะบองแม้จนถึงวันนี้ คือความเป็นเมืองศูนย์กลางศาสนา

ราวกับไม่ลืมว่า พระตะบองเคยเต็มไปด้วยโบสถ์พัทธสีมาอารามพุทธจำนวนมากตั้งแต่ก่อนมาจนถึงเจ้านายเขมรและสยาม เผยให้เห็นว่าพระตะบองเป็นเมืองพุทธและเป็นศูนย์กลางศาสนาของกัมพูชามาแต่แรก

น่าแปลก กระนั้น พระตะบองกลับไม่หลงเหลืออนุสรณ์ความทรงจำตั้งแต่กัมพูชาได้รับเอกราชกว่าครึ่งศตวรรษ หรือกว่าร้อยปีในยุคอินโดจีน แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับ 20 ปีหลังสหัสวรรษ ที่พระตะบองถูกลดขนาดพื้นที่และเขตปกครองราวกับถูกหวาดระแวง ทำให้ภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบันของพระตะบองมีสภาพเป็นรองเมืองภาคตะวันออกและใต้อีกครั้งแต่เป็นยุคของสมด็จฮุน เซน

และทุกสิ่งทุกอย่างของพระตะบอง คือที่เห็นและเป็นอยู่ คือตกอยู่ภายใต้ความหลงลืมของรัฐอำนาจที่จะพัฒนาพระตะบองไปสู่ความเป็นเมืองเล่นแร่แปรอำนาจทันสมัย

กระนั้นการมาถึงของลัทธิบาไฮในปีสหัสวรรษก็ทำให้เกิดมุมภาพต่างอันจับใจ

จากใจกลางเมืองราว 20 กิโลเมตร เราได้พบกับสถาปัตยกรรมใหม่ของพระตะบองที่นั่นโดยสานุศิษย์บาไฮ พลันการก่อสร้างพระวิหารอันวิจิตรก็ถือกำเนิดขึ้นที่นี่ หลากปีดีดักแล้วที่กัมพูชาร้างไร้วิหารหรืออาคารอันงดงามนับแต่สมัยอินโดจีนแต่ก็ถูกทำลายไป

การเกิดขึ้นของพระวิหารบาไฮจึงนับเป็นความปลาบปลื้มใจสำหรับใครก็ตามที่ได้เห็นสถาปัตยกรรมสหัสวรรษใหม่ของกัมพูชา ที่ออกแบบและร่วมสร้างโดยสถาปนิกเขมรคนหนึ่ง หลังจากที่วัณณ์ โมลีวัณณ์ (1960-1970) ได้สร้างตำนานสถาปัตยกรรมอันเป็นอัตลักษณ์ในแบบตนมายาวนาน

กัมพูชาไม่ได้ชื่นชมงานเฉกนี้หลายปีแล้ว แม้ว่าพระวิหารบาไฮจะตอบสนองความเชื่อในชนส่วนต่างอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับพุทธในกัมพูชา ทว่า พระวิหารบาไฮก็เป็นความภาคภูมิใจในภูมิสถาปัตยกรรมงดงามที่ห่างหายจากกัมพูชาเนิ่นนาน

การมาถึงของวิหารบาไฮบนเนื้อที่กว้างใหญ่ของชานเมืองพระตะบองปีนั้น ยังค้ำชูเชิงประจักษ์ถึงอัตลักษณ์อันโดดเด่นของเมืองนี้อีกครา มันยังปลุกพระตะบองให้ทรนงในความเป็นเมืองที่มีอารยธรรมเก่าแก่ ทั้งศาสนา อาคาร สถาปัตยกรรมที่ได้รับการปกป้องอนุรักษ์อันต่างจากเมืองทั่วไปเว้นแต่เสียมเรียบของกัมพูชา

โบสถ์ วิหาร การเปรียญ ช่อฟ้าหน้าเสถียรของพุทธเถรวาท น่าเสียดายวัดอารามนิกายอันนัมและโบสถ์คาทอลิกที่สูญเสียไปในอดีตนั้น ยังคงถูกจดจำว่า พระตะบองแห่งนี้ คือศูนย์รวมวัฒนธรรมทางศาสนาที่โดดเด่น แม้แต่โพธิสัตว์จังหวัดหนึ่งของกัมพูชา ก็ยังไม่พบอัตลักษณ์ที่ว่า

แต่นั่น ก็เพราะพระตะบองถูกลืมในเชิงพัฒนาความเป็นเมืองสมัยใหม่จากรัฐบาลตลอดยุคที่ผ่านมา

การมาถึงของผู้ก่อตั้งสำนักวิปัสสนาโกเอ็นก้าสัตยา นารยัน โกเอ็นก้า (Satya Narayana Goenka) ที่มาเยือนกัมพูชาในปี 1998 และนั่น แม้สาธุชนจะรับข่าวสารเพียงน้อยนิด แต่สำหรับสานุศิษย์โกเอ็นก้าแล้วพวกเขาทราบดีว่านี่คืออาศรมแห่งใหม่ในกัมพูชา

6 ปีต่อมา “กงล้อแห่งธรรม” (Rod of Dhamma) หรือ “ธรรมะลัทธิกา” ในภาษาเขมรก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในพระตะบองและเป็นสำนักโกเอ็นก้าสาขาแรกของกัมพูชาที่ตำบลเขาอกไก่ (พนมตรุงมอน) ห่างจากตัวเมืองไปราว 18 กิโลเมตร (2004)

นัยทีนั้น การตั้งชื่อ “ธรรมะลัทธิกา” ยังคงวนเวียนไปมาระหว่างอีกชื่อหนึ่งคือ “ธรรมะกัมพูชา” (Dhamma Kamboja) พระตะบองควรจะได้ใช้ชื่อนี้ กระนั้นก็ไม่มีอะไรสูญเสียเลยเมื่อ “กงล้อแห่งธรรม” ปักหลักลงแล้วที่นี่ ด้วยเหตุนี้ โกเอ็นก้าที่ 2 กำปงจามในปี 2005 จึงได้ชื่อว่า “ธรรมะกัมพูชา”

และสมกับเป็นบ้านเกิดเมืองของผู้นำประเทศ ขณะที่มีออกญาพี่ชาย-ฮุน เนงเป็นพ่อเมือง/จวายเขตนั้น ทำให้ “ธรรมะกัมพูชา” (ฉบับโกเอ็นก้า) ตกเป็นสมบัตินามธรรมของจังหวัดกำปงจาม อย่างนัยที “ธรรมะลัทธิกา” ที่ได้ชื่อว่าเป็นอารามแห่งแรกและดั้งเดิม (ในสไตล์เมียนมา อินเดีย ศรีลังการวมกัน)

จากช่องมองตรงนี้ โอ ช่างมีความ “เป็นอื่น” แห่งการถูกรุมทึ้งแย่งชิงพื้นที่ครั้งแล้วครั้งเล่า ประหนึ่งอนาคามี-ผู้สิ้นแล้วจากการถูกกระทำอย่างซ้ำซากในสังวาสและกามโยค และเช่นนั้น ตลอดร่วม 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พระตะบองจึงเสื่อมถอยช้าๆ จากการถูกกระทำใดๆ ทั้งกาลเวลาและอนุสัย

ในตอนหนึ่ง เมื่อนึกถึงโศกนาฏกรรมใดๆ เรามักจะนึกเทไปถึงเฉพาะแต่ความเป็นมนุษย์และสัตว์เท่านั้น จนถึงศตวรรษที่ 21 เมื่อความ “เป็นอื่น” ได้เข้ามาปะปนในความเป็นมนุษย์มากๆ นั้น ฉันก็พบว่า ความเป็น “เมือง” ด้วยเช่นกันที่ตกเป็นเหยื่อการถูกกระทำ!

และนั่นคือหลายเมืองในเขมร “ที่เห็นและเป็นอยู่” แห่งความเป็นเมืองที่สัมผัสได้ ในวิถีแห่งการถูกกระทำอย่างซ้ำซากและชวนให้สลดใจไม่ว่าจะเป็นสีหนุวิลล์ พนมเปญใหม่ กันดาล เกาะกง กำโปด รัตนคีรี ฯ

เหมือนอาศรมแห่งความฝันที่ยังไม่ถูกทำลาย! Long Live! “ปริสถาน” ขอสิ่งแวดล้อมพระตะบองจงยืนยงยาวนาน