ขยะต่างด้าว ‘ปมซ่อนเงื่อน’ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

ขยะต่างด้าว ‘ปมซ่อนเงื่อน’

 

คําแถลงของ “นิติพล ผิวเหมาะ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรื่องการนำเข้าขยะจากออสเตรเลีย ปริมาณ 130 ตัน กรมศุลกากรและกรมควบคุมมลพิษตรวจพบที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี นำไปสู่การผลักดันให้ส่งตู้คอนเทนเนอร์ใส่ขยะต่างด้าวกลับประเทศต้นทางนั้น ทำให้ชาวบ้านอย่างเราๆ ตาสว่างได้เห็นปมซ่อนเงื่อนในมุมมืดๆ อีกหลายปม

คุณนิติพลบอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงปรากฏการณ์บนยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะการลักลอกนำเข้าขยะเกิดขึ้นมานานแล้ว เป็นเพราะในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เน้นส่งเสริมกิจการเกี่ยวกับขยะให้สร้างง่าย ทำกำไรได้สะดวก ไม่ใส่ใจรับผิดชอบกับผลที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรงขยะรีไซเคิลหรือโรงไฟฟ้าขยะ

“มีข้อครหามากมายเกี่ยวกับการทุจริตเชิงนโยบายที่เอื้อประโยชน์แบ่งกันไประหว่างหน่วยงานบางหน่วยกับเอกชน ภายใต้แผนแม่บทบริหารจัดการขยะ ปี 2559-2564 เอาเฉพาะ 3 ปีแรก แผนนี้รับงบประมาณไปแล้วกว่า 1.78 แสนล้านบาท ลองหลับตานึกดูจะเห็นภาพง่ายๆ ว่า ถ้าแบ่งเอกชนครึ่ง รัฐบาลครึ่ง มันเป็นผลประโยชน์ขนาดไหน”

คุณนิติพลชี้

 

ถึงตรงนี้ขอขยายความเรื่องแผนแม่บทบริหารจัดการขยะเพิ่มเติมว่า เป็นแผนของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำขึ้นโดยยกเหตุผลว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำหนดให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ จึงร่างแผนแม่บทฯ เพื่อลดปริมาณขยะ ณ แหล่งกำเนิด นำของเสียกลับมาใช้ซ้ำและใช้ประโยชน์ใหม่ตามหลักการ 3 R ( Reuse Reduce Recycle)

มุ่งเป้าให้การกำจัดขยะเป็นแบบศูนย์รวมและการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่ปี 2559-2564 หวังจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน พัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

รายละเอียดในแผนดังกล่าว กรมควบคุมมลพิษอ้างปริมาณขยะตกค้างทั่วประเทศ เฉลี่ยปีละประมาณ 30.49 ล้านตัน จังหวัดไหนตกค้างมากที่สุด ไล่เรียงมาตามลำดับ พร้อมยกเหตุผลว่าถ้าจัดการไม่ถูกต้องจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน

กรมควบคุมมลพิษยังทำโมเดลกำจัดขยะมูลฝอยอย่างสวยหรู แบ่งเป็นคลัสเตอร์ พื้นที่ชุมชนขนาดใหญ่ กลาง เล็ก พื้นที่ไหนมีศักยภาพก็ให้ทำโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะ

นิติพล ผิวเหมาะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

ถ้าดูเป้าหมายของแผนแม่บท ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปปริมาณขยะในประเทศไทยน่าจะลดลง คุณภาพสิ่งแวดล้อมน่าจะดีขึ้น

แต่ในมุมของคุณนิติพลกลับตรงข้าม

“ปัจจุบันขยะก็ยังท่วมท้นล้นเมืองไทย เป็นใบเสร็จชัดเจนสะท้อนความล้มเหลว ผมยืนยันว่า นโยบายเหล่านี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อลดขยะในประเทศหรือทำเพื่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่แรก เพียงแต่ถูกใช้บังหน้าเท่านั้น” ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคก้าวไกลซัดเต็มๆ

“หากคุณวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ ต้องการแก้ปัญหาขยะอย่างจริงจังต้องไปจัดการให้ตรงจุด เพราะถ้านโยบายยังอยู่ ตู้คอนเทนเนอร์ขยะจะนำเข้ามาอีกเรื่อยๆ และคุณวราวุธไม่สามารถไล่ตรวจตู้คอนเทนเนอร์ที่นำขยะเข้ามาป้อนโรงงานขยะซึ่งผุดเป็นดอกเห็ดในยุค คสช.ได้”

คุณนิติพลยังแสดงความกังวลว่า จุดเปลี่ยนที่สำคัญทำให้ประเทศไทยต้องเสี่ยงกลายเป็นถังขยะโลก เป็นผลพวงที่ คสช.ปลดล็อกมาตรการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมหลายอย่าง โดยเฉพาะคำสั่ง คสช.4/2559 ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองสำหรับกิจการรีไซเคิลและกำจัดขยะ รวมถึงกฎหมายฉบับใหม่ๆ อย่างพระราชบัญญัติโรงงานที่ผ่อนปรนระเบียบให้ตั้งโรงงานรับกำจัดขยะได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องรายงานการศึกษาประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ (Environmental Impact Assessment)

การปลดล็อกมาตรการต่างๆ รวมถึงการออกกฎหมายเอื้อให้เกิดโรงงานกำจัดขยะได้ง่ายขึ้นนั้น ทำให้เกิดโรงขยะที่เอาขยะมารีไซเคิลหากำไรหรือผลิตไฟฟ้า แต่ขยะส่วนหนึ่งไม่ใช่ขยะในประเทศ เป็นขยะนำเข้ามาจากต่างประเทศ

ขยะจากประเทศพัฒนาแล้วจะคัดแยกหรือทำความสะอาดมาก่อน เป็นที่ชื่นชอบของโรงงานขยะในบ้านเรา เพราะจัดการง่ายกว่า

“นี่เป็นเหตุผลทำไมต้องนำเข้าขยะ ถึงจะห้ามแล้วก็ยังลักลอบนำเข้ามาอีก โครงการนี้จึงมีปัญหาตั้งแต่แรกเริ่ม บางพื้นที่อาจปั้นตัวเลขปริมาณขยะเพื่อให้มีโรงงานขยะ จนดูเหมือนว่าขยะกลายเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของ คสช.”

 

คุณนิติพลยกตัวอย่าง โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี แค่เฉพาะพื้นที่จังหวัดสระแก้ว มีการขออนุญาตก่อตั้งโรงงาน 40 โรงงาน ถ้าได้รับอนุญาตให้ก่อตั้งได้ทั้งหมด จังหวัดสระแก้วจะมีโรงงานขยะเฉลี่ยตำบลละโรง

“หลายพื้นที่พบว่ามีการร้องเรียนถึงผลกระทบทางมลพิษจากการก่อตั้งโรงงานขยะ นอกจากนี้ บรรดาข้อผ่อนปรนที่เกิดในยุค คสช. ไม่ว่าการอนุญาตหรือกำกัดดูแลกิจการเกี่ยวกับขยะ ทำให้หลายๆ โรงงานมีมาตรการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่ำมาก เป็นช่องว่างที่นำไปสู่ความหย่อนยานต่างๆ ตามมา รวมถึงการลักลอบนำเข้าขยะปริมาณมหาศาล” ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคก้าวไกลตอกย้ำ

คุณนิติพลยังบอกว่า มีข้อมูลที่น่าตกใจปรากฏในรายงานของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2561 ในการสำรวจสถานที่กำจัดขยะทั้งประเทศ 2,789 แห่ง พบว่า กำจัดขยะอย่างไม่ถูกต้องถึง 2,171 แห่ง หรือร้อยละ 80 ทั้งที่มีแผนและรับงบประมาณไปเรียบร้อยแล้ว

“การตั้งโรงงานกำจัดขยะไม่ว่าจะเป็นรูปแบบรีไซเคิล ผลิตไฟฟ้าหรือเผาทำลายโดยสมบูรณ์ก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในชุมชนหรือนิคมอุตสาหกรรม แนวทางที่ควรเป็นคือสิ่งที่สวนทางกับนโยบาย คสช.ทั้งหมด ต้องไม่ใช่ปล่อยปละละเลยทุกขั้นตอนโดยเอาสิ่งแวดล้อมมาบังหน้า แต่ควรอยู่บนพื้นฐานการใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดตั้งแต่การอนุญาต กำหนดหลักเกณฑ์กำกับดูแลอย่างเคร่งครัด ภายใต้ความโปร่งใสเปิดเผยตรวจสอบได้ง่าย”

คุณนิติพลให้ข้อสรุป

 

ทั้งหมดนี้ผมเห็นด้วยกับคุณนิติพลเป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ ผมเคยเขียนชื่นชม พล.อ.ประยุทธ์ที่หยิบยกปัญหาขยะขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ก้าวหน้า แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้สวนทางกับเป้าหมายอย่างสิ้นเชิง เมืองไทยกลับเป็นแหล่งรวมขยะของโลกแทนประเทศจีน

ถ้าย้อนไปเมื่อปลายปี 2560 รัฐบาลจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศเพราะขยะเหล่านี้ทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศเป็นพิษ น้ำเน่าเสีย และผู้คนเจ็บป่วย บรรดาประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐ หรือยุโรป พากันปั่นป่วนเพราะไม่รู้จะเอาขยะที่มีปริมาณมโหฬารไปโยนทิ้งที่ไหน แต่ในที่สุดก็หันมาเล็งประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรือกัมพูชา เป็นแหล่งทิ้งขยะ

ปี 2561 เป็นช่วง “คสช.” คุมบังเหียนประเทศ ปริมาณการนำเข้าขยะพุ่งเป็น 8 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2560 จากเคยนำเข้าขยะเพียง 69,500 ตัน กระโดดเป็น 552,912 ตัน และยังพบการลักลอบนำเข้าขยะอีกจำนวนมาก

ในบางเหตุการณ์ นายตำรวจใหญ่ระดับรอง ผบ.ตร.ถึงขั้นยกกำลังลุยนิคมอุตสาหกรรมย่านลาดกระบัง ชานกรุง โชว์การจับตู้คอนเทนเนอร์ขยะต่างด้าวกลายเป็นข่าวใหญ่โต

จากปี 2561มาถึงวันนี้ ตู้คอนเทนเนอร์อัดขยะต่างด้าวยังไหลทะลักเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ข้อกล่าวหา “แม่บทบริหารจัดการขยะ ปี 2559-2564” เป็นแค่แผนบังหน้านโยบายสิ่งแวดล้อม

แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในนโยบายนี้คือการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนโรงงานกำจัดขยะ โรงไฟฟ้าขยะ จึงน่าเชื่อได้ว่าเป็นความจริง •