เปิดวาร์ป ผบ.ตร.ยี่ห้อนักสืบ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ก่อนถอดเครื่องแบบสู่ตำนานสีกากี/บทความโล่เงิน กิตติ ไกรฤกษ์

บทความโล่เงิน

กิตติ ไกรฤกษ์

 

เปิดวาร์ป ผบ.ตร.ยี่ห้อนักสืบ

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข

ก่อนถอดเครื่องแบบสู่ตำนานสีกากี

ใกล้เวลาถอดเครื่องแบบในบทบาท “ผู้นำสีกากี” เข้าไปทุกที สำหรับ “บิ๊กปั๊ดพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 12 สิ้นเดือนกันยายนนี้ เกษียณอายุราชการ ส่งไม้ต่อให้กับ ผบ.ตร.คนต่อไป

ชีวิตราชการ พล.ต.อ.สุวัฒน์ กว่าจะถึงจุดนี้ได้นั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. ผ่านจุดเสี่ยงตาย ชีวิตเฉียดปากเหวมาหลายครั้ง ผ่านจุดพลิกผันมีจุดเปลี่ยน จากพนักงานสอบสวนโรงพักหัวหมาก สนใจงานสืบสวนตั้งแต่ยังเป็นรองสารวัตร ฉายแววนักสืบตั้งแต่ยังมียศ ร.ต.ต. สมัยที่นครบาลยังไม่แบ่งพื้นที่ บก.น.1-9 “เดอะปั๊ด” คลุกคลีงานสืบสวนตั้งแต่สืบใต้-สืบเหนือ มีโอกาสใกล้ชิดผู้บังคับบัญชานักสืบระดับครู ทั้ง พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ เคยเป็นนายเวร พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีต ผบ.ตร.

แต่เส้นทางตำรวจที่เลือกสายหลัก คืองานสืบสวน คนใกล้ชิดต่างรู้ดี ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหน ไม่เคยทิ้งงานสืบสวน

กระทั่งเส้นทางข้าราชการสีกากีเติบโตจนจบที่ตำแหน่ง ผบ.ตร.

“บิ๊กปั๊ด” ตีตรา “ยี่ห้อนักสืบ” เป็นภาพลักษณ์ประจำตัวที่ผู้นำสีกากีคนนี้สั่งสมมาตั้งแต่เป็นนายตำรวจเด็กๆ จนถูกยกเป็น “นักสืบฝีมือเฉียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดคดีใหญ่ คดีสำคัญ คดียาก ต้องมีชื่อ “สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” เป็นบุคคลเบื้องหลัง ไขคดีจนคลี่คลาย ผลจากการทำงาน ฝีมือเยี่ยม สร้างชื่อ กลายเป็นแบรนด์ไฮเอนด์ประจำตัว

ยี่ห้อ “เดอะปั๊ด” ไม่ใช่เพียงแค่นักสืบฝีมือเยี่ยม แต่ยังเป็น “ครู” เป็นนายตำรวจที่ชอบให้วิชา ส่งต่อความรู้ ถ่ายทอดวิชานักสืบจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ปั้นทายาทประดับวงการสืบสวนมาแล้วหลายรุ่น

สมัยเป็นรอง ผกก.ข่าวกรอง สังกัดนครบาล สร้างหลักสูตรอบรมนักสืบขั้นพื้นฐาน ซึ่งถูกนำไปเป็นต้นแบบหลักสูตรนักสืบในปัจจุบัน

ศิษย์เอกรุ่นแรกของ “อาจารย์ปั๊ด” เป็นนักสืบระดับคีย์แมนของ ตร.ในปัจจุบันทั้ง พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ ผบก.สส.บช.น. พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.ภ.2 พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ ผบก.ภ.จว.ยะลา

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์

ก่อนเกษียณอายุราชการในอีกไม่กี่เดือน พล.ต.อ.สุวัฒน์มีโอกาสบรรยายพิเศษ ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต “จากพี่สู่น้อง” แก่นักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 76-79 ที่ยังอยู่ในรั้วสามพราน เล่าวิชาชีวิตจากชีวิตจริง ให้ตำรวจรุ่นน้องได้เรียนรู้ ก่อนออกจากโรงเรียนเข้าสู่เส้นทางสีกากี

“ตำแหน่ง ผบ.ตร.เขาแค่ให้เรามาเฝ้า มารับผิดชอบในช่วงสั้นๆ แล้วก็ส่งให้คนอื่นไปทำต่อ มันเป็นภาระหน้าที่ ถ้าเราทำห่วยก็ไม่ได้เรื่อง ถ้าเราทำดี คนเขาก็รับรู้เอง” คำกล่าวตอนหนึ่งของอาจารย์ปั๊ด

พล.ต.อ.สุวัฒน์บรรยายกว่า 1 ชั่วโมง กลั่นบทเรียน และมุมมองชีวิต ออกมาเป็นข้อคิดว่า ชีวิตคนเราทุนเริ่มต้นไม่เท่ากันเมื่อเลือกเดินสายสีกากี เป็นข้าราชการตำรวจต้นทุนชีวิตที่สร้างเองได้ คือ “งาน” ต้องตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด ชีวิตตำรวจอยากจะเจริญก้าวหน้า ต้องหาเรื่องยากๆ ทำ อย่าทำเรื่องง่ายๆ

ทุกการเดินทางในแต่ละช่วงชีวิต มีบทเรียนให้เรียนรู้เสมอ เช่น การทำคดีเกาะเต่า คดีการเสียชีวิตของแตงโม ดาราสาว ที่โซเชียลมีเดีย และอินฟลูเอนเซอร์เข้ามามีบทบาท แสดงความคิดเห็นไหลไปตามกระแสสังคม ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรม ต้องยึดหลักให้ได้ แม้จะสวนกระแสสังคม ดังนั้น ต้องเรียนรู้ ปรับตัว ยอมรับ เอาตัวรอดให้ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง หน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ต้องมีหลัก ขณะเดียวกันการถูกล้อมด้วยสังคมโซเชียลมีเดีย และกระแส ก็เป็นโจทย์ที่ตำรวจยุคใหม่ต้องผ่านให้ได้

พล.ต.อ.สุวัฒน์สอนน้องว่า อย่าไปตั้งเป้าที่ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือตำแหน่ง ชีวิตเริ่มต้น จะจบแบบไหนไม่มีใครรู้ ไม่ไปถึงเป้าตำแหน่งใหญ่ ไม่ได้หมายความว่าไม่สำเร็จ ให้มองความสำเร็จของงาน

นั่นคือความสำเร็จในชีวิตตำรวจ

 

ข้อคิดสำคัญเรื่อง “นาย เพื่อน และลูกน้อง” บิ๊กปั๊ดบอกว่า ชีวิตเดินคนเดียวไม่ได้ การทำงานต้องมีผู้บังคับบัญชา และต้องรักษาลูกน้องให้ดี

“ผมเป็นแบบนี้ถ้าจะเลือกระหว่างงาน ผู้บังคับบัญชา ประโยชน์ เกียรติยศ ชื่อเสียงเงินทอง ผมเลือกงาน กับผู้บังคับบัญชาก่อน ผมเลือกงานที่ชอบและมีผู้บังคับบัญชาที่ดี เพราะประสบการณ์ชีวิตสอนเราว่า ชีวิตนี้เราเดินคนเดียวไม่ได้ เราต้องหาคนไปกับเรา หาผู้บังคับบัญชา หาเพื่อนร่วมงาน หาลูกน้อง โดยเฉพาะลูกน้องที่ดีต้องรักษาไว้ยิ่งชีพ เป็นของขวัญที่พระเจ้าประทานมา ไม่ต้องคบคนเยอะ ดูแลลูกน้องที่เขาเดินตามเรา เราดูแลเขา เขาดูแลเรา เรื่องความเจริญก้าวหน้า เงินทอง เอาไว้ทีหลัง ผมไม่เคยเอามาเป็นตัวพิจารณาในการรับราชการ” เจ้าของรหัสพิทักษ์ 1 กล่าว

อีกข้อคิดที่เจ้ากรมปทุมวัน ไม่เพียงสอน แต่ทำให้เห็น “ตำรวจควรมียี่ห้อของตัวเอง มีภาพลักษณ์ที่คนอื่นมองเรา เช่น เก่งด้านสืบสวน เก่งด้านอำนวยการ เก่งด้านวางแผน เชี่ยวชาญด้านการสอบสวน ยี่ห้อ คือสิ่งที่คนอื่นตั้งให้เรา ไม่ใช่เราประกาศเองว่าเราเก่ง ว่าเราเป็นนักรบ เพราะนั่นคือการโฆษณาพร็อพพากันดา ยี่ห้อเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างเอง แล้วคนอื่นประกาศว่าเราเป็น อยากเก่งอะไร อยากทำอะไร ต้องทำ ศักดิ์ศรีต้องสร้างเอง เกียรติยศคนอื่นมอบให้”

ยังให้ข้อคิดเตือนใจอีกว่า “ชีวิตคนเราล้มเหลวได้บ่อย เอาความผิดพลาดเป็นบทเรียนในชีวิต อย่าให้มันเสียเปล่า ต้องลุกมาให้ได้… ชีวิตคือการเดินทาง อย่าเดินลงเหว อย่าตั้งใจเดินลงเหว ต้องเรียนรู้ ต้องสู้ หาทางพ้นจากเหวให้ได้ ปลายทางแต่ละคนไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน ชีวิตอาจพบจุดเสี่ยงที่ปากเหว ต้องมีสติ สะดุดล้มได้แต่ต้องลุกขึ้นมา”

อีกข้อที่ย้ำ “ชีวิตมีเรื่องทั้งเรื่องสนุกสนาน และเรื่องหดหู่ เวลารุ่งเรืองอย่าหลง และเมื่อถึงจุดที่ลำบาก อย่ายอมแพ้ อย่าหดหู่”

บทเรียนชีวิตราชการ ผบ.ตร.บอกกับตำรวจรุ่นน้องว่า “เราเลือกงานไม่ได้ เลือกผู้บังคับบัญชาไม่ได้ หากเลือกได้ เลือกให้ดี เลือกให้ถูก แต่สิ่งสำคัญคือเราเลือกได้เสมอ คือเลือกว่าจะทำตัวอย่างไรท่ามกลางปัจจัยที่เราควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ ทำอะไรที่มอบหมายให้ดีที่สุด มีสติ คิดให้ครบถ้วน”

“พยายามอย่าอยู่เฉย อย่าอยู่นิ่ง อย่าเป็นเป้านิ่ง ปรับตัวเรียนรู้ มีเท่าไหร่ใส่ไปให้เต็ม ชีวิตเขาอาจวาดให้เป็นอะไรก็แล้วแต่ ทำให้สมบูรณ์ ทำให้เท่ และอย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว” นี่เป็นบทเรียนชีวิตที่ ผบ.ตร.ฝากข้อคิดให้ตำรวจรุ่นหลัง

30 กันยายน 2565 หมดวาระในตำแหน่ง ผบ.ตร. แต่ชื่อ “พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” จะเป็นตำนานวงการสีกากี