“ชมภารี ชมภูรัตน์” อธิบดีหญิงหน้าใหม่ ป้ายแดง ทลาย Comfort Zone ปรับกรมอุตุฯ สู่ยุค 4.0

ชื่อ “ชมภารี ชมภูรัตน์” เป็นที่รู้จักขึ้นมาทันทีโดยไม่ต้องทำพีอาร์ให้เสียสตางค์ เมื่อ “โจ้-ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวพาดพิงในสภาทั้งชื่อจริง นามสกุลจริง พร้อมชื่อเล่น ในวันที่มีการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2566 ขณะที่หลายคนเพิ่งรู้ว่าอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาคนปัจจุบันเป็นผู้หญิง เพียงแต่เธอไม่ใช่ผู้หญิงคนแรกของกรม แต่เป็นคนที่สอง เพราะก่อนหน้านี้คนแรกเป็นข้าราชการลูกหม้อ ดำรงตำแหน่งได้ไม่กี่เดือนก็เกษียณ

ชมภารี ชื่อเล่นว่า “ตาบู” มาจากครอบครัวที่แม่เป็นข้าราชการ พ่อเป็นนักธุรกิจชนชั้นกลางในจังหวัดเชียงใหม่ หลังจบมัธยมจากโรงเรียนมงฟอร์ตฯ ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปเรียนต่อคณะบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เรียนจบเข้าทำงานบริษัทเอกชนได้หนึ่งปีก็ลาออกกลับไปอยู่บ้านเพราะพ่อเริ่มป่วย

จากนั้นเข้าเรียนปริญญาโทคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อด้วยปริญญาเอก (ประชากรศึกษา) มหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง แม่ขอร้องให้ไปสอบ ก.พ. อยากให้เป็นข้าราชการ เอาใจแม่ไปสอบและสอบได้ เริ่มงานตำแหน่งแรกที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ (ยังไม่เป็นกระทรวงอุดมศึกษา) นั่งหน้าห้องปลัดกระทรวงสันทัด สมชีวิตา จากนั้นย้ายไปอยู่สำนักนายกรัฐมนตรี

แล้วย้ายข้ามไปกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

 

ชมภารีได้รับการทาบทามจากผู้ใหญ่ให้ไปเป็นอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม 2565 เมื่อต้องมาเป็นอธิบดีหน้าใหม่ ป้ายแดง เป็นสิ่งที่เธอบอกว่า “ไม่นึกไม่ฝัน” ขณะเดียวกันก็ “หนักใจ”

เธอว่า “…เพราะกรมอุตุฯ เป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างมีความเฉพาะทาง และในอดีตอธิบดีล้วนเป็น ‘คนใน’ เท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ก็ให้กำลังใจ บอกว่าตัววิชาชีพเฉพาะนั้นมีเจ้าหน้าที่ นักวิชาการปฏิบัติงานอยู่แล้ว แต่เราในฐานะผู้บริหารเข้าใจงานบริหาร สามารถเติมเต็มในส่วนที่เขาขาด เพราะส่วนมากนักวิชาการหรือคนปฏิบัติงานมักไม่ถนัดเรื่องการบริหาร…”

ด้วยความที่เป็นผู้หญิงเข้ามาทำงานแบบโดดเดี่ยว วันแรกจึงโดน “รับน้อง” แบบเบาะๆ มีการส่งไลน์ต่อว่าเรื่องปิดถนนทำให้คนในกรมเดือดร้อนในวันที่ไปสักการะพระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ก่อนเข้าทำงานอย่างเป็นทางการ

ต่อเมื่อได้เห็นสไตล์การทำงานที่ผ่านมา 3-4 เดือน เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบก็น้อยลงและเริ่มมีเสียงตอบรับที่ดี

“…คือสไตล์การทำงานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราติดนิสัยเคยทำงานกับผู้ใหญ่ทุกอย่างต้องเร็ว ช้าไม่ได้ ก็จะติดทำงานเร็ว คนในกรมยังไม่ชิน บางทีมืดค่ำ เสาร์-อาทิตย์ก็ต้องตามงานหรือสั่งงานโดยตรง ไม่ต้องผ่านสองชั้นสามชั้นจะได้เข้าใจและทำถูก ไม่ต้องแก้ไปแก้มา ซึ่งคิดว่าตอนนี้เขาเริ่มชินกันแล้ว…”

เมื่อต้องมารับหน้าที่มือใหม่หัดขับ ความตั้งใจที่จะพัฒนากรมอุตุฯ สิ่งแรกคือการเปลี่ยนองค์กรให้เป็นดิจิทัล นำ IoT (Internet of Thing) เข้ามาช่วยให้การวัดสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน สามารถรายงานได้แบบเรียลไทม์

ที่ผ่านมาเครื่องมือตรวจวัดอากาศระดับผิวพื้น บางแห่งเป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งมาตั้งแต่ 80 ปีที่แล้ว ยังเป็นรูปแบบแมนนวล ใช้ถังรองรับปริมาณน้ำฝนเพื่อตรวจวัด และวัดอุณหภูมิด้วยระบบเทอร์โมมิเตอร์ ส่งข้อมูลวันละครั้ง ในบางวันที่วิกฤตถึงจะส่งสองครั้งต่อวัน ทำให้ข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับไม่เพียงพอในการนำไปพยากรณ์อากาศ จึงเกิดความไม่แม่นยำของการพยากรณ์ ดังนั้น จำเป็นต้องมีเครื่องมือตรวจวัดที่ปักหรือตั้งอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างถี่ เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุดทำให้ผิดพลาดน้อยและแม่นยำมากขึ้น

“ขณะนี้กรมอุตุฯ อยู่ระหว่างการเขียนเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างในการติดตั้งอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำฝนแบบ IoT มาทดแทนอุปกรณ์เดิมเพื่อติดตั้ง 1,100 จุด ภายใต้งบประมาณ 615 ล้านบาท ซึ่งจะพยายามผลักดันให้ทันภายในปีงบประมาณ 2565 เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาโควิด มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ทำให้การดำเนินงานขาดช่วงเลยค้างคากันมา ตอนนี้มีการร่างทีโออาร์และเชิญผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นกรรมการ เพื่อให้มีความโปร่งใส เป็นกลางที่สุด…” อธิบดีสาวกล่าว

และว่า นอกจากนี้ กรมอุตุฯ ได้ร่วมมือกับโครงการแผนบูรณาการน้ำ ในการเป็นผู้เก็บสถิติปริมาณน้ำฝนเพื่อให้รัฐบาลวางแผนการบริหารจัดการน้ำด้วย

 

เรื่องถัดมาเป็นการ up-skill บุคลากรภายในหน่วยงาน โดยจะปรับโครงสร้างพนักงาน เปลี่ยนแปลงลักษณะงานและอาจจะต้องเพิ่มความรับผิดชอบงานให้มากขึ้น ทุกวันนี้ส่วนมากเจ้าหน้าที่ของกรมอุตุฯ จบการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. จึงต้องส่งเสริมความรู้เจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น ที่สำคัญที่ต้องทำให้ได้ เป็นการเพิ่มความเป็นอยู่ของพนักงานให้ดีขึ้น ที่ผ่านมาจากการลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยม ชมภารีพบว่าบ้านพักบางสถานีสภาพใช้งานไม่ได้ หลังคาเปิดบ้าง รั่วบ้าง หรือพังทรุดโทรมอยู่ไม่ได้เพราะสร้างมา 40-50 ปีแล้ว

“…ตอนนี้เริ่มให้สำรวจบ้านพัก สถานีไหนต้องซ่อมแซม สถานีไหนอยู่ไม่ได้ต้องเปลี่ยนใหม่ แก้ปัญหาเป็นเฟสๆ ไป กลายเป็นว่าตอนนี้เข้ามาสั่งอะไรเยอะมากจนทุกคนงง เลยมีข่าวอธิบดีอยู่ไม่นานหรอกเดี๋ยวก็ไป ขบวนการข่าวลือข่าวเล่าเยอะมาก…” หัวเราะเสียงดัง

“…ที่ผ่านมายังมีปัญหาการแจ้งเตือนภัยประชาชน ยังไม่ทั่วถึง แม้ว่าเป็นหน้าที่ของ ปภ. (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) แต่หลายหน่วยงานได้นำข้อมูลของกรมอุตุฯ ไปใช้ ยกตัวอย่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นำข้อมูลไปช่วยในการวิเคราะห์โรคติดต่อที่มาจากแมลง ดูว่าแมลงชนิดนี้เติบโตขยายพันธุ์ช่วงไหน จะได้วางแผนฉีดยาฆ่าแมลง ส่วนกรมอนามัยนำข้อมูลไปคำนวณเรื่องฮีต อินเด็กซ์ จะได้เตือนประชาชนเรื่องฮีต สโตรก ทำให้สามารถจัดการด้านสาธารณสุขและยังช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดปริมาณงานของแพทย์ พยาบาล หรือคนในกรุงเทพฯ อยากรู้ว่าต้องซักผ้าตากผ้า แม่ค้าอยากรู้ว่าจะตั้งแผงลอยดีไหม หรือ วางแผนการกลับบ้าน เพราะฉะนั้น ข้อมูลของกรมอุตุฯ เกี่ยวพันไปทุกเซ็กเตอร์…”

ที่เป็นประโยชน์อย่างมาก คือการนำข้อมูลกรมอุตุฯ ไปใช้ในสมาร์ตซิตี้ โดยบริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นเชื่อมกับข้อมูลจากกรมอุตุฯ นำไปวิเคราะห์และวางแผนในการขุดคลองซึ่งจะเปิดตัวที่ภูเก็ตเป็นแห่งแรก กลางเดือนกันยายน 2565

 

นอกจากนี้แล้ว การ “เปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่” ในการรายงานอากาศ จะเปลี่ยนภาษาที่ใช้สื่อกับชาวบ้านให้ฟังง่ายและเข้าใจมากขึ้น ปรับแก้เว็บไซต์ของกรมอุตุฯ ให้ดูง่ายขึ้น

“…เรื่องที่ต้องเร่งทำ คือกำลังจะขยายความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการแจ้งเตือนภัย การพยากรณ์อากาศรายพื้นที่ไปยังประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งต้องให้ กสทช.เป็นตัวกลางในการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในลักษณะเซลล์ บรอดแคส (Cell Broadcast) ประชาชนจะได้รับข้อความเตือนภัยผ่านเอสเอ็มเอส ซึ่งโอเปอเรเตอร์แจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายในการลงทุนระบบเพิ่ม จึงอยู่ระหว่างการหารือเรื่องงบประมาณ ระบบนี้มีต่างประเทศใช้แล้ว เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ระบบคล้ายกับโปรโมชั่นที่เมื่อเราเดินเข้าห้างสรรพสินค้า แล้วได้รับเอสเอ็มเอสเข้ามือถือ อันนี้จะตอบโจทย์มากกว่าการแจ้งผ่านไลน์กลุ่ม ซึ่งมีข้อจำกัด เพราะคนจะรู้ข่าวสารต้องเข้าร่วมกลุ่ม และกว่าจะดึงข้อมูลส่งผ่านท่อใช้เวลานาน ไม่ทันต่อเหตุการณ์ หากโครงการนี้เกิดจะต่อยอดไปยังการแจ้งเตือนเรื่องอื่นๆ ได้ด้วย เช่น อาชญากรรม การแจ้งคนหาย ไฟไหม้ เป็นต้น…”

พูดถึงตรงนี้อธิบดีหญิงสรุปภาพรวม ว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่วางตัวโครงการของปี 2566 ไว้หมดแล้ว อาจจะต้องใช้โอกาสปลายปีนี้ทำแผนของปี 2567 จากนั้นจึงจะดำเนินการโครงการใหญ่ๆ ได้

“เราพยายามจะบูรณาการร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ตอนนี้อธิบดีทำตัวเหมือนเซลส์ขายของแล้วค่ะ ไปพบทุกหน่วยทำเอ็มโอยูขอความร่วมมือ ส่วนไหนที่เขามีข้อมูลเราก็พยายามเชื่อมมาเพื่อเอามาใช้ประโยชน์ในการพยากรณ์ทำให้แม่นยำขึ้น การที่เราจะเปลี่ยนแปลงอะไรคงต้องอาศัยเวลา เข้ามายังไม่ถึง 6 เดือน อาจจะต้องขอเวลามากกว่านี้ เนื่องจากว่าตอนนี้ภารกิจของกรมอุตุฯ ที่ผ่านมามีหลายท่านไม่เข้าใจ ว่าทำไมกรมต้องมาตั้งระดับวัดน้ำ ทำไมไม่เป็นภารกิจของกรมชลประทาน ที่จริงแล้วเราเป็นตัวแทนของประเทศที่เข้าไปเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO จึงเป็นภารกิจข้อตกลงต้องส่งข้อมูลให้ WMO”

ดังนั้น ความสำคัญของกรมอุตุนิยมวิทยานับต่อจากนี้ไป จำต้องทลาย Comfort Zone และร่วมมือร่วมใจกันสร้างข้อมูลจำนวนมาหาศาล พร้อมส่งต่อให้กับทุกหน่วยงานที่ต้องการใช้ประโยชน์ บทบาทและหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยาจึงไม่ได้มีแค่เพียงการพยากรณ์อากาศ แต่เป็นหน่วยงาน “สารตั้งต้น” ของทุกฝ่าย