นานักเทพ : ปฐมคุรุแห่งชาวซิกข์ / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
จิตรกรรมฝาผนังภาพคุรุนานักภายในคุรุทวาราบาบาอตาล (ศตวรรษที่ 19)

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

นานักเทพ : ปฐมคุรุแห่งชาวซิกข์

 

“เอกโองการ-พระเจ้าหนึ่งเดียว คือนามอันเที่ยงแท้ เป็นพระผู้สรรค์สร้าง ปราศจากความกลัว (ภยะ) ปราศจากความเกลียดชัง (เวร/ไวร์) เหนือกาลและรูป โชติช่วงด้วยพระองค์เอง คุรุผู้ประสิทธิ์ประสาท”

บทประพันธ์เบื้องต้นเรียกว่า “มูลมนต์” อันหมายถึงมนต์พื้นฐานหรือมนต์ปฐมบทสำหรับชาวซิกข์ (สิข) ใช้สวดขับอยู่เป็นนิตย์ ซึ่งท่านนานักหรือที่ชาวซิกข์เรียกด้วยความเคารพว่า “คุรุนานักเทพ” (Guru Nanakdev) ได้ประพันธ์ขึ้น

นักบุญโดยเนื้อแท้เป็นสมบัติของโลก ทว่า ใครต่อใครก็อยากให้นักบุญกลายเป็นสมบัติแห่งความเชื่อตน คุรุนานักก็เช่นกัน แม้ตัวท่านจะประกาศก้องว่า “ไม่มีฮินดู ไม่มีมุสลิม” (นะ โกอี ฮินดู, นะ โกอี มุสสัลมาน) แต่ท่านก็มีศิษย์ทั้งชาวฮินดู ชาวมุสลิม และยังเป็นพระศาสดาองค์แรกของชาวซิกข์

ขณะเดียวกันท่านก็ประณามโต้แย้งทั้งฮินดูและมุสลิมที่ปราศจากศรัทธาต่อพระเจ้าและไร้ความรักต่อเพื่อนมนุษย์

ดังนั้น ชาวฮินดูบางส่วนจึงนิยมนับถือคุรุนานักในฐานะ “นักบุญ” องค์หนึ่ง เช่นเดียวกับบรรดานักบุญในขบวนการภักติแห่งยุคกลาง จะด้วยเพราะภูมิหลัง บริบททางประวัติศาสตร์ ความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม หรือโดยตัวคำสอนซึ่งมีลักษณะเดียวกันก็ตาม

แม้แต่ในเทวสถานเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช กรุงเทพฯ ก็ยังมีภาพคุรุนานักประดิษฐานอยู่

ท่านอาจารย์ลลิต โมหัน วยาส ครูของผมเล่าว่า ก่อนการสร้างเทพมณเฑียรและคุรุทวารา (ศาสนสถานของซิกข์) ในปัจจุบัน ชาวฮินดูและชาวซิกข์ในเมืองไทยเคยใช้ศาสนสถานร่วมกันมาก่อนและเรียกว่า “ฐากูรทวารา” ฐากูรหมายถึงเทวดาหรือพระเป็นเจ้าฮินดู และทวารามาจากคำว่าคุรุทวาราของชาวซิกข์

นี่คงสะท้อนความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันระหว่างชาวฮินดูและชาวซิกข์อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะในบ้านเรา

 

กระนั้น แม้คุรุนานักจะเป็นที่เคารพรักของหลายความเชื่อ แต่ภายใต้ความขัดแย้งรุนแรงของสังคมอินเดียยุคกลางระหว่างมุสลิมและฮินดู คำสอนของคุรุนานักได้ก่อกำเนิดศาสนาใหม่คือศาสนาซิกข์ (สิข Sikh)

ศาสนาซิกข์ มีเอกลักษณ์ชัดเจน เป็นศาสนาเอกเทศที่สำคัญ กระนั้นในบางแง่มุมดูคล้ายอิสลาม เช่น ศรัทธาเชื่อมั่นในพระเจ้าองค์เดียวและไม่บูชารูปเคารพ แต่ก็มีวัฒนธรรมประเพณีหลายอย่างเช่นเดียวกับฮินดู เช่นพิธีสัมสการหรือการทำพิธีในแต่ละช่วงของชีวิต

ด้วยเหตุนี้ ผมเห็นว่าสมควรที่จะต้องกล่าวถึงท่านคุรุนานักไว้ในซีรีส์บทความนักบุญแห่งอินเดียด้วย

ซึ่งหากมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากมติและข้อมูลของชาวซิกข์ ผมต้องกราบขออภัยไว้ล่วงหน้า

 

คุรุนานักเกิดในปี ค.ศ.1469 ที่เมืองทันวัลที (Tanvaldi) ใกล้กับเมืองลาฮอร์ ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน ครอบครัวของท่านเป็นชาวฮินดู วรรณกษัตริย์ (ขาตรี/Khatri บ้างก็ว่าวรรณะพราหมณ์) บิดาชื่อกาลุจันท์ เมห์ตา มารดาชื่อ ทรุปตาชี (บางตำนานว่ามุกตา)

ในสมัยที่คุรุนานักยังเยาว์ ภูมิภาคปัญจาบที่ท่านมีชีวิตอยู่ถูกปกครองโดยชาวมุสลิมแล้ว ดังนั้น จึงมีครูบาอาจารย์ผู้รู้ศาสนาอิสลามเข้ามาในถิ่นนั้นจำนวนพอสมควร

ด้วยเหตุนี้ ตัวท่านคงจะได้รับการศึกษาตามประเพณีของฮินดูจนเจนจบคัมภีร์ต่างๆ และได้รับความรู้ทั้งภาษาเปอร์เซีย อาหรับและความรู้ทางศาสนาจากบรรดาครูอาจารย์ชาวมุสลิมเช่นกัน

ว่ากันว่าคุรุนานักชื่นชอบธรรมชาติมาก มักใช้เวลาในการทำสมาธิตามท้องทุ่งและตามป่าเขา อีกทั้งยังมีอุปนิสัยเมตตาและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ครั้งหนึ่งบิดาของท่านได้มอบเงินจำนวนยี่สิบรูปี และบอกให้ท่านทำกำไรจากเงินทุนนี้ ระหว่างที่ท่านกำลังครุ่นคิดว่าจะทำอย่างไร ก็มีเหล่านักบวชภิกขาจารเดินผ่านมา บรรดาสาธุเหล่านี้ไม่ได้ทานอาหารมาหลายวัน คุรุนานักจึงนำเงินดังกล่าวไปซื้ออาหารมาแจกนักบวชจนหมด

ครั้นกลับมาพบบิดา ท่านได้เล่าเหตุการณ์นั้นให้ฟัง บิดาโกรธพลางถามว่า นี่เป็นวิธีหากำไรแบบไหน คุรุนานักตอบเพียงว่า

“ไม่มีกำไรใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น”

 

คุรุนานักแต่งงานกับหญิงสาวนามสุลักษณีในวัยสิบแปดปี ท่านมีบุตรสองคน ต่อมาเมื่อท่านเจริญวัยขึ้นจนถึงวัยกลางคนก็ได้รับนิมิตเกี่ยวกับพระเจ้า นิมิตนั้นยังบอกว่าท่านเกิดมาเพื่อจะช่วยผู้อื่นให้มีชีวิตที่สูงส่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ คุรุนานักจึงสละชีวิตทางโลก ทว่า ท่านมีความพิเศษแปลกตากว่าใคร เพราะสวมชุดสีเดียวกับพวกสาธุฮินดูแต่โพกศีรษะอย่างชาวมุสลิม

คุรุนานักเดินทางเร่ร่อนไปยังเมืองต่างๆ ทั่วทั้งอินเดีย เช่น พาราณสี หริทวาร เสาราษฏร์ อัสสัม ตลอดจนประเทศอื่นๆ ว่ากันว่าท่านเดินทางไปไกลถึงนครแบกแดดและเมกกะฮ์ ทั้งยังได้โต้คารมกับปราชญ์ในท้องที่นั้นๆ

บางตำนานกล่าวว่า คุรุนานักเป็นศิษย์ของนักบุญกพีร์ทาส ทว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนถึงการพบกันของสองท่านนี้ กระนั้น อิทธิพลของท่านกพีร์ตลอดจนนักบุญอื่นๆ เช่น ไรทาส นามเทพ ฯลฯ คงได้มีต่อท่านคุรุนานักและได้มีต่อศาสนาซิกข์อย่างมากมายในเวลาต่อมา

ดังปรากฏมีบทประพันธ์ของนักบุญเหล่านี้บันทึกไว้ในคัมภีร์คุรุครันถะสาหิพของชาวซิกข์

 

แม้จะมีทัศนะคล้ายคลึงกับบรรดานักบุญในยุคกลางมาก แต่จุดเด่นประการหนึ่งของท่านคุรุนานักคือการเน้นความ “เท่าเทียม” ของมนุษย์เมื่ออยู่ต่อหน้าพระเป็นเจ้า ไม่มีใครสูงต่ำกว่าใคร

ท่านกล่าวว่า “มิมีใครกล่าวว่า ผ้าไหมหรือเนยใสมีมลทิน ดังเช่นสาวกของพระเจ้าไม่ว่าจะอยู่ในวรรณะไหนก็ตาม” และ “ความทระนงในสถานภาพทางสังคมนั้นไร้แก่นสาร ความเย่อหยิ่งในเกียรติยศของตนนั้นเปล่าประโยชน์ พระเป็นเจ้าเอกองค์จึงทรงประทานร่มเงาเดียวแก่สรรพชีพ”

ตำนานเล่าว่าในวัยเด็ก คุรุนานักปฏิเสธที่จะเข้าพิธีอุปนยนะเพื่อสวมสาย “ยัชโญปวีต” อันบ่งบอกถึงวรรณะของผู้สวม (ซึ่งมีเพียงสามวรรณะเท่านั้นที่สวมได้) ท่านเห็นว่า ผู้คนแตกต่างกันก็เพราะการกระทำและคุณสมบัติภายในของคนคนนั้น มิใช่ด้วยสายสิญจน์ที่คล้องตัว

ท่านมีสหายและศิษย์รักเป็นชาวมุสลิมชื่อมารดาน ซึ่งจะคอยเล่นซอระบาบคลอเสียงขับบทกวี (คุรุพาณี) ของท่านอยู่เสมอ

นอกจากนี้ จุดเด่นอีกประการหนึ่งในคำสอนของคุรุนานักคือเน้นงานสาธารณะประโยชน์ การแบ่งปัน การใช้ชีวิตทางโลกและการทำงานหนัก แม้ตัวท่านเองจะใช้ชีวิตอย่างนักบวชแต่ก็สนับสนุนให้ผู้คนใช้ชีวิตทางโลกด้วยศีลธรรมที่เคร่งครัด มีความเอื้อเฟื้อและช่วยเหลือกัน จึงทำให้ศาสนาซิกข์เน้นระบบอาสาสมัครและกิจสาธารณกุศลจนถึงทุกวันนี้

พระเจ้าของคุรุนานักเป็น “สัตนาม” หรือนามที่แท้จริง พระองค์เป็นพระเจ้าหนึ่งเดียว ไร้รูปลักษณาการ ทรงไว้ซึ่งสรรพเดชานุภาพและพระกรุณาธิคุณ ข้อนี้เป็นข้อต่างอย่างสำคัญกับนักบุญอื่นๆ ในขบวนการภักติซึ่งมักกล่าวถึงพระเจ้าจากอิทธิพลไวษณวะนิกาย

ตำนานชีวิตท่านกล่าวถึงการกระทำปาฏิหาริย์มากมาย ทว่า คุรุนานักเน้นย้ำว่าเราไม่ควรให้ความสำคัญกับปาฏิหาริย์ มากกว่าความศรัทธาในพระเจ้า และท่านไม่เคยส่งเสริมปาฏิหาริย์ใด ผมจึงขอละไว้ไม่กล่าวถึง

คุรุนานักเทพสิ้นชีวิตในปี ค.ศ.1539 บทกวีคำสอนจำนวนมากมายของท่านยังคงได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

 

ขอจบบทความด้วยบทกวีบทหนึ่งของคุรุนานักเทพ ดังนี้

“อากาศคือคุรุ น้ำคือบิดา แผ่นดินคือมารดาของสรรพสิ่งทั้งปวง

วันและคืนคือผู้เฝ้าถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู

บนตักของท่าน สกลโลกก็สุขสราญ

บันทึกกรรมดีชั่วก็จักถูกอ่าน ในศาลแห่งพระธรรมเทพ (พระยม)

ด้วยผลกรรมนั้น บ้างก็ถูกนำมาใกล้ บ้างก็ถูกขับไปไกล

แต่บรรดาผู้สำรวมใจใน ‘นาม’ เมื่อละจากโลกนี้ไป ด้วยเม็ดเหงื่อบนคิ้ว (ทำงานหนัก)

นานักกล่าว ใบหน้าของท่านเหล่านี้ส่องสว่างในท้องพระโรงแห่งพระเจ้า

กับทั้งผู้อื่นอีกมากที่ได้ถูกปกปักรักษาไปพร้อมกัน” •