เครื่องแบบ/นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

เครื่องแบบ

 

เรื่องของเครื่องแบบกลับมาสู่ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน (และนักศึกษา) อีกครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งนี้มีอะไรที่น่าสนใจในด้านโลกทัศน์ชีวทัศน์ของผู้เคลื่อนไหวรวมอยู่ด้วย

นักศึกษาบางสถาบันไม่ได้เรียกร้องให้ยกเลิกข้อบังคับการแต่งเครื่องแบบโดยตรง แต่เรียกร้องสิทธิที่จะแต่งกายตามเพศสภาพของตนเอง แม้เป็นเครื่องแต่งกายตามเครื่องแบบก็ตาม

ดูเหมือนเป็นเรื่องการเรียกร้องสิทธิเสมอภาคทางเพศตามปรกติที่แพร่หลายอยู่ แต่ก็มีบางโรงเรียนที่ผู้บริหารพยายามตอบสนองข้อเรียกร้องการแต่ง “ไปรเวต” ของนักเรียน โดยกำหนดให้วันหนึ่งในสัปดาห์ นักเรียนมีสิทธิ์แต่งตัวอย่างไรมาเรียนก็ได้ และผลปรากฏว่า นักเรียนจำนวนหนึ่งพากันเลือกเครื่องแต่งกายแปลกๆ มาโรงเรียน

อาจสนุกกับการใช้เสรีภาพที่เพิ่งมี หากปล่อยไปนานเข้าก็จะเคยชิน และแต่งกายปรกติเหมือนการแต่งกายออกนอกบ้านในชีวิตทั่วไป

แต่ในอีกบางโรงเรียน อนุญาตให้นักเรียนสามารถแต่ง “คอสเพลย์” วันแต่งกายเสรีประจำสัปดาห์ได้ และนักเรียนจำนวนหนึ่งก็ตอบสนองด้วยการแต่งกายเป็นฮีโร่ในภาพยนตร์ที่ตนชื่นชอบกันอย่างสนุกสนาน

แต่ก็อีกนั่นแหละ ผมเชื่อว่า นานวันเมื่อคุ้นเคยกับเสรีภาพแล้ว การแต่งคอสเพลย์ก็จะลดน้อยลง หันมาแต่งกายที่สะดวกในการใช้ชีวิตทั้งในและนอกโรงเรียนมากขึ้นเอง

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมคิดว่าอาจเป็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ทั้งในกรณีแต่งกายตามเพศสภาพ ไปจนถึงการแต่งคอสเพลย์ก็คือ นักเรียน-นักศึกษากำลังต้องการการแต่งกายที่แสดงอัตลักษณ์ของตนมากขึ้น ซึ่งถูกเครื่องแบบปฏิเสธตลอดมา

ไม่ใช่เพียงไม่อยากตกอยู่ใต้การบังคับของเครื่องแบบ แต่กำลังต้องการแสดงความเป็นปัจเจกบุคคลของตนออกมา ผ่านการแต่งกาย อันที่จริงการแต่งกายเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง มนุษย์โดยทั่วไปที่พ้นวัยเรียนแล้ว ก็ทำอย่างนั้นเป็นปรกติ แต่ในเมืองไทย เครื่องแบบบีบบังคับมิให้นักเรียน-นักศึกษาแสดงตัวตนของตนออกมา นับตั้งแต่เด็กอนุบาลจนจบมหาวิทยาลัย

เกือบครึ่งหนึ่งของชีวิตที่ความเป็นปัจเจกบุคคลของเขาถูกกดทับเอาไว้ แสดงออกไม่ได้ถนัด จนอาจเป็นผลให้ขลาดกลัวที่จะเป็นตัวของตัวเอง เพราะอาจต้องจ่ายต้นทุนที่สูงจนไม่คุ้ม

ครูชอบพูดว่า เครื่องแบบทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยคือการควบคุม เครื่องแบบจึงเป็นการควบคุมทางสังคม (social control) ที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งในสังคมไทย

อันที่จริง เรื่องของเครื่องแบบเป็นเรื่องของอำนาจโดยตรง เป็นอำนาจจากสองด้าน

ด้านแรก คืออำนาจของผู้สวมเครื่องแบบที่แสดงแก่ผู้อื่น เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ มีอำนาจที่กฎหมายรับรองไว้หลายอย่าง และอาจใช้อำนาจนั้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยได้ เครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ทำให้เขามีอำนาจในการตรวจค้นทรัพย์สินส่วนตัวที่นำเข้าจากต่างประเทศได้ เพื่อดูว่ามีสินค้าซึ่งต้องเสียภาษีรวมอยู่ด้วยหรือไม่

เครื่องแบบบางอย่างอาจไม่มีอำนาจตามกฎหมายอยู่ด้วย แต่สวมเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน เช่น เจ้าหน้าที่กวาดถนน ถึงไม่มีอำนาจอะไรตามกฎหมาย แต่ผมคิดว่าเครื่องแบบของเขาเรียกร้องให้ผู้คนบนท้องถนนควรอำนวยความสะดวกแก่เขาด้วย เช่น ไม่กีดขวางเส้นทางทำความสะอาดของเขา

ที่ไม่มีทั้งอำนาจตามกฎหมายและหน้าที่เลยก็มี และมักเป็นเครื่องแบบที่สวมเพื่ออวดเบ่งสถานภาพของผู้สวมแก่คนอื่น

อำนาจด้านที่สองนั้นกลับกัน เครื่องแบบคือกลไกการบังคับควบคุมร่างกายของคนไร้อำนาจ ดังที่กล่าวข้างต้นนะครับ มีอำนาจจากภายนอก ที่คอยกำกับว่าจะต้องแต่งกายอย่างไร จึงจะถือว่าถูกต้อง, ดีงาม, มีระเบียบวินัย, น่ารัก และปลอดโทษ

อำนาจจากภายนอกนั้น ที่เคยมีอำนาจมากในสมัยหนึ่งคือประเพณีวัฒนธรรม แต่ในปัจจุบันอำนาจของประเพณีวัฒนธรรมเสื่อมลงไปมากแล้ว อำนาจของรัฐกลับเพิ่มพูนขึ้นแทนที่ แม้แต่สิ่งที่ประเพณีวัฒนธรรมถือว่าอนาจาร ก็ยังต้องมีกฎหมายและการลงโทษของรัฐมากำกับอีกทอดหนึ่ง

 

เพราะเครื่องแบบหรือเครื่องแต่งกายสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจากอำนาจ จึงไม่แปลกอะไรที่การรัฐประหารของกองทัพแต่ละครั้ง มักจะตามมาด้วยการสนับสนุนหรือบังคับให้ข้าราชการทุกคนสวมเครื่องแบบ

ถ้าผมจำไม่ผิด การรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ดูเหมือนจะเป็นเผด็จการแรกที่บังคับข้าราชการแต่งเครื่องแบบ รวมถึงตัวนายกฯ เองก็สวมเครื่องแบบทุกครั้งที่ปรากฏตัวต่อสาธารณะ ลามไปถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติและอื่นๆ ที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นมาด้วย

ผมไม่แน่ใจว่า รัฐบาลธานินทร์ไม่มั่นใจในอำนาจของตนเอง จึงต้องสวมเครื่องแบบเพื่อแสดงอำนาจเชิงประจักษ์ให้เห็นได้ง่ายๆ หรือคิดว่า เครื่องแบบคือส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการปกครอง

ในช่วงก่อนหน้าการยึดอำนาจ ฝ่ายขวามักบ่นกันว่าบ้านเมืองไร้ระเบียบแบบแผน ปกครองกันด้วยม้อบลูกเดียว ฉะนั้น เมื่อยึดอำนาจได้แล้วจึงฟื้นฟูกลไกรัฐได้แก่ระบบราชการให้เข้ามาทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ในการนี้ต้องเริ่มจากจับข้าราชการแต่งเครื่องแบบให้หมด เพื่อความมีระเบียบวินัย

ถ้ารัฐคุมข้าราชการได้ดี ข้าราชการก็จะคุมประชาชนได้ดีตามไปด้วย ในที่สุด ระเบียบวินัยก็จะกลับคืนมาสู่บ้านเมือง

รัฐประหารกับเครื่องแบบราชการจึงยังคงดำรงสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ทำรัฐประหารเมื่อไร ร้านตัดเครื่องแบบราชการก็รวยกันทีหนึ่ง

อันที่จริงคณะรัฐประหารซึ่งทำอะไรไม่เป็นอยู่แล้ว หากเลือกทำเพียงอย่างเดียวคือจับข้าราชการแต่งเครื่องแบบ ความเสียหายแก่บ้านเมืองก็จะไม่มากเท่าไรนัก แต่โชคร้ายที่ไม่มีคณะรัฐประหารใดเลือกทำเพียงอย่างเดียวเช่นนั้น

ไม่น่าประหลาดแต่อย่างไรนะครับที่กลุ่มซึ่งเคลื่อนไหวเรื่องเครื่องแบบก่อนใครมักเป็นนักเรียน-นักศึกษา เพราะจะหาใครที่ถูกบังคับกดขี่เกี่ยวกับเนื้อตัวของตนยิ่งไปกว่ากลุ่มนี้เป็นไม่มี นอกจากทรงผมแล้ว ยังมีกฎเกณฑ์รายละเอียดลงไปถึงความยาวของกระโปรงและกางเกง รูปทรงของรองเท้าและถุงเท้า หากเป็นผู้หญิง ยังรวมไปถึงชุดชั้นใน และเครื่องประดับจุ๋มจิ๋มต่างๆ ที่ใช้กลัดเสื้ออีกด้วย

 

ที่จริงแล้วยังมีความทุกข์ทรมานจากเครื่องแบบอีกอย่างที่อาจเป็นข่าวน้อยกว่า นั่นคือราคาของเครื่องแบบกลายเป็นเงินลงทุนก้อนใหญ่ในการให้การศึกษาแก่บุตรหลาน มีข่าวในทีวีว่า พี่น้องในสลัมแห่งหนึ่ง ต้องผลัดกันไปโรงเรียนคนละวัน เพราะมีเครื่องแบบอยู่ชุดเดียว จึงต้องผลัดกันใช้

ยังไม่พูดถึงการกู้หนี้ยืมสินกันเป็นเรื่องใหญ่ในคราวเปิดเทอม เพื่อซื้อหาเครื่องแบบให้ลูกหลานซึ่งโตขึ้นจนเกินกว่าจะใช้ชุดเก่าได้

ทั้งๆ ที่เครื่องแบบไม่ได้มีผลอะไรกับการเรียนรู้ของเด็กเลย

ยกเลิกเครื่องแบบไปเสียอย่างเดียว จะเปิดโอกาสให้ลูกคนจนได้เข้าโรงเรียนโดยไม่ต้องออกกลางคันอีกไม่รู้จะกี่คน แม้แต่จำเป็นต้องออกไปแล้ว การหวนกลับคืนสู่โรงเรียนก็ลงทุนน้อยลงอย่างมาก ถ้าไม่ต้องใช้เครื่องแบบเสียอย่าง

แต่เครื่องแบบไม่เคยถูกยกเลิกในการศึกษาไทยเลย เหตุผลสำคัญก็เพราะตราบเท่าที่ผู้บริหารการศึกษาไทยยังคิดว่าการศึกษาคือการควบคุม ตราบนั้น เครื่องแบบย่อมมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าไม้เรียวและการลงโทษทางร่างกายอื่นๆ ร่างกายเด็กนั่นแหละอาจมีอันตรายต่อสังคม และด้วยเหตุดังนั้น การศึกษาไทยจึงเข้มงวดกับร่างกายเด็กเป็นอย่างยิ่ง ทั้งควบคุมให้มีลักษณะอย่างไรแล้ว ยังสยบร่างกายลงด้วยการเฆี่ยนตีไปจนถึงทำให้ร่างกายได้รับความเจ็บปวดต่างๆ นานา