ฟ้า พูลวรลักษณ์ : หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (128) : ลงประชามติ

ฟ้า พูลวรลักษณ์

เพื่อนของฉันบอกฉันว่า วันลงประชามติ เขาจะไม่ไปลง

ฉันรู้ว่า คนที่ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยังแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ

๑ กลุ่มที่เมื่อถึงวันลงประชามติ จะไปลงเสียงว่าไม่รับ

๒ กลุ่มที่เมื่อถึงวันลงประชามติ จะไม่ไปลงเสียง

ฉันเข้าใจ กลุ่มที่จะไม่ไปลงเสียง ว่าเพราะพวกเขาเกลียดชังเผด็จการ และไม่ต้องการเล่นเกมที่พวกเผด็จการกำหนด ต้องการต่อต้าน แสดงอาการประท้วง ไม่ต้องการให้ความชอบธรรมกับเผด็จการ

และแน่ละ คงเพราะพวกเขาเชื่อว่า ไปลงมติไม่รับก็เท่านั้น เพราะต่อให้เสียงประชามติออกมาว่าไม่รับ เผด็จการก็สามารถกลับไปร่างใหม่ จนกว่าตัวเองพอใจ และอาจแย่กว่าเดิม กลับมาอีกรอบ เขาเบื่อหน่ายเกมแบบนี้ รู้สึกหนังเรื่องนี้อืดเกินไปแล้ว อยากเปลี่ยนม้วนเร็วๆ

จึงปล่อยให้เผด็จการอยากทำอะไรก็ทำ แล้วมาดูผลกัน

ส่วนกลุ่มที่ต้องการไปลงประชามติ ว่าไม่รับ ก็มีวิธีคิดต่างกัน พวกเขาเชื่อว่า การไม่ไปใช้สิทธิ คือการยอมรับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดย default เพราะเท่ากับคะแนนเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะหดหายไปหนึ่งเสียง

ส่วนที่ว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้ไม่ผ่านประชามติ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ก็เป็นคนละเรื่องกัน การใช้สิทธินี้เป็นหน้าที่ มีความชอบธรรมในตัวมัน แพ้ชนะเป็นอีกเรื่อง

วิธีการคิดนี้ เรียบง่าย ตรงไปตรงมา

ฉันไม่รู้ว่าความคิดใครจะถูกต้องกว่า แต่ฉันเลือกแบบจะไปลงประชามติ

เรื่องนี้จะว่าตื้นก็ตื้น จะว่าลึกก็ลึก เหมือนการเลือกตั้ง คนจำนวนมากก็ไม่ยอมไปเลือกตั้ง เหตุผลเพราะไม่ชอบพรรคไหนเลย ไม่ชอบนักการเมืองทุกคน เมื่อไรที่คุณไม่ยอมรับนักการเมืองทุกคน ก็เท่ากับคุณไม่ยอมรับระบอบประชาธิปไตย แต่หากไปถาม เขาจะบอกว่า เขาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย มันขัดแย้งกัน การไม่ยอมรับนักการเมืองทุกคน เป็นปริศนา เขารู้จักนักการเมืองเหล่านั้นหมดเลยหรือ หรือเพียงคิดไปเอง คิดเช่นนั้น เพราะอ่านหนังสือมา หรือฟังเขาว่า เพราะเป็นไปไม่ได้ ที่เขาจะรู้จักนักการเมืองทุกคน ในหนึ่งชีวิต ฉันรู้จักนักการเมืองเพียงสองคนเท่านั้น และสังเกตว่า ทั้งคนสองคนที่ฉันรู้จัก ล้วนเป็นคนดี อาจเป็นเพียงความบังเอิญ แต่คำว่าเลวหมดทุกคน ฉันรับไม่ได้

อีกอย่าง การไม่ยอมไปเลือกตั้ง จะทำให้ฉันเข้าไปรวมกลุ่มกับคนที่ไม่สนใจการเมือง คนเกียจคร้าน คนที่เห็นแก่ตัว มันแยกกันไม่ออก หรือรวมกลุ่มกับคนที่ติดธุระ ซึ่งก็ไม่ได้บ่งบอกอะไรเลย

คนที่อ้างอุดมการณ์สูงส่ง ที่จะไม่ไปเลือกตั้ง ก็เป็นเพียงการแสดงอัตตาของตัวเอง

การต่อต้านด้วยการไม่ไปนี้ ก็โรแมนติก ดูเต็มไปด้วยอุดมคติสูงส่ง แต่ในมุมกลับกัน มันว่างเปล่า

เพราะหากรัฐธรรมนูญใหม่ผ่าน แล้วมีผลร้ายต่อสังคม พวกเขาก็บอกไม่ได้ บ่นไม่ได้ เพราะพวกเขาได้ให้คะแนนเสียงยอมรับไปแล้ว โดยการ default ในขณะที่คนที่ไปลงเสียงไม่รับ ก็ยังพูดได้ บ่นได้ เพราะพวกเขาทำหน้าที่แล้ว แต่คะแนนเสียงสู้ไม่ได้

แต่รับรองว่า หากรัฐธรรมนูญใหม่ผ่าน คนกลุ่มที่ไม่ไปลงเสียงจะบ่นเสียงดังที่สุด บ่นบ่อยที่สุด เพราะคนพวกนี้ส่วนใหญ่คือคนชอบนั่งคิดบนโซฟา หนึ่งชีวิตไม่ยอมเสี่ยงกับอะไรเลย ฉันว่าแย่กว่าสุเทพอีก เพราะสุเทพ เขายังเสี่ยงชีวิต ยังทำงานหนัก เสียงบ่นนั้น เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ก็คุณเปิดทางให้พวกเขาแล้ว คุณจะบ่นอะไร

ที่จริง การที่เผด็จการให้ทำประชามติ เป็นเหมือนการเปิดช่องว่างนิดหนึ่ง เพียงแค่นิดเดียว ให้ระบอบประชาธิปไตย ในประวัติศาสตร์เคยเกิดเรื่องทำนองนี้มาแล้ว และเกิดผลที่คาดไม่ถึง ไม่มีใครคิดว่า การเปิดช่องเพียงนิดเดียว จะเกิดสิ่งที่โถมเข้ามา ดั่งพายุ เผด็จการล่มสลายลง เพราะความประมาทเพียงนิดเดียว แต่นี้คือความลี้ลับของโอกาส มันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว

โอกาสเล็กๆ นี้ไม่ไขว่คว้า ต้องรอโอกาสใด

ต้นเหตุแห่งการทะเลาะ เกิดจากการจับประเด็นเหลื่อมกันอยู่นิดหนึ่ง

คนที่ชิงชังเผด็จการ หากจับประเด็นเหลื่อมกัน ก็สามารถแตกออกเป็นสองกลุ่ม

และสองกลุ่มนี้หากถกเถียงกัน ก็สามารถทะเลาะกันได้รุนแรง

ยิ่งทะเลาะยิ่งอ่อนแอลง ผู้ได้ประโยชน์คือพวกเผด็จการ

หรือคุณไปลงเสียงว่ารับ ทั้งที่ไม่ชอบ เพราะเชื่อว่าหากไม่รับ จะมีร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เลวกว่าเดิม ก็มีค่าเท่ากัน มันเป็นวิธีคิดที่ซับซ้อน มันคือการรับเพราะไม่ต้องการรับ

คิดแบบนี้ก็ได้ แต่ฉันไม่ชอบความซับซ้อน

มันเครียดเกินไป มันลึกเกินไป และมันร้ายเกินไป

เหมือนคนที่เลือก Trump ทั้งที่ใจจริงเกลียดเขา เลือกเขาเพราะต้องการให้ประเทศอเมริกาเปลี่ยนแปลง ฉิบหาย เพื่อโลกจะได้ดีขึ้น มันเป็นความคิดที่ซับซ้อน และตั้งอยู่บนสมมติฐานที่อันตราย ใครจะรู้ว่าอเมริกาฉิบหาย แล้วโลกจะดีขึ้น หากโลกเลวลง ใครจะรับผิดชอบ

คนที่เลือก Trump หากเพราะชอบจริงๆ ก็แล้วไป แต่หากเพราะไม่ชอบ แต่ต้องการให้อเมริกาเกิดความเปลี่ยนแปลง ได้รับบทเรียน แล้วอเมริกาจะได้ดีขึ้น จึงเป็นความคิดที่ซับซ้อน และอำมหิต

ความน่าพิศวงคือคนอำมหิตบนโลกนี้มีมาก และมักเป็นคนฉลาด เป็นคนมีอำนาจ มีคนคิดแบบนี้ไม่น้อยในเมืองไทย

ยิ่งมีอำนาจ และเฉลียวฉลาด ยิ่งมีความอำมหิต

คนไม่มีอำนาจ และไม่ได้ฉลาดเป็นกรด กลับใจอ่อน

๑๐

นิพพานกับกฎแห่งกรรม แตกต่างกันตรงไหน ฉันว่านิพพานลึกซึ้งเกินไป เป็นนามธรรมเกินไป จนจับต้องไม่ได้ ในขณะที่กฎแห่งกรรม มีทั้งความลึกและความตื้น ในขณะที่มันลึกซึ้ง มันก็ตื้น ในขณะที่มันตื้น มันก็ลึก ในความเป็นนามธรรม มันก็เห็นได้ชัด เห็นง่ายเหลือเกิน มีตัวอย่างปรากฏขึ้นมากมายเท่าแมลง เท่าละอองเกสร ส่วนในความเป็นรูปธรรม มันก็คิดไปได้เรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด

๑๑

มีเศรษฐีชราคนหนึ่ง ป่วยเป็นงูสวัด คงเพราะภูมิต้านทานของเขาอ่อนแอ หรือยังไงไม่ทราบ เขาไปหาหมอคนไหน ใช้ยาตัวไหนก็ไม่หาย ป่วยอยู่นานเป็นปี ได้รับความทรมานเป็นอันมาก ในขณะที่คนหลายคนป่วยเป็นงูสวัด ไม่นานก็หาย ไม่หายเพราะหมอคนนั้น ก็หายเพราะหมอคนนี้ แต่เขากลับล้มเหลว

จวบจนวันหนึ่ง มีผู้หญิงคนหนึ่งรักษาเขาหาย แต่ที่น่าตื่นตะลึงคือ หญิงคนนี้ กลับกลายเป็นงูสวัดตัวใหม่พันรอบเอวของเขา เพราะจากวันนั้นมา เธอก็คอยดูดเงินของเขาทีละน้อย เพราะเขาตกเป็นหนี้บุญคุณเธอ เธอสามารถทวงบุญคุณเขาได้เรื่อยๆ และเขาก็ไม่อาจปฏิเสธ เหมือนตกอยู่ในมนต์สะกด จนกว่าเขาจะหมดตัว และตาย จึงจะสิ้นสุด

ฉันเห็นแล้วตกตะลึง สั่นสะเทือน เพราะในนี้มีทั้งตื้นและลึก

มันตื้นและลึก เท่ากฎแห่งกรรม

งูสวัดตัวนี้ มันทั้งตื้นและลึก เป็นทั้งนามและเป็นทั้งรูป มันทั้งดุและทั้งกระหาย