ขอแสดงความนับถือ ฉบับวันที่ 5-10 ส.ค. 59

คอลัมน์ หมุนตามโลก ของ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง

พูดถึงหนังสือ A Room of One”s Own

หรือในภาคภาษาไทย “ห้องส่วนตัว” ของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ สำนวนแปลของ มาลินี แก้วเนตร

น่าสนใจ


“ห้องส่วนตัว” กล่าวถึง วรรณกรรม กับ ผู้หญิง

วรรณกรรม ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ “ผู้หญิง” ต้องออกแรงต่อสู้ จึงสามารถออกจาก “ห้องส่วนตัว” เพื่อนำสิ่งที่เธอเขียน มาเผยแพร่และใช้เป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้

ทั้งที่ปัจจุบัน เป็นอย่างที่ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ว่า

“เวลานี้เราอยู่ในศตวรรษที่ยี่สิบ พวกเราผู้หญิงก้าวกันมาไกลแล้ว

ผู้หญิงเป็นนักเขียนกันเยอะแยะมากมาย

และก็ช่างน่าแปลก ที่เมืองไทยเรา นักเขียนนวนิยายขายดีมักจะเป็นผู้หญิง

และก็เป็นผู้หญิงที่หารายได้เลี้ยงครอบครัวเสียด้วย

อาชีพนักเขียนนี่แหละทำให้เลี้ยงตัวและครอบครัวได้

และเท่าที่รู้มา นักเขียนหญิงแถวหน้าบางคนก็ไม่ได้เขียนในห้องส่วนตัวด้วยซ้ำ

เธอเขียนไป สอนการบ้านลูกไป นักเขียนหญิงไทย น่าจะเป็นนักเขียนที่มีรายได้สูงมากกว่า”

เช่นเดียวกับ “เจ. เค. โรว์ลิ่ง” ที่ร่ำรวยมหาศาลจากการเขียนหนังสือมากกว่าผู้ชายและใครๆ ในโลกนี้

 

ต่างกันลิบลับ กับผู้หญิงซึ่งเป็นนักเขียนในยุคศตวรรษที่ 18 ซึ่งแทบจะไม่มีที่ยืนของตัวเอง

เพราะสังคมไม่ยอมรับ

ผู้หญิงถูกมองว่ามีหน้าที่ทำงานในบ้านเท่านั้น ไม่ควรยุ่งกับงานอ่าน เขียน

นักเขียนผู้หญิงในศตวรรษที่ 18 จึงถูกมองว่าบ้าหรือจิตฟั่นเฟือน

เข้าข่ายเพ้อฝัน หรือเขียนตามที่ผู้ชายคาดหวัง

หรือไม่ก็เขียนแบบกลัวๆ กล้าๆ

แต่กระนั้น เวอร์จิเนีย วูล์ฟ บอกว่า ผู้หญิงในศตวรรษที่ 18 นับร้อยคน เริ่มค่อยๆ หารายได้เพิ่มจากเขียน

เพื่อมาช่วยค่าใช้จ่ายเดิมเล็กๆ น้อยๆ ทั้งของส่วนตัวและของครอบครัว

จากการเขียนนวนิยายห่วยๆ จำนวนนับไม่ถ้วน ซึ่งจะไม่มีวันปรากฏในหน้าหนังสือประวัติวรรณคดีเล่มใดๆ

แต่เมื่อ “ขายได้” มีผู้ซื้อหาไปอ่าน

พื้นที่ของผู้หญิงในโลกวรรณกรรมก็เริ่มเปิดกว้าง

และเมื่อมองไปที่หิ้งหนังสือในปัจจุบันนี้

มีหนังสือของผู้หญิงกับผู้ชายพอๆ กันแล้ว

มิได้เป็น “ห้องส่วนตัว” ที่ปิดทึบของใครอีกต่อไปแล้ว


มิใช่แค่โลกวรรณกรรมเท่านั้นดอก ที่เปิดกว้างสำหรับผู้หญิง

หากเปิดเข้าไปอ่าน มติชนสุดสัปดาห์ X คลูซีฟ ฉบับ “โลกในมือเธอ”

เราจะเห็น “สตรี” กำลังรุกคืบสู่บทบาทสำคัญ อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

เราเห็นความมั่นคงเหนียวแน่น ในการเป็นผู้นำเยอรมนี ของ “อันเกลา แมร์เคิล”

เราเห็นการก้าวขึ้นสู่หนึ่งในมหาอำนาจโลก ของ เทเรซา เมย์ ของอังกฤษ ที่กำลังท้าเดิมพันอนาคตประเทศกับการถอยออกจากสหภาพยุโรป

เราเห็นอนาคตของ ฮิลลารี คลินตัน ที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เจ้าแห่งโลก ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

 

ขณะที่ประเทศไทยของเรา

น่าสนใจที่ถูกจัดอันดับให้อยู่ที่ 5 ของโลก ของประเทศที่มีสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งบริหารในโลกธุรกิจ ที่ 37%

หรือกว่า 1 ใน 3

ซึ่งไม่ใช่เรื่องธรรมดา

ขณะเดียวกัน ผู้หญิงไทย ก็มีที่ยืนในพื้นที่ของตนเอง ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และโลก

ไม่ว่าธุรกิจห้างสรรพสินค้า พลังงานสะอาดเพื่อสิ่งแวดล้อม สมุนไพร กีฬา ฯลฯ

เหล่านี้ มิใช่การถูกกักขัง ใน “ห้องส่วนตัว” อีกแล้ว

พวกเธอพากันใช้ความนุ่มนวล รื้อ สร้าง โลกขึ้นมาด้วยสไตล์และแนวทางของตนเอง

อาจเป็นการมองในแง่บวก ที่เกินไปบ้าง

เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่และหนักหน่วงอยู่

ซึ่งต้องยอมรับ และร่วมกันแก้ไข อีกนานาเรื่อง

แต่กระนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้ผู้หญิงได้ออกมาจาก “ห้องส่วนตัว” มาร่วมแชร์โลกใบนี้จากผู้ชาย มากยิ่งขึ้นทุกที