เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทยศึกษาครั้งที่ 13” (1) เปิดพรมแดนความรู้ล้านนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

งานสัมมนาทางวิชาการระดับนานาชาติ “ไทยศึกษาครั้งที่ 13” ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพหลัก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 นั้น

กลายเป็นเวทีวิชาการที่เกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันมาก่อน

นั่นคือหลังเสร็จงานเพียงไม่กี่วัน ก็มีกรณีการแจ้งจับ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ชาติพันธุ์ศึกษา คณะสังคมศาสตร์ ประธานผู้รับผิดชอบการจัดงานสัมมนา พร้อมด้วยนักเขียน-นักแปลอีก 1 และนักศึกษา-นักวิชาการ ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก อีก 3 คน รวมอาจารย์ชยันต์ด้วยทั้งหมดเป็น 5 คน

ในข้อกล่าวหาว่ามั่วสุมชุมนุมในที่สาธารณะเกิน 5 คน โดยใช้เวทีวิชาการมาเป็นเครื่องมือบังหน้าสำหรับเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยอ้างว่าขัดคำสั่งของ คสช.

ภาพที่เราเห็นตามข่าวหนังสือพิมพ์คือ ภาพของผู้ถูกแจ้งความ 3 คนยืนถือป้ายว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร”

เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออกของนักวิชาการอย่างรุนแรง ชนิดที่ว่าคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยทั้งไทย-เทศอดรนทนไม่ไหว ต้องลุกขึ้นมาล่ารายชื่อคัดค้านการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งมีการประกาศจุดยืนของสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ขอให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 คนพ้นจากมลทินโดยไม่มีเงื่อนไข

โดยปกติแล้ว ทันทีที่เสร็จจากงานสัมมนาใดๆ ก็ตามนั้น สิ่งที่ควรทำขั้นต่อไปคือ ผู้จัดควรนำผลที่ได้จากการศึกษาวิจัยของนักวิชาการจำนวนมากกว่า 3,000 คนนั้น มาประเมินหรือวินิจฉัยกันต่อ เพื่อดึงเอาสิ่งที่น่าสนใจ นำเสนอต่อสาธารณชนที่ไม่มีโอกาสได้ไปร่วมงานสัมมนา ให้เกิดประโยชน์โภชน์ผลต่อสังคมในวงกว้างต่อไป

แต่สถานการณ์คับขันเช่นนี้ กลับกลายเป็นว่า คณะผู้จัดงานต้องมาเสียเวลา เสียสมอง พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ที่จนป่านนี้คดีก็ยังคาราคาซังกันอยู่

ดิฉันขอแสดงความเห็นใจ และให้กำลังใจต่อ อาจารย์ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ พร้อมคณะนักวิชาการอีก 4 คน ที่ตกเป็น “เหยื่อ” แห่งอำนาจเผด็จการ ที่ถือโอกาสปฏิบัติการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” เพื่อข่มขู่ให้นักวิชาการรายอื่นๆ กลัวหงอหลบอยู่ในกะลา

และขอแสดงความเสียใจต่อเวทีสัมมนาไทยศึกษาครั้งที่ 13 ซึ่งถูกประวัติศาสตร์จารึกไว้เรียบร้อยแล้วว่า เป็นเวทีวิชาการที่นักวิชาการไม่สามารถแสดงออกซึ่งองค์ความรู้ ความคิด ทัศนคติใดๆ ได้อย่างเต็มอิสรภาพ เลวร้ายที่สุดเท่าที่โลกจะพึงมี

 

“ล้านนาศึกษา” ใน “ไทยศึกษา”

เวทีไทยศึกษา มีประเด็นแยกย่อยมากกว่า 500 หัวข้อ ในระหว่างห้วงเวลา 4 วันที่จัดงาน แต่ละวันต้องแบ่งรายการสัมมนาออกเป็น 13 ห้อง แต่ละห้องมีหัวข้อใหญ่ประมาณ 4 หัวข้อต่อ 1 วัน และแต่ละหัวข้อใหญ่ ก็มีหัวข้อย่อยๆ อีก 2-4 หัวข้อ ในร่มเงานั้น

นั่นหมายความว่า นักวิชาการคนหนึ่งๆ ย่อมนำเสนองานวิจัยได้ไม่เกินคนละ 20 นาทีเท่านั้น ไหนจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้ซักถาม อีกทั้งทุกรายการต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมวิพากษ์ สรุปประเด็น

ดิฉันได้รับโอกาสจากอาจารย์ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ มอบหมายให้เป็นแม่งานหลัก คัดเลือกหัวข้อและตัววิทยากรที่น่าสนใจ มาเปิดประเด็นในหัวข้อย่อยเรื่อง “ล้านนาศึกษา” หรือ “ล้านนาคดี” ระหว่างวันที่ 17-18 กรกฎาคม 2560

บนหลักคิดของการคละเพศ คละวัย คละสถาบัน คละจังหวัด คณะอาชีพ คละหัวข้อเสวนา คือเป็นเวทีที่มีทั้งนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงโด่งดัง นักวิชาการที่เคยสอนระดับมัธยมศึกษาในท้องถิ่นมาก่อนแต่บัดนี้เกษียณอายุราชการไปแล้ว นักวิชาการอิสระที่ไร้สังกัด เพิ่งผลิตผลงานได้ไม่นาน ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก

รวมไปถึงบุคคลที่ไม่ได้เป็นครูบาอาจารย์สายตรง เช่น อาจเป็นนักจัดกิจกรรม นักคิดนักเขียน หรือเป็นนักโบราณคดี นักจดหมายเหตุ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ ดิฉันเห็นว่าเป็นความใจกว้างของผู้จัด ที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการทุกกลุ่มได้ใช้เวที “ล้านนาศึกษา” เปิดประเด็นนำเสนอผลงานสู่สังคมอย่างเท่าเทียมกัน มิได้สงวนไว้แค่เป็นเวทีของนักวิชาการกระแสหลักเท่านั้น

ข้อสำคัญเวทีนี้ยังช่วยสร้างสีสันให้แก่งานไทยศึกษาอย่างมาก อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นเวทีเดียวที่อนุญาตให้วิทยากรใช้ภาษาท้องถิ่น (อู้กำเมือง กำยอง) ได้ถนัดถนี่ ต่างจากเวทีอื่นๆ ที่วิทยากรทุกคนต้องใช้ภาษาสากลคือภาษาอังกฤษหรือไทยกลาง

 

เปิดพรมแดนความรู้ล้านนาโบราณคดี

หัวข้อเสวนาในส่วนของ “ล้านนาศึกษา” ล้วนน่าสนใจ เพราะมีความหลากหลายอรรถรส หลายหลากทั้งเรื่องราวที่นำเสนอ และที่น่าสนุกคือการตีประเด็น มีทั้งการหยิบประเด็นเก่าๆ (ที่เคยคิดว่าเถียงกันสะเด็ดน้ำไปเรียบร้อยแล้ว) นำมาตีความใหม่แบบชนิดหักมุมจบ มีทั้งการชี้ประเด็นใหม่ถอดด้าม และมีทั้งประเด็นม้านอกสายตาที่ไม่ควรเป็นประเด็น แต่กลับขยายประเด็นได้ใหญ่โต เป็นต้น

ในฉบับนี้ ดิฉันขอนำเสนอเฉพาะชื่อหัวข้อเสวนากับชื่อของวิทยากรเป็นเบื้องต้นก่อน เพราะแค่เพียงเท่านี้ก็เชื่อว่าแทบไม่เหลือพื้นที่ให้ลงเนื้อหาส่วนอื่นใดได้อีกแล้ว เนื่องจากมีถึง 8 รายการ

รายการแรก หัวข้อใหญ่คือ “เปิดพรมแดนความรู้ล้านนาโบราณคดี” มี 3 หัวข้อย่อย

1. “ประเมินสถานภาพ ล้านนาศึกษา ในมุมมองนักวิชาการด้านโบราณคดี” โดยดิฉันเป็นวิทยากร

2. “ตำนานพระแก้วดอนเต้ากับเมืองต้องคำสาป : ความทรงจำร่วมของสังคมลำปาง” โดย อ.ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น

3. “แกะรอยปริศนาเกศโมลี เมืองเชียงแสน : มหากาพย์เรื่องเล่าจนกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่รอการพิสูจน์” โดย อภิชิต ศิริชัย

รายการที่ 2 หัวข้อใหญ่คือ “เมืองน้อยเมืองเนรเทศ : และประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม” มี 3 หัวข้อย่อย

1. “ประวัติศาสตร์ในเมืองน้อย : ว่าด้วยการเมือง 2 ขั้วและ 3 แคว้นในราชสำนักล้านนา” โดย อ.สมฤทธิ์ ลือชัย

2. “เมืองน้อยในประวัติศาสตร์ กับข้อเท็จจริงของหลักฐานทางโบราณคดี” โดย ยอดดนัย สุขเกษม

3. “เมืองน้อยในประวัติศาสตร์ : หลักฐานจากเอกสารตำนาน” โดย อ.ภูเดช แสนสา

รายการที่ 3 หัวข้อใหญ่คือ “5 ศตวรรษ ยุคทองวรรณกรรมล้านนา ภาค 1” มี 2 หัวข้อย่อย

1. “วรรณกรรมทีปนีที่โดดเด่นของพระสิริมังคลาจารย์ ในพุทธศตวรรษที่ 21” โดย ดร.บาลี พุทธรักษา

2. “ต้นฉบับชินกาลมาลินีและจามเทวีวงส์ : จากล้านนาสู่อยุธยาและรัตนโกสินทร์” โดย ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล

รายการที่ 4 หัวข้อใหญ่คือ “5 ศตวรรษ ยุคทองวรรณกรรมล้านนา ภาค 2” มี 2 หัวข้อย่อย

1. “500 ปีโคลงนิราศหริภุญไชย : คุณค่าและความทรงจำ” โดย ศ.อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว และ อ.เมธี ใจศรี

2. “ตำนานมูลศาสนา ฉบับล้านนา” โดย อ. เกริก อัครชิโนเรศ

รายการที่ 5 หัวข้อใหญ่คือ “จามเทวี : ตำนานนางกษัตริย์หริภุญไชย สู่เทพีไวษณพนิกาย” มี 2 หัวข้อย่อย

1. “จามเทวี-สีดา สถานภาพผู้นําของวีรกษัตรีรามัญ ในลัทธิไวษณาวิศักติ” โดย ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา

2. “เจ้าแม่แห่งล้านนา จากนางแก้ว ถึงจามเทวี” โดย อ.วิธูร บัวแดง

รายการที่ 6 หัวข้อใหญ่คือ “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นล้านนาตะวันออก : พะเยา แพร่ น่าน” มี 3 หัวข้อย่อย

1. “บันทึกของพระครูศรีวิราชวชิรปัญญา (ปินตา ชอบจิต : 2404-2487)” โดย อ.วิมล ปิงเมืองเหล็ก

2. “แนวคิดและกระบวนการสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกในล้านนา” โดย ดร.ดิเรก อินจันทร์

3. “เกลือเมืองน่าน : พัฒนาการทางประวัติศาสตร์และการเมือง” โดย อ.สมเจตน์ วิมลเกษม

รายการที่ 7 หัวข้อใหญ่คือ “ข่วงหลวงเวียงแก้ว และเชียงใหม่สู่เมืองมรดกโลก?” มี 3 หัวข้อย่อย

1. “60 รอบนักษัตรเมืองเชียงใหม่ อดีต ปัจจุบัน อนาคต” โดย รศ. สมโชติ อ๋องสกุล

2. “ข่วงหลวงเวียงแก้ว จากหลักฐานทางโบราณคดี” โดย สายกลาง จินดาสุ

3. “ข่วงหลวงเวียงแก้ว จากหลักฐานเอกสารจดหมายเหตุ” โดย อ.วรชาติ มีชูบท

รายการที่ 8 หัวข้อใหญ่คือ “เชียงใหม่ 4.0” มี 2 หัวข้อย่อย

1. “เศรษฐกิจการเมืองของเชียงใหม่ : เน้นพิจารณาบทบาทของพญามังกร” โดย ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์

2. “720 ปีนครเชียงใหม่ (พ.ศ.1839-2559) : พัฒนาการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางการเมืองและระบบการบริหารจัดการกับผลกระทบต่อเมือง”

โดย ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง

 

จะเห็นได้ว่า เนื้อหาที่นำมาเสนอนี้ มีทั้งประวัติศาสตร์-โบราณคดี-คติชนวิทยายุคโบราณอันไกลโพ้น มาจนถึงปัญหาเรื่องปากท้องและความเปลี่ยนแปลงของเมืองที่เกิดขึ้นหลัดๆ ในใจกลางมหานครเชียงใหม่ ในขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยสิ่งที่เป็น “หัวใจ” ของหัวเมืองอื่นๆ ที่ห่างไกลนอกศูนย์อำนาจมหานครเชียงใหม่

ผู้สนใจสามารถย้อนเปิดฟังคลิปเสวนาจากการถ่ายเฟซบุ๊กไลฟ์ของดิฉันไว้ได้เช่นกัน (แต่มีไม่ครบทั้งหมด ขาดบางรายการที่ตัวดิฉันเองต้องขึ้นเวทีเป็นผู้เสวนาหรือเป็นผู้ดำเนินรายการในบางช่วง)

แต่ไม่เป็นไร หากอยากรับรู้เรื่องราวให้ครบถ้วน นับจากสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ดิฉันจะไล่ถอดคลิปตามลำดับหัวข้อ เรียบเรียงเนื้อหาสาระ สรุปเฉพาะประเด็นสำคัญมานำเสนอต่อเนื่อง ให้อ่านกันอย่างจุใจ