พฤษภารำลึก (12) เราจะยังคงฝันถึงการปฏิรูปต่อไป!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

พฤษภารำลึก (12)

เราจะยังคงฝันถึงการปฏิรูปต่อไป!

 

“พวกสายแข็งมีแนวโน้มที่จะอยู่ในกองทัพ โดยเฉพาะในกองทัพบก และบรรดานายทหารที่เป็นพวกสายแข็งเหล่านี้มักมีฐานทางวัตถุและอุดมการณ์อยู่ในประชาคมความมั่นคง”

Alfred Stepan (1988)

ผู้เชี่ยวชาญด้านทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา

 

การมาของสงครามอ่าวเปอร์เซียในต้นปี 2534 และการสิ้นสุดของสงครามเย็นอย่างเป็นทางการในปลายปีดังกล่าว ส่งผลทางทหารในเวทีโลกอย่างกว้างขวาง

แต่สถานการณ์ที่กรุงเทพฯ ในต้นปี 2534 กลับเกิดรัฐประหาร และเป็นการหวนคืนสู่ระบอบทหารครั้งสำคัญ หลังจากการสิ้นสุดของระบอบพันทางในตอนกลางปี 2531 และสถานการณ์พลิกกลับอีกครั้งจากชัยชนะของประชาชนในปี 2535 อันนำไปสู่ข้อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปกองทัพไทย

ดังที่กล่าวแล้วว่าชัยชนะในเดือนพฤษภาคมไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนาดใหญ่ในเชิงโครงสร้างเท่าใดนัก โดยเฉพาะภายในกองทัพเอง ก็ไม่ได้เผชิญกับแรงกดดันที่จะต้องมีการปฏิรูปทางทหารอย่างจริงจัง

และขณะเดียวกันผู้นำทหารก็สามารถประคับประคอง “กองทัพในเชิงสถาบัน” (military as an institution) ให้ผ่านสถานการณ์การเมืองครั้งนี้ไปได้ โดยไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ภายในโครงสร้างของกองทัพไทยแต่อย่างใด

ในเวทีโลกอาจจะแตกต่างออกไป กระแสการปฏิรูปกองทัพเป็นหนึ่งในกระแสโลกของยุคหลังสงครามเย็น และผู้นำกองทัพของหลายประเทศยอมรับว่า การสิ้นสุดของสงครามเย็น ผนวกเข้ากับตัวแบบของสงครามใหม่ในอ่าวเปอร์เซีย คือแรงกดดันที่แท้จริงที่จะต้องปฏิรูปกองทัพ

 

โลกที่เปลี่ยนแปลงของทหาร

แม้เราจะถือว่าสงครามเย็นสิ้นสุดอย่างเป็นทางการในปลายปี 2534 ด้วยสัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดคือ การประกาศถึงการสิ้นสุดของสหภาพโซเวียต (The Soviet Union)

แต่ว่าที่จริงแล้ว สัญญาณถึงการสิ้นสุดของสงครามนี้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2528 และเกิดสัญญาณที่ชัดเจนในปี 2532 จากความเปลี่ยนแปลงในยุโรปตะวันออก จนเป็นดังการ “เปิดม่านเหล็ก” (Iron Curtain) อันนำไปสู่การพังทลายของกำแพงเบอร์ลินในต้นเดือนพฤศจิกายนของปีดังกล่าว ซึ่งเป็นเสมือนกับการสิ้นสุดของ “ม่านเหล็กโซเวียต” ที่เคยแบ่งยุโรปออกเป็น 2 ส่วนมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ถือเป็นอันสิ้นสุดลงไปพร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เช่นเดียวกับภัยคุกคามของสงครามใหญ่ในทางยุทธศาสตร์ทหารก็สิ้นสุดไปกับยุคสมัยดังกล่าวด้วย พร้อมกับผู้นำของสองมหาอำนาจใหญ่คือ ประธานาธิบดีเรแกนและประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ ตกลงที่จะมีความร่วมมือในการแก้ปัญหาของโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการรวมชาติของเยอรมนี ปัญหาความขัดแย้งในประเทศโลกที่สาม และความร่วมมือในด้านอื่นๆ เช่น การกดดันรัฐคู่ขัดแย้งที่เป็นสมาชิกในค่ายของตนให้ยอมรับเงื่อนไขสันติภาพในพื้นที่ที่เป็นปัญหา

สภาวะเช่นนี้บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของระเบียบแบบเดิมของยุคสงครามเย็น และแสดงให้เห็นถึงการมาของระเบียบโลกใหม่ หรือที่ผู้นำสหรัฐในเวลาต่อมาคือ ประธานาธิบดีบุชเรียกว่า “ระเบียบโลกใหม่” (The New World Order)

ดังจะเห็นได้ว่าโซเวียตแสดงท่าทีคัดค้านการบุกคูเวตของอิรัก และออกเสียงสนับสนุนญัตติ 678 ของสหประชาชาติ ที่ให้มีการใช้กำลังแก้ปัญหาการยึดครองคูเวต (ทั้งที่อิรักเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับโซเวียตมาก่อน)

และยังเห็นถึงการสิ้นสุดขององค์กรทางทหารของกองทัพแดง คือ การยุติองค์กรสนธิสัญญาวอร์ซอ และการยุติบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต พร้อมทั้งองค์กรเคจีบี (KGB)

และสุดท้ายคือ การสิ้นสุดของรัฐสหภาพโซเวียตดังที่กล่าวแล้ว

ดังนั้น ไม่ว่าจะมองในมุมทางการเมืองหรือทางความมั่นคง เห็นได้ชัดเจนว่าโลกก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ หรือที่เรียกในทางการเมืองระหว่างประเทศว่า “โลกยุคหลังสงครามเย็น” (Post-Cold War Era) อันมีนัยโดยตรงถึงการกำเนิดของภูมิทัศน์ใหม่ของโลก ที่อาจกล่าวเป็นข้อสรุปในเบื้องต้นว่า การเมืองเปลี่ยน… ความมั่นคงเปลี่ยน… สงครามเปลี่ยน… ภัยคุกคามเปลี่ยน

ผลที่ตามมาคือการปรับตัวของกองทัพในหลายประเทศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสงครามและภัยคุกคาม กล่าวคือ ไม่มีสงครามแบบเก่าให้ต้องเตรียมรับ ไม่มีกองทัพข้าศึกแบบเก่าให้ต้องเตรียมรบ และที่สำคัญไม่มีภัยคุกคามแบบเก่าให้ต้องเตรียมตัว… กองทัพของทุกประเทศทั่วโลกอยู่ภายใต้แรงกดดันเดียวกันของระเบียบโลกใหม่

กล่าวในทางยุทธศาสตร์ทหารก็คือ กองทัพแบบเก่าของทุกประเทศทั่วโลกไม่รองรับต่อสถานการณ์การเมืองและสงครามชุดใหม่ อีกทั้งภัยคุกคามใหม่แต่อย่างใด

ระเบียบโลกใหม่จึงเป็นความท้าทายอย่างสำคัญต่อการดำรงอยู่ของกองทัพของยุคสงครามเย็น

กองทัพแดงที่เคยเป็นข้าศึกของยุคดังกล่าวได้สิ้นสภาพไปแล้ว ในอีกด้านความพ่ายแพ้ของกองทัพยุคสงครามเย็นของอิรักในสงครามอ่าวเปอร์เซียเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ โดยสหรัฐและชาติพันธมิตรรบด้วยชุดความคิดทางทหารใหม่ และเทคโนโลยีทหารใหม่

กองทัพของยุคสงครามเย็นจึงกลายเป็น “กองทัพเก่า” ที่ไม่อาจเอาชนะสงครามใหม่ได้

 

โมเมนตัมตก แต่ฝันไม่ตก!

ผมมีความรู้สึกว่าโมเมนตัมของ “พฤษภาประชาธิปไตย” ที่มีต่อการปฏิรูปกองทัพนั้น อาจจะเป็น “กระแสลมแรง” ในช่วงต้น แต่เมื่อการเมืองไทยหลังการลุกขึ้นสู้ของประชาชนเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น กระแสการปฏิรูปกองทัพก็ค่อยๆ ลดระดับลง ทุกฝ่ายรอดูผลการสอบสวนของกระทรวงกลาโหมในเรื่องนี้

แต่ในที่สุดแล้ว ผลการสอบสวนก็กลายเป็นเพียงคลื่นลูกเล็กๆ ที่กระทบฝั่ง แล้วก็จางหายไป

เพราะจนถึงปัจจุบัน รายงานทั้งฉบับจริงและฉบับย่อก็ไม่เคยปรากฏให้สาธารณชนไทยได้รับทราบ แม้ฝ่ายประชาธิปไตยในขณะนั้นจะหวังว่า ผลการสอบสวนจะทำให้รัฐและสังคมมีบทเรียน และนำไปสู่การสร้างมาตรการเพื่อแก้ปัญหาการใช้กำลังพลทหารในการสลายการชุมนุมของฝูงชน

ขณะเดียวกันผลการสอบนี้อาจจะเป็นหนทางของการจำกัดบทบาทของทหารในการเมืองได้ด้วย

แม้โมเมนตัมของการปฏิรูปกองทัพจะลดลงตามลำดับ แต่ พล.อ.อ.พิศิษฐ์ ศรีกาฬสินธุ์ (ที่ปรึกษาพิเศษ กองบัญชาการทหารสูงสุด) กลับยังคงสนใจที่ชวนคิดชวนคุยในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จนถึงขนาดเสนอให้ผมลองเขียนมุมมองของตัวเอง เพื่อด้านหนึ่งจะเป็นเวทีชักชวนให้นายทหารในกองทัพได้คิด

และในอีกด้านก็เป็นการเสนอขายประเด็นนี้ต่อสังคมในวงกว้างอีกด้วย

และแน่นอนว่าไม่มีที่ไหนจะเป็น “ฐานที่มั่นทางความคิด” ให้ผมได้นำเสนอได้ดีเท่ากับเวทีใน “มติชนสุดสัปดาห์”

ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมได้รับโอกาสอย่างวิเศษทั้งจาก “พี่ช้าง” (พี่ขรรค์ชัย บุนปาน) และ “พี่เถียร” (พี่เสถียร จันทิมาธร) สองผู้ใหญ่ของมติชนมาตั้งแต่ผมได้รับนิรโทษกรรมจาก “คดี 6 ตุลาฯ 2519” และได้เขียนในมติชนมาอย่างยาวนาน โดยเริ่มเขียนครั้งแรกในมติชนรายวันราวปี 2522 และจะขาดไปบ้างก็เป็นตอนไปเรียนต่อที่สหรัฐ

บทความในชุดข้อเสนอของการปฏิรูปกองทัพไทยปรากฏตัวในมติชนสุดสัปดาห์ในช่วงกลางปี 2536 และต่อมาอาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง และอาจารย์เชษฐา พวงหัตถ์ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นอาจารย์ที่ดูแลศูนย์วิจัยและผลิตตำราของมหาวิทยาลัยเกริก ได้กรุณานำมาตีพิมพ์รวมเล่ม ในชื่อ “ยกเครื่องเรื่องทหาร : ข้อคิดสำหรับกองทัพไทยในศตวรรษที่ 21” (2540)

หนังสือเล่มนี้ยังได้รับความกรุณาจาก พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ในขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เขียนคำนิยม และจัดซื้อหนังสือนี้ส่วนหนึ่งแจกเป็นอภินันทนาการในกองทัพบก

หนังสือจึงมีสองแบบ คือแบบหนึ่งเปิดออกมาจะเป็นเครื่องหมาย ผบ.ทบ. และคำอภินันทนาการ ส่วนอีกแบบใบรองปกจะเป็นกระดาษเปล่า เพื่อจัดจำหน่ายโดยสายส่งหนังสือ

ผมต้องขอขอบคุณทั้ง พล.อ.อ.พิศิษฐ์ที่เป็นผู้ผลักดัน และ พล.อ.เชษฐาที่นำเอาหนังสือไปแจกจ่ายในกองทัพบก

อีกทั้งต้องขอขอบคุณ พ.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก (เกษียณที่อัตราพลเอก ในตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม) เพื่อนนายทหารที่สนิทช่วยประสานงาน จนความคิดผมถูกนำเข้าไปแจกจ่ายในกองทัพ และเป็นข้อเสนอถึงการสร้าง “กองกำลังที่ 21” ของไทย (Force 21) ซึ่งเป็นสำนวนของการเรียกกำลังรบใหม่ที่โลกกำลังก้าวสู่ศตวรรษที่ 21

และคำว่า “ยกเครื่อง” หรือ “Reengineering” ก็เป็นภาษาของโลกธุรกิจที่เสนอการปรับองค์กรในยุคใหม่ และเป็นคำที่ฮิตมากในยุคดังกล่าว

ฉะนั้น แม้โมเมนตัมภายในของไทยที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปกองทัพจะลดลง แต่การที่ผมมีโอกาสปลูก “หน่ออ่อน” ทางความคิดทั้งในเวทีทหารและในเวทีพลเรือนนั้น ทำให้ยังพอมีความฝันหลงเหลืออยู่บ้าง

และในอีกส่วนผมได้นำเสนอเรื่องของการจัด “ความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารใหม่” เพื่อให้เห็นในอีกมุมคู่ขนานกับการปฏิรูปกองทัพ และเช่นเคยอาจารย์ประภาสและอาจารย์เชษฐา ได้กรุณานำไปรวมเล่มเผยแพร่โดยศูนย์วิจัยและผลิตตำราเกริก

ผมตั้งชื่อว่า “สังคมต้องเรียนรู้เรื่องทหาร : ทำไม-อย่างไร” (2540) เพราะมีเนื้อหาหลักไม่ใช่เรื่องทหารกับการเมือง แต่เป็นเรื่องของการจัดบทบาทของทหารในระบอบประชาธิปไตย โดยนำเอาประเด็นและแง่คิดจากการเมืองอเมริกันมาช่วยเป็นข้อพิจารณา

 

กระแสโลก กระแสปฏิรูป

ในอีกด้านการปฏิรูปกองทัพในเวทีโลกเป็น “กระแสลมแรง” ผลสืบเนื่องจากสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2534 ทำให้นักการทหารทั่วโลกต้องนำไปคิดใหม่

กระแสลมจากอ่าวเปอร์เซียพัดไปถึงแม้กระทั่งในจีน… สงครามรบด้วยแนวคิดการยุทธ์ใหม่ อาวุธใหม่ อันทำให้เกิดคำถามอย่างมากกับองค์กรทหารแบบเก่าของยุคสงครามเย็น เพราะไม่เพียงสภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง พร้อมกับการกำเนิดของ “ระเบียบโลกใหม่” ของยุคหลังสงครามเย็นเท่านั้น

หากการปรากฏตัวของเทคโนโลยีทหารสมรรถนะสูง โดยเฉพาะเทคโนโลยีล่องหน (Stealth Technology) และอาวุธยิงและระเบิดที่มีลักษณะเป็น “อาวุธฉลาด” (Smart Weapons) ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของสงครามไปอย่างมาก

โลกของยุคสงครามเย็นไม่ได้จบลงเฉพาะในทางการเมืองเท่านั้น หากยังจบลงในทางทหารอีกด้วย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายอย่างมากกับบรรดาผู้นำทหารไทยที่จะต้องเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงของวิทยาการทหาร แม้ผู้นำทหารบางคนในขณะนั้นจะเชื่อคติในสำนวนแบบอเมริกันว่า “อะไรไม่เสีย อย่าซ่อม”

ซึ่งก็คือคำตอบว่า “กองทัพไทยไม่เสีย อย่าปฏิรูป” นั่นเอง!