ปัญหาโอละแม่! ประเด็น ‘จิรประภามหาเทวี’ : มหาเทวีผู้ทิ้งเมืองเชียงใหม่ เหตุการณ์นี้มีจริงหรือ? (จบ) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

ปัญหาโอละแม่!

ประเด็น ‘จิรประภามหาเทวี’

: มหาเทวีผู้ทิ้งเมืองเชียงใหม่ เหตุการณ์นี้มีจริงหรือ? (จบ)

 

นึกถึงใครไม่ออก บอกจิรประภา

มาถึงตอนสุดท้ายนี้แล้ว ดิฉันอยากสรุปให้เห็นว่า ปัญหาการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนาอันเกี่ยวเนื่องเฉพาะประเด็น “พระนางเจ้าจิรประภามหาเทวี” นี้เกิดขึ้นจากความสับสนหลักๆ สองประการ

ประการแรก เอกสารฝ่ายล้านนามักเอ่ยถึงคำว่า “มหาเทวี” ลอยๆ โดยไม่ระบุนามเฉพาะว่าเป็นใครอยู่หลายจุด ซ้ำแต่ละจุดนั้น ยังอยู่ในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกับกันกับสมัยปลายราชวงศ์มังราย

ทำให้ผู้อ่านตำนานแบบเผินๆ หลายท่านมีสิทธิ์จะเข้าใจไปเองว่า อ้อ! การเขียน “มหาเทวี” เฉยๆ เช่นนี้คงละไว้ในฐานที่เข้าใจกันกระมังว่า “มหาเทวี” ที่เขียนย่อๆ ก็คือจิรประภามหาเทวีนั่นเอง

ประการที่สอง ในเอกสารฝ่ายพม่าที่เขียนโดย “อูกาลา” แต่งสมัยที่ล้านนาถูกปกครองโดยพม่า เล่มนี้ “ซ้ำหนัก” เล่นเอาคำว่า “จิรประภา” มาเป็นคำกลาง ใช้เรียก “สตรีสูงศักดิ์ในราชสำนัก” มิรู้กี่องค์ต่อกี่องค์

เช่น เมื่อเอ่ยถึงมเหสีของพระเมืองแก้ว ก็ใช้ชื่อ “จิรประภา”, มเหสีของพระเมืองเกษเกล้า ก็เรียก “จิรปะภา”, เมื่อเอ่ยถึงพระราชมารดาของพระแม่กุ ก็ใช้ชื่อ “จิรประภา” ใช้แม้กระทั่งว่า ชายาของพระไชยเชษฐาธิราช ก็มีชื่อ “จิรประภา” ด้วยเช่นเดียวกัน

ประเด็นนี้ อาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ เริ่มตั้งคำถามว่า หรือเอาเข้าจริงแล้ว คำว่า “จิรประภา” อาจไม่ใช่ “ชื่อจริง” ของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เรากำลังโฟกัสกันอยู่ ผู้เคยนั่งเมืองขัดตาทัพช่วงพระไชยราชาจากกรุงศรีอยุธยายกทัพมา หรือคนที่เราเคยเชื่อกันมานานว่าเป็นอัครมเหสีของพระเมืองเกษเกล้าผู้ลูก แล้วเพิ่งมาสำเหนียกใหม่ว่า ควรเป็นเทวีองค์หนึ่งของพระเมืองแก้วผู้พ่อมากกว่า

ไปๆ มาๆ คำว่า “จิรประภาเทวี” หรือ “จิรประภามหาเทวี” นี่ก็ตกอยู่ในสถานะเดียวกันกับคำว่า “อโนชาเทวี” หรือ “อโนชามหาเทวี” ด้วยใช่หรือไม่

กล่าวคือ เป็นชื่อตำแหน่งของ “สตรีสูงศักดิ์ในราชสำนัก” ซึ่งเรายังไม่เคยศึกษาวิเคราะห์เจาะลึกถึงเรื่องนี้กันอย่างละเอียดเลย เนื่องจากที่ผ่านมา เรานึกว่า “จิรประภา” นั้นเป็นชื่อเฉพาะ มิใช่ตำแหน่ง

หากเป็นชื่อเฉพาะของบุคคลจริง อะไรเป็นสาเหตุให้ “อูกาลา” นักประวัติศาสตร์ผู้มีอายุร่วมสมัยห่างจากยุคมหาเทวีจิรประภาไม่นานนัก ถึงกับไม่มีความเข้าใจเลยหรือ ว่าหากจิรประภาเป็นมเหสีของพระเมืองแก้วแล้วไซร้ ท่านเดียวกันนี้ ยังจะมาเป็นชายาของพระไชยเชษฐา ซ้ำเป็นมารดาของพระแม่กุอีกได้อย่างไร ให้สตรีเพียงคนเดียวดำรงทุกสถานะเกี่ยวกับแม่และเมียของกษัตริย์แต่ละพระองค์ในเวลาใกล้เคียงกันได้อย่างไร

เว้นเสียแต่ว่า ในความเข้าใจของอูกาลา คำว่า “จิรประภา” นั้น มิใช่ชื่อจริงของใคร แต่เป็นตำแหน่งกว้างๆ นี่คืออีกประเด็นใหม่ที่ขอฝากไว้ให้ช่วยกันครุ่นคิดสืบค้นต่อ

ทว่า ประเด็นที่พวกเราเองกำลังสับสนอยู่ขณะนี้ก็คือ เรากำลังตามหา “ผู้หญิงที่ถูกระบุว่าชื่อ จิรประภามหาเทวี คนที่นั่งเมืองขัดตาทัพในปี 2088 ปีที่เกิดแผ่นดินไหวจนเจดีย์หลวงถล่ม” เราต้องการทราบว่า นางคือใครกันแน่ (โดยตัดประเด็นว่า “จิรประภา” ควรเป็นตำแหน่ง ไม่ใช่ชื่อเฉพาะออกไปก่อน)

เรากำลังตั้งคำถามว่า จิรประภาผู้นี้ ผู้ซึ่งบทความตอนที่แล้วเราได้ข้อสรุปว่า พระนางเป็นเทวีองค์หนึ่งของพระเมืองแก้ว ดังนั้น นางย่อมไม่ใช่อัครมเหสีของพระเมืองเกษเกล้า นางไม่อาจเป็นแม่ของท้าวซายคำ จอมเมือง ยอดคำ และนางย่อมไม่ใช่ยายของพระไชยเชษฐา

ไฉนจึงเกิดประเด็นคำสร้อยของชื่อ ที่ใช้เรียกพระนางว่า “มหาเทวีผู้ทิ้งเชียงใหม่”? ได้อีก ในเมื่อนางไม่ได้เอาพระแก้วมรกตไปล้านช้าง เพราะนางเสียชีวิตก่อนการมาถึงล้านนาของพระไชยเชษฐาด้วยซ้ำ วลีนี้เอามาจากไหนกัน

จิตรกรรมฝาผนังจากวัดภูมินทร์ เขียนราวสมัยรัชกาลที่ 5

มหาเทวีผู้ทิ้งเมืองเชียงใหม่

VS มหาเทวีผู้ “ทือ” เมืองเชียงใหม่

วลี “มหาเทวีผู้ทิ้งเมืองเชียงใหม่” ปรากฏในเอกสาร “ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญไชย” เขียนเมื่อปี พ.ศ.2109 ล้านนาเพิ่งเสียเมืองให้พม่าไปหมาดๆ เป็นช่วงที่พระไชยเชษฐาจำต้องเสด็จกลับไปดูแลความเรียบร้อยของเมืองหลวงพระบางได้ไม่นาน

เป็นช่วงชุลมุนชุลเก นักประวัติศาสตร์สมัยหนึ่งจึง “ตีความ” เอาว่า การที่มหาเทวีผู้เป็นแม่ของพระจอมเมือง ผู้ทิ้งเมืองเชียงใหม่นั้น น่าจะหมายถึงพระมหาเทวีจิรประภานั่นเอง เพราะนางคืออัครชายาของพระเมืองเกษเกล้า ในเมื่อพระเมืองเกษเกล้ามีโอรส 2 องค์ คือท้าวซายคำ กับท้าวจอมเมือง

ดูเหมือนทุกอย่างสอดคล้องกันไปหมด ในเมื่อพระไชยเชษฐาจะกลับล้านช้าง เสด็จยายมหาเทวีจิรประภาก็คงไม่อยากอยู่ล้านนาแล้ว หนีไปอยู่กับลูกสาว (นางยอดคำ) และหลานชาย (ไชยเชษฐา) ที่หลวงพระบาง น่าจะปลอดภัยจากพม่ามากกว่า

ด้วยเหตุนี้ใช่ไหมจึงมีการบันทึกวลีเด็ด “มหาเทวีผู้ทิ้งเมืองเชียงใหม่” ดังข้อความที่ว่า

“พระนางมหาเทวี พระราชมารดาพระจอมเมือง ทิ้งเมืองเชียงใหม่ ในปีเปิกสัน (วอก) กัดเล้า (ระกา) กดเส็ด (จอ) ในระหว่างนี้ ทองคำขึ้นสู่พระธาตุเจ้าจำนวน 23,162 คำ”

เอกสารตำนานพระเจ้าหริภุญไชย ยังไม่เคยมีการปริวรรตใหม่อีกเลยนับแต่ยุคที่อาจารย์มหาสิงฆะ วรรณสัย ทำไว้แล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2515

จนกระทั่งอาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ หยิบเอกสารฉบับที่เป็นลายมือเขียนตัวอักษรธัมม์ล้านนามาอ่านใหม่อีกรอบ พบต้นฉบับเขียนว่า

“มหาเทวีผู้ทือเมืองเชียงใหม่” จาก “ทิ้ง” กลายเป็น “ทือ” (ภาษาล้านนาอ่านออกเสียง “ตือ”)

อาจารย์ชัยวุฒิเก็บความสงสัยนั้นไว้ในใจ และพยายามตรวจสอบกับเอกสารอักษรธัมม์ล้านนาตามวัดต่างๆ อีกหลายฉบับก็พบว่า ไม่มีฉบับไหนเลยที่เขียนว่า “ทิ้ง” มีแต่เขียนว่า “ทือ” เหมือนกันหมดทุกฉบับ

ภาษาล้านนานั้น คำว่า “ทือ” แปลว่า “นั่งเมือง-กินเมือง” หากแปลตามนี้ ก็แสดงว่ามีผู้หญิงสูงศักดิ์ระดับมหาเทวีคนหนึ่งได้นั่งเมืองเชียงใหม่ ในช่วงที่พระไชยเชษฐากลับไปล้านช้างแล้ว นางจะเป็นคนเดียวกันกับจิรประภาได้อย่างไร

ไม่ว่า “ทิ้ง” หรือ “ทือ” ก็ตาม ไม่ว่ามองมุมไหน ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้กับจิรประภาอีกแล้ว พระนางไม่อาจติดตามหลานชาย (ไชยเชษฐา- ตามความเชื่อเดิม) ไปล้านช้างได้ และนางก็ไม่มีสิทธิ์นั่งเมืองเชียงใหม่ได้อีกเป็นรอบที่สอง เหตุที่พระนางจิรประภาสวรรคตแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2089

ไม่ว่าคุณจะเชื่อทฤษฎีใด “ทิ้งหรือทือ” การที่จะให้ “จิรประภายังนั่งเมืองเชียงใหม่” (ทือ) อยู่อีกในช่วง พ.ศ.2091 มีความไปไม่ได้โดยเด็ดขาด หรือจะให้ “ทิ้ง” เชียงใหม่ ก็เป็นไปไม่ได้อีกเพราะนางไม่ได้เป็นญาติอะไรกับพระไชยเชษฐา ข้อสำคัญนางเสียชีวิตไปแล้ว 2 ปี

คำถามตามมาคือ แล้วใครเล่าเป็น “มหาเทวีผู้ทือ (นั่งเมือง) เชียงใหม่” ในช่วงนั้น หากไม่ใช่จิรประภาเสียแล้ว แสดงว่าย่อมต้องมี “ผู้หญิงสูงศักดิ์ใครอีกคนแน่ๆ” นางผู้นั้นจะเป็นใครกันหนอ

จัดทำโดยอาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ ผู้พบว่าเอกสารใช้คำว่า “ทือ” ไม่ใช่ “ทิ้ง”
จัดทำโดยอาจารย์ชัยวุฒิ ไชยชนะ ผู้พบว่าเอกสารใช้คำว่า “ทือ” ไม่ใช่ “ทิ้ง”

ใครคือแม่พระจอมเมือง?

“มหาเทวี” ผู้เอาทองคำมาถวายพระธาตุเจ้าหริภุญไชยในปี 2092 (ปีกัดเล้า-ระกา) หลังจากที่ “ทือ” หรือนั่งเมืองเชียงใหม่ได้ 1 ปี (ในปี 2091 ปีเบิกสัน-วอก) มีความน่าสนใจมาก เพราะถูกระบุว่า เป็นแม่ของพระจอมเมือง

ทำไมจึงไม่ระบุว่า เป็นแม่ของท้าวซายคำ พระจอมเมือง และนางยอดคำ เอาให้ครบโอรส-ธิดาทั้งสามองค์ไปเลยด้วยเล่า หากเราเชื่อว่า คนที่เป็นมเหสีของพระเมืองเกษเกล้านั้น มีแค่นางเดียว (ที่เคยเชื่อว่าคือจิรประภา) และเป็นแม่ของลูกทั้งสาม

เกิดอะไรขึ้นล่ะหรือ ในบันทึกนั้นจึงมาจำเพาะเจาะจงระบุว่า มหาเทวีผู้นี้มีลูกชื่อพระจอมเมือง อยู่เพียงผู้เดียว จากนัยยะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า

ประการที่หนึ่ง ท้าวซายคำกับพระจอมเมือง ไม่น่าจะมีมารดาเป็นคนเดียวกัน (ทั้งนี้ยังไม่ทราบว่านางยอดคำเป็นลูกใคร สมมุติว่าเชื่อตามทฤษฎีเดิมว่านางเป็นลูกของพระเมืองเกษเกล้าด้วยอีกคน ก็ต้องกลายเป็น ลูกสามคน เกิดจากสามแม่ ด้วยไหม?)

ประการที่สอง ปี 2092 มหาเทวีผู้นี้ ช่างมีศักดิ์และสิทธิ์อย่างเต็มที่ ถึงกับเอาทองคำจากท้องพระคลังจำนวนมหาศาลมาถวายแด่พระธาตุเจ้าหริภุญไชยได้ หลังจากที่นางนั่งเมืองได้เพียงปีเดียว

เราทราบเพียงแต่ว่า มหาเทวีผู้นี้มีสถานะเป็น “แม่พระจอมเมือง” เท่านั้น และพระจอมเมืองเป็นโอรสองค์หนึ่งของพระเมืองเกษเกล้า ชัดเจนว่าพระจอมเมืองต้องเป็นน้องคนละแม่กับท้าวซายคำ เหตุที่จารึกใบลานเจาะจงระบุชื่อลูกว่าจอมเมืองเพียงคนเดียว

ท้าวซายคำกับท้าวจอมเมืองไม่น่าจะใช่ลูกแม่เดียวกันมีความเป็นไปได้สูง เห็นได้จากตอนที่ท้าวซายคำถูกขุนนางสำเร็จโทษนั้น เอกสารระบุว่า วงศ์ตระกูลโคตรเหง้าของท้าวซายคำถูกประหารด้วยทั้งหมด ไม่เว้นชายา โอรส ธิดา น่าจะรวมไปถึงน้องชายที่เกิดจากแม่เดียวกันด้วย (ถ้าท้าวซายคำมีน้องชาย น้องสาวจริง) ดังนั้น การที่พระจอมเมืองยังรอดชีวิต แสดงว่าเป็นลูกคนละแม่กัน

ในที่สุด ปริศนาจากวลีที่ว่า “มหาเทวีผู้ทือเมืองเชียงใหม่” (จากเดิมที่เคยเข้าใจกันผิดๆ ว่า “มหาเทวีผู้ทิ้งเมืองเชียงใหม่” ซึ่งเราไม่เคยเอะใจกันเลย เพราะดูสอดคล้องกับการที่ยายน่าจะหนีตามหลานไปล้านช้าง) กลายเป็นว่า จากการอ่านใหม่ ทำให้เราเกิดข้อสงสัยใหม่อีกจนได้ว่า

อ้าว! มีมหาเทวีโผล่มานั่งเมืองเชียงใหม่ในช่วงขัดตาทัพอีกคนด้วยหรือนี่? หลังจากพระไชยเชษฐาเสด็จกลับไปล้านช้าง เหล่าขุนนางที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายห้ำหั่นกันอย่างเปิดเผย ยังไม่ทันสรรหาเชื้อพระวงศ์ฝ่ายชายที่เหมาะสมมาสถาปนา

จู่ๆ ผู้หญิงคนหนึ่งที่เราไม่ทราบนามจริง รู้แต่ว่าเป็นแม่พระจอมเมืองก็ใช้สิทธิ์ของ “เทวีองค์หนึ่งของพระเมืองเกษเกล้า” ช่วงชิงความได้เปรียบ รีบมานั่งเมืองขัดตาทัพในทำนองเดียวกันกับที่ครั้งหนึ่ง จิรประภาเคยถูกยกขึ้นครองเชียงใหม่ในฐานะ “เทวีองค์หนึ่งของพระเมืองแก้ว” แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ช่วงก่อนที่พระไชยเชษฐาจะเสด็จมา

แล้วพระไชยเชษฐาจักทำเช่นไร ในเมื่อหลังกลับไปเคลียร์ปัญหาภายในเมืองหลวงพระบางจัดการพระศพของพระบิดาโพธิสาลราชเสร็จแล้ว พระองค์ยังทรงหวงบัลลังก์เมืองเชียงใหม่อยู่มาก พบว่าพระไชยเชษฐาพยายามที่จะกลับมาทวงบัลลังก์เชียงใหม่คืนอยู่หลายครั้ง

และในเมื่อทรงรู้ตัวว่าทวงไม่ได้ง่ายๆ เสียแล้ว เนื่องจากมี “มหาเทวีแม่พระจอมเมือง” รีบชิงไปนั่งบัลลังก์ก่อนก๊กก๊วนอื่น พระไชยเชษฐายังไม่วายลอบส่งสาส์น เขียนข้อความฝากฝังไปยัง “ใครบางคน” ในทำนองขอมอบบัลลังก์เมืองเชียงใหม่ให้บุคคลผู้นั้นช่วยปกครอง (ช่วงชิงบัลลังก์ให้พระองค์ทางอ้อม) อีก

คนที่พระไชยเชษฐาเขียนจดหมายถึงนั้นก็เป็น “อีกหนึ่งมหาเทวี” ด้วยเช่นกัน นางคือใคร •