อัพโหลดความคิดเพื่อชีวิตชั่วนิรันดร์/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

อัพโหลดความคิดเพื่อชีวิตชั่วนิรันดร์

 

“ฉันเพิ่งจะอ่านหนังสือที่เจ๋งสุดๆ เล่มหนึ่งจบ ภายในปี 2030 จะมีคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำหน้าที่ทุกอย่างได้เหมือนสมองของมนุษย์ ดังนั้น ถ้าว่ากันทางทฤษฎีแล้ว เราจะสามารถดาวน์โหลดความรู้สึกนึกคิดและความทรงจำของเราใส่เข้าไปในคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ แล้วใช้ชีวิตได้ต่อไปชั่วนิรันดร์เฉกเช่นเครื่องจักรกลเครื่องหนึ่ง”

นี่เป็นสิ่งที่ Ross Geller ตัวละครหลักในซีรีส์ยอดฮิตเรื่อง Friends เคยพูดเอาไว้ในเอพิโสดที่ออกอากาศครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ปี 1999

แม้ว่าจะเป็นบทสนทนาที่ทำให้ Chandler กลอกตาบนใส่อย่างเหนื่อยหน่ายเพราะสิ่งที่ Ross พูดเป็นเรื่องที่ฟังดูเหนือจริงเสียเหลือเกิน

แต่แนวคิดที่มาก่อนกาลแบบนี้ก็ถูกรับลูกต่อในปี 2016 ด้วยซีรีส์ Black Mirror ในชื่อตอนว่า San Junipero ที่วาดภาพของโลกอนาคตซึ่งทุกคนสามารถอัพโหลดความทรงจำขึ้นไปเก็บไว้บนคลาวด์และใช้ชีวิตแบบเยาว์วัยชั่วกัปชั่วกัลป์อยู่ในโลกเสมือนจริงต่อไปได้เมื่อไหร่ที่กายหยาบเน่าสลายไป

แนวคิดเรื่องการอัพโหลดความคิดและความทรงจำไปเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งที่เชื่อกันว่าอาจจะเกิดขึ้นได้จริงๆ โดยมีพื้นฐานอยู่บนความคิดว่าสมองของมนุษย์เป็นสิ่งที่สามารถสร้างเป็นโมเดลในซอฟต์แวร์ขึ้นมาได้จริงๆ ถ้าหากมีคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังมากพอ

ซึ่งการอัพโหลดความคิดที่ว่านี้ไม่ใช่แค่การจำลองสมองของมนุษย์ทั่วไปขึ้นมาลอยๆ แต่เป็นการจำลองสมองของใครสักคนหนึ่งแบบที่ลงรายละเอียดถึงเส้นประสาทแต่ละเส้นอย่างแม่นยำซึ่งก็รวมถึงการเชื่อมต่อกันของระบบเส้นประสาทด้วย

สมองมนุษย์ประกอบไปด้วยการเชื่อมโยงระหว่างนิวรอนอยู่ในหลักล้านล้านที่ทำให้เกิดกลายขึ้นมาเป็นตัวตนของเราซึ่งประกอบไปด้วยบุคลิกภาพ ความคิด ความทรงจำ ความกลัว ทักษะ ความฝัน หรือที่เราเรียกรวมๆ กันว่ามันคือตัวตนของเรา

การที่เราจะสร้างตัวตนแบบนี้ขึ้นมาในซอฟต์แวร์ได้ ระบบคอมพิวเตอร์ก็จะต้องจำลองการเชื่อมโยงต่างๆ เหล่านั้นให้ได้อย่างละเอียดที่สุด

ซึ่งแน่นอนว่ามนุษย์ไม่สามารถทำเองได้ด้วยสองมือ แต่ต้องอาศัยเครื่องมือขั้นสูงอย่างเครื่อง MRI ที่สามารถจับภาพได้ในระดับโมเลกุล และซอฟต์แวร์ปัญญาประดิษฐ์ที่จะเปลี่ยนให้ข้อมูลเหล่านั้นกลายเป็นการจำลองนิวรอนและการเชื่อมโยงทั้งหมดขึ้นมาได้แบบเหมือนเป๊ะทุกจุด

ดังนั้น ถึงจะฟังดูเป็นภารกิจที่ท้าทายเกินจริงแต่ก็ว่ากันว่าไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว สิ่งที่ Ross พูดเอาไว้เมื่อ 23 ปีที่แล้วก็อาจจะเป็นอนาคตให้กับมนุษยชาติเราได้สักวันหนึ่ง หากแต่ในประโยคที่เขาพูดเอาไว้มีอยู่จุดหนึ่งที่ตรรกะผิดเพี้ยนไปและต้องทำความเข้าใจกันใหม่

ซึ่งก็คือคำพูดที่บอกว่า “ใช้ชีวิตต่อไปได้ชั่วนิรันดร์”

 

เวลาพูดว่าเราสามารถอัพโหลดความคิดและตัวตนของเราเก็บไว้เพื่อที่เราจะมีชีวิตได้ตลอดไป ฟังดูผิวเผินก็น่าดึงดูดเป็นอย่างมากสำหรับคนที่ต้องการความเป็นอมตะและอยากมีตัวตนให้คงไว้ตลอดกาล แต่ Venture Beat บอกว่าเราต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ใหม่ว่าสิ่งที่เราอัพโหลดไปไว้บนคอมพิวเตอร์กับตัวตนจริงของเรานั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากพอ สิ่งที่เราจะสามารถทำได้ก็คือการ “คัดลอก” สมองของเราไปสร้างใหม่เอาไว้บนคอมพิวเตอร์จำลอง แต่ความเป็นมนุษย์ที่เป็นต้นฉบับของเราก็จะยังคงอยู่ในร่างกายที่จับต้องได้ร่างเดิม สมองหยุ่นๆ ของเราก็จะยังถูกเก็บเอาไว้อยู่ในกะโหลกหนาๆ อันเดิม (ไม่ได้ถูกจับไปแช่ไว้ในโหลแก้วขนาดใหญ่ที่มีสายเคเบิลเชื่อมต่อระโยงระยางเหมือนในการ์ตูน)

ดังนั้น ก็แปลว่าคนที่จะอยู่ในคอมพิวเตอร์ต่อไปได้ชั่วนิรันดร์นั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นอะไรที่มีพื้นฐานเหมือนเรามากๆ ต่างหาก

หากวันหนึ่งในอนาคตมีบริการให้เราเซ็นสัญญายินยอมให้อัพโหลดความคิดเราไปเก็บไว้บนคอมพิวเตอร์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นจะไม่เหมือนในภาพยนตร์ไซ-ไฟที่เราจะรู้สึกเหมือนถูกดูดกรึ๊บเข้าไปอยู่ในโลกจำลองในคอมพิวเตอร์และไปใช้ชีวิตเป็นพิกเซลต่อไปในนั้น

แต่จะเป็นแค่การคัดลอกสมองของเรา โดยที่เราแทบไม่รู้สึกอะไรเลย อาจจะเกิดขึ้นตอนที่เราหลับอยู่หรือตอนที่เราถูกวางยาให้ครึ่งหลับครึ่งตื่น พอตื่นมาแล้วก็จะไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงใดๆ ไม่ได้สัมผัสได้ถึงตัวตนในอีกมิติ ชีวิตก็จะดำเนินต่อไปเหมือนเดิมทุกประการ

หรืออธิบายอีกทางหนึ่งก็คือเราจะได้ digital twin หรือฝาแฝดดิจิทัลที่ในวันแรกจะเป็นสำเนาของตัวเราเป๊ะๆ มีความทรงจำทุกอย่างเหมือนตัวเราเองทั้งหมด ณ วันที่ได้เกิดการคัดลอกสมองเอาไว้ แต่จะเหมือนกันแค่จุดนี้เท่านั้น เพราะหลังจากนั้นไปสำเนาดิจิทัลกับตัวตนจริงก็จะแยกย้ายกันไปสร้างความทรงจำ สั่งสมทักษะ และความรู้ใหม่ๆ ในแบบที่ไม่มีอะไรยึดโยงกันอีกแล้ว

เมื่อเวลาผ่านไปสักสองสามปี สำเนาดิจิทัลของเราจะแตกต่างจากเราเรื่อยๆ มีความทรงจำของตัวเอง มีความรู้หรือทักษะในสิ่งที่เราอาจจะไม่มี แต่จะมีสิ่งที่แบ่งปันร่วมกันเป็นพื้นฐานคือทั้งสองเวอร์ชั่นจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนคนเดียวกันแถมเป็นตัวจริงเสียด้วย

ฉันคิดว่าการจะคุยกันถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นจะให้ความรู้สึกเหมือนฉันพาคุณผู้อ่านดำดิ่งลงไปในนิยายวิทยาศาสตร์ ถ้าหากฉันเป็นนักเขียนนิยายและอยากจะดำเนินเรื่องนี้ต่อ พล็อตเรื่องของฉันก็อาจจะออกไปในแนวทางว่าความคิดและตัวตนดิจิทัลนั้นถูกดาวน์โหลดไปใส่เอาไว้ในหุ่นยนต์แห่งอนาคตที่สร้างออกมาได้เหมือนมนุษย์แทบทุกประการ และสุดท้ายก็ต้องไปต่อสู้กับตัวตนที่แท้จริงที่ยังมีชีวิตอยู่เพื่อแย่งชิงอัตลักษณ์กันโดยที่ทั้งคู่ต่างก็เชื่ออย่างสุดใจว่าตัวเองต่างหากที่เป็นต้นฉบับ

หรือถ้าไม่อยากให้ดาร์กมากฉันอาจจะเปลี่ยนพล็อตเรื่องใหม่ให้สำเนาดิจิทัลออกเดินทางตามหารักแท้ที่ตัวจริงไม่มีโอกาสได้สัมผัสเพราะจากลาโลกใบนี้ไปก่อน และคนรักที่ได้พานพบท้ายที่สุดนั้นก็คือลูกของคนที่ตัวจริงเคยตกหลุมรักในอดีตแต่มีเหตุให้ต้องคลาดกันอย่างน่าเสียดาย คล้ายๆ ซีรีส์เกาหลีที่ฉายภาพอดีตให้ผู้ชมเห็นว่าครั้งหนึ่งพระเอกนางเอกเคยเดินสวนกันบนสะพานมาแล้ว

 

ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ไหนใจความสำคัญก็ยังคงอยู่ ตัวตนดิจิทัลกับตัวตนจริงไม่ใช่คนเดียวกัน และนี่ไม่ใช่หนทางสู่ชีวิตอมตะในแบบที่เราเข้าใจต่อให้เราถ่ายโอนความคิดและความทรงจำเราเข้าไปอยู่ในคอมพิวเตอร์แล้วก็ตาม

ถ้าถามว่าแล้วมนุษย์เราจะสามารถอัพโหลดความคิดได้สำเร็จเมื่อไหร่ ฉันก็เชื่อว่าเราไม่สามารถเจาะจงไทม์ไลน์กันได้แน่ๆ มันอาจจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้หรืออาจจะไม่มีวันเกิดขึ้นเลยก็ได้ แต่ในตอนนี้สิ่งที่มีแล้วจริงๆ ก็คือการ “เลียนแบบ” แสร้งทำเป็นตัวตนของใครสักคนที่อาจจะยังมีชีวิตอยู่หรือตายไปแล้วแต่ก็ไม่นับว่าเป็นการอัพโหลดความคิดที่แท้จริง

ส่วนถ้าถามว่าแล้วมันควรจะเกิดขึ้นได้จริงไหมฉันก็คิดว่าเรื่องนี้ก็ตอบยากเหมือนกัน สำหรับบางคนการอัพโหลดความคิดเก็บไว้อาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญมากด้วยเหตุผลบางอย่าง

แต่สำหรับคนอื่นๆ รวมถึงตัวฉันเองด้วยก็อาจจะโน้มเอียงไปในทางที่ว่าของบางอย่างเก็บเอาไว้ให้อยู่แต่ในนิยายไซไฟก็อาจจะสวยที่สุดแล้ว