เผด็จการทหารพม่า แพ้เลือกตั้ง จับคนขัง และสั่งฆ่า ศรีลังกา ฟื้นก่อนพม่าแน่นอน/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

เผด็จการทหารพม่า

แพ้เลือกตั้ง

จับคนขัง และสั่งฆ่า

ศรีลังกา ฟื้นก่อนพม่าแน่นอน

 

สภาพของศรีลังกาเปรียบเทียบได้กับบริษัทที่ผู้จัดการ ผู้บริหารโกงบริษัท ขนทรัพย์สมบัติหนีไปได้บ้าง แม้จะทำให้บริษัทเจ๊ง แต่ก็ยังสามารถสร้างบริษัทขึ้นมาใหม่ในแผ่นดินเดิมซึ่งตั้งอยู่ในทำเลการค้าที่ดี มีคนงานลูกจ้างที่มีความสามารถ ยังมีลูกค้าที่ต้องการสินค้าอยู่ ใช้เวลาระยะหนึ่งก็จะฟื้นตัวได้

การต่อสู้ของประชาชนศรีลังกาครั้งนี้จะทำให้เกิดการตื่นตัวทางการเมืองสูงขึ้น จะมีการพัฒนาประชาธิปไตยไปอีกขั้นหนึ่ง แต่ศรีลังกาไม่มีอำนาจนอกระบบมาแทรกแซง ดังนั้น การฟื้นตัวน่าจะเร็วมาก

สถานการณ์ในประเทศพม่าวันนี้เหมือนกับหมู่บ้านที่ถูกกองโจรถืออาวุธเข้าปล้น ฆ่าข่มขืนเจ้าของบ้าน ชิงทรัพย์ เผาบ้าน ชาวบ้านยังจะต้องต่อสู้กับโจรอีกนานเพื่อเอาชีวิตรอด ถ้าชนะจึงจะมีโอกาสฟื้นตัวฟื้นหมู่บ้านได้

สมาคมช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมือง (The Assistance Association for Political Prisoners : AAPP) กล่าวว่า ทหารของเผด็จการทหารมิน อ่อง ลาย ได้สังหารประชาชนไปแล้วกว่า 2,100 คนนับตั้งแต่การทำรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2521

รัฐบาลทหารและศาลยังยัดให้คดีกับนางออง ซาน ซูจี อดีตผู้นำพลเรือนของประเทศ เพื่อนำตัวไปขังคุก และอาจมีเป้าหมายเพื่อให้มีผลต่อสุขภาพร่างกาย

วันนี้รัฐบาลเผด็จการยังได้เหิมเกริมถึงขนาดสั่งประหารชีวิตนักโทษการเมืองที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 4 คนได้แก่ นายจ่อ มิน ยู หรือจิมมี นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย อายุ 53 ปี, นายเพียว เซยา ธอ วัย 41 ซึ่งเป็นอดีต ส.ส.พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี), นายฮลา เมียว อ่อง และนายอ่อง ธูรา ซอ ซึ่งทั้งหมดถูกกล่าวหาว่ามีส่วนช่วยเหลือกลุ่มติดอาวุธที่เคลื่อนไหวต่อสู้กับคณะรัฐประหาร

ยังมีผู้ต้องขังอีกร่วม 100 คน ที่รอการประหารชีวิต หลังถูกตัดสินในความผิดที่รัฐบาลอ้าง

 

เผด็จการทหารพม่า

มีเวลาที่วางรากฐานอำนาจ

ได้ยาวนานมากกว่า 50 ปี

ย้อนไปในปี 1960 มีการเลือกตั้งใหญ่ในพม่า กองกำลังหลายกลุ่มจึงวางอาวุธ เข้าร่วมการต่อสู้ในระบบรัฐสภา (ในเมืองไทย คือปี 2503 เป็นยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรืองอำนาจหลังการรัฐประหารในปี 2500)

อูนุได้รับเลือกเป็นนายกฯ ไทยใหญ่และมอญก็มีตัวแทนมาร่วมประชุมสภา สถานการณ์การปกครองตนเองในเขตต่างๆ พอเป็นอิสระได้ระดับหนึ่ง

แต่ไม่ทันครบสองปี ถึงต้นปี 1962 นายพลเนวินทำรัฐประหารโค่นอูนุ ล้มรัฐสภา ฉีกรัฐธรรมนูญ ตั้งสภาคณะปฏิวัติขึ้นแทน โดยมีเน วิน เป็นประธาน

จากนั้นก็จับตัวแทนของชนชาติต่างๆ ที่มาประชุมรัฐสภาขังคุกทั้งหมด ไม่มีใครรอดกลับออกมาเลย แม้แต่เจ้าส่วยแต้ก เจ้าฟ้าเมืองยองห้วย ประธานาธิบดีคนแรกของพม่า ก็ถูกขังจนตายในที่คุก

อูนุหลบหนีออกมาได้ แล้วมาตั้งแนวร่วม United Nation Liberation Front (UNLF) ในปี 1970 โดยร่วมกับกะเหรี่ยง (KNU) ซึ่งมีท่านมาห์ บา ซาน เป็นผู้นำ และกลุ่มมอญ (NEW MON STATE PARTY) ซึ่งมีท่านสเว จิน เป็นผู้นำ

ร่วมกันได้ไม่กี่ปี ถึงปี 1973 อูนุก็ลาออก กองกำลังแนวร่วมก็เสื่อมถอยลง พรรคของอูนุที่ตั้งอยู่ชายแดนไทยก็แตกเป็นกลุ่มย่อย การทำงานไม่ได้ผล

 

การต่อสู้ปี 1988 และออง ซาน ซูจี

มือเปล่าสู้ปืนเผด็จการไม่ได้

ในพม่าปี 2531 (1988) การประท้วงใหญ่จึงเกิดขึ้นคล้าย 14 ตุลาคม 2516 ของไทย การประท้วงได้กระจายไปเกิดขึ้นในอีกหลายเมืองในพม่า เช่น พะโค มัณฑะเลย์ ทวาย ตองอู ชิตตเว เมอกุย มินบู และมยิตจีนา เป็นต้น ผู้ประท้วงต้องการให้ใช้ระบอบหลายพรรคการเมือง ทำให้เน วิน ประกาศลาออกเมื่อ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2531 เน วิน กล่าวว่า เขาเห็นด้วยกับระบบหลายพรรคการเมืองแต่ต้องให้เป็นหน้าที่ตัดสินใจของเส่ง วิน ผู้นำคนใหม่

8 สิงหาคม มีการประท้วงอย่างหนัก รัฐบาลได้สั่งให้สลายฝูงชนด้วยอาวุธ ผู้ประท้วงเผาสถานีตำรวจ ในวันที่ 10 สิงหาคม ทหารได้บุกเข้าไปในโรงพยาบาลย่างกุ้ง ฆ่าหมอและพยาบาลที่รักษาผู้บาดเจ็บจากการประท้วง

เส่ง วิน ได้ลาออกในวันที่ 12 สิงหาคม ทหารให้ ดร.หม่อง หม่อง เข้ามาเป็นรัฐบาล แกนนำในการประท้วงได้ประกาศปฏิเสธการแต่งตั้งผู้นำคนใหม่ การประท้วงดำเนินต่อ มีคนมาชุมนุมประท้วงเป็นแสน

ในวันที่ 26 สิงหาคม ออง ซาน ซูจี ได้ออกมาร่วมกับผู้ประท้วงที่พระเจดีย์ชเวดากองซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการกลายเป็นสัญลักษณ์เพื่อการต่อสู้ในพม่า

ในวันที่ 18 กันยายน ทหารได้กลับมาปกครองประเทศอีกครั้ง นายพลซอหม่องได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 และจัดตั้งสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐหรือสลอร์ก หลังจากที่ได้ประกาศกฎอัยการศึก ได้เกิดการประท้วงที่รุนแรงขึ้น นักศึกษา พระสงฆ์และนักเรียนราวพันคนถูกสังหาร และมีประชาชนอีก 500 คนถูกฆ่าในการประท้วงนอกสถานทูตสหรัฐอเมริกา นักศึกษาบางส่วนได้หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย

สิ้นเดือนกันยายน การประท้วง 8888 จบลง เชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตร่วมหมื่นคนและสูญหายอีกจำนวนมาก

วันที่ 24 กันยายน ได้ร่วมจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยขึ้น (National League for Democracy : NLD) และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค

 

รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า

อยากชนะเลือกตั้ง ทำอะไรก็ได้

1.ในปี 2533 พม่าได้จัดการเลือกตั้ง ขณะที่นางออง ซาน ซูจี ถูกขังอยู่ในบ้านและแกนนำถูกขังอยู่ในคุก อิน เส่ง พรรค NLD แต่กลับชนะเลือกตั้ง ได้ ส.ส.ถึง 392 จาก 485 ที่นั่ง พรรคทหารพม่าที่เคยปกครองได้เพียง 10 ที่นั่ง พรรคของกลุ่มไทใหญ่ ยังได้ 23 ที่นั่ง

แต่รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมถ่ายโอนอำนาจให้กับพรรค NLD กลับขังซูจีต่อไป นี่จึงเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 2 หลังจากนั้นรัฐบาล SLORC ปกครองประเทศต่อไปไม่นาน แค่ 20 ปี

(คล้ายกับประเทศไทยหลังรัฐประหาร 2549 แล้วมีเลือกตั้งปี 2550 แต่ให้ยุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิ์กรรมการ 111 คนไม่ให้ลงเลือกตั้ง แต่ก็ยังแพ้พรรคไทยรักไทยเปลี่ยนชื่อเป็นพลังประชาชน แต่อยู่ได้ไม่ถึงปีก็ถูกตุลาการภิวัฒน์หลุดจากอำนาจไป)

2. ผ่านไป 20 ปี ทหารพม่าอยากจัดการแสดงการเลือกตั้ง เพื่อสืบทอดอำนาจ ผ่านรัฐธรรมนูญที่ร่างเอง ผ่านการเลือกตั้งปลอม ผ่านพรรค NLD ไม่ได้ร่วมเลือกตั้งด้วยด้วย เพราะคนฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลทหารถูกจับไปขัง 2,000 กว่าคน

ผลการเลือกตั้ง พรรคที่ได้ผู้แทนฯ มากที่สุดคือพรรคทหารที่ชื่อ Union Solidarity and Development Party (USDP)

3. การเลือกตั้งปี 2558 จากการกดดันจากปัญหาเศรษฐกิจ และแรงกดดันจากต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลทหารที่แปลงกายจากการเลือกตั้งปลอมๆ 2553 ต้องเปิดประเทศ โดยขอความร่วมมือกับออง ซาน ซูจี

ส่วนออง ซาน ซูจี ก็ตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ เดินหน้าเข้าเล่นเกมระบอบประชาธิปไตยแบบพม่า นำพรรค NLD เข้าสู่การเลือกตั้ง (ช่วงที่พม่ามีเลือกตั้ง ไทยอยู่ใต้อำนาจคณะรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557)

ผลการเลือกตั้ง 2558 พรรค NLD ได้ที่นั่งในสภาประชาชน (Pyitthu Hluttaw) หรือ ส.ส. 238 ที่นั่ง ที่นั่งในสภาชนชาติ (Amyotha Hluttaw) หรือ ส.ว. 126 ที่นั่ง รวมสองสภาได้ 364 ที่นั่ง

พรรคทหาร หรือ USDP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลได้ที่นั่ง ส.ส. 28 ที่นั่ง และ ส.ว. 12 ที่นั่ง รวมสองสภาได้ 40 ที่นั่ง

ออง ซาน ซูจี ชนะเลือกตั้งแต่ยังไร้อำนาจ ถึงจะชนะแต่แก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐบาลประชาธิปไตย NLD และออง ซาน ซูจี อยู่รอดมาได้จนครบวาระ ในขณะที่ไทยอยู่กับรัฐบาลจากการรัฐประหาร

 

เลือกตั้งครั้งล่าสุด 2563

พรรคทหารพม่าแพ้ยับ ต้องรัฐประหาร

การเลือกตั้งใหม่ ปลายปี 2563 พรรค NLD จึงได้รับเลือกอย่างท่วมท้น เข้าสู่สภาทั้ง 3 ระดับ ที่ประกอบด้วย 258 จาก 315 ที่นั่งในสภาล่าง และ 138 จาก 161 ที่นั่งในสภาสูง 501 จาก 612 ที่นั่งในสภาภูมิภาคและรัฐ และที่นั่งชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ 23 ที่นั่งจาก 29 เรียกว่ากวาดเกือบหมด

NLD ชนะในแทบทุกเขตที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพม่า ยกเว้นบางเขตในเนปิดอว์ ที่เป็นเขตอิทธิพลของกองทัพ

ส่วนพรรค USDP ที่เป็นพรรคหนุนทหารส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งทั้งหมด 1,089 คน และได้รับเลือกเพียง 71 คนสำหรับสภาทั้ง 3 ระดับ โดยแบ่งเป็น 26 ที่นั่งในสภาล่าง 7 ที่นั่งในสภาสูง และ 38 ที่นั่งในสภาภูมิภาคและรัฐ

 

ต่างฝ่ายก็สรุปบทเรียน

ช่วงที่ NLD ชนะเลือกตั้ง 2558 และได้เป็นรัฐบาล หลายคนไม่เชื่อว่าทหารพม่ายอม แต่การยอมในครั้งนั้นเหมือนเป็นการทดลอง เมื่อรู้ว่าต้องเสียผลประโยชน์ที่เคยได้ และเป็นอันตรายต่อตัวเอง ก็ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรนอกจากรัฐประหาร เพราะคนเกลียดมากขนาดนี้ แก้กติกาเลือกตั้งแบบไหนก็แพ้

แต่ถ้า NLD ครองอำนาจต่ออีก 4 ปี ทหารพม่าลำบากแน่

กลุ่มเผด็จการทหารพม่าได้ทำความผิดไว้มากมายทั้งเรื่องการคอร์รัปชั่น การแสวงหาผลประโยชน์ การสังหารและทำร้ายประชาชน เป็นจำนวนนับหมื่น ถ้าวันใดที่หมดอำนาจลงจะต้องถูกคิดบัญชีหนี้เลือดแน่นอน

ในการเลือกตั้งปี 2563 ชัยชนะที่ NLD มีมากพอที่จะแก้รัฐธรรมนูญซึ่งหมายความว่าทหารจะหมดอำนาจ เรื่องนี้ก็เหมือนกับประเทศไทยที่ใครต้องการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 จะทำไม่ได้ โดยการใช้ศาลรัฐธรรมนูญและ ส.ว.เป็นตัวตีกันไม่ให้แก้ไขได้ง่ายๆ

อำนาจเผด็จการของไทยนั้น ปัจจุบันอยู่ในรูปการใช้กฎหมายมากกว่าการใช้อาวุธ การจับคนเห็นต่างไปขังคุกและไม่ให้ประกันจึงเป็นเรื่องปกติ แต่ประชาชนจะต้องต่อต้าน

ทางออกของเผด็จการทหารพม่า คือการรัฐประหารล้มสภาที่ผ่านการเลือกตั้งมาทิ้งทันที และปกครองแบบเผด็จการต่อไป ใครต่อต้านก็จับขัง หรือสังหาร

คนพม่าอดทนและยากลำบากมา 60 ปี ก็ถึงจุดระเบิดต้องเกิดสงคราม คน 90% ไม่เอาเผด็จการ ถ้าประชาชนมีอาวุธ เกมนี้จบไม่ถึงปี

บทเรียนจากพม่าสอนเราว่าต้องต่อต้านเผด็จการตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด ถ้าปล่อยให้เติบโต จะเป็นแบบพม่า