ขอ ‘บุพเพฯ’ ด้วยคน / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

ขอ ‘บุพเพฯ’ ด้วยคน

 

ขอไม่ตกเทรนด์กับเขานักหน่อยด้วยการไปชมภาพยนตร์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส 2” ที่ทำรายได้ใกล้ 300 ล้านเข้าไปทุกที เผลอๆ ตอนที่ตีพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์เล่มนี้อาจจะเลยไปแล้วก็ได้

ด้วยกระแสและข่าวคราวในโลกโซเชียลจึงอยากสัมผัสว่าอะไรทำให้หนังเรื่องนี้ถูกใจผู้ชมมากขนาดนี้ได้

รอบที่ผมไปชมนั้นเป็นวันธรรมดารอบสายๆ แต่ก็มีผู้ชมไม่น้อยเลย และมีที่เป็นคนสูงวัยมาดูก็มาก รวมทั้งเด็กนักเรียนก็ไม่น้อย บรรยากาศการชมก็มีเสียงหัวเราะจากทุกๆ กลุ่มเป็นระยะ ชี้ได้ว่าตัวหนังเข้าถึงคนทุกวัย

การที่คนสูงวัยหน่อยยอมออกจากบ้านเดินเข้าโรงหนังนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แสดงว่าพวกเขาต้องการชมจริงๆ เชื่อว่าส่วนใหญ่คงเป็นแฟนเก่าแก่ตัวจริงตั้งแต่เป็นละครโทรทัศน์ที่โด่งดังเมื่อสามปีก่อน ก็ดีใจที่เห็นพวกเขามีความสุขกับหนังที่ยาวกว่าสองชั่วโมงเรื่องนี้

สําหรับตัวหนังแล้ว ครบรสชาติอย่างที่ได้อ่านคำวิจารณ์มาก่อน มีทั้งความสนุก ขำขัน ซาบซึ้ง โรแมนติก และมีลุ้นเอาใจช่วยในช่วงท้ายๆ ซึ่งตัวบทนั้นทำให้ดูง่าย ติดตามชมได้ตลอดแม้จะไม่ได้เป็นแฟนละครมาก่อนก็ตาม ยิ่งผสมกับการนำเสนอที่น่าสนใจด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกและจังหวะการตัดต่อ บวกการผสมเสียงที่ช่วยเสริมอารมณ์ตลอดเรื่อง ก็ยิ่งดูเพลิน

หนังจับเรื่องราวในยุคพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ของราชวงศ์จักรี ตามประวัติศาสตร์นั้นในยุคนี้มีความเจริญในเชิงการค้าขายกับต่างประเทศอยู่มาก ด้วยพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านนี้ โดยเฉพาะการค้าขายกับประเทศจีน ที่เรามีเรือสำเภาใหญ่ขนสินค้าท่องมหาสมุทรไปทำการค้ามาแล้ว นับว่าเจริญและทันสมัยมาก จนพระองค์ได้รับสมญานามว่า “เจ้าสัว”

ตัวละครสำคัญที่เป็นต้นเหตุของความวุ่นวายที่ผสมกับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของพระเอกโป๊ปกับนางเอกเบลล่าก็คือ “นายหันแตร” ที่มีชื่อฝรั่งว่า มิสเตอร์โรเบิร์ต ฮันเตอร์ เป็นคนสก๊อต เข้ามาทำการค้าขายในประเทศไทย และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้มียศเป็น “หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช”

แต่นายหันแตรเป็นคนคิดชั่ว เรือสำเภาที่ขนสินค้ามาขายในสยามนั้นมีการลักลอบนำฝิ่นเข้ามาแอบขาย และมักวางอำนาจบาตรใหญ่ข่มเหงข้าราชการไทยและคนไทยอยู่เนืองๆ จนภายหลังเรื่องทราบถึงในหลวง จึงถูกเนรเทศให้พ้นสยามประเทศไป

ในหนังจะแสดงถึงวีรกรรมความไม่ดีของนายหันแตรนี่แหละ ที่เผอิญไปผูกพันกับตัวละครหลัก 3 ตัว คือ “โป๊ป” ที่เป็นขุนสมบัติบดี “เบลล่า” ในบทแม่เกสรที่เป็นคู่หมั้นของโป๊ป ชอบในการเรียนรู้ สนใจโลกสมัยใหม่ รวมทั้งร่ำเรียนภาษาอังกฤษจากบาทหลวงด้วย

อีกคนคือ “ไอซ์ พาริส” ในบทเมธัส หนุ่มวัยรุ่นที่ข้ามเวลามาจากยุคปัจจุบันมาสร้างความโกลาหล และความสนุกให้กับความรักของคู่นี้ และพลอยไปพัวพันกับนายหันแตรเพราะได้ไปเป็นผู้ช่วยขายสินค้าที่ห้างของนายหันแตรนั่นเอง ซึ่งในระหว่างรอเวลาเพื่อเดินทางกลับมายังโลกปัจจุบัน เขาก็ได้ผจญภัยไปกับแผนการร้ายของนายหันแตร และแผนการรักของขุนสมบัติบดี กับแม่เกสรด้วย

สำหรับคู่พระนาง โป๊ปกับเบลล่านั้น หากใครเป็นแฟนคู่นี้ตั้งแต่บุพเพฯ ที่เป็นละคร ก็จะได้อิ่มเอมแบบฟินจิกหมอนไปกับความสัมพันธ์และท่าทีพ่อแง่แม่งอนของทั้งคู่ เพราะบทส่งให้ได้เล่นอย่างเต็มที่ มีทั้งสนุก ขำขัน และซาบซึ้ง โรแมนติกกับความรักที่เป็น destiny ของตัวละครทั้งคู่

ยิ่งหนังตั้งใจให้การแสดงของตัวละครทั้งหมดเป็นแบบละครโทรทัศน์ผสมแอ๊กติ้งแบบการ์ตูนแล้ว ก็ยิ่งขับเน้นอารมณ์สนุกได้เต็มเหยียด สังเกตได้จากเสียงหัวเราะคำโตกับจังหวะที่หนังวางมุขเอาไว้ที่ได้ผลเต็มที่

ซึ่งจะว่าไปแล้ว การนำเสนอแนวทางการแสดงอย่างนี้ ไม่ใช่แนวแบบภาพยนตร์ที่มักจะสมจริงและหนักแน่นลุ่มลึกกว่านี้ แต่เข้าใจได้ว่าเมื่อเลือกเอาเรื่องที่ประสบความสำเร็จอย่างมากจากการเป็นละครโทรทัศน์มานำเสนอ ก็ต้องรักษาเชื่อมต่อการแสดงที่คนดูคุ้นเคย ชื่นชอบ และประทับใจมาแล้วให้คงอยู่ เพื่อไม่ให้เกิดอาการ “ผิดหวัง” จากภาพที่คุ้นชิน

พยายามนึกว่าเคยมีภาพยนตร์ไทยที่นำมาสร้างที่ต่อยอดความสำเร็จจากการเป็นละครโทรทัศน์มาก่อนบ้างไหม ก็นึกไม่ออก

ส่วนถ้าจากภาพยนตร์ที่เป็นออริจินัลแล้วไปเป็นละครนั้นมีอยู่หลายเรื่อง เช่น “แม่นาคพระโขนง” ที่โด่งดังมาตั้งแต่ยุคปรียา รุ่งเรือง เป็นแม่นาคโน่น ก็มีการนำมาทำเป็นละครโทรทัศน์หลายต่อหลายครั้ง หรือเรื่อง “7 ประจัญบาน” ก็ด้วย ส่วนที่สมัยใหม่หน่อยก็คือ “ฉลาดเกมส์โกง” ที่จากหนังมาเป็นละครโทรทัศน์ในภายหลัง

ไม่นับเรื่องที่ทำมาจากนวนิยาย หรือเป็นบทประพันธ์มาก่อน เพราะนั่นจะมีอยู่เยอะมาก ที่เริ่มต้นด้วยงานเขียน แล้วแปลงเป็นผลงานทางจอแก้ว และหรือจอเงินในเวลาต่อมา

ซึ่งหากเรื่องบุพเพสันนิวาส 2 นี้ เป็นการสร้างขึ้นใหม่โดยไม่ได้มีความเป็นละครโทรทัศน์มาก่อน เชื่อว่าผู้สร้าง ผู้เขียนบท คงจะเลือกเล่าและนำเสนอในบริบทแบบที่เป็น “ภาพยนตร์” จริงจังมากกว่า เพราะธรรมชาติวิถีและประโยชน์ในการสื่อสารของละครและภาพยนตร์นั้นต่างกัน

ดังจะเห็นได้จากเรื่อง “ทวิภพ” ที่เป็นบทประพันธ์จากปลายปากกาของทมยันตีมาก่อน เมื่อมีการนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ที่ก็เอื้อให้มีการใส่รายละเอียดในเนื้อหา และในการแสดงของตัวละครต่างๆ ได้มากขึ้น มีเกร็ดเล็ดเกร็ดน้อยและวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่ซับซ้อน เหมาะกับพฤติกรรมของแฟนละครโทรทัศน์

เมื่อทำเป็นหนังในปี 2533 จากการกำกับฯ ของเชิด ทรงศรี นำแสดงโดยฉัตรชัย เปล่งพานิช และจันทร์จิรา จูแจ้ง ก็ยังคงอรรถรสแบบในนวนิยาย แต่ลดทอนรายละเอียดจากการเป็นละครลง เพราะเวลานำเสนอน้อยกว่า

ถึงกระนั้นเมื่อได้นำมาสร้างอีกครั้งในปี 2547 ผลงานของสุรพงษ์ พินิจค้า ก็ได้มีการตีความใหม่ และใช้วิถีของความเป็นภาพยนตร์อย่างเต็มเปี่ยม ทั้งความจริงจังของเนื้อหา ความหนักแน่นในข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ การเล่าเรื่อง การตัดต่อ และการประพันธ์ดนตรี ก็ทำให้ทวิภพในเวอร์ชั่นนี้ทะลุอรรถรสในการชมไปอีกฟากฝั่งหนึ่งเลย ที่จะไม่ถูกใจผู้ชมในแบบละครแน่นอน

ย้อนกลับมาที่บุพเพสันนิวาส 2 หากเลือกแนวทางให้สมจริงกว่านี้ เพราะในเรื่องมีการเชื่อมโยงกับบันทึกของประวัติศาสตร์ชาติไทยอยู่แล้ว ลดทอนการให้น้ำหนักกับความสนุก เฮฮาแบบตั้งใจใส่มุข และเพิ่มน้ำหนักให้กับแง่มุมทางประวัติศาสตร์มากขึ้น ก็น่าจะทำให้เราได้เห็น ภาพยนตร์รักอิงประวัติศาสตร์ที่ดูสนุกได้ในอีกรสชาติหนึ่ง

ถึงกระนั้นก็ต้องขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของหนังเรื่องนี้ และดีใจที่ทำให้ผู้ชมรุ่นใหม่ได้รับรู้บางส่วนของประวัติศาสตร์ชาติไทยในยุครัชกาลที่ 3 ซึ่งหากรับรู้แล้วได้มีการขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองให้กว้างขวางมากขึ้นก็น่าจะดีไม่น้อย

เพราะนอกจากนายหันแตรแล้ว ในหนังยังมีบุคคลจริงในประวัติศาสตร์อย่าง สุนทรภู่, หมอบรัดเลย์ และบาทหลวงปาลเลอกัวซ์ อีกด้วย รวมทั้งมีอ้างอิงถึงสถานที่สำคัญหลายแห่ง ที่นักประวัติศาตร์รู้จักดี

ตอนจบของหนังมีทิ้งท้ายไว้ให้ผู้สร้างสามารถสร้างบุพเพสันนิวาส 3 ได้สบายๆ

ไม่แน่นะว่า เราอาจจะได้เห็นจักรวาลใหม่ของภาพยนตร์ไทยก็ได้ เป็นจักรวาลของบุพเพสันนิวาส ที่สามารถท่องเวลาไปได้ทุกยุคสมัย ผ่านตัวละครหลักอย่างโป๊ปและเบลล่า ก็เป็นได้

ถ้าเป็นได้จริง งั้นจะขอสักภาคหนึ่ง ให้ย้อนเวลาไปไม่ต้องไกล เอาเมื่อ 8 ปีที่แล้วนี่เอง เพื่อจะได้ดูว่าเป็นบุพเพสันนิวาสหรือเปล่าหนอที่ทำให้คนสองคนได้มาเจอะเจอกัน

คนหนึ่งคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนอีกคนคือนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย 2 คนนี้ได้เจอะเจอและสวมทับเป็นคนเดียวกันต่อเนื่องมาจนถึงบัดนี้

ตกลงเป็นบุพเพสันนิวาส หรือความตั้งใจกันแน่ อยากรู้จริงๆ ตัวเอง

ไม่เลวนะครับ ว่าไหม? •