ถนนสถานีวิทยุ / มองบ้านมองเมือง : ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง

ปริญญา ตรีน้อยใส

 

ถนนสถานีวิทยุ

 

หลายคนอาจพอรู้ที่มาของนามถนนวิทยุ ว่ามาจากสถานีวิทยุศาลาแดง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของสยามประเทศ ที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของสวนลุมพินี ตรงหัวมุมถนนวิทยุ ตัดกับถนนตรงหรือคลองตรงในอดีต หรือถนนพระรามที่ 4 ในปัจจุบัน

หลายคนคงพอรู้ว่า ถนนวิทยุเริ่มจากถนนเพชรบุรีทางด้านทิศเหนือ ลงมาข้ามคลองแสนแสบ ผ่านถนนเพลินจิต จนถึงถนนพระรามที่ 4 และต่อเนื่องไปทางถนนสาทร ที่เป็นต้นเรื่องของการตัดถนนสายใหม่ ตามแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ในอดีต หรือโมเดลธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในปัจจุบัน

ด้วยถนนสาทรนั้น มาจากโครงการพัฒนาพื้นที่ทางทิศใต้ของถนนสีลม ที่เดิมเป็นที่สวนพลู สวนผัก ทุ่งหญ้าเลี้ยงวัว และที่รกร้าง โดยการขุดคลองขนาดใหญ่ ที่ช่วยระบายน้ำจากสวนหลวงศาลาแดง ลงแม่น้ำเจ้าพระยา ดินที่ขุดได้ก็นำมาถมทั้งสองฝั่ง อัดแน่นให้เป็นถนน ปลูกต้นไม้และตั้งเสาไฟฟ้าสองข้างทางสวยงาม

พร้อมกับแบ่งที่ดินเป็นแปลงขนาดใหญ่ ขายให้กับบริษัทต่างชาติ เพื่อสร้างสำนักงานหรือบ้านพัก รวมทั้งบรรดาคหบดีและขุนนางที่ติดต่อคุ้นเคยกับชาวต่างชาติ

 

นอกจากโครงการจะประสบความสำเร็จจากการขายที่ดินสองฟากถนนแล้ว ถนนสาทรยังเป็นหน้าตา แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าของพระนคร ในฐานะราชธานีของสยาม เทียบเคียงได้กับเมืองใหญ่อื่นในเอเชียที่อยู่ใต้อาณานิคมของตะวันตก

ทำให้ผู้ประกอบการ คือ เจ้าสัวยม จึงได้พระราชทาน ราชทินนามว่า หลวงสาทรยุกต์ อันเป็นที่มาของนามถนนสาทร

อีกทั้งทำให้เกิดโครงการพัฒนาพื้นที่ ขุดคลอง ตัดถนน และแบ่งแปลงที่ดิน แบบเดียวกันทางทิศเหนือของถนนสีลม อย่างเช่น โครงการถนนสุรวงศ์ ถนนสี่พระยา ถนนพิพัฒน์ ถนนคอนแวนต์ เป็นต้น

ซึ่งต้องรวมโครงการถนนวิทยุและถนนเพลินจิต ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ (พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ ตันราชสกุลทองแถม) ผู้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบรมสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำเนินการตัดถนนสองสาย ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เคยมีพระราชดำริไว้ก่อนหน้านั้น โดยจะเป็นผู้ออกทรัพย์ทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ สิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ.2462 การก่อสร้างถนนวิทยุ จึงสิ้นสุดแค่ถนนเพลินจิต ไม่เป็นไปตามแผนเดิมที่จะต่อเนื่องไปถึงถนนเพชรบุรี ด้วยขาดเงินทุนในการก่อสร้าง

จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2515 รัฐบาลได้มอบให้เทศบาลนครหลวง จัดสร้างและขยายทางถนนวิทยุ ข้ามคลองแสนแสบ ไปบรรจบถนนเพชรบุรี ดังเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

 

สําหรับนามถนนพระราชทาน ถนนเพลินจิต ก็ยังมาจากนามถนนวิทยุ ที่ตัดขึ้นใหม่พร้อมกัน ด้วยพระบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ผู้เสนอนามถนน ตั้งใจให้คำคล้องจองกัน คือ เพลินจิต วิทยุ

ผลจากการแบ่งแปลงที่ดิน ปรากฏว่ามีกงสุลต่างชาติ ซื้อสร้างสถานกงสุลและบ้านพักหลายราย ที่กลายมาเป็นที่ทำการ และทำเนียบเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เวียดนาม เป็นต้น

รวมทั้งพระราชวงศ์ ข้าราชการ คหบดี ซื้อสร้างคฤหาสน์ ที่ปัจจุบันยังคงอยู่ หรือกลายเป็นสำนักงาน โรงแรม หรือคอนโดมิเนียมหรูราคาแพง อย่างเช่น สำนักงานเคี่ยนหงวน สินธร ออลซีซันเพลส ปาร์คเวนเจอร์ ธนาคารศรีอยุธยา เป็นต้น หรือโรงแรมคอนราด ดิแอทธินีฯ โอกุระ แกรนด์เซ็นเตอร์พอยต์ เป็นต้น หรือโอเรียลตอลเรสซิเดนท์ ดิเอมเมอรัลด์ เป็นต้น

ส่งผลให้ทุกวันนี้ ถนนวิทยุ จึงเป็นถนนสายสำคัญของกรุงเทพฯ ที่มีสถานที่สำคัญ และมีชื่อเสียง อีกทั้งมีความสวยงามร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ ทำให้ราคาประเมินที่ดินในปัจจุบัน สูงเป็นลำดับสอง รองจากถนนเพลินจิต •