การศึกษา/”พระเมรุมาศ” รัชกาลที่ 9 สุดยอดงานศิลปะ..แดนสยาม

การศึกษา/จุไรรัตน์ พงศาภิชาติ

“พระเมรุมาศ” รัชกาลที่ 9 สุดยอดงานศิลปะ..แดนสยาม

ภาพรวมของการก่อสร้าง “พระเมรุมาศ” ในรัชกาลที่ 9 ใกล้เสร็จสมบูรณ์ 100% พร้อมสำหรับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างเก็บรายละเอียด เนื่องจากการจัดสร้างพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ จะปรับเปลี่ยนตามสภาพ และความเหมาะสม อีกทั้งเป็นช่วงที่ต้องถนอมของที่ต้องโดนแดดและโดนฝน

รูปแบบพระเมรุมาศครั้งนี้ แตกต่างกว่าพระเมรุมาศในครั้งที่ผ่านๆ มา แม้ภาพรวมจะยึดตามโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

โดยรูปแบบพระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9 มีลักษณะทรงบุษบก 9 ยอด บุษบกประธานมี 7 ชั้นเชิงกลอน แต่มีพระเมรุมาศเพียงชั้นเดียว เพราะถอดเอาพระเมรุใหญ่ที่เป็นพระเมรุทรงปรางค์ที่คลุมภายนอกออก ซึ่งถือเป็นลักษณะโดดเด่นของพระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9

สอดรับกับความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนาที่ยึดคติไตรภูมิ มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสาม

รวมถึงยึดคติความเชื่อตามศาสนาพราหมณ์ ที่เชื่อว่าพระมหากษัตริย์สืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้า โดยเชื่อว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ “พระนารายณ์อวตาร”

โดยพระเมรุมาศในครั้งนี้ มีฐานกว้างด้านละ 55.18 เมตร และสูง 59.60 เมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา

นอกจากนี้ พระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9 ยังมีความแตกต่างจะพระเมรุมาศที่ผ่านๆ มา 5 ประการ คือ

1. ชั้นเชิงกลอน มีความใหญ่ของบุษบกประธานถึง 7 ชั้นเชิงกลอน ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน

2. สื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพระโพธิสัตว์

3. พระเมรุมาศมี 4 ชั้นชาลา แสดงถึงความสมจริงของเขาพระสุเมรุ

4. สระอโนดาตล้อมรอบเขาพระสุเมรุ โดยสระอโนดาตทั้ง 4 มุม เป็นสระน้ำที่ขุดขึ้นจริง

และ 5.เสาโคมไฟครุฑ เปลี่ยนจากเดิมเป็นเสาหงส์ เนื่องจากครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์

การวางผังที่ตั้งของพระเมรุมาศในรัชกาลที่ 9 ยังโดดเด่นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยพิจารณาจากจุดตัดแนวแกนของโบราณสถานที่สำคัญบนเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน

โดยแกนเหนือ-ใต้ ตรงกับแนวเจดีย์ทองในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และแนวแกนตะวันออก-ตะวันตก ตรงกับอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร

โดยจุดที่ตัดกันจะเป็นที่ตั้งของพระเมรุมาศ ซึ่งการวางผังให้พระเมรุมาศเชื่อมโยงกับพระบรมมหาราชวัง และวัด

เชื่อมโยงว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็น “พระมหาราชา” และทรงเป็น “อัครศาสนูปถัมภก”

การก่อสร้างพระเมรุมาศในครั้งนี้ ยังใช้วิธีเทคอนกรีตฐานรากของพระเมรุมาศ และพระที่นั่งทรงธรรม เพื่อความมั่นคง เนื่องจากพระเมรุมาศ และพระที่นั่งทรงธรรม มีขนาดใหญ่กว่าทุกครั้ง โดยจะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยจำลองสถานการณ์การเกิดแรงลมระดับรุนแรงที่สุด เพื่อออกแบบให้รับแรงลมได้

รวมถึงต้องเจาะสำรวจชั้นดินเพื่อคำนวณกำลังรับน้ำหนักดินฐานราก

โดยมีโครงเหล็กถักเป็นตัวยึดที่ฐานรากอีกชั้น

การตกแต่งพระเมรุมาศ จะใช้งานซ้อนไม้ทดแทนการแกะสลักไม้จริง ส่วนใหญ่เป็นงานซ้อนไม้ด้วยวิธีการหล่อด้วยไฟเบอร์กลาส

ส่วนการประดับตกแต่งจะใช้การปิดผ้าทองย่นสาบกระดาษสี แทนการปิดทองประดับกระจก

โดยใช้ผ้าทองย่น 5 สีหลัก ได้แก่ สีทอง สีขาว สีน้ำเงิน สีชมพู และสีเขียว ซึ่งลายผ้าย่นที่ใช้ประดับฐานชั้นล่าง ได้คัดสรรลายพิเศษ อาทิ ลายก้ามปู ลายก้านแย่ง ลายลูกฟัก และลายก้านต่อ เป็นลวดลายที่มีเอกลักษณ์ และรังสรรค์เพื่องานครั้งนี้โดยเฉพาะ โดยจะใช้ทุกส่วนสำคัญของพระเมรุมาศ บริเวณฐานสิงห์ บัวฐาน และเสาหัวเม็ด

พระเมรุมาศ รัชกาลที่ 9 ยังประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างสำคัญๆ ได้แก่ “บุษบกซ่าง” หรือ “สำซ่าง”

ใช้เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมตลอดงานพระเมรุมาศ

“หอเปลื้อง” สิ่งปลูกสร้างขนาดเล็กที่ใช้เก็บพระโกศพระบรมศพ และเครื่องประกอบหลังจากที่เปลื้องพระบรมศพออกจากพระลองขึ้นประดิษฐานบนพระจิตกาธาน และเป็นที่เก็บเครื่องใช้เบ็ดเตล็ดในช่วงการถวายพระเพลิงพระบรมศพ

และ “นพปฎลมหาเศวตฉัตร” หรือเศวตฉัตร 9 ชั้น สำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีแล้ว

ลักษณะเป็นฉัตรผ้าขาว 9 ชั้น โดยนพปฎลมหาเศวตฉัตรจะประดิษฐานบนยอดสุดของบุษบกประธาน และฉัตรชั้นที่ 7 มีมหาเทพพระโพธิสัตว์ประดับอยู่ โดยส่วนยอดจะเป็นองค์เจดีย์

นอกจากนี้ ยังมีอาคารประกอบพระเมรุมาศ เป็นอาคารประกอบในมณฑลพิธี ได้แก่ “พระที่นั่งทรงธรรม” มีความสำคัญรองลงมาจากพระเมรุมาศ ตั้งอยู่กึ่งกลางด้านทิศตะวันตกของพระเมรุมาศ สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ประทับทรงธรรม และประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ และมีที่สำหรับพระราชอาคันตุกะ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และคณะทูตานุทูต เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รองรับได้ประมาณ 2,700 คน

การตกแต่งภายในจะยึดตามโบราณราชประเพณี ประดับลายซ้อนไม้ ผ้าทองย่น ลายฉลุ รวมถึงมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แสดงเรื่องราวโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3 ด้าน 46 โครงการ

“ศาลาลูกขุน” ใช้สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ รวมทั้ง ใช้เป็นอาคารบริการในงานพระราชพิธี

ครั้งนี้มีศาลาลูกขุน 3 แบบ

ศาลาลูกขุน 1 จำนวน 4 หลัง ใช้สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ศาลาลูกขุน 2 จำนวน 2 หลัง ใช้เป็นที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในลำดับรองลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

และศาลาลูกขุน 3 จำนวน 5 หลัง อยู่นอกรั้วราชวัติ ใช้สำหรับงานบริการในช่วงพระราชพิธี “ทับเกษตร” มี 4 หลัง เป็นอาคารที่สร้างอยู่ที่มุมทั้งสี่ของพื้นที่ เพื่อกำหนดขอบเขตของมณฑลพิธี เป็นต้น

ส่วนอาคารประกอบพระเมรุมาศนอกมณฑลพิธี ได้แก่ “พลับพลายก” หรือ “พลับพลาอาคารทรงโถง” ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯ ประทับเพื่อรอรับส่งพระบรมศพในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ

ประกอบด้วย “พลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” สำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯ ประทับระหว่างพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระยานมาศสามลำคาน และอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ ก่อนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ สดับปกรณ์

“พลับพลายกท้องสนามหลวง” ใช้ประดิษฐานเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้านซ้ายเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร

และ “พลับพลาหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท” สำหรับเจ้านายฝ่ายในประทับ ทอดพระเนตรริ้วขบวน และถวายบังคมพระบรมศพ

การก่อสร้างพระเมรุมาศ ในรัชกาลที่ 9 ครั้งนี้ ทั้งผู้เกี่ยวข้อง และจิตอาสา ต่างทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อให้พระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ มีความวิจิตร งดงาม เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย

และถวายพระเกียรติสูงสุดแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในวาระที่พระองค์ท่านเสด็จสู่สวรรคาลัย