‘ปัง-ปัง’ : การลอบสังหารจอมพล ป. จากปฏิปักษ์ทางการเมือง (3) | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

การตอบโต้จากอำนาจเก่า

พลันที่การปฏิวัติ 2475 ปิดฉากการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงอย่างรวดเร็ว แต่กลุ่มอำนาจเก่ามิอาจยอมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น พร้อมหาหนทางในการต่อต้านเพื่อกอบกู้บ้านเมืองตามแบบเก่าให้ฟื้นกลับมาด้วยหลายวิธีการ

อาทิ รัฐบาลอนุรักษนิยมของพระยามโนปกรณ์นิติธาดารัฐประหารด้วยพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร งดใช้รัฐธรรมนูญ (2476) และพยายามลิดรอนอำนาจคณะราษฎรมิให้คุมอำนาจทางการทหารเพื่อเปิดทางการหมุนกลับแล้วก็ตาม

แต่คณะราษฎรก็ตอบโต้อำนาจเก่ากลับด้วยการรัฐประหารล้มรัฐบาลอนุรักษนิยมลง แต่กลุ่มอำนาจเก่าก็ไม่หยุดยั้งการตอบโต้อีก พวกเขาเดิมพันด้วยการเลือกใช้กำลังทางการทหารในการก่อกบฏบวรเดช (2476) ในท้ายที่สุด

ภายหลังความพ่ายแพ้ของกบฏบวรเดชต่อกองทัพแห่งระบอบใหม่ภายใต้การนำของจอมพล ป. ส่งผลให้นายทหารหนุ่มก้าวขึ้นมีบทบาทโดดเด่นทางการเมืองท่ามกลางความไม่พอใจของกลุ่มการเมืองในขณะนั้นอันนำไปสู่การลอบสังหารเขาในเวลาต่อมา

ควรบันทึกด้วยว่า แม้กลุ่มอนุรักษนิยมจะพ่ายแพ้ในการก่อกบฏบวรเดชแล้วก็ตาม แต่เครือข่ายของพวกเขายังคงฝังอยู่ในระบบราชการและส่วนในสังคมขณะนั้น ที่พร้อมจะลงมือปฏิบัติการทางการเมืองต่างๆ ได้ทันที

ตัวอย่างขุมพลังทางการเมืองของกลุ่มอำนาจเก่า เช่น สมาชิกพรรคคณะชาติ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของกลุ่มอำนาจเก่า ที่มีสมาชิกทั้งตำรวจ ทหารและพลเรือน รวมทั้งพวกที่ลี้ภัยอยูนอกประเทศ จากรายงานของตำรวจพบว่า พวกลี้ภัยยังสามารถติดต่อเครือข่ายในประเทศได้ (สมพงษ์ แจ้งเร็ว, 2545, 87)

การลอบสังหารจอมพล ป. เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2477 ภายหลังเสร็จสิ้นการแข่งขันฟุตบอลเหล่าทัพในพระนครที่สนามหลวง ตำรวจจับกุมนายพุ่ม ทับสายทอง มือปืนจากนครปฐมได้ ตำรวจสันติบาลได้ขยายผลการจับกุมไปยัง พ.ต.อ.พระยาธรณีนฤเบศร์ (ทิพย์ ผัลเตมีย์) อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรกลาง สมัยระบอบเก่า เขาเคยมีบทบาทสำคัญในการปกป้องรัฐบาลอนุรักษนิยมของพระยามโนปกรณ์ฯ โดยลูกน้องของพระยาธรณีฯ ให้การซัดทอดว่า ก่อนที่นายพุ่มมุ่งสังหารจอมพล ป.ที่สนามหลวงนั้น พระยาธรณีฯ ให้เงินเขามา 120 บาทเพื่อไปใช้จ่าย

คำพิพากษาของศาลตัดสินให้พระยาธรณีฯ ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับการปรานี ศาลจึงลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต (สมพงษ์ แจ้งเร็ว, 74-75, 79)

การลอบสังหารเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2481

หลังจากแผนลอบสังหารจอมพล ป. นายทหารหนุ่มดาวรุ่งทางการเมือง และหัวหอกในการปราบปรามกลุ่มอำนาจเก่าไม่สำเร็จ แผนการครั้งใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นอีก

เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่บ้านพักในกรมทหารปืนใหญ่ บางซื่อ เวลาราว 19.00 น. ขณะที่จอมพล ป.ยืนแต่งตัวอยู่หน้าโต๊ะกระจกในห้องนอน เพื่อเตรียมตัวไปในงานเลี้ยงที่กระทรวงกลาโหม ร.อ.เผ่า ศรียานนท์ ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีกลาโหม ตลอดจนนายทหารติดตาม 2 นาย ร.ต.ผล สมงาม และพันจ่าตรีทองดี จันทนะโลหิต ได้ให้การต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงเหตุการณ์ในตอนนี้มีใจความตรงกันว่า

วันนั้น เวลาค่ำ จอมพล ป.กับภริยากำลังแต่งตัวจะไปรับประทานอาหารในงานเลี้ยงที่กระทรวงกลาโหม ส่วนพันจ่าตรีทองดีได้นำเอาปืนพกชนิดโคลต์รีวอลเวอร์ ซึ่งเป็นปืนพกประจำตัวมาไว้ในรถยนต์คันที่เตรียมจะไปกระทรวงกลาโหม

ครั้นเวลา 19 นาฬิกา มีเสียงปืนลั่นขึ้นที่ห้องชั้นบนในห้องของจอมพล ป.ดังขึ้น 1 นัด ในทันใดนั้น จอมพล ป.ก็ร้องขึ้นว่า “ตาลียิง”

ร.ต.ผลก็วิ่งขึ้นไปชั้นบนจวนจะสุดบันไดก็ได้ยินเสียงปืนดังอีก 1 นัด ในขณะที่เห็นจอมพล ป.วิ่งออกมาจากห้องภริยา สวนกับ ร.ต.ผล

ส่วนนายลีวิ่งตามมาห่างระยะ 1 เมตร จอมพล ป.ได้ร้องว่า “ตาลียิง” อีก ร.ต.ผลจึงได้ผลักจอมพล ป.เข้าไปในห้อง

ในขณะนั้นเอง นายลีได้ยกมือถือปืนขึ้นหันปากกระบอกปืนไปที่จอมพล ป.จะยิงซ้ำอีก ร.ต.ผล ร.อ.เผ่า ร.ต.เปล่ง และพันจ่าตรีทองดีช่วยกันจับนายลี แย่งปืนจากนายลีไปได้

จากนั้นจึงนำตัวนายลีลงมาข้างล่าง มอบตัวให้ตํารวจไป ปืนที่แย่งมาได้นั้นเป็นปืนโคลต์รีวอลเวอร์ของจอมพล ป. ซึ่งพันจ่าตรีทองดีนำไปวางไว้ในรถยนต์คันที่จะเตรียมใช้ไปในงานเลี้ยงที่กระทรวงกลาโหมนั่นเอง ทั้งนี้ กระสุนนัดแรกที่นายลียิงพลาด กระสุนทะลุพื้นชั้นบนลงมาที่ห้องกินข้าวชั้นล่าง ส่วนกระสุนนัดที่สองถูกขอบโต๊ะเครื่องแป้งของภริยา (อนันต์ พิบูลสงคราม, 77-78)

ทั้งนี้ นายลีเป็นคนขับรถของจอมพล ป. จอมพล ป.ไว้วางใจและไม่เคยดุด่าว่ากล่าว สำหรับพฤติกรรมของนายลีก่อนจะลงมือยิงนั้น เขาได้ดื่มสุราถี่ และชอบออกไปนอกบ้านกลับมาดึก (กรมโฆษณาการ, 2482, 32)

ในคืนนั้น เมื่อเหตุการณ์สงบเรียบร้อยลง จอมพล ป.และภริยาได้ไปในงานเลี้ยงตามปกติ บรรดาแขกที่ร่วมรับประทานเลี้ยงไม่มีผู้ใดทราบถึงเหตุการณ์อันน่ากลัวที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปเลย

ครอบครัวพิบูลสงคราม (2479) และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ผู้ติดเข็มปราบกบฏบวรเดชที่อกเสื้อ

การวางยาพิษ 9 ธันวาคม 2481

เพียงแค่ 1 เดือนหลังจากความล้มเหลวในการลอบสังหารจอมพล ป.ที่บ้านพัก แผนสังหารครั้งใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นอีก เมื่อ 9 ธันวาคม ในขณะที่จอมพล ป.กำลังนั่งกินอาหารกลางวันอยู่ที่บ้านพักในกรมทหารปืนใหญ่ บางซื่อ พร้อมกับท่านผู้หญิงละเอียด พ.ท.หลวงยุทธศาสตร์โกศล พ.ต.ขุนรณนภากาศ พ.ท.หลวง เตชะเสนา พ.ต.หลวงประหารวิปูปราบ ร.อ.เผ่า ศรียานนท์ และคุณรัชนิบูล พิบูลสงคราม บุตรี

ขณะที่กําลังรับประทานคุยกันอย่างสนุกสนาน ในทันใดนั้น จอมพล ป.รู้สึกตัวก่อนแล้วอุทานว่า “ผมถ้าจะกินยาพิษเข้าไปแล้ว”

ทุกคนจึงรีบลุกขึ้นจากโต๊ะและพากันไปที่โรงพยาบาลพญาไทในทันที ท่านผู้หญิงละเอียดเป็นผู้ไปทีหลังสุด เพราะท่านยังห่วงสั่งให้เก็บอาหารเอาไว้ก่อนเพื่อให้ตรวจสอบดู ซึ่งความจริงได้ปรากฏต่อมาในภายหลังว่า ยาพิษที่จอมพล ป. ภริยา และคณะรับประทานเข้าไปกับอาหารกลางวันมื้อนั้นคือ สารหนู ยาพิษร้ายแรงชนิดหนึ่งที่จะทำอันตรายต่อชีวิตได้หากนายแพทย์มิได้แก้ไขไว้ทันท่วงที (อนันต์ พิบูลสงคราม, 78)

หลังจากนั้น ท่านผู้หญิงละเอียดมีหน้าที่จัดเตรียมอาหารต่างๆ ให้จอมพล ป . จากนั้น จอมพล ป.รับประทานอาหารเฉพาะที่มาจากบ้านเท่านั้น

ด้วยเหตุที่จอมพล ป.ก้าวขึ้นมาเป็นดาวเด่นทางการเมือง ทำให้เขาตกเป็นศัตรูทางการเมืองของกลุ่มการเมืองในขณะนั้นอย่างน้อย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอำนาจเก่า ผู้สูญเสียอำนาจไปจากการปฏิวัติ 2475 กับกลุ่มทหารอาวุโสในคณะราษฎรนำโดยพระยาทรงสุรเดช และเหล่าศิษย์ของเขา ที่สูญเสียโอกาสทางการเมืองไป ทั้งสองกลุ่มนี้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรก็ตามนั้น โปรดอ่านและศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมถึงความเกี่ยวของของกันและกันในคำพิพากษาศาลพิเศษ เรื่องกบฏ 2482

นรร.ประยูร/จอมพลเรือหลวงยุทธศาสตร์โกศล และ ร.ต.ฟื้น/จอมพลอากาศฟื้น รณนภากาศ