คณะทหารหนุ่ม (2) | การล่มสลายของระบอบ “ถนอม-ประภาส”

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

จําลอง ศรีเมือง เกิด พ.ศ.2478 ที่จังหวัดธนบุรี บิดาเป็นข้าราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข พื้นฐานทางครอบครัวค่อนข้างยากจน เรียนประถมต้นที่โรงเรียนเทศบาลวัดสำเหร่ มัธยมต้นที่โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เข้าศึกษาโรงเรียนนายร้อย จปร. รุ่นที่ 7 เช่นเดียวกัน

จำลองเป็นนักเรียนนายร้อยที่เรียนดี มีความประพฤติดี และมีภาวะผู้นำสูงเป็นที่นับถือของเพื่อนร่วมรุ่น จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นหัวหน้านักเรียนนายร้อย

แต่ในระหว่างที่เป็นหัวหน้านักเรียนนี้เกิดความขัดแย้งกับนายทหารของโรงเรียนกรณีเรียกร้องให้โรงเรียนใช้รายได้ส่วนเกินจากค่าอาหารของนักเรียนให้เป็นประโยชน์

และเมื่อใกล้จบการศึกษา ในปี พ.ศ.2502 จำลองและเพื่อนๆ ร่วมรุ่นจัดฉายภาพยนตร์ขายบัตรเพื่อหารายได้มาจัดทำหนังสือรุ่นและซื้ออุปกรณ์ให้โรงเรียน ซึ่งขัดคำสั่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ห้ามจัดงานหารายได้

จำลองกับเพื่อนที่ร่วมจัดงานจึงถูกลงโทษ

จำลองถูกปลดจากตำแหน่งหัวหน้านักเรียนและต้องจบการศึกษาหลังเพื่อนร่วมรุ่นเป็นเวลา 3 เดือน จึงไม่ได้เข้าร่วมพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรและกระบี่จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จำลองเลือกรับราชการในเหล่าทหารสื่อสารทั้งๆ ที่ชอบเหล่าทหารราบ ด้วยเหตุผลว่าจะมีโอกาสได้รับทุนไปเรียนต่างประเทศมากกว่าเหล่าอื่น เข้าเรียนหลักสูตรระดับผู้บังคับหมวด เหล่าทหารสื่อสาร จบหลักสูตรสอบได้เป็นที่ 1 จึงได้รับสิทธิ์ไปเรียน 2 หลักสูตรด้านเทคนิคในสหรัฐอเมริกา

เมื่อจบการศึกษาได้อาสาสมัครไปราชการลับที่ราชอาณาจักรลาว ต่อด้วยราชการสงคราม ณ ประเทศสาธารณรัฐเวียดนามใต้

เข้าศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกใน พ.ศ.2512 จบการศึกษาด้วยการสอบได้ที่ 2 ใน พ.ศ.2515 ได้ทุนไปศึกษาขั้นปริญญาโททางการบริหารที่สถาบันเนวัล โพสต์ มอนเทอเรย์ สหรัฐอเมริกา

จบการศึกษาในปลายปี พ.ศ.2516 โดยเขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเคลื่อนไหวของกรรมกรในประเทศไทย”

แล้วเข้ารับราชการประจำกองแผนและโครงการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด

และอยู่ในหน่วยนี้ระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516

 

ชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล เกิด พ.ศ.2477 ที่จังหวัดราชบุรี ครอบครัวฐานะปานกลาง เป็นนักเรียนนายร้อย จปร.7 เช่นเดียวกัน สนิทกับมนูญ รูปขจร เมื่อจบการศึกษาเลือกรับราชการเหล่าทหารราบ เข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อ พ.ศ.2511

หลังจากนั้นได้อาสาสมัครไปราชการสงคราม ณ ประเทศสาธารณรัฐเวียดนามใต้ ได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถในการรบสูง

สมรสกับบุตรสาวคนหนึ่งของ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ

ขณะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับกองพันทหารราบ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

ชูพงศ์ มัทวพันธุ์ เกิด พ.ศ.2479 ที่จังหวัดลพบุรี ครอบครัวฐานะปานกลาง เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย จปร.7 เลือกรับราชการเหล่าทหารม้าจึงสนิทสนมกับมนูญ รูปขจร มากยิ่งขึ้น

เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกรุ่นเดียวกับชาญบูรณ์ เพ็ญตระกูล และมนูญ รูปขจร ใน พ.ศ.2511

หลังจากนั้นได้อาสาสมัครไปราชการสงคราม ณ ประเทศสาธารณรัฐเวียดนามใต้

ขณะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นรองผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์

ปรีดี รามสูตร เกิด พ.ศ.2477 ที่จังหวัดธนบุรี บิดาเป็นนายทหารยศร้อยโท ครอบครัวค่อนข้างยากจน เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย จปร.7 เลือกรับราชการเหล่าทหารราบ และเข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก พ.ศ.2510

หลังจากนั้นได้อาสาสมัครไปราชการสงคราม ณ ประเทศสาธารณรัฐเวียดนามใต้

ขณะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นนายทหารเสนาธิการประจำกรมกำลังพลทหารบก

แสงศักดิ์ มังคละศิริ เกิด พ.ศ.2479 ที่กรุงเทพฯ บิดาเป็นพลตรีสังกัดกรมแพทย์ทหารบก ครอบครัวฐานะปานกลาง เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อย จปร.7 ได้เลือกรับราชการเหล่าทหารช่าง เข้าโรงเรียนเสนาธิการทหารบก พ.ศ.2512

หลังจากนั้นได้อาสาสมัครไปราชการสงคราม ณ ประเทศสาธาณรัฐเวียดนามใต้

ขณะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เป็นรองผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 1 กรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์

นายทหารที่โดดเด่น

จากประวัติโดยย่อของนายทหารทั้ง 6 คน จะเห็นได้ว่าล้วนเป็นเพื่อนนักเรียนนายร้อย จปร.7 มีอายุอยู่ในวัยหนุ่ม คือระหว่าง 37 ถึง 39 ปี มีภาวะผู้นำสูง

ระหว่างเป็นนักเรียนนายร้อย จำลองเป็นหัวหน้านักเรียน ส่วนคนอื่นๆ ก็เป็นนักเรียนผู้บังคับบัญชา มีพื้นฐานทางสังคมจัดได้ว่าเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง เกิดในภาคกลาง ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

ทุกคนมีประสบการณ์ในการรบนอกประเทศ

เฉพาะจำลองและมนูญซึ่งเป็นผู้ประสานงานของกลุ่มได้รับการศึกษาทางทหารจากสหรัฐอเมริกา ทั้งสองมีความสนใจและตื่นตัวทางการเมือง

ทั้ง 6 คนมีความใกล้ชิดสนิทสนม มีความไว้วางใจซึ่งกันและกันสูง

นอกจากความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่นแล้วยังปรากฏว่ามีความสัมพันธ์แบบเพื่อนสนิทระหว่างแต่ละคนทั้ง 6 คนนี้ด้วย

กล่าวคือ ในสมัยเป็นนักเรียนนายร้อย จำลองสนิทสนมมากเป็นพิเศษกับปรีดีและแสงศักดิ์ มนูญสนิทสนมกับชาญบูรณ์ และต่อมาสนิทกับชูพงศ์เพราะอยู่เหล่าทหารม้าด้วยกัน

กล่าวโดยสรุป นายทหารทั้ง 6 คนนี้จัดได้ว่าเป็นนายทหารที่มีความชำนาญทางวิชาชีพทหารสูง ผู้ประสานงานของกลุ่มคือจำลองและมนูญ เป็นนายทหารที่เรียนเก่ง มีประสบการณ์ทางการรบ มีการศึกษาด้านเสนาธิการ มีบุคลิกภาพและภาวะผู้นำสูง ทั้งสองมาจากครอบครัวที่ยากจน เคยสัมผัสกับชีวิตที่เป็นวิถีชีวิตของคนชั้นล่างของสังคมมาในวัยเด็ก

การล่มสลายของระบอบ “ถนอม-ประภาส”

ระบอบ “ถนอม-ประภาส” เป็นความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์อันยาวนานนับแต่การรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 และมีท่าทีจะสืบทอดอำนาจนี้ต่อไป

การอยู่ในอำนาจอย่างเหนียวแน่นของกลุ่มจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ทำให้นายทหารระดับรองลงมาไม่มีโอกาสเติบโต

และยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้โครงสร้างอำนาจอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนี้ก็มีโอกาสที่จะถูกขจัดให้พ้นทางได้ตลอดเวลา

พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ต้องรออยู่ในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบกนานถึง 7 ปี จอมพลประภาส จารุเสถียร จึงยอมลุกจากตำแหน่งให้เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2516 ขณะที่เหลืออายุราชการอยู่เพียง 1 ปีเท่านั้น

แม้ในความเป็นจริง พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา และนายทหารอื่นๆ จะเติบโตมากับระบอบ “ถนอม-ประภาส” แต่นานวันเข้า ก็เห็นว่าการสืบทอดอำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นปัญหาหลักของกองทัพ จึงนำไปสู่การแสวงประโยชน์จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 โค่นล้มระบอบ “ถนอม-ประภาส” ลงในที่สุด

ดังนั้น ปัจจัยชี้ขาดประการหนึ่งในการล่มสลายของระบอบ “ถนอม-ประภาส” จึงมาจากการแตกแยกกันเองของผู้นำกองทัพที่ร่วมหัวจมท้ายกันมานับตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ศ.2490 นั่นเอง

พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา

ผู้ได้ประโยชน์โดยตรงจากการล่มสลายของระบอบ “ถนอม-ประภาส” และพยายามสร้างเครือข่ายอำนาจขึ้นแทน ได้แก่ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ พล.ต.ท.ประจวบ สุนทรางกูร และ พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์

พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2516 ระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เริ่มก่อตัว มีประวัติความสัมพันธ์กับคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ยาวนานมาจนถึงระบอบ “ถนอม-ประภาส”

พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดต่อจากจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2516 เช่นเดียวกัน นอกจากความสัมพันธ์อันยาวนานจนถึงระบอบ “ถนอม-ประภาส” เช่นเดียวกับ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา แล้ว ยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐ ในฐานะตัวเชื่อมระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายทหารของสหรัฐตั้งแต่แรกเริ่มสงครามเวียดนาม เชื่อกันว่าเป็นผู้จัดสรรผลประโยชน์ที่ได้จากสหรัฐให้แก่ผู้นำคนอื่นๆ อีกด้วย

พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ “เจ้าพ่อ ปตอ.” ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจอย่างยาวนานระหว่างปี พ.ศ.2506 ถึง พ.ศ.2515 จึงเป็นผู้มากบารมีในหมู่ทหารและตำรวจ

ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มของถนอม-ประภาส โดยเฉพาะเหตุการณ์ทหารพังป้อมตำรวจที่บางเขน ซึ่งเชื่อว่าเป็นการกระทำของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร จึงเข้าดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจแทน

และจุดที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ เป็นอย่างมากคือการที่ไม่มีการต่ออายุราชการให้ ขณะที่มีการต่อให้แก่จอมพลถนอม กิตติขจร

พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการผสม 333 “เทพ 333” ซึ่งมีกำลังในบังคับบัญชาประมาณ 30,000 คน แม้จะมีข้อตกลงหยุดยิงในลาวเมื่อกุมภาพันธ์ พ.ศ.2516 แต่ในปลายปี พ.ศ.2516 กำลังลับในลาวยังคงมีอยู่จำนวนมาก จึงนับว่ามีความสำคัญต่อดุลอำนาจไม่น้อย

และจากบทบาทการงานลับในลาวนี้จึงทำให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเป็นพิเศษกับซีไอเอ หน่วยงานลับนอกประเทศของสหรัฐอีกด้วย

แม้พลังประชาธิปไตยสังคมไทยในช่วงเวลานั้นจะเข้มแข็งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่หากไม่เกิดการแตกแยกในหมู่ชนชั้นปกครองโดยเฉพาะในหมู่ “ขุนศึก” ที่แวดล้อมอำนาจอยู่ในเวลานั้นแล้ว ก็ยากที่จะทลายอำนาจเก่าที่สะสมพลังมานานปีตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ได้