22 ปี การลอบสังหารนายทักษิณ ชินวัตร จากปฏิปักษ์ทางการเมือง | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง
(Photo by EMMANUEL DUNAND / AFP)

“ความทะเยอทะยานของทักษิณทั้งในเรื่องการเมืองและการทำธุรกิจเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้กลุ่มต่างๆ ที่ปกติเคยแยกกันอยู่ หันมาร่วมมือกันต่อต้านเขา…”
(คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2559, 372)

 

ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า-ใหม่ และกลุ่มอื่นๆ ที่เกิดภายหลังการปฏิวัติ 2475 ปรากฏในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การใช้วิธีการทางกฎหมาย วิธีนอกกฎหมาย เช่น การรัฐประหาร การก่อกบฏและการลอบสังหารผู้นำทางการเมืองหลายคนหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับแต่ความพยายามลอบสังหารพระยาพหลพลพยุหเสนา (2476) จอมพล ป.พิบูลสงคราม (2476-2481) พล.อ.เปรม ติณลูลานนท์ (2525) และนายทักษิณ ชินวัตร (2544,2549) เท่าที่มีการจดบันทึกและเล่าไว้เป็นหลักฐาน

การก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร จากการเลือกตั้งทั่วไป (2544) ที่ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 248 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง ได้กลายเป็นเสมือนแม่เหล็กอันมหึมาในการดูดกลุ่มชนชั้นนำ ทั้งกลุ่มรอยัลลิสต์ กลุ่มทหาร กลุ่มนักวิชาการสายปฏิรูปและชนชั้นกลางที่ตื่นตระหนกถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองที่ประหนึ่งพวกเขาควบคุมคุ้นเคยมาอย่างยาวนานนั้นกำลังล่มสลายลง

ความตื่นกลัวเหล่านั้น ต่อมาพัฒนาไปเป็นแรงต่อต้านรัฐบาลทักษิณและกลายเป็นการต่อต้านประชาธิปไตยไปในที่สุด

ชัยชนะของพรรคไทยรักไทยที่กวาดที่นั่งอย่างมากมายทำให้พรรคการเมืองเก่าแก่กลายเป็นพรรคการเมืองระดับรอง เหล่ากลุ่มการเมืองต่างที่เคยถูกแบ่งสรรอำนาจและผลประโยชน์เริ่มรู้สึกว่า ความคุ้นชินในอำนาจและประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ที่เคยแบ่งกันอย่างลงตัวกำลังถูกคุกคามอย่างฉับพลัน

ดังนั้น เหตุที่นายทักษิณพร้อมกับกระแสความนิยมอย่างไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทยทำให้เขาตกเป็นเป้าหมายการทำลายล้าง

เขาเล่าในเวลาต่อมาว่า เขารอดจากถูกลอบสังหารหลายครั้ง เช่น การวางระเบิดเครื่องบิน การวางระเบิดด้วยคาร์บอม ซึ่งกลายเป็นข่าวครึกโครมในครั้งนั้น

สภาพโบอิ้ง 737-400 ที่ระเบิด เครดิตภาพ ไทยรัฐออนไลน์

ลอบสังหารครั้งแรกเมื่อ 2544
การวางระเบิดเครื่องบินโบอิ้ง

เพียง 1 เดือนหลังจากนายทักษิณก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2544 เกิดเหตุระเบิดเครื่องบินการบินไทย โบอิ้ง 737-400 ของคณะของเขาที่กำลังจะเดินทางไปเชียงใหม่ ก่อนเวลาออกเดินทางเพียงเล็กน้อย ทำให้เครื่องบินถูกไฟไหม้เสียหายทั้งลำ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น เขาให้สัมภาษณ์ว่า สาเหตุของเครื่องบินระเบิดน่าจะมาจากวัตถุระเบิดที่มีผู้นำมาติดไว้ที่ใต้ท้องเครื่องบิน บริเวณที่นั่งวีไอพี

เขากล่าวว่า “เป็นการปองร้าย ไม่ใช่การก่อการร้าย ไม่ทราบว่าปองร้ายใคร ส่วนคนที่ทำนั้นสิ้นคิด ไม่ต้องทำกับนายกรัฐมนตรี ทำกับใคร ประเทศชาติก็เสียหาย”

สำหรับรายงานการสอบสวนกรณีนี้ คณะสืบสวนสรุปสาเหตุไม่ตรงกัน

กล่าวคือ คณะกรรมการชุด พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ สรุปว่า เป็นการวางระเบิด

ขณะที่สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษากรณีเครื่องการบินไทยระเบิดควบคู่ไปด้วย โดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.อ่างทอง ประธาน กมธ. สรุปว่ามีแนวโน้มว่าจะเป็นอุบัติเหตุ

ส่วนด้านผลสรุปการสอบสวนของคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NTSB) ระบุสาเหตุจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการเปิดแอร์ระหว่างเติมน้ำมัน (ไทยรัฐออนไลน์, 7 ก.พ. 2562)

อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นการลอบสังหาร และมีสจ๊วตเสียชีวิตหนึ่งคนด้วย เนื่องจากมีซองเอกสารที่มีทริกเกอร์ระเบิดวางที่เก้าอี้ที่นั่งของนายกรัฐมนตรี สจ๊วตไม่รู้ ไปหยิบมาจึงเสียชีวิต (matichon.co.th วันที่ 31 สิงหาคม 2564)

ต่อมาในช่วง 2546 มีข่าวว่า กลุ่มว้าแดง ตั้งค่าหัวเขาจำนวน 80 ล้านบาท เนื่องจากไม่พอใจนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาล ที่ทำให้สูญเสียผลประโยชน์จำนวนมาก ทำให้เขาต้องเปลี่ยนรถประจำตำแหน่งเป็นรถตู้หุ้มเกราะ และสั่งเพิ่มทีมรักษาความปลอดภัย ต้องนั่งรถกันกระสุน เพิ่มชุดคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม ยิ่งผ่านไปนานเข้า ประชาชนในชนบทยิ่งชื่นชอบทักษิณ แต่ทางกลับกันชนชั้นนำในกรุงเทพฯ และตามเมืองใหญ่ๆ กลับนิยมเขาน้อยลง (คริสและผาสุก, 367)

และเมื่อเกิดการเลือกตั้งในปี 2548 พรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกตั้งถล่มทลาย ได้รับการเลือกตั้ง ส.ส.ถึง 377 คน หรือร้อยละ 67 ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนั้นทำให้เขาต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มรอยัลลิสต์และชนชั้นนำต่างๆ ที่รวมตัวต่อต้านเขาอย่างเข้มข้น

 

ลอบสังหารครั้งที่ 2
เมื่อ 2549 ด้วยคาร์บอม

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2549 ตำรวจจับกุม ร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะ ทหารสังกัด กอ.รมน. ขับรถเก๋งยี่ห้อแดวู ภายในรถบรรทุกระเบิดไปจอดรออยู่บริเวณสี่แยกบางพลัด ใกล้บ้านพักจรัญสนิทวงศ์ 69 พบระเบิดทีเอ็นทีและซีโฟร์ในกระโปรงท้าย รัศมีทำลายล้างไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร ใกล้บ้านพักในซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 ของเขา อันเป็นเส้นทางผ่านของขบวนรถนายกฯ แต่ทีม รปภ.ตรวจพบเสียก่อน

จากการสรุปจากฝ่ายรัฐบาลว่า เป็นการมุ่งลอบสังหารนายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลานั้นเขากำลังอยู่ในช่วงถูกต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และราว 3 สัปดาห์หลังจากนั้น เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในที่สุด (ไทยรัฐออนไลน์,7 ก.พ. 2562)

ต่อมา เขาให้สัมภาษณ์ในรายการของ CARE คิด เคลื่อน ไทย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ไว้ว่า “ร.ท.ธวัชชัยเป็นคนขับ พอผมขับ ตำรวจหน้ารถ จำรถได้ ก็เรียกตำรวจหน้าบ้านผมมาจับ ก็เจอระเบิดซีโฟร์ และทีเอ็นทีเต็มท้ายรถ ที่ไม่ระเบิดก็มี 2 สาเหตุ 1.อาจจะต่อไม่ดีพอ กดแล้วไม่ระเบิด 2.ผมออกจากบ้านเร็ว เขาเลยไปกินอาหารอยู่ในตลาด แล้ววิ่งมาไม่ทัน และกลัวเวลากดระเบิดเนี่ย เป็นระเบิดเครื่องบินบังคับ แล้วไปหลบอยู่เสาเหล็ก การไปกดอยู่เสาเหล็ก ไม่ผ่าน ผมเลยไม่ตาย… และถ้าฆ่าไม่ตายจะปฏิวัติ”

นอกจากนี้ เขายังเล่าเสริมอีกว่า มีความพยายามลอบสังหารเขาอีกหลายครั้ง เช่น พยายามลอบยิงด้วยสไนเปอร์ที่ลำปางและที่ปราศรัย ณ สนามหลวง แต่ไม่สำเร็จ (matichon.co.th, 31 สิงหาคม 2564)

ภายหลังการรัฐประหาร 2549 แล้ว ในช่วงรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เขาได้เดินทางกลับบ้าน และกราบแผ่นดินเกิด ก่อนขออนุญาตศาลเดินทางออกนอกประเทศเพื่อชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน แล้วไม่กลับมาอีก มีข่าวจากคนรอบตัวเขาแจ้งว่า มีข่าวแผนประทุษร้ายนายทักษิณด้วยสไนเปอร์ (ไทยรัฐออนไลน์, 7 ก.พ. 2562)

คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร สรุปว่า การก้าวขึ้นมามีบทบาทและอำนาจทางการเมืองอย่างรวดเร็วของทักษิณเป็นประหนึ่งทำให้กลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มรอยัลลิสต์ กลุ่มทหาร ข้าราชการ กลุ่มนักวิชาการสายปฏิรูปและชนชั้นกลางหันมาร่วมมือกันเนื่องจากเล็งเห็นศัตรูร่วมกัน (คริสและผาสุก, 2559, 372)

กล่าวโดยสรุป การเมืองไทยภายหลังการปฏิวัติ 2475 มีตัวแสดงทางการเมืองมากขึ้นกว่าในระบอบเดิม มีทั้งกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มคณะราษฎร กลุ่มทหารก๊กต่างๆ กลุ่มนายทุนนักธุรกิจ กลุ่มอนุรักษนิยม กลุ่มคนชั้นกลางและกลุ่มอื่นๆ กลุ่มเหล่านี้ต่างมีผลประโยชน์ที่เหมือนและต่างกันตามยุคสมัย แต่จุดร่วมที่มีร่วมคล้ายคลึงกัน พวกเขาต้องการควบคุมสังคมไทยตามความต้องการของพวกตน ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาเสียประโยชน์ และหลายครั้งที่มีการเลือกใช้การลอบสังหารผู้นำทางการเมืองและการรัฐประหารเป็นหนทางเพื่อได้มาซึ่งความต้องการนั้น