เอสซีจีซี : ก่อนเข้าตลาดหุ้น (2) / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com

 

เอสซีจีซี : ก่อนเข้าตลาดหุ้น (2)

 

เอสซีจีซี ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีทั้งโอกาส และคู่แข่งอันน่าเกรงขาม

ภาพสำคัญธุรกิจเอสซีจีซีปัจจุบัน “ตามข้อมูลของ NexantECA ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 …เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก (PE, PP และ PVC) ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยส่วนแบ่งกำลังการผลิตติดตั้ง (nameplate capacity) ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ร้อยละ 19 ของกำลังการผลิตทั้งหมดในอาเซียน” (อ้างจากแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน ยื่นต่อสํานักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เดือนเมษายน 2565)

ขณะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเมื่อปี 2541 ข้อมูลเอสซีจี นำเสนอไว้ (ต้นฉบับภาษาอังกฤษ ปกขาว (Information memorandum) เรื่อง The Siam cement Group Decenber 1998 นำเสนอในช่วงการปรับโครงสร้างทางธุรกิจครั้งสำคัญ) สะท้อนบทบาทผู้นำธุรกิจในภูมิภาคตั้งแต่นั้นมาแล้ว

ภาพในเวลานั้น ซีซีซี (ซิเมนต์ไทยเคมีภัณฑ์ ซึ่งก็คือ เอสซีจีซี ในเวลานี้) เมื่อพิจารณากำลังการผลิตโพลีโอเลฟินส์ (polyolefins) อยู่ในอันดับ 6 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยสัดส่วน 3% ของการกำลังผลิตรวมทั้งภูมิภาค

ขณะที่คู่แข่งสำคัญในไทยเวลานั้น-ทีพีไอ (ปัจจุบันคือ ไอพีอาร์ซี) อยู่อันดับ 9 ด้วยสัดส่วน 2.5% ส่วนอันดับ 1 และ 2 คือ Hyundai แห่งเกาหลีใต้ (4.9%) และ Mitsubishi แห่งญี่ปุ่น (4.7%)

ส่วนภาพธุรกิจพีวีซี ถือเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในไทยเช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาผ่านบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ หรือทีพีซี ในเวลานั้นเอสซีจีถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนถึง 60% แล้ว ข้อมูลข้างต้นในเวลานั้น (อ้างแล้ว) ทีพีซีครองส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทย ราว 60% ขณะที่อันดับ 2 คือ Vinythai (ขณะนั้นเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างเบลเยียมกับซีพี) ในภาพใหญ่ระดับภูมิภาคเอเชีย ถือว่าเป็นอันดับ 6

โดยมี Formosa แห่งไต้หวัน อยู่อันดับหนึ่ง และ Taiyo Enobi แห่งญี่ปุ่นอันดับสอง

 

เรื่องราวทีพีซี ในฐานะผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมพีวีซี ก่อตั้งปี 2509 เริ่มต้นเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างตระกูลเอื้อชูเกียรติ กับธุรกิจญี่ปุ่น (Mitsui Chemicals) ผ่านไประยะหนึ่ง ตระกูลเอื้อชูเกียรติมีบทบาทบริหารอย่างเต็มตัว โดยบุคคลสำคัญ-ยศ เอื้อชูเกียรติ เกี่ยวข้องกับทีพีซีมาแต่ต้น ตั้งแต่วัยหนุ่มมายาวนานกว่า 40 ปี โดยเฉพาะมีตำแหน่งประธานกรรมการทีพีซีมากกว่า 20 ปี

เอสซีจีเข้ามาถือหุ้นข้างน้อยในทีพีซี ครั้งแรกในปี 2536 และทยอยเพิ่มขึ้น จนมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญเมื่อปี 2539 เอสซีจีส่งคนตนเองเข้าไปบริหาร

อีกทศวรรษต่อมา (ปี 2547) เอสซีจีได้ถือหุ้นทีพีซีเพิ่มขึ้นทะลุ 60%

จนถึงปี 2555 เอสซีจีสามารถถือหุ้นใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จในทีพีซีมากถึง 90%

ยศ เอื้อชูเกียรติ มีบทบาทเชื่อมโยงทั้งในภาพใหญ่ การก่อเกิดดีลสำคัญข้างต้นแล้ว และถือเป็นผู้มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับธุรกิจเคมีภัณฑ์แขนงสำคัญมายาวนาน

ในจังหวะเดียวกันนั้น ยศ เอื้อชูเกียรติ ได้วางมือธุรกิจครอบครัว ไม่เฉพาะทีพีซี หากมีธนาคารด้วย ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารเอเชีย โดยเขาเข้าไปมีบทบาทบริหารตั้งแต่ปี 2517 เมื่อวิกฤตการณ์มาเยือน (2540) พร้อมๆ กับการล่มสลายครั้งใหญ่ระบบธนาคารครอบครัวไทย ธนาคารเอเชียเป็นธนาคารแรกๆ สามารถขายกิจการในจังหวะที่ดีพอสมควร

ยศ เอื้อชูเกียรติ ตั้งใจวางมือจากธุรกิจส่วนตัว เพื่อทำงานให้กับสำนักงานทรัพย์สินฯ เริ่มเป็นจริงเมื่อมาเป็นที่ปรึกษา (ปี 2537) ในจังหวะเดียวกับช่วงเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างเอสซีจีกับทีพีซี ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญได้เข้ามาในเอสซีจีอย่างเต็มตัว จากที่ปรึกษาของคณะกรรมการ และคณะกรรมการบริหาร (2540-2541) มาเป็นกรรมการบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (2541-2561)

ขณะอีกส่วนหนึ่งในฐานะที่ปรึกษาการเงินและการลงทุน สำนักงานทรัพย์สินฯ (2540-2561) เข้าเป็นประธานกรรมการบริหารกิจการใหม่ในเครือข่ายทรัพย์สินฯ โดยเฉพาะบริษัททุนลดาวัลย์ (2544- 2561) กิจการลงทุนตั้งขึ้นเพื่อดำเนินแผนการธุรกิจให้คล่องตัว

 

สรุปภาพรวมอีกครั้ง เอสซีจีซีในช่วงปี 2542 ในฐานะเป็นผู้นำตลาดในประเทศ “ตำแหน่งทางการตลาด-ธุรกิจเคมีภัณฑ์มียอดขาย 850,000 ตันสำหรับตลาดในประเทศ หรือคิดเป็น 42% ของตลาดในประเทศรวม โดยมีคู่แข่งรายสำคัญได้แก่ บางกอกโพลีเอททีลิน ทีพีไอ และเอชเอ็มซี” (อีกตอนของ The Siam cement Group December 1998)

ขณะที่เวลานั้นสถานการณ์ธุรกิจเคมีภัณฑ์ในประเทศไทยในเวลานั้น อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างแท้จริง

โดยเฉพาะกรณีกลุ่มทีพีไอ เคยอ้างว่า “เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงไต้” คู่แข่งรายสำคัญของเอสซีจี เป็นบทเรียนอันเจ็บปวดบทหนึ่ง อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 ผ่านกระบวนการการฟื้นฟูกิจการโดยเจ้าหนี้ค่อนข้างยากลำบาก จนถึงปี 2549 ได้เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนเจ้าของ เป็นไออาร์พีซี

ทีพีไอ กับการปรับโครงสร้างหนี้ครั้งใหญ่และครึกโครมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ธุรกิจไทย มีบทสนทนาหนึ่งในหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร “ปิโตรเคมีไทยกำลังถูกสถานการณ์บีบบังคับให้หลอมละลายครั้งใหญ่ การหลอมรวมจะต้องเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่ง ไม่เอสซีจี ก็ ปตท.”

ว่ากันว่าเป็นช่วงเวลาเอสซีจีอยู่ในภาวะอึดอัดอสมควร เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตการณ์ด้วยเช่นเดียวกัน ในช่วงปี 2541-2543 เอสซีจีประสบการขาดทุน และต้องงดจ่ายเงินปันผล

ถือว่าเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

 

สถานการณ์ได้พลิกผันอย่างรวดเร็ว ไม่ได้คาดคิดว่าจะปรากฏโฉมหน้า “ผู้เล่น” คู่แข่งรายใหม่ที่น่าเกรงขาม

เป็นเวลาเดียวกัน ปตท.กำลังปรับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจเคมีภัณฑ์ครั้งใหญ่ จากผู้มีบทบาทสำคัญในต้นน้ำ (upstream) ขยายฐานสู่ปลายน้ำ (dawn stream)

ในช่วงปี 2528-2533 เป็นแกนก่อตั้งบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ (2528) บริษัทอะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) ในปี 2532 และบริษัทไทยโอเลฟินส์ (2533)

ผ่านมาอีกทศวรรษ ปตท.เข้าสู่ช่วงใหม่ตามยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า Integrated Value Chain แรงขับเคลื่อนมาจากการแปลงร่าง เข้าตลาดหุ้น (2544) ถัดมาไม่นาน “ในปี 2547 เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากวิกฤตครั้งใหญ่ที่ยืดเยื้อพอสมควร การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในรอบสองทศวรรษ เช่นเดียวกับราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้น”

ปตท.ขยายตัวอย่างเหลือเชื่อ จากสินทรัพย์ระดับ 3 แสนล้านบาทในปี 2545 เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาทในปี 2547 จากกำไรประมาณ 24,000 ล้านบาทในปี 2545 เพิ่มเป็นประมาณ 90,000 ล้านบาทในปี 2548-2549 ขณะเดียวกันราคาหุ้นจากไม่ถึง 50 บาทในวันเข้าตลาดหุ้นในปลายปี 2545 เพิ่มขึ้นทะลุ 400 บาทในปี 2547″ ผมเคยสรุปประเด็นข้างต้นไว้

กระบวนการหลอมรวมธุรกิจเคมีภัณฑ์ครั้งใหญ่ในประเทศไทยได้เริ่มต้นขึ้น

หนึ่ง-หลอมรวมกิจการต้นน้ำ ซึ่ง ปตท.เป็นแกนแต่ต้น เข้ามาเป็นเครือข่ายธุรกิจ ปตท.

สอง-เข้าซื้อและควบรวมกิจการกลุ่มธุรกิจปลายน้ำ (dawn stream) ผู้ร่วมโครงการทั้งหมดก็ว่าได้ ขณะกำลังมีปัญหาแตกต่างกันไป ในยุคหลังวิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง”

และแล้วในปี 2554 ธุรกิจใหม่ในเครือข่าย ปตท.ก่อตั้งขึ้น—พีทีที โกลบอล เคมิคอล ในทันทีได้สถาปนาเป็นกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจร เป็นเครือข่ายธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดของไทย มีขนาด (เมื่อเปรียบเทียบสินทรัพย์ รายได้ และกำไร) ใหญ่กว่าเอสซีจีซีอย่างน้อยเท่าตัว

อย่างไร เอสซีจีซีมีแนวทางเฉพาะตัว แตกต่าง และเป็นไปได้ •

เอสซีจีซี : ก่อนเข้าตลาดหุ้น (1) / วิรัตน์ แสงทองคำ

เอสซีจีซี : ก่อนเข้าตลาดหุ้น (1) / วิรัตน์ แสงทองคำ