เอสซีจีซี : ก่อนเข้าตลาดหุ้น (1) / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com

 

เอสซีจีซี : ก่อนเข้าตลาดหุ้น (1)

 

เรื่องที่มีความเป็นมา ธุรกิจใหญ่ที่สุดในเครือข่ายเอสซีจี พลิกแผนการเข้าตลาดหุ้น

เรื่องราวเอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC เดินแผนการเข้าตลาดหุ้น ดำเนินมาระยะหนึ่งแล้ว คาดว่าไม่นานจากนี้ จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) ขั้นตอนสำคัญซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้คนและนักลงทุนสนใจกันมากขึ้น

“…ประกอบธุรกิจด้วยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) และดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทั้งในประเทศไทย และในต่างประเทศ โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1) สายธุรกิจโอเลฟินส์ ประเทศไทย (Olefins Chain in Thailand) 2) สายธุรกิจไวนิล (Vinyl Chain) และ 3) สายธุรกิจอื่นๆ ซึ่งได้แก่ ธุรกิจโอเลฟินส์ในต่างประเทศ ธุรกิจรีไซเคิล ธุรกิจบริการและโซลูชั่น” ภาพกว้างๆ ว่าด้วยธุรกิจของเอสซีจีซี (อ้างจาก แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน ยื่นต่อสํานักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เมื่อเดือนเมษายน 2565)

ทั้งนี้ มีข้อมูลในมิติที่สำคัญ “ตามข้อมูลของ NexantECA ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 …เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก (PE, PP และ PVC) ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยส่วนแบ่งกำลังการผลิตติดตั้ง (nameplate capacity) ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ร้อยละ 19 ของกำลังการผลิตทั้งหมดในอาเซียน”

จากภาพปัจจุบันตัดตอนอย่างกระชับนั้น สามารถเชื่อมโยง เพิ่มเติมให้เห็นกว้างขึ้น โดยเฉพาะมุมมองเชิงพัฒนาการ และบทเรียนธุรกิจ

 

เอสซีจีเข้าสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์ (หรือจะเรียกในแง่กิจการ ปัจจุบันคือ เอสซีจีซี) ในสถานการณ์เปิดช่อง โอกาสและสายสัมพันธ์เป็นไปอย่างลงตัว สามารถบุกเบิกธุรกิจใหม่ซึ่งถือว่าเยาว์วัยที่สุด แม้ผ่านมาเพียง 4 ทศวรรษ แต่ได้สร้างโมเมนตัมสำคัญ โดยเฉพาะหลังจากเผชิญวิกฤตการณ์ จนต้องปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่เมื่อปี 2542 ธุรกิจเคมีภัณฑ์เริ่มมีบทบาทโดดเด่นกว่าธุรกิจดั้งเดิมซึ่งมีมานานขณะนั้นกำลังเข้าสู่ช่วงศตวรรษ

จับภาพเฉพาะในช่วงทศวรรษเอสซีจีที่ผ่านมา (2555-2564) เอสซีจีซีสะท้อนความสำคัญธุรกิจเคมีภัณฑ์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย เมื่อปี 2555 มีรายได้ในสัดส่วนมากที่สุดถึง 48% ของรายได้รวมของเอสซีจี ขณะที่ปีที่ผ่านมา (2564) คงรักษาระดับมีสัดส่วนรายได้ไว้อยู่ในระดับ 45%

เรื่องราวเอสซีจีซีมีที่มาจากโครงการปิโตรเคมีแห่งชาติ ย้อนไปกว่า 4 ทศวรรษ โดยให้ภาพกว้างๆ ไว้

“หลังจากได้พบและพัฒนาเเหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเมื่อปี 2523 ได้ตั้งโรงงานเเยกก๊าซเพื่อผลิตก๊าซปิโตรเลียมเหลว และเป็นโอกาสให้ไทยเริ่มอุตสาหกรรมปลายทาง (Downstream) และนำไปใช้ในโรงงานโอเลฟินส์ได้ ต่อมาในปี 2529 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.ปัจจุบัน) ได้ตั้งบริษัท ปิโตรเคมีเเห่งชาติ จำกัด (NPC) -โรงงานโอเลฟินส์เเห่งเเรกของประเทศไทย ทั้งนี้ เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) ได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นตั้งต้น และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ธุรกิจด้านปิโตรเคมี ซึ่งกลายมาเป็นธุรกิจหลักเเขนงหนึ่งของเครือซิเมนต์ไทยในปัจจุบัน” (จากส่วนหนึ่ง หนังสือปกขาว (Information memorandum) ต้นฉบับภาษาอังกฤษ – The Siam cement Group December 1998 นำเสนอในช่วงการปรับโครงสร้างทางธุรกิจครั้งสำคัญ)

อันที่จริงเรื่องราวสลับซับซ้อนกว่านั้น จากมุมมองเชิงยุทธศาสตร์ช่วงหนึ่งของสังคมธุรกิจไทย โครงการปิโตรเคมีแห่งชาติเป็นเรื่องใหญ่ จุดตั้งต้นสำคัญของยุค “โชติช่วงชัชวาล” อันเนื่องมาจากการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (2516) ผ่านความเคลื่อนไหวอันคึกคัก กลุ่มธุรกิจอิทธิพลในสังคมไทย กับสิ่งที่ผมเรียกไว้ว่า “โมเดลความมั่งคั่งใหม่” ด้วยกระบวนการออกแบบอย่างตั้งใจ

 

บุคคลสำคัญควรกล่าวถึงคือ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (11 มีนาคม 2524 – 19 กันยายน 2528) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (19 กันยายน 2528 – 11 สิงหาคม 2529) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ (11 สิงหาคม 2529 – 27 กรกฎาคม 2530) หัวเรือใหญ่ ในฐานะผู้มีส่วนร่วมในยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่นโยบาย กติกา และผู้คุมเกม ที่สำคัญมีส่วนผลักดันโมเดลหนึ่งซึ่งทรงอิทธิจนถึงช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ 2540 ว่าด้วยโครงสร้างผู้ถือหุ้นกิจการรากฐานของอุตสาหกรรมใหม่- ตามสูตร คือ รัฐ (เวลานั้นคือ ปตท .) / เอกชน / สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อขณะนั้น) : 49/49/2

ในเวลาต่อมา ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้ก้าวสู่บทบาทใหม่ ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นเวลานานถึง 3 ทศวรรษ (2530-2561) รวมทั้งประธานกรรมการบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี ใน 2 ช่วงสำคัญ (2541-2542 และ 2550-2562) ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาธุรกิจเคมีภัณฑ์กลายเป็นธุรกิจหลักของเอสซีจีที่มีน้ำหนักมากที่สุดอย่างแท้จริง

NPC ก่อตั้ง (2526) ในฐานะผู้อยู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ “ต้นน้ำ” (upstream) โดย ปตท.ถือหุ้นใหญ่ที่สุดสัดส่วน 49% กับเอกชนอีก 4 รายถือหุ้นรวมกัน 49% ที่สำคัญ สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้น 2% บรรดาธุรกิจร่วมทุน 3 รายแรก มีฐานะผู้บุกเบิก คลุกคลีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมาก่อน และมีบทบาทต่อเนื่อง ในฐานะผู้อยู่ “กลางน้ำ” ส่วนรายที่ 4 เพียงรายเดียวเท่านั้นที่มาใหม่ คือ เครือซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี ที่น่าสนใจมากขึ้น ผู้มาใหม่นี้มีหุ้นในสัดส่วนมากกว่าเอกชนรายอื่นๆ

จากนั้นก้าวสู่อีกฉากตอนอันคึกคักมากขึ้น อุตสาหกรรมขั้นต่อเนื่องสู่ “ปลายน้ำ” (downstream) เปิดกว้างขึ้น ตามกระบวนการจัดสรรใหม่ ดูแล้วเหมือนเจาะจงเฉพาะบรรดาเครือข่ายธุรกิจไทยผู้ทรงอิทธิพล จึงปรากฏโฉมหน้าใหม่เพิ่มเติมอีกบางรายมาร่วมวง

โดยเฉพาะตระกูลโสภณพนิช แห่งธนาคารกรุงเทพ และตระกูลเจียรวนนท์ แห่งซีพี

 

ธุรกิจเคมีภัณฑ์ของเอสซีจีกลายเป็นธุรกิจเติบโตเร็ว ครบวงจรเร็ว เป็นประวัติศาสตร์ โดยใช้เวลาราวทศวรรษเดียว ในยุคชุมพล ณ ลำเลียง เป็นผู้จัดการใหญ่ (2536-2547) ช่วงต้นๆ เขาควรได้เครดิตว่าเป็นผู้บริหารบุกเบิกธุรกิจเคมีภัณฑ์ของเอสซีจีมาตั้งแต่ต้นอย่างแท้จริง

ดูแล้วมีแบบแผน หนึ่ง- สร้างหลักประกันในเรื่องวัตถุดิบหลักในต้นน้ำ (upstream) นอกจากร่วมทุนกับ NPC แล้ว มาอีกระยะหนึ่งก่อตั้งบริษัท ระยองโอเลฟินส์ (ปี 2539) แผนปรับตัวตามนโยบายเปิดเสรีสอดคล้องกับ AEC กลายเป็นเรื่องดี โดยไม่คาดคิดว่าในระยะต่อมา NPC ได้เปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น

สอง- วางรากฐานอุตสาหกรรมระหว่างกันด้วยตนเอง บริหารเอง บริษัท ไทยโพลีเอททีลีน (TPE) โดยคัดเลือกเทคโนโลยีระดับโลกพื้นฐาน ขยายกิจการในช่วงแรกอย่างรวดเร็ว มีถึง 4 โรง (2532-2540)

สาม- ผู้ร่วมทุนหรือพันธมิตรธุรกิจระดับโลกอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะการลงทุนในปลายน้ำ (downstream)

ในเวลานั้น (2541) ธุรกิจเคมีภัณฑ์ของเอสซีจีมีเครือข่ายถึง 27 บริษัท โดยมีกิจการร่วมทุนกับพันธมิตรระดับโลกในขั้นปลายน้ำมากกว่า 10 บริษัท โดยเฉพาะกับ Dow Chemical แห่งสหรัฐ และ Mitsui แห่งญี่ปุ่น

ในนั้นมีแผนการหนึ่งซึ่งแตกต่าง สร้างพันธมิตรกับกลุ่มบริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ (TPC) ผู้บุกเบิกธุรกิจเคมีภัณฑ์อีกรายของเมืองไทย ฐานะผู้ผลิตพีวีซีรายแรกของเมืองไทย ที่สำคัญเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้น NPC ในจังหวะก้าวสำคัญ ตามแผนการสร้างเครือข่ายธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจร

“ซิเมนต์ไทยเคมีภัณฑ์ (เอสซีจี เคมีคอลส์ หรือเอสซีจีซีในปัจจุบัน) มุ่งให้ความสำคัญกับโอเลฟินส์ โพลีโอเลฟินส์ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพีวีซีเป็นหลัก ฝ่ายบริหารเชื่อว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นฐานสำคัญในการเติบโตในระยะยาว การดำเนินงานแบบครบวงจรทำธุรกิจมีโอกาสขยายตัวอีกมาก” (จาก The Siam cement Group December 1998) ต่อภาพให้ใหญ่ขึ้น “ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับพีวีซี” ที่ระบุไว้ในแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจเมื่อ 2541 ปัจจุบันคือสายธุรกิจไวนิล (Vinyl Chain)

จุดเปลี่ยนสำคัญข้างต้น เกี่ยวข้องกับบุคคลอีกคนหนึ่ง-ยศ เอื้อชูเกียรติ ผู้มีบทบาทสำคัญ สัมพันธ์กับสำนักงานทรัพย์สินฯ และเอสซีจีกว่า 2 ทศวรรษ •