ต่างประเทศ : อนาคตกาตาลุญญายังสับสน หลังผู้นำแทงกั๊กประกาศเอกราช?

รัฐบาลสเปนประกาศกร้าวว่าจะพิจารณา “ทุกทางเลือก” ในการประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่าวิกฤต ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่บรรดาผู้นำแคว้นกาตาลุญญากล่าวว่า พวกเขามีอำนาจในการประกาศเอกราช แต่จะยับยั้งเอาไว้ก่อน ส่งผลให้ประเทศตกอยู่ในความไม่แน่นอน

นายกรัฐมนตรี มาเรียโน ราฆอย ของสเปนประกาศว่าจะทำทุกอย่างเท่าที่มีอำนาจเพื่อป้องกันการแยกตัวเป็นเอกราชของแคว้นกาตาลุญญา ในข้อขัดแย้งที่ทำให้สเปนตกอยู่ในวิกฤตการเมืองที่ลึกล้ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

เขายังไม่ปฏิเสธที่จะใช้การปกครองเหนือแคว้นกาตาลุญญาโดยตรง ซึ่งเป็นย่างก้าวที่หลายฝ่ายกลัวว่าจะนำไปสู่ความไม่สงบด้วย

ราฆอยได้เรียกประชุมฉุกเฉินคณะรัฐมนตรีหลังจากที่ การ์เลส ปุจเดมอนต์ ประธานาธิบดีกาตาลุญญาประกาศเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ว่า เขาได้รับมอบอำนาจสำหรับการประกาศให้ “กาตาลุญญาป็นรัฐอิสระ” หลังการลงประชามติที่ถูกสั่งห้ามเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา

แต่ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อรัฐสภาท้องถิ่นที่สร้างความสับสนให้กับคนจำนวนมาก ปุจเดมอนต์เรียกร้องให้การแยกตัวเป็นเอกราชของแคว้นกาตาลุญญาถูกระงับไปก่อนเพื่อให้มีการเจรจากับรัฐบาลกลาง

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม แหล่งข่าวของรัฐบาลกลางรายหนึ่งที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อบอกว่า “ทางเลือกทุกอย่าง” ยังอยู่บนโต๊ะขณะที่การเจรจาฝ่าวิกฤตยังคงเดินหน้าต่อไป

 

ในขณะที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนระบุว่า มีผู้คนกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เลือกที่จะแยกตัวจากสเปน แต่ที่จริงแล้ว มีผู้ออกมาใช้สิทธิในการลงประชามติน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง

เดิมพันคืออนาคตของแคว้นที่มีผู้คน 7.5 ล้านคนซึ่งมีความเห็นแตกแยกอย่างลึกล้ำในเรื่องการประกาศเอกราช แคว้นที่ถือว่าเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายหลักสำคัญของนักท่องเที่ยวของสเปนที่ความปรารถนาในการแยกตัวสร้างความกังวลเรื่องเสถียรภาพในสหภาพยุโรป (อียู) ในช่วงเวลาที่ยังคงเจรจากับอังกฤษที่ตัดสินใจออกจากกลุ่มอย่างน่าตกตะลึง

ผู้คนหลายพันรวมตัวกันอยู่หน้าอาคารรัฐสภากาตาลุญญาในนครบาร์เซโลนาเมื่อเย็นวันที่ 10 ตุลาคม โบกธงกาตาลุญญาและป้ายผ้าพร้อมตะโกนว่า “ประชาธิปไตย” โดยหวังว่าจะได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ทว่า ผู้นำทางการเมืองของสเปนกดดันปุจเดมอนต์หลังการประกาศเอกราชของเขาและแรงสนับสนุนในการแบ่งแยกดินแดนก็ผสมผสานกัน

รัฐบาลยืนยันจุดยืนของตนว่าจะไม่ยอมรับการไกล่เกลี่ยหรือเจรจาใดๆ ก็ตาม จนกว่าผู้นำกาตาลุญญาจะล้มเลิกการประกาศเอกราช

“คุณปุจเดมอนต์ ไม่มีใครสามารถเข้าสู่การไกล่เกลี่ยได้โดยที่ไม่กลับมาอยู่ภายใต้ความถูกต้องทางกฎหมายหรือประชาธิปไตย” โซรายา ซานซ์ เด ซานตามาเรีย รองนายกรัฐมนตรีสเปนกล่าว

เธอบอกว่า ปุจเดมอนต์ “เป็นคนที่ไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน กำลังจะไปที่ไหน หรือเขาต้องการจะไปกับใคร”

ด้าน อัลฟอนโซ ดัสติส รัฐมนตรีต่างประเทศสเปนเปิดเผยกับสมาชิกสภานิติบัญญัติว่า ผู้ที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนเป็นกลุ่มบ่อนทำลายประชาธิปไตย ทำลายหลักนิติธรรม และทำให้ยุโรปตกอยู่ในความเสี่ยง

หลังการประกาศต่อรัฐสภา ปุจเดมอนต์และพันธมิตรของเขาลงนามในเอกสารประกาศเอกราชด้านนอกรัฐสภา ซึ่งความถูกต้องทางกฎหมายนั้นยังไม่ชัดเจน

 

ถึงตอนนี้สเปนและกาตาลุญญาเข้าสู่เขตแดนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน

ฆอร์ดี ตูรุลล์ โฆษกของรัฐบาลท้องถิ่นกาตาลุญญากล่าวว่า การประกาศเอกราชเป็น “การกระทำเชิงสัญลักษณ์” โดยระบุว่าการตัดสินใจที่เป็นทางการใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องผ่านรัฐสภากาตาลุญญา

วิกฤตครั้งนี้ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างลึกล้ำสำหรับภาคธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งในแคว้นที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของยูโรโซน โดยบริษัทใหญ่หลายแห่งได้ตัดสินใจย้ายที่ตั้งสำนักงานใหญ่ออกจากแคว้นกาตาลุญญาไปยังที่อื่นๆ ในสเปน

ความต้องการเป็นเอกราชของกาตาลุญญา 1 ใน 17 แคว้นที่มีอำนาจในการปกครองตนเองของสเปนและมีภาษารวมทั้งวัฒนธรรมเป็นของตนเองนั้นย้อนกลับไปได้นานนับหลายศตวรรษ

คงต้องรอดูว่า วิกฤตครั้งนี้ท้ายที่สุดแล้วจะจบลงอย่างไร ทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถประนีประนอมกันได้ที่จุดไหน หลังดูเหมือนว่าผู้นำกาตาลุญญาจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำก่อน