วิวัฒนวิถีไทย / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

สวรรค์ชั้นดุสิต (ภาพจาก “สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 6” ใน สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1. กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ. 2542)

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

วิวัฒนวิถีไทย

 

หลักการตั้งชื่อนั้นว่ามีอยู่สามลักษณะ คือ

ภูมินาม มงคลนาม นิมิตนาม

ภูมินาม คือการตั้งชื่อในลักษณะถือเอาสิ่งสำคัญที่มีอยู่มากำหนดเป็นชื่อ เช่น สถานที่ต่างๆ ที่เราคุ้นหู คือ หนองบัว เป็นต้น โดยถือเอาหนองน้ำที่มีบัวขึ้นอยู่ในหนองน้ำนั้นเป็นสำคัญจนเอามาตั้งเป็นชื่อเลยทีเดียว

บางกอกนี่ก็เป็นภูมินามไม่แน่ว่าจะเป็นต้นมะกอกหรือกอกอะไรแน่ ที่เมืองกาญจน์นั้นมีชื่อลักษณะเอาต้นไม้มาตั้งเป็นชื่อสถานที่ลักษณะภูมินามนี้ไม่น้อย นอกจากหนองบัวแล้วยังมีอีก เช่น

ลาดหญ้า ท่าม่วง ท่ามะกา ท่ามะขาม ตะคร้ำเอน ดงกะเบา ท่าขนุน ฯ

 

มงคลนาม คือการตั้งชื่อในลักษณะถือเอามงคลเป็นสำคัญ ดังชื่อจังหวัดเป็นส่วนใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ เป็นต้น

แม้ชื่อคนเช่นกัน ดังบุญมา บุญเสริม บุญเลิศ สมชาย สมศักดิ์ สมศรี สมหมาย กระทั่งพัฒนาให้ดูวิจิตรตระการขึ้น เช่น นฤเบศร์ อภิรดี กมลมาศ

จนปัจจุบันมุ่งบาลีสันสกฤตเป็นหลักอย่างเช่น กฤตยศมล ธรณัฐิยธนา

ถือมงคลนามเป็นสำคัญกว่าใดอื่นสิ้น ว่างั้นละกัน

 

นิมิตนาม คือการตั้งชื่อในลักษณะถือเอาความสำคัญของผู้ตั้งให้เป็นหลัก เช่น ชื่อพระราชทานหรือชื่อที่ตั้งให้เป็นเฉพาะเจาะจงโดยไม่อิงภูมินาม หรือมงคลนามเป็นสำคัญ เช่น

เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนสิรินธร โรงเรียนวชิราวุธ โรงพยาบาลศิริราช

หรือแม้กระทั่งพ่อแม่จะตั้งชื่อลูกโดยเอาชื่อพ่อแม่มาประดิษฐ์ใหม่ หากยังคงนามพ่อแม่เป็นสำคัญ เช่น พ่อชื่อสมศักดิ์ แม่ชื่อศิรินทร์ ตั้งชื่อลูกว่า ศักรินทร์ เป็นต้น

ที่พิเศษมีเช่น ตั้งชื่อหรือนามสถานที่เดิมโดยนำมาแปลงศัพท์ใหม่เป็นภาษาบาลีสันสกฤต เช่น ชื่อบ้านนามเมืองในภูมิภาคอีสาน เช่น หนองบัว นามใหม่คือวาปีปทุม วาปีคือหนอง ปทุมคือบัว

หรือกุดลิง เป็นวานรนิวาศ โดยแปลงจากกุดที่แปลว่าด้วนหรือสุด เป็นกุฏิ อันหมายถึงห้องหรือที่อาศัยของภิกษุสงฆ์ วานรคือลิง กุดลิงจึงเป็นวานรนิวาศ

ดังจะเปลี่ยนโรคฝีดาษลิงให้เป็นฝีดาษวานรอยู่นี้

นี้คือการตั้งชื่อในลักษณะนิมิตนามจากภูมินามให้เป็นมงคลนาม

รวมครบสามลักษณะนามในชื่อเดียวได้เลย

 

ปัจจุบันพัฒนานามใหม่ไม่รู้จะเรียกอะไรดี คือการตั้งชื่อเป็นต่างชาติโดยเฉพาะเป็นฝรั่งกันตรงๆ เลย เช่น แอนนา บอริส ที่เป็นลูกครึ่งลูกไม่ครึ่งไม่รู้แล้ว ตั้งชื่อฝรั่งไว้ก่อนเป็นเท่สุดๆ

นี้คือวิถีวัฒนธรรมอันอาจเรียกเป็นศัพท์บาลีสันสกฤตได้ว่า “วิวัฒนวิถีไทย” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของสังคมไทย โดยมองจากมุมค่านิยมการตั้งชื่อเป็นหลัก

จากไทยเป็นแขก เป็นฝรั่ง

แขกในที่นี้คือคำบาลีสันสกฤตอันมาจากอินเดียนั่นเอง ซึ่งรอยอารยธรรมไทยเรามีรากจากอินเดียไม่น้อยเลย แม้รากเค้าอักษรหรือลายสือไทยก็ว่ามีต้นมาจากอักษรปัลลวะถิ่นอินเดียใต้ที่กลายเป็นอักษรมอญพม่าเขมรลาวทุกวันนี้

คุณไมเคิล ไร้ท์ เคยพาเราไปตระเวนอินเดียใต้ ช่วงหนึ่งเข้าชมพิพิธภัณฑ์ เขาแสดงจอหนังตะลุง มีรูปหนังปักอยู่ และมีคำว่า “ตะลุง” อธิบายไว้ด้วย สันนิษฐานว่าชะรอยคำตะลุงมาจากอินเดียใต้นี่เอง

ภาษาถิ่นเดิมทีนั้นมีรากอยู่คงที่คงถิ่น ครั้นไปมาหาสู่กันก็แตกหน่อต่อแขนงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสมประเสจนประสานเป็นอันเดียวกันภาษาเดียวกันดังเส้นทางของถ้อยคำและคำศัพท์ เช่น

ทาง เป็นมรรคา เป็นเวย์

คำทางนั้นบางทีเราเอาคำจีนมาใช้ประกอบด้วย คือคำจีนเรียก “ลู่” แปลว่า ทาง เรานำมาประกอบกันเรียก “ลู่ทาง” เป็นต้น

 

คุณไม่เคิล ไร้ท์ เอ่ยวาทะอมตะไว้ว่า

“อินเดียเป็นแม่ จีนเป็นพ่อ ออกลูกเป็นชาวสยามที่งามที่สุด”

ไทยหรือ “สยาม” นี่แหละเป็นผู้ที่มี “วิวัฒนวิถี” ผสมผสานระหว่างสองอู่อารยธรรมสำคัญสุดของภูมิภาคเอเชียคือ อินเดียกับจีน

วรรณกรรมไทยยุคต้นนั้นมีที่มาจากอินเดีย โดยเฉพาะหลักธรรมในพุทธศาสนา เช่น ไตรภูมิพระร่วง มหาชาติคำหลวง และสมุทรโฆษ จากนั้นเป็นหลักธรรมของพราหมณ์ ฮินดู มีรามเกียรติ์ เป็นต้น

จากจีนมีสามก๊กเป็นปฐม

จากลำนำพื้นบ้านพื้นถิ่น เช่น เพลงกล่อมเด็ก การขับลำนำเกี้ยวพาราสีกลายเป็นกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ โดยกาพย์กับฉันท์นั้นคืออิทธิพลของอินเดีย โคลงนั้นอิทธิพลของจีน เช่นเดียวกับกลอนลำของอีสาน ส่วนกลอนนั้นพัฒนาจากลำนำพื้นบ้านพื้นถิ่นของเราเอง

รากฐานวัฒนธรรมไทยนอกจากพื้นถิ่นพื้นฐานอันมีมาแต่เดิมแล้วก็เติบโตงอกงามจากสองอู่อารยธรรมคือจีนกับอินเดียดังกล่าว

บัดนี้เรากำลังได้เพื่อนคือฝรั่งและกำลังหลงเพื่อนไปเกือบจะสุดกู่ คือปฏิเสธรากเหง้าเผ่าพันธุ์ที่เป็นฐานที่ตั้งของตัวเรา พยายามสลัดหลุดจากรากเหง้าของความเป็นตัวเรา ซึ่งที่สุดจะกลายเป็นรากลอยโหนห้อยต้อยตามไปกับต้นฝรั่งมังค่า

ราวกับว่าอารยะสูงสุดของโลกนี้คือความเป็นฝรั่ง

นี้คือความเป็นไทยวันนี้ คือ

ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา

ผงเข้าตา

คิดอย่าง ฝรั่งคิด

คือ ฟุดฟิด และ ฟอไฟ

ทำตัว ไม่เป็นไทย

นั่นคือ วัฒนธรรม

ความเจริญ จรัสแสง

คือ เรืองแรง และรวยร่ำ

ของดี ที่เลิศล้ำ

ต้อง เมดอิน ยูเอสเอ

เครื่องกิน และ เครื่องใช้

ศิวิไลซ์ และโก้เก๋

ของนอก นั่นแหละเท่

ถ้าของไทย บรรลัยเชย

ทำตัว ให้เป็น หรั่ง

ตั้งแต่ชื่อ ไปเชียวเหวย

ทุกอย่าง จึงลงเอย

ว่า เอาอย่างฝรั่งดี

เพลงไทย ก็เพลงเชย

เอิงเงิงเงย ทั้งตาปี

ต้องฟัง เพลงหรั่งซี

ถึงเซ็กซี่ สะบึมใจ

คิดอย่าง ฝรั่งคิด

ต้องฟุดฟิด และ ฟอไฟ

ชีวิต วิญญาณไทย

จึงขายถูก เป็นธรรมดา

มองหา ก็ ไม่เห็น

ความเป็นจริง ประจันหน้า

เขี่ยผง ที่ เข้าตา

ออกเสียที เถิด เพื่อนไทย!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ •