เหรียญปั๊มรูปไข่พระปิดตา หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง เจ้าตำรับพระราหูอมจันทร์ / โฟกัสพระเครื่อง : โคมคำ

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

เหรียญปั๊มรูปไข่พระปิดตา

หลวงพ่อน้อย วัดศีรษะทอง

เจ้าตำรับพระราหูอมจันทร์

 

“วัดศีรษะทอง” ต.ห้วยตะโก อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้าง ในฐานะเจ้าตำรับ “พระราหูอมจันทร์” เครื่องรางด้านโชคลาภ และเสริมดวงชะตา

ในยุค “หลวงพ่อน้อย คันธโชโต” อดีตเจ้าอาวาส เป็นช่วงมีการสร้างพระราหูจากกะลาตาเดียวมากที่สุด ได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในเบญจภาคีเครื่องรางของขลัง

รวมไปถึง “ราหูอมจันทร์กะลาแกะ” อันโด่งดังแล้ว หลวงพ่อน้อย ยังสร้าง “พระโคสุลาภ” หรือ “วัวธนู” ที่มีชื่อเสียงไม่แพ้กัน

กล่าวได้ว่า หลวงพ่อน้อยเป็นพระเกจิดังเจ้าตำรับพระราหูอมจันทร์ ที่ใครหลายคนให้ความเคารพนับถือ

เหรียญพระปิดตา หลวงพ่อน้อย (หน้า)

นอกเหนือจากกะลาพระราหูและวัวธนู หลวงพ่อน้อย ยังได้จัดสร้าง “เหรียญพระปิดตา” ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

มีพุทธศิลปะเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากพระปางอื่นๆ

พุทธลักษณะของพระปิดตา เป็นรูปองค์พระที่ค่อนข้างอวบอ้วน ยกพระหัตถ์ขึ้นปิดพระพักตร์ บางสำนักจะทำเป็นรูปมือ เพิ่มอีก 2 ข้าง เอื้อมไปปิดทวารด้านล่าง (วงการเรียก “โยงก้น”) อีกด้วย

ลักษณะเด่นของพระปิดตา นับเป็นพระเครื่องที่แสดงถึง “นัย” หรือ “ปริศนาธรรม” แห่งงานพุทธศิลปะอย่างโดดเด่น ยากจะหาพระเครื่องประเภทใดเทียบเทียมได้

ความหมายเบื้องต้นแห่งการปิดตา คือ การปิด “ทวาร” หรือทางเข้าทางออกแห่งอาสวะกิเลสทั้งหลาย เชื่อกันว่าร่างกายของมนุษย์ (หรือสัตว์) มี “ทวาร” หมายถึงประตูแห่งการเข้าออก 9 ทาง ได้แก่ ตา 2 จมูก 2 หู 2 ปาก 1 รวมทั้งช่องทางขับถ่ายด้านหน้าและด้านหลังอีก 2

“การปิดกั้นทวารทั้ง 9” เป็นปริศนาธรรมที่กั้นกิเลสจากภายนอกไม่ให้เข้ามาสู่ภายใน เพื่อจุดหมายแห่งการปฏิบัติกัมมัฏฐาน

คติการสร้างพระปิดตาหรือปิดทวาร มีการจำลองเป็นพระอ้วนพุงพลุ้ย ซึ่งได้ต้นเค้าจากเรื่องราวของพระสังกัจจายนะ หรือพระภควัมบดี อัครสาวกองค์สำคัญ หนึ่งในพระสาวกผู้ทรงเอตทัคคะ (เป็นเลิศ) 80 รูป ของพระพุทธองค์

คำว่า “ภควัมบดี” หรือ “ภควัมปติ” แปลว่า “ผู้มีความงามละม้ายเหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้า” มีความเป็นเลิศทางการย่อพระธรรมคัมภีร์ให้สั้นลง และอธิบายความหมายให้ผู้ฟังและยังมีรูปร่างและผิวกายงดงามมาก จนก่อให้เกิดความหลงใหลคลั่งไคล้จากฝูงชนทั้งชายหญิง จนเกิดเรื่องพิพาทกันไม่รู้จักหมดจักสิ้น ทำให้เกิดสลดสังเวชในใจ

จึงตั้งสมาธิอธิษฐานเปลี่ยนสรีระรูปร่างกลายเป็นร่างต่ำเตี้ย พระอุทรพลุ้ย ศีรษะใหญ่ ขาสั้น อันเป็นลักษณะของ “พระสังกัจจายน์” ที่เห็นในปัจจุบัน

เหรียญพระปิดตา หลวงพ่อน้อย (หลัง)

สําหรับเหรียญพระปิดตา หลวงพ่อน้อย จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2487

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงรูปไข่ หูในตัว ด้านหน้าเหรียญตรงกลางเป็นองค์พระมีมือปิดที่ใบหน้า หมายถึงปิดปาก ปิดตา ปิดจมูก มีมืออีกคู่หนึ่งปิดที่หูทั้ง 2 ข้าง และมืออีกคู่หนึ่งโยงปิดที่ทวารหนักเบา โดยรอบองค์พระเป็นอักขระยันต์

ด้านหลังเหรียญตรงกลางเป็นยันต์ ข้างล่างมีตัวเลข “๒๔๘๗” หมายถึงปี พ.ศ.ที่จัดสร้าง

จัดเป็นเหรียญหายากของเมืองนครปฐมเลยทีเดียว

หลวงพ่อน้อย คันธโชโต

มีนามเดิมว่า น้อย นาวารัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2435 ตรงกับวันแรม 13 ค่ำ ปีมะโรง ที่บ้านตำบลศีรษะทอง

บิดาเป็นหมอรักษาโรคแบบแผนโบราณและเป็นหมอไสยศาสตร์ ที่เก่งกล้าทางอาคม ชาวบ้านเรียกกันว่า “พ่อหมอ” อยู่ยงคงกระพัน

สมัยที่ยังอยู่ในเพศฆราวาส กล่าวกันว่า เป็นผู้ที่มีความขยันขันแข็ง ช่วยครอบครัวทำนาปลูกผักอยู่เป็นประจำ ครั้นว่างจากงานก็ศึกษาอักขระเลขยันต์คาถาอาคมไสยศาสตร์ ตลอดจนตำรับยาจากบิดาจนเจนจบ

ครั้งเมื่ออายุ 21 ปี เป็นนิมิตหมายที่ดีในวันพฤหัสบดีขึ้น 12 ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ 14 เมษายน 2456 เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ มีพระอธิการยิ้ว เจ้าอาวาสวัดแค เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการเกิด วัดงิ้วราย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระภิกษุมุน วัดกลางคูเวียง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับนามฉายาว่า คันธโชโต

อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดแคอยู่ระยะหนึ่ง จึงได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดศีรษะทอง ในระยะนั้น หลวงพ่อลีเป็นเจ้าอาวาสและได้ศึกษาวิชาการต่างๆ ที่ได้สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยที่หลวงพ่อไตรเป็นเจ้าอาวาส เช่น วิชาการสร้างวัวธนูและราหูอมจันทร์ เป็นต้น

เมื่อมีพรรษาที่สูงขึ้น พอดีกับพระอธิการช้อยซึ่งเป็นเจ้าอาวาส ได้ลาสิกขาไป บรรดาญาติโยมอุบาสก-อุบาสิกา จึงได้นิมนต์ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส

จากนั้น คอยดูแลและพัฒนาวัดและท้องถิ่นจนมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับ

 

สําหรับวัดศีรษะทอง สร้างจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวลาวที่อพยพมาจากเวียงจันทน์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในขณะขุดดินเพื่อสร้างวัดก็ได้พบเศียรพระทองจมอยู่ในดิน ซึ่งถือเป็นนิมิตอันดี จึงตั้งชื่อวัดว่า “วัดหัวทอง” ตั้งแต่นั้นมา โดยหลวงพ่อไตร ชาวลาวจากเวียงจันทน์ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

จากวัดเล็กๆ ก็ได้พัฒนาขึ้นเรื่อยมา จนถึงสมัยหลวงพ่อน้อยเป็นเจ้าอาวาส ได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่วัดและหมู่บ้านเป็นอย่างมาก ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้าง ต่อมาได้รับตำแหน่งเจ้าคณะตำบลเป็นตำแหน่งสุดท้าย

มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2488 สิริอายุ 53 ปี •