พนมใจให้อุบล / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

พนมใจให้อุบล

 

ระหว่างเสาร์อาทิตย์ 16-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไปร่วมโครงการสถาบันภูมิภาษาและปัญญาแผ่นดิน ที่ จ.อุบลราชธานี ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ตามโครงการของคณะอนุกรรมาธิการศิลปะและวัฒนธรรมของวุฒิสภา ร่วมกับมูลนิธิสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน สสส. ดังจัดสัมมนามาแล้วทั้งสี่ภาคและจะจัดร่วมอีกครั้งที่ กทม. ณ วุฒิสภา ภายในปลายปีนี้

เพื่อนำข้อมูลมาเสนอเป็นงานปฏิรูปด้านศิลปวัฒนธรรมต่อรัฐบาลผ่านวุฒิสภาต่อไป

อุบลราชธานีเป็นเมืองใหญ่ของภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งคณะฯ ได้จัดงานโครงการนี้ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดังถือขอนแก่นเป็นเมืองใหญ่ของภาคอีสานตอนบน

ผู้เข้าร่วมประชุมเสวนาที่อุบลราชธานีครั้งนี้ มีจำนวนราวเจ็ดสิบกว่าคน แบ่งเป็นสามกลุ่มเช่นเคย คือ ภาษาและวรรณศิลป์ ภูมิบ้านภูมิเมือง และภูมิปัญญาแผ่นดิน

เนื้อหาเข้มข้นเหมือนทุกแห่งที่จัดมาด้วยผู้เข้าร่วมสัมมนาล้วนมีประสบการณ์และบทบาทในงานทั้งสามด้านอย่างจริงใจและจริงจังมาสม่ำเสมอ

 

จําเพาะอีสานตอนล่างนี้สมควรจะให้มี “วิทยาลัยหมอลำ” และงาน “กันตรึมกระหึ่มโลก” ได้อย่างจริงจัง ด้วยทั้งหมอลำและดนตรีกันตรึมนี้เป็นเสน่ห์ของแผ่นดินอีสานแท้จริง

ผู้รู้ด้านดนตรีบอกว่าเสียงหลักของทำนองอีสานตามโน้ตสากลนั้นมีห้าเสียง คือ โด เร มี ซอล ลา แต่การเล่นเสียงโดยเฉพาะกลอนลำนั้นครอบคลุมแทบทุกเสียงบรรดามี ดังเสียงร้องเอื้อนของหมอลำนั้นมีเสน่ห์และชีวิตชีวานัก

ดนตรีอีสานจึงเป็นสากลจริงแท้

ทำนองเพลงวงกันตรึมนั้นให้ความรู้สึกลึกล้ำและลึกลับที่เราสัมผัสได้อย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีอยู่แล้วในใจเรา

เหล่านี้เป็นภูมิฐานภูมิธรรมที่สะท้อนถึงพื้นฐานและรากฐานของวิถีชีวิตบนภูมิแผ่นดินถิ่นอีสานโดยแท้

 

มาอุบลราชธานีแล้วต้องไปเขมราฐอำเภอตอนเหนือสุดของอุบลราชธานี ชาวเขมราฐเขาจัดถนนคนเดินอย่างคึกคักหนักแน่นทุกเย็นวันเสาร์

พิเศษของถนนนี้คือ แสดงงานด้านศิลปวัฒนธรรมเต็มที่ ทั้งการฟ้อนของชาวบ้านชาวเมืองบนถนน การแสดงศิลปะผ้าทอลายมัดหมี่ที่เป็นเอกลักษณ์ของเขมราฐโดยเฉพาะ รวมตลอดถึงเยาวชนดนตรี

ปีนี้มีพิเศษวันเข้าพรรษาจึงมีรถเทียนพรรษามาตั้งแสดงให้ชมในถนนกลางงานกันเลย

เมืองอุบลนั้นนับเป็นเอกเรื่องเทียนพรรษา แต่ละวัดแต่ละอำเภอจัดแต่งแท่งเทียนเป็นรถแห่รอบเมืองสุดอลังการนัก

ตลาดชุมชน ถนนคนเดินนี้แหละที่จะอวดงานศิลปวัฒนธรรมที่เป็นทั้งรากฐาน พื้นฐาน และภูมิฐานของชุมชนเราได้จริง ขอแต่เพียงเท่านี้เท่านั้นคือ

จริงจัง และจริงใจ

ดังวาทะที่สะท้อนเรื่องนี้ว่า ราชการนั้นจริงจังแต่ไม่จริงใจ ประชาชนนั้นจริงใจแต่ไม่จริงจัง

ทำอย่างไรจะให้ได้ทั้งจริงจังและจริงใจต้องมาดูถนนคนเดินที่เขมราฐนี้ กับอีกแห่งคือที่ “หลาดทุ่งสง” นครศรีธรรมราช

 

พิเศษสุดของเมืองอุบลคือ เป็นเมืองด้านทิศตะวันออกสุด รับแสงตะวันแรกสุดกว่าจังหวัดใดในไทย ดังมักเรียกกันว่า “แสงแรก” นั้น

ร่องรอยอารยธรรมของเมืองอุบลนั้นว่ามีมาไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นปี ดังภาพเขียนสีที่ผาแต้ม อ.โขงเจียม ว่าราวสามสี่พันปีมาแล้ว

เขาแบ่งยุคก่อนประวัติศาสตร์ออกเป็นยุคหินเก่า ว่าราว 10,000-6,000 ปี ยุคหินกลางราว 6,000-4,000 ปี และหินใหม่ราว 4,000-2,000 ปี โดยประมาณ

ภาพเขียนสีที่ผาแต้มมีรูปเครื่องมือจับปลาที่เรียกว่า “ตุ้ม” ลักษณะคล้ายไซหรือสุ่มทรงสูง เหมาะใช้ในลำน้ำลึก ซึ่งสะท้อนถึงสังคมก่อนยุคเกษตรกรรมอันเป็นยุคล่าสัตว์ซึ่งมีมาก่อน น่าทึ่งที่เครื่องมือนี้ยังมีใช้กันอยู่ในทุกวันนี้

แม่น้ำหลายสายไหลมารวมที่อุบลราชธานีแล้วร่วมลงลำโขง เช่น น้ำสองสายสำคัญของอีสาน คือน้ำชีกับน้ำมูล ที่สุดก็มารวมกันที่บ้านวังยาง อ.เมือง เป็นลำน้ำมูลไหลไปลงลำโขงที่ อ.โขงเจียม จนมีชื่อเรียกเป็นสัญลักษณ์คือ “โขงสีปูน มูลสีคราม” นั้น

ข้อมูลเหล่านี้แสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมืองอุบลอันนับเป็นอีกแห่งหนึ่งของ “ภูมิเมืองอุบล” ที่มาอุบลราชธานีต้องไปเยี่ยมชม

 

กับอีกแห่งที่มาอุบลราชธานีแล้วต้องไปเยี่ยมชมคือ “พิพิธภัณฑ์คำปุน” ที่ อ.วารินชำราบ เป็นพิพิธภัณฑ์ผ้าทอมือทั้งฝ้ายและไหมมัดหมี่ ของป้าคำปุน ศรีใส ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) ปี พ.ศ.2561

พิเศษคือปัจจุบันลูกชายของป้าคำปุนคือคุณมีชัย แต้สุจริยา ก็ได้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) ปี พ.ศ.2564 นี้อีกเช่นกัน

สืบสายเลือดสายใยสมคำชมที่ว่า

“ทอโลกทอแรงแต่งตำนาน”

พิพิธภัณฑ์คำปุนได้แสดงถึงเรื่องราวของผืนผ้าที่เป็นหัตถศิลป์อันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองอุบลโดยเฉพาะอย่างเป็นกระบวนการครบวงจร ทุกขั้นทุกตอนมีความประณีตมีชีวิตจิตวิญญาณ สะท้อนอารยธรรมเครื่องนุ่งห่มหนึ่งในปัจจัยสี่ได้สูงสุดลึกซึ้งไม่แพ้ใครในโลกเลย

ดังประจักษ์พยานรางวัลสูงสุดที่คุณมีชัยได้รับด้วยการแสดงให้ศิลปะผ้าทอมัดหมี่ไทยเมืองอุบลได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในเวทีนานาชาติมาแล้ว

บรรยากาศพิพิธภัณฑ์คำปุนนอกจากอารยธรรมผ้าไทยแล้ว ยังมีบรรยากาศของสถานธรรมปฏิบัติอีกด้วย เหตุเพราะคุณมีชัยเองเป็นผู้เคร่งและตั้งอยู่ในธรรมสมเป็นลูกเมืองอุบล ผู้ “พนมบัว-พนมธรรม” โดยแท้

วารินชำราบเป็นแหล่งธรรมสำคัญคือ สำนักวัดหนองป่าพง ของหลวงปู่ชา สุภัทโท สายตรงของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต สายปฏิบัติที่มุ่งบรรลุธรรมโดยตรง

คำสั้นกระชับสะท้อนทั้งหมดของการปฏิบัติและผลของการปฏิบัติดังเรื่องนี้

มีผู้ถามหลวงปู่ชาว่า “ท่านเคยโกรธบ้างไหม”

หลวงปู่ชาตอบว่า

“มี แต่ไม่เอา” •